ถกลับ!ถอดถอน'สมศักดิ์-นิคม'17ต.ค.
15 ต.ค. 2557
'สนช.' จัดประชุมลับ ถอดถอน 'สมศักดิ์-นิคม' 17 ต.ค. 'พรเพชร' ระบุวางกรอบ จะรับเรื่องไว้พิจารณาต่อหรือไม่ 'พท.' ยื่นหนังสือขอใช้ดุลยพินิจตามหลักการของก.ม.-รอบคอบ
15 ต.ค. 57 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่การประชุม สนช. วันที่ 17 ต.ค.มีเรื่องถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตรองประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่ง ตามรายงานที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนแล้วเสร็จ ว่า การประชุมกรณีดังกล่าว จะเปิดโอกาสสมาชิก สนช.อภิปราย และแสดงความเห็น ว่าจะรับเรื่องถอดถอนตามที่ ป.ป.ช.ส่งมายัง สนช.ไว้พิจารณาหรือไม่ โดยรูปแบบอภิปรายนั้น จะเป็นไปอย่างกว้างขวาง ตามความเห็นของสมาชิก เมื่ออภิปรายแล้วเสร็จ จะให้สมาชิกร่วมลงมติ ว่าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ หากเสียงข้างมากลงมติว่าไม่รับเรื่อง วาระถอดถอนจะสิ้นสุดลงทันที หรือหากเสียงข้างมากลงมติว่ารับเรื่อง ก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่เป็นไปตามข้อบังคับ เรื่องถอดถอนฯ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ สนช.ลงมติรับเรื่องไว้พิจารณา ได้คำนึงถึงประเด็นความขัดแย้งที่ตามมาด้วยหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า "ผมไม่ขอกล่าวไปถึงตรงนั้น ค่อยดูอีกที"
ทางด้านนายสมชาย แสวงการ สนช. ฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. กล่าวถึงการประชุม สนช. ในวาระถอดถอนฯ ในวันที่ 17 ต.ค. ว่า จะจัดให้เป็นการประชุมลับ เนื่องจากวาระพิจารณา คาดว่า จะมีการอภิปรายพาดพิงถึงบุคคลภายนอก ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลได้ ส่วนวิธีพิจารณาประเด็นที่บุคคลภายนอกมองว่ามีรายละเอียดข้อกฎหมายร่วมด้วยนั้น เบื้องต้นสมาชิกฯ อาจขอสำนวนไต่สวนของ ป.ป.ช. มาพิจารณาควบคู่การอภิปราย โดยประเด็นสำคัญ คือ ความผิดของผู้ที่ถูกกล่าวหานั้นตามสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. นอกจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ยังมีบทบัญญัติกฎหมายใดรองรับอยู่หรือไม่ และอยู่ในฐานที่ สนช.สามารถพิจารณาได้ต่อไปหรือไม่ รวมถึงพิจารณาในเรื่องอื่นๆ ร่วมด้วย จากนั้นจะให้สมาชิกฯ ได้ลงมติตัดสิน โดยใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก หากมติข้างมาก ระบุว่า ยุติเรื่อง ต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่า ประเด็นยุติเรื่องนั้น คือ จะส่งรายงานคืนไปยัง ป.ป.ช. เพื่อรอให้มีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่มาทำหน้าที่ หรือตกไปในวาระพิจารณาของ สนช.
"สำหรับประเด็นที่หลายฝ่าย ระบุว่า สนช.ไม่มีอำนาจพิจารณานั้น ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้ว คือ มีอำนาจตามมาตรา 5 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ที่ให้อำนาจ สนช. วินิจฉัยชี้ขาดเรื่องที่เกี่ยวกับวงใน สนช. ส่วนประเด็นที่ผู้ที่จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งนั้น สถานะปัจจุบันไม่อยู่ในตำแหน่งแล้วนั้น ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ที่ไม่อยู่ในตำแหน่งแล้ว สามารถเข้าสู่การพิจารณาถอดถอนได้ เช่น กรณี นายสมชาย วงสวัสดิ์ อดีตนายกฯ , นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ วุฒิสภาสามารถพิจารณาถอดถอนได้ เนื่องจากผลทางกฎหมายหลังลงมติถอนถอน คือ การตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ยังคงอยู่"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. 4 อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ , นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี , นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายสิงห์ทอง บัวชุม อดีตผู้สมัคร กทม. พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นหนังสือต่อนายพรเพชร เพื่อขอให้ สนช. ใช้ดุลยพินิจตามหลักการของกฎหมาย และด้วยความรอบคอบ ในวาระพิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคม ออกจากตำแหน่ง ตามรายงานที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนแล้วเสร็จ ที่บรรจุไว้ในวาระการประชุม สนช. วันที่ 17 ต.ค.นี้ โดยนายพรเพชร ลงมารับหนังสือด้วยตนเอง พร้อมชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และยึดหลักของกฎหมายเป็นสำคัญ ดังนั้นแม้จะไม่มีผู้ใดมายื่นหนังสือ ทางสมาชิก สนช. ยืนยันว่า จะทำหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม และประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ สนช.ชุดปัจจุบัน แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็พร้อมจะทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ประชาชน และชาติ