ข่าว

'สุขุมพันธุ์'อัญเชิญพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

'สุขุมพันธุ์'อัญเชิญพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

23 ต.ค. 2557

'สุขุมพันธุ์' อัญเชิญพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประทับหน้าอาคารสภากทม.แห่งใหม่

 
                         23 ต.ค. 57  เมื่อเวลา 07.00 น.  ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีอัญเชิญประติมากรรมพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เพื่อประทับบริเวณลานหน้าอาคารสภากรุงเทพมหานครแห่งใหม่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง)
 
                         รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการจัดสร้างประติมากรรมพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ตราสัญลักษณ์ประจำองค์การบริหารราชการปกครองส่วนท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดสร้างขึ้นตามดำริของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เมื่อครั้งที่เฝ้า ฯ รับเสด็จ ฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์สักทอง วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2552 เนื่องด้วยอาคารดังกล่าว มีการจัดสร้างประติมากรรมพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และประดิษฐานบริเวณหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีความสวยงาม อีกทั้งยังปรากฏประติมากรรมช้างเอราวัณตามสถานที่สำคัญต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาทิ ช้างเอราวัณ ประดิษฐานบริเวณเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร ซึ่งจัดสร้างเนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2539 และช้างเอราวัณ ที่พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 
 
                         รายงานข่าวระบุว่า ทั้งนี้ การจัดสร้างประติมากรรมพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประดิษฐานด้านหน้าอาคารสภากรุงเทพมหานครแห่งใหม่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) จะแสดงถึงความสง่างาม และแสดงถึงความแข็งแกร่งขององค์กรกรุงเทพมหานคร โดยประติมากรรมเป็นโลหะสัมฤทธิ์ (บรอนซ์) มีขนาดของฐาน 12 x 12.60 เมตร สูง 4.59 เมตร พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสูง 5.9 เมตร มีความสูงรวม 10.49 เมตร เป็นผลงานการออกแบบของนายธวัชชัย ศรีสมเพชร ประติมากรอิสระ ขั้นตอนการหล่อประติมากรรมช้างเอราวัณ ขั้นที่ 1 ออกแบบ และปั้นช้างเอราวัณด้วยดินเหนียว และปูนปลาสเตอร์ ขั้นที่ 2 ปั้นขยายแบบร่างดินเหนียว พร้อมทำแม่พิมพ์ ขนาดความสูง 1.85 เมตร ทำแม่พิมพ์ และถอดแบบพร้อมหล่อช้างเอราวัณด้วยปูนปลาสเตอร์ ขนาดความสูง 1.85 เมตร ขั้นตอนที่ 3 ขยายโครงสร้างช้างเอราวัณบนฐานเมฆ และพระอินทร์ขนาดเท่าแบบก่อสร้างจริง จากนั้นปั้นขยายด้วยปูนปลาสเตอร์ พร้อมทำแบบแม่พิมพ์ และแบบก่อสร้างจริงความสูง 4.40 เมตร ขั้นที่ 4 หล่อโลหะสัมฤทธิ์ประกอบชิ้นส่วนประติมากรรม จากนั้นจึงตกแต่ง และเก็บรายละเอียด
 
                         รายงานข่าว ระบุต่อว่า สำหรับพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร เป็นภาพฝีพระหัตถ์ของพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2466 โดยเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ สี่งา พระหัตถ์ขวาทรงถือวชิราวุธ พระหัตถ์ซ้ายทรงขอช้าง ต่อมา นายสนิท ดิษฐ์พันธุ์ ช่างศิลป์เอก กรมศิลปากร เป็นผู้เขียนจำลองแบบลายเส้นจากภาพฝีพระหัตถ์เพื่อใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร จะประกอบพิธีบวงสรวง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวกรุงเทพมหานคร ในวันคล้ายวันสถาปนากรุงเทพมหานคร วันที่ 17 ธ.ค.นี้