
'นายกฯ'เยือนกัมพูชาปัดให้สัมภาษณ์
30 ต.ค. 2557
'นายกฯ' เยือนกัมพูชา ปัดให้สัมภาษณ์ 'รอกลับมาก่อน' เตรียมร่วมประชุมเอเปก ครั้งที่ 22 ที่ปักกิ่ง ห่วงรัฐบาลเสนอข่าวไม่ครอบคลุม ฝากทุกกระทรวงช่วยแจงประชาชน
30 ต.ค. 57 เมื่อเวลา 13.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ไปยังกรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ในการเยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 30-31 ต.ค. ทั้งนี้เมื่ิอมาถึงท่าอากาศยาน 2 กองบิน 6 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทาง โดยกล่าวเพียงว่า "เดี๋ยวนะ รอกลับมาก่อน"
สำหรับภารกิจของนายกรัฐมนตรี เมื่อเดินทางถึงกัมพูชา จะมีพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะหารือกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ โดยเป็นบันทึกความเข้าใจการต่อต้านการค้ามนุษย์ บันทึกความเข้าใจการร่วมมือเชื่อมทางรถไฟ และบันทึกความเข้าใจด้านการท่องเที่ยว ก่อนจะเข้าเฝ้า ฯ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ทางการกัมพูชาเลี้ยงต้อนรับ
ทั้งนี้ การเดินทางไปยังกัมพูชาครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งที่ 3 ต่อจากสหภาพเมียนมาร์ และสาธารณรัฐอิตาลี ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เตรียมร่วมประชุมเอเปก ครั้งที่ 22 ที่ปักกิ่ง
พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางไปร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 22 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน 2557 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะที่จีนเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปก ได้กำหนดหัวข้อการประชุมปีนี้ว่า " การสร้างอนาคตด้วยความเป็นหุ้นส่วนในเอเชีย-แปซิฟิก (Shaping the Future through Asia-Pacific Partnership) " และระบุประเด็นหลักที่ให้ความสำคัญสามเรื่อง ได้แก่ 1. การก้าวสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค 2. การส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีนวัตกรรม การปฏิรูปเศรษฐกิจ และการเจริญเติบโต และ 3. การเสริมสร้างความเชื่อมโยงอย่างครอบคลุมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีความสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้แสดงวิสัยทัศน์ และแลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้นำในหัวข้อการประชุมดังกล่าว โดยการปรากฏตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นการยืนยันบทบาทไทยต่อการมีส่วนร่วมในความเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ
นอกจากภารกิจหลักในส่วนของการประชุมผู้นำแล้ว นายกรัฐมนตรี ยังมีภารกิจสำคัญอื่นๆ อาทิ 1. การหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (APEC Business Advisory Council : ABAC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการประชุมผู้นำเอเปกประจำปี โดยเป็นโอกาสที่ผู้นำเอเปก รวมทั้งนายกรัฐมนตรีไทย จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้แทนภาคเอกชนจากเขตเศรษฐกิจเอเปก และเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศ 2. การหารือทวิภาคีกับผู้นำเขตเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และผลักดันประเด็นความร่วมมือในระดับทวิภาคี นอกจากนี้ จะเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนทรรศนะ และเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย
พร้อมกันนี้ ยังมีการหารือระดับทวิภาคีระหว่างผู้นำเอเปก ซึ่งจะเป็นโอกาสในการผลักดันความร่วมมือทวิภาคีในอนาคต โดยในส่วนผู้นำของไทยจะหารือกับผู้นำประเทศใดบ้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงาน นอกจากนี้ จะมีเอกสารผลลัพธ์การประชุมครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้งเอเปก ที่จะพูดถึงความสำเร็จที่ผ่านมาและการก้าวไปข้างหน้าของเอเปก และเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่เรียกว่า Beijing Declarration ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง 3 หัวข้อข้างต้น ว่าสมาชิกได้ร่วมมือกันอย่างไรบ้าง ซึ่งจะเป็นเอกสารสำคัญของผู้นำ อย่างไรก็ตาม การเป็นสมาชิกเอเปก ทำให้ไทยมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติกับเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปกที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย และเป็นโอกาสให้ไทยได้นำเสนอผลสำเร็จของนโยบายการดำเนินงานของไทย อย่างเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการก้าวข้ามกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่สูงกว่า แม้ว่าประเทศไทยจะถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงกว่ารายได้ปานกลาง (Upper Incom) แต่ก็พร้อมให้ความร่วมมือ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถให้กับประเทศต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า ความมั่นคงทางอาหาร SMEs พลังงาน การศึกษา สาธารณสุข และการจัดการภัยพิบัติ เป็นต้น
ห่วงรัฐบาลเสนอข่าวไม่ครอบคลุม ฝากทุกกระทรวงช่วยแจง ปชช.
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลัง ประชุมติดตามงานประจำวันที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ประชุมได้นำข้อห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องการเสนอข่าวของรัฐบาลที่ยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาหารือ เนื่องจากที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ และชี้แจงเพียงคนเดียว จนถูกครหาว่า พูดมากเกินไป ซึ่งหากไม่พูด ก็จะทำให้คนไม่เข้าใจว่ารัฐบาลได้ทำงานอะไรไปบ้าง หรือมีแต่การสั่งการอย่างเดียว ทำให้บางครั้งถูกมองว่า นายกรัฐมนตรี พูดและทำไม่ได้ ดังนั้นจากนี้ไป ตนในฐานะรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็จะประสานทำความเข้าใจไปกับรัฐมนตรีทุกกระทรวง ในการหาช่องทางชี้แจง ทำความเข้าใจงานต่างๆ ให้ประชาชนเข้าใจและรับรู้ ว่ารัฐบาลได้เดินหน้าทำงานและแก้ไขอะไรไปบ้าง
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า เตรียมนัดพบปะพูดคุยและรับประทานอาหารร่วมกัน กับสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล โดยไม่ได้มีวาระอะไรเป็นพิเศษ แต่เนื่องจากตั้งแต่เข้ามารับหน้าที่ ยังไม่ได้มีการพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการ
ขณะที่ นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องการที่จะพบปะพูดคุยกับสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งไม่ได้มีวาระอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่จะได้มีการพูดคุยกันบ้าง สำหรับช่วงนี้ที่ไม่ปรากฏเป็นข่าว ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เนื่องจากป่วยท้องเสียต้องไปนอนให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาลมา 1 คืน และพักรักษาตัวที่บ้านต่อ ซึ่งวันเดียวกันนี้ ก็จะเดินทางร่วมคณะกับนายกรัฐมนตรีเพื่อเดินทางไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการตามปกติ ไม่เกี่ยวข้องกับที่ตกเป็นข่าวในขณะนี้