ข้อคิดเรื่อง 'ความเหลื่อมล้ำ' จากอดีตถึงปัจจุบันที่เป็นอยู่
13 พ.ย. 2557
สวัสดีเศรษฐกิจ : ข้อคิดเรื่อง 'ความเหลื่อมล้ำ' จากอดีตถึงปัจจุบันที่เป็นอยู่ : โดย...สุรพล โอภาสเสถียร
เมื่อผมได้เห็นเอกสารการบรรยายหน้าหนึ่งของสถาบันอนาคตไทยศึกษา ทำให้ฉุกใจคิดได้ว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของเราในอดีตมองการณ์ได้ไกลมากๆ รักประเทศชาติจริงๆ และเหมือนท่านจะรู้เลยว่า ถ้าพวกเราซึ่งก็คือผู้ใหญ่ที่ต่างพูด ต่างคิด ต่างทำในวันนี้ หรือคือพวกเราที่เป็นเด็กๆ ในวันนั้น ที่ผู้อาวุโสได้พร่ำสอนและส่งมอบประเทศให้ดูแลต่อมาในวันนี้ จะได้ตระหนักและช่วยกันทำให้ปัญหามันทุเลาเบาบางลงมา เราในวันนี้ก็อาจไม่ต้องทนอยู่ ทนทุกข์ มีภาระต้องมาแก้ไขปัญหาร้อยแปดในเวลานี้
"ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตได้อย่างน่าพอใจ แต่ความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้ยังมีอยู่สูง รวมถึงยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างภาครายได้ของครัวเรือนในเมือง มีรายได้สูงเป็น 2 เท่าของครัวเรือนในชนบท และรายได้เฉลี่ยของคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็มากกว่าครัวเรือนที่อยู่ในภาคอีสานถึง 3 เท่า ซึ่งความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ จะนำไปสู่ปัญหาที่ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะกับเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสี่ยงต่อสถานภาพทางการเมืองอีกด้วย"
เป็นข้อคิดเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในรายงานการทบทวนแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (ปี 2504-2509)
ข้อความที่ท่านต้องฉุกใจคือ มันเป็นข้อมูลจากรายงานเมื่อมีการทบทวนแผนพัฒนาฉบับที่ 1 ปี 2504-2509 ข้อมูลแบบนี้มีมานานมากๆ แล้ว ทำไมเราที่เป็นผู้ใหญ่ที่ถูกเด็กๆ ถามใน เพลงวันพรุ่งนี้ ตอนเคารพธงชาติที่บอกว่า ทุกสิ่งประสงค์จงใจ จักเสร็จสมได้ ด้วยสามัคคี มันถึงได้ค้างคามาตั้งแต่เราเป็นเด็ก จนเรามีหลานในปัจจุบัน...การมีเป้าหมายจะไปดวงจันทร์ แต่ทะเลาะกันที่ปากซอยว่าจะเรียกแท็กซี่ หรือมอเตอร์ไซค์ และใครต้องเป็นคนจ่ายเงิน...ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ เป้าหมายที่ท้าทาย จะเกิดได้หรือไม่...ลองตรึกตรองกันดู มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผมได้สัมผัสท่านบอกว่าเรื่องนี้เราทุกคนที่มีฐานะสามารถทำได้ ทำได้เลย ทำทันที และมีผลสัมฤทธิ์ ดังนี้ครับ
ยกหนี้ที่เราเคยให้ แม่บ้าน คนใช้ คนงาน คนสวน หรือคนที่ทำงานบ้านให้เรา เหมือนที่ประเทศร่ำรวยยกหนี้ให้ประเทศยากจน โดยเฉพาะคนเหล่านั้นเขาต้องจากบ้าน จากครอบครัวเขา มาดูแลพวกเรา
เพิ่มเงินเดือนทันทีให้แม่บ้าน คนใช้ คนงาน คนสวน หรือคนที่ทำงานบ้านให้กับเรา โดยเฉพาะคนเหล่านั้นเขาต้องจากบ้าน จากครอบครัวเขา มาดูแลพวกเรา
ทำประกันสุขภาพในระดับพื้นฐานให้คนในทุกตำแหน่งหน้าที่ เพราะปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องที่ก่อภาระหนี้ให้คนที่มีรายได้น้อย
ให้ทุนการศึกษาแก่ลูกหลานของของคนทำงานในบ้านทุกตำแหน่งหน้าที่ เพื่อที่ในอนาคต เขาเหล่านั้นจะได้มีโอกาสเข้าถึงสิ่งที่ดีๆ ในสังคมของเราบ้าง
สิ่งที่ระบุมาทั้งหมดข้างต้นมันไม่เป็นภาระกับใครมากมาย ไม่ได้ทำให้ใครจนลงจนอยู่ไม่ได้ ป่วยการที่จะพูดเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนบนโต๊ะอาหารเย็นที่มีค่าใช้จ่ายเท่ากับรายได้ 1 ปี ของเกษตรกรคนที่ปลูกข้าว ปลูกผักให้เรากิน เราได้รับมามากแล้ว เราควรคืน...ประกายตาที่มีความหวังในดวงใจของเขาเหล่านั้น
---------------------------
(สวัสดีเศรษฐกิจ : ข้อคิดเรื่อง 'ความเหลื่อมล้ำ' จากอดีตถึงปัจจุบันที่เป็นอยู่ : โดย...สุรพล โอภาสเสถียร)