ประยุทธ์เผยไทยหนุนสหรัฐบนเวทีอาเซียน
ประยุทธ์เผยไทยหนุนสหรัฐบนเวทีอาเซียน บทบาทที่สร้างสรรค์มุ่งสร้างสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
13พ.ย.2557 ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติเมียนมาร์ (MICC) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน- สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 2 ร่วมกับผู้นำชาติอาเซียน เลขาธิการอาเซียน และนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยการประชุมครั้งนี้ จะทบทวนพัฒนาการความร่วมมือ และกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคต รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งภายหลังการประชุม ผู้นำได้ให้การรับรองร่างถ้อยแถลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (ASEAN - U.S. Joint Statement on Climate Change)
ภายหลังการเข้าร่วมการประชุม ร้อยเอกยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเข้าร่วมการประชุมของประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับอาเซียนและภูมิภาคนี้อย่างยิ่ง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาเซียนและสหรัฐฯ เห็นพ้องที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง ไทยเป็นพันธมิตรที่ยาวนานของสหรัฐฯ และเห็นถึงความสำคัญของบทบาทของสหรัฐฯ ในการรักษาเสถียรภาพและเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค
ไทยสนับสนุนการเข้ามามีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการที่สหรัฐฯ เห็นความสำคัญถึงบทบาทอันเป็นแกนกลางของอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน ไทยมองว่า บทบาทของสหรัฐฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภูมิภาคนี้ รวมทั้ง ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศความมั่นคงที่ดีและเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค ดังนั้น บทบาทของสหรัฐฯ จะต้องมีความสร้างสรรค์และยั่งยืน เพื่อส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาคในทุกมิติ
ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอข้อคิดเห็นบางประการ ดังนี้ ประการแรก ความมั่นคงของภูมิภาคจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า สหรัฐฯ สามารถมีบทบาทในการช่วยยกระดับการพัฒนาของประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึงการลดช่องว่างด้านการพัฒนา โดยอาจเน้นการพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจอาเซียน แต่ภาคเกษตรยังไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าที่ควรจากการเปิดเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ดังนั้น จึงจำเป็นที่เราจะต้องร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเกษตร โดยการเปิดตลาดส่งออก การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร การแบ่งปันองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมให้มีผลผลิตเพียงพอและเกษตรกรได้รับรายได้ที่เป็นธรรมนอกจากนี้ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีบทบาทสำคัญหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งยังต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ โดยการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี การบริหารจัดการธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ การเรียนรู้วิธีการดำเนินการ (know how)
ประการที่สอง นายกรัฐมนตรีเสนอว่า เราสามารถขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ปัจจุบัน เราต่างเผชิญกับปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ และประเด็นท้าทายข้ามชาติ อาทิ การค้ามนุษย์ การลักลอบค้าสัตว์ป่า อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ความมั่นคงทางทะเล ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดน โดยไทยและอาเซียนพร้อมที่จะขยายความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในประเด็นเหล่านี้
นอกจากนี้ การจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์เป็นประเด็นที่ต้องร่วมดำเนินการ ไทยจึงสนับสนุนความร่วมมือกับอาเซียนและประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวสารเพื่อจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ให้มีผลสำเร็จ สหรัฐฯ สามารถเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของอาเซียน ผ่านสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศต่างๆ
สำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีเห็นว่ามีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ไทยยินดีต่อบทบาทนำของประธานาธิบดีโอบามาในการผลักดันความร่วมมือเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยจึงสนับสนุนแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-สหรัฐฯ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหวังว่า อาเซียนและสหรัฐฯ จะสามารถร่วมกันจัดการความท้าทายนี้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งผลกระทบประการหนึ่ง คือ การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในภูมิภาค อาเซียนจึงต้องเตรียมความพร้อมและมีการวางระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและจัดการกับภัยพิบัติ และสนับสนุนการจัดการประชุม Third UN World Conference on Disaster Risk Reduction ที่เซ็นไดในปีหน้า
นอกจากนี้ ประเด็นท้าทายจากโรคระบาดเป็นประเด็นที่อาเซียนและสหรัฐฯ ควรให้ความสำคัญด้วย ไทยสนับสนุนการมีความร่วมมือแก้ไขปัญหาทั้งในเวทีระดับโลกและระดับภูมิภาค ในส่วนของการแพร่ระบาดของอีโบลา ไทยสนับสนุนแถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 ว่าด้วยการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาของภูมิภาค และได้เสนอเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 สมัยพิเศษ ในเดือนธันวาคม 2557 เพื่อสนับสนุนความพยายามในการเตรียมความพร้อมและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของอีโบลาในระดับภูมิภาค
ประเด็นสุดท้าย ไทยร่วมกับอาเซียนเห็นความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โดยเฉพาะเยาวช โดยไทยยินดีที่โครงการผู้นำเยาวชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประธานาธิบดีโอบามา ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างเยาวชนของสองฝ่ายไทยสนับสนุนให้สหรัฐฯ ขยายบทบาทในการริเริ่มและดำเนินโครงการด้านการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเสริมสร้างประชาคมที่แข็งแกร่งของอาเซียน ทั้งในปัจจุบันและภายหลังปี 2558
ไทยเสนออาเซียน+3ร่วมรับมืออาชญากรรมข้ามชาติภัยพิบัติ
เมื่อเวลา 16.00 นพลเอก ประยุทธ์ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สรุปดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 เป็นกรอบความร่วมมือสำคัญของภูมิภาค โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก และต้องรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลง
สภาพภูมิอากาศ และโรคระบาด
ขณะเดียวกัน ความร่วมมืออาเซียน+3 จะมีความสำคัญยิ่งในการช่วยสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง เพื่อปูทางไปสู่ประชาคมเอเชียตะวันออกในอนาคต เพื่อบรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสามให้ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือ 3 ประการดังนี้
ประการแรก การระดมเงินทุนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ในปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีเงินทุนสำรองจำนวนมาก โดยจีนและญี่ปุ่นนับเป็นประเทศที่มีเงินทุนสำรองมากเป็นลำดับต้นของโลก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่สามารถระดมเงินทุนเหล่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้เงินทุนสูง
ในขณะเดียวกัน บทบาทของภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อยจำนวนมากในภูมิภาคนี้ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ภาคธุรกิจเหล่านี้ยังมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรจึงจะสามารถระดมเงินทุนจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของตลาดทุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการออกพันธบัตร เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ เราจึงควรร่วมมือกันใช้ประโยชน์จากกลไกอาเซียน+3 ที่มีอยู่ โดยเฉพาะหน่วยงานค้ำประกันเครดิตและการลงทุน ภายใต้มาตรการริเริ่มตลาดพันธบัตรเอเชีย ซึ่งได้มีการขยายวงเงินเพิ่มขึ้นเป็น 1,750 ล้านเหรียญในปีนี้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ภาครัฐของประเทศอาเซียน+3 ควรชักชวนให้ภาคเอกชนได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเงินทุนนี้ให้มากขึ้น เพื่อเป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนที่สามารถเข้าถึงได้
ประการสอง เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร เหตุการณ์ภัยพิบัติที่มีความถี่และทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ล้วนแต่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการผลิตซึ่งมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค
ที่ผ่านมา คลังสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียน+3 ได้ทำหน้าที่ ในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินจากภัยพิบัติเป็นอย่างดี เราควรเสริมสร้างขีดความสามารถของแอปเตอร์ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปรับปรุงกระบวนการแจกจ่ายข้าวสำรองให้มีความรวดเร็ว โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการผันผวนของตลาดและสภาพแวดล้อมที่เหนือความคาดหมาย เราอาจมอบหมายให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเกษตรอาเซียน+3 ศึกษาความเป็นไปได้ของการสำรองพืชผลชนิดอื่นด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า อีกส่วนสำคัญที่จะนำมาซึ่งความมั่นคงทางอาหาร คือ การสร้างแรงจูงใจในการผลิตให้กับภาคการเกษตร เราควรร่วมมือกันเพื่อที่จะดูแลให้ภาคเกษตรมีความแข็งแกร่ง และได้รับความเป็นธรรมด้านราคา ซึ่งจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้เกษตรสามารถเพิ่มผลิตผลและหาลู่ทางในการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตรให้มากยิ่งขึ้น โดยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการเกษตรและการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าของสินค้าการเกษตร จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดียี่งขึ้น
ประการที่สาม การรับมือภัยคุกคามข้ามแดนในรูปแบบต่าง ๆ ปัจจุบันนี้ ทุกคนมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของอีโบลา หากมองย้อนกลับไปตอนเกิดการระบาดของโรคซาร์ (SARS) ได้สร้างความตื่นตระหนกที่ส่งผลร้ายยิ่งกว่าภัยของโรค โดยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
เราควรสร้างเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นในการเผชิญความท้าทายนี้ เพื่อสร้างภูมิต้านทานของภูมิภาคในการรับมืออีโบลาในภูมิภาค แม้ว่าการระบาดจะยังไม่เกิดขึ้น ไทยจึงสนับสนุนให้รัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 และเจ้าหน้าที่อาวุโส หารือเรื่องการเตรียมพร้อมและแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยไทยพร้อมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวในเดือนธันวาคมปีนี้ นอกจากนี้ การระบาดของอีโบลา ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการเข้าถึงการรักษาสุขภาพและสาธารณสุขพื้นฐานในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค และเป็นหลักประกันชีวิต และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ไทยจึงให้การสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอาเซียน+3 และพร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศในกรอบอาเซียน+3 เพื่อขยายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมทุกประเทศในภูมิภาค
ในตอนท้าย ไทยยืนยันความมุ่งมั่นในการผลักดันกรอบความร่วมมืออาเซียน+3 อย่างเต็มที่ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนของเรา และบรรลุการเป็นประชาคมเอเชียตะวันออกที่สงบสุข เจริญรุ่งเรือง และมีความก้าวหน้า