อันดามันและนิโคบาร์:ทั่วไป
อันดามันและนิโคบาร์:ทั่วไป : มองมุมยุทธศาสตร์ โดยเรือรบ เมืองมั่น
ทะเลอันดามันเป็นผืนน้ำที่กว้างใหญ่ หากวัดจากฝั่งตะวันออกของชมพูทวีปมาเข้าเขตพม่า จะพบว่าไม่ค่อยมีเกาะเท่าไหร่นัก แต่หมู่เกาะที่มีเกาะรวมกัน 552 เกาะ เรียงรีจากบนลงล่างกลางผืนน้ำนั้น ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญไม่น้อย ด้วยว่าไม่เพียงเป็นต้นทางที่จะเข้าสู่ช่องแคบมะละกา แต่หมู่เกาะนี้ยังอยู่ในอำนาจของมหาอำนาจใหม่ของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และถ้าอินเดียสามารถใช้ประโยชน์หมู่เกาะแห่งนี้มากกว่าที่เป็นอยู่แล้วล่ะก็ สภาพภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคอาจแปรเปลี่ยนไป
หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันออกของแผ่นดินใหญ่อินเดียถึงเกือบ 1,500 กิโลเมตรนั้น อาจไม่ได้มีประโยชน์ในการเป็นแนวป้องกันทางลึกหรือเป็นขอบหน้าพื้นที่การรบในยุคนี้ ถ้ามองในแง่ของสงครามตามแบบ เพราะอินเดียไม่ได้มีศัตรูในอาเซียน และถ้ามองในอดีตภัยคุกคามต่ออินเดียมาจากทางตอนบนเสียมากกว่า โดยเฉพาะทางตะวันตกข้ามแม่น้ำสินธุ อันดามันเคยเป็นพื้นที่ที่ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องยึดไว้เพื่อสนับสนุนการบุกพม่า ขณะที่ก่อนหน้านั้นเป็นเพียงแหล่งพักเรือกลางทางระหว่างอาณาจักรโจฬะกับศรีวิชัยก็แค่นั้น แต่อินเดียก็เสียหมู่เกาะนี้ที่อังกฤษยกมาให้ฟรีๆ ไปไม่ได้ ไม่เพียงเพราะทรัพยากรธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ แต่เพราะเป็นพื้นที่เชื่อมต่อที่อาจเป็นสะพานสู่อาเซียนประสบความสำเร็จด้วย
ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมหน่วยงานทางทหารและพลเรือน ทั้งอันดามันและนิโคบาร์ เมื่อปลายเดือนตุลาคม พบว่าแม้อินเดียจะพอใจกับการที่หมู่เกาะเป็นตัวขยายพรมแดนทางทะเลของอินเดียและวางยุทธศาสตร์ให้หมู่เกาะเป็นแหล่งท่องเที่ยวและรักษาระบบนิเวศวิทยา แต่ดูเหมือนยังไม่ประสบความสำเร็จนัก ประการสำคัญคือ สภาพแวดล้อมของเกาะที่ไม่เอื้อต่อการสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ดี พื้นที่ที่เป็นที่สูงต่ำคดเคี้ยวยากต่อการขยายถนนและสร้างระบบขนส่งอื่น ไฟฟ้าและน้ำจืดหายาก แทบทุกอย่างต้องนำเข้าจากเชนไนที่ไกลออกไปพันไมล์ ต้องโทษระบบการเมืองด้วยที่ทำให้แคว้นอันดามันและนิโคบาร์ต้องพึ่งพิงแผ่นดินใหญ่มากเกินไป ไม่สัมพันธ์กับภูเก็ตหรืออาเจะห์เท่าที่ควร ทั้งที่อยู่ห่างกันไม่กี่ร้อยกิโลเมตร หากยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ หมู่เกาะนี้ก็ยากจะเป็นสวรรค์ของทะเลอันดามันถึงระดับฮาวายของแปซิฟิกดังที่มีศักยภาพที่อยากเป็น
หมู่เกาะมีโอกาสดีด้านการท่องเที่ยว เพราะยังสวยสะอาด แต่ยังต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวอินเดียแผ่นดินใหญ่ เพราะชาวต่างชาติมายาก บินตรงมาเลยแทบไม่ได้ มักต้องโยกไปทางกัลกัตตา หรือเชนไนก่อน มีขั้นตอนเข้าออกต้องขออนุญาตเข้มงวด ยิ่งทางนิโคบาร์ยิ่งแทบเข้าไม่ได้ อาจจะมีการเริ่มเปลี่ยนแปลงหากอินเดียดำเนินนโยบายมองตะวันออกเข้มแข็งมากกว่านี้
ไทยยังมีการติดต่อกับอันดามันน้อยกว่าที่ควร มีเพียงความสัมพันธ์ระหว่าง ทร.ที่กระชับแนบแน่น การลาดตระเวนร่วมกันลดปัญหาด้านการลักลอบขโมยพืชสัตว์ออกจากเกาะ (ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากคนไทย) หวังว่าในอนาคตจะมีความร่วมมือกันมากกว่านี้ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการข่าว