25ปีสันติภาพหาดใหญ่อดีตกองทัพประชาชนพคม.
25ปีสันติภาพหาดใหญ่ อดีตกองทัพประชาชนพคม.วันที่เป็นไทย : สมชาย สามารถ
วันที่ 2 ธันวาคม 2532 หรือเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา การลงนามความตกลงยุติความเป็นศัตรูกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์มลายา(พคม.) กับรัฐบาลมาเลเซีย ที่ห้องสันติภาพ โรงแรมลีการ์เดนส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นวันประวัติศาสตร์ของการเจรจา "สันติภาพหาดใหญ่"
วันนี้อดีตกองทัพประชาชน พรรคคอมมิวนิสต์มลายา ในประเทศไทย (4 หมู่บ้าน จุฬาภรณ์ 9-12 ในอ.เบตง ธารโต ยะหา จ.ยะลา และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส) ร่วมกันจัดงาน "รำลึก" ขึ้นบริเวณสถานที่ประวัติศาสตร์นี้อีกครั้ง พร้อมกับการเปิดตัวชมรมสันติภาพประเทศไทย และพิธีสถาปนากรรมการชมรมที่เพิ่งก่อตั้งในปีนี้ (2557)
"วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งชมรมสันติภาพประเทศไทย เราไม่มีเป้าหมายทางการเมือง หรือเป้าหมายอื่นใดทั้งสิ้น เป้าหมายของเราก็คือ การสร้างความใกล้ชิดระหว่างอดีตกองทัพประชาชนและครอบครัวในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทุกเรื่อง โดยเฉพาะร่วมมือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นศูนย์กลางในการสื่อสาระหว่างสมาชิก ที่ผ่านมาการสื่อสารระหว่างกันยังไม่ทั่วถึง ใครทำอะไรที่ไหน ลูกใคร หลานใคร ใครที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือเสียชีวิตไปแล้ว เป็นต้น"
คิงฮุด แซ่อัง รองประธานชมรมสันติภาพประเทศไทย บอกและว่าวันนี้ อดีตสมาชิกกองทัพประชาชนที่ปัจจุบันมีรุ่นลูก รุ่นหลาน เกือบ 2,000 คน ที่อาศัยผืนแผ่นดินไทยเป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ทำมาหากิน และถือเป็นคนไทยคนหนึ่งที่จะต้องมีความรักและสามัคคีกัน ประกอบอาชีพทำสวนยาง เข้ามาค้าขายในเมือง ทำธุรกิจ สอนภาษาจีน เป็นมัคคุเทศก์ รุ่นหลานก็ได้รับการศึกษาที่ดี เรียนจบแพทย์ จบวิศวะ
ส่วนการจัดงานครบรอบ 25 ปี ที่มีการเชิญอดีตกองทัพประชาชนในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการจัดงานอย่างเป็นทางการและยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะได้จัดเตรียมโต๊ะจีนที่มีอดีตสมาชิกกองทัพประชาชนซื้อโต๊ะละ 5,000 บาท จำนวน 70 โต๊ะ หรือ 700 คน นั้นเพื่อต้องการจะรำลึกถึงวันที่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มลายาคือ จีนเป็ง (ONG BOON HUA @ CHIN PENG) ที่ตัดสินใจยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธในวันนั้น
จึงทำให้เราอดีตสมาชิกกองทัพประชาชน พรรคคอมมิวนิสต์มลายา มีวันนี้ได้ ในวันที่ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุขกับครอบครัวในปัจจุบันได้ ก็เกิดจากเจรจา "สันติภาพหาดใหญ่"เมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากไม่มีการเจรจา "สันติภาพหาดใหญ่ในวันนั้น วันนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของอดีตสมาชิกกองทัพประชาชนจะเป็นอย่างไร
ฉะนั้นการจัดงานรำลึกวัน "สันติภาพหาดใหญ่" ของชมรมสันติภาพประเทศไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่า การเจรจาสันติภาพ เป็นทางออกของการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ดีที่สุด ที่ทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งจะใช้เป็นแนวทางในการยุติความขัดแย้ง ซึ่งกรณีของ "สันติภาพหาดใหญ่" ถือเป็นแบบอย่างที่คู่ขัดแย้งในปัจจุบัน สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกันได้ เพื่อความสงบสุข
ซึ่งหัวใจสำคัญของการเจรจาสันติภาพที่เกิดขึ้นได้ ก็คือ ความจริงใจ คู่กรณีจะต้องมีความจริงใจ มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดสันติภาพ โดยยึดโยงความสงบสุขของประชาชนหรือผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่าย ต่างฝ่ายต้องถอยกันคนละก้าว เพราะไม่มีอะไรที่ได้ทั้งหมด และไม่มีอะไรที่เสียทั้งหมด ฉะนั้นการถอยคนละก้าวก็สำคัญ
สำหรับข้อห้ามที่คู่เจรจาไม่ควรนำมาประกอบการพิจารณาคือ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในการต่อสู้ที่ผ่านมา โดยจะต้องไม่คิดว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสูญเสียน้อยกว่า หรือมากกว่ากัน เพราะหากคิดแบบนี้ การเจรจาสันติภาพก็จะไม่เกิดขึ้น ฉะนั้นขอให้คิดว่าการต่อสู้ย่อมทำให้เกิดความสูญเสียเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย การเจรจาจะต้องให้เกียรติและคำถึงศักดิ์ศรีของกันและกัน
"นอกเหนือจากอดีตกองกำลังติดอาวุธ กองทัพประชาชน พรรคคอมมิวนิสต์มลายาในประเทศไทยที่มาร่วมงานครั้งนี้แล้ว ยังมีอดีตสมาชิกกองกำลัง กองทัพประชาชนจากประเทศ มาเลเซียและสิงคโปร์เดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย รวมถึงทางเราเชิญอดีตเจ้าหน้าที่ของไทย โดยเฉพาะอดีตผู้นำทางทหารของไทย ที่มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่คนกลางจนทำให้การเจรจาสันติภาพหาดใหญ่ เกิดขึ้น"
สำหรับโครงการหรือกิจกรรมของ ชมรมสันติภาพประเทศไทย จะดำเนินการ 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ "สันติภาพหาดใหญ่" เพื่อให้เป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาดู ศึกษา เกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพที่เกิดขึ้นในขณะนั้น รวมทั้งการนำอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ ของกองทัพประชาชนมาจัดแสดง
"หัวใจของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์คืองบประมาณ ก็ต้องมาหารือกันว่าจะทำอย่างไรสำหรับการหางบประมาณที่จะมาดำเนินการ หลังจากที่แนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สันติภาพหาดใหญ่เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาส่วนสถานที่ก็มาหารือกันว่าจะตั้งที่ไหน เบื้องต้นมีการหารือกับเจ้าของโรงแรมลีการ์เดนส์ว่า อยากได้ห้องประชุมที่มีการลงนาม "สันติภาพหาดใหญ่" ซึ่งปัจจุบันไม่ได้เปิดให้บริการจัดประชุม สัมมนาแล้ว
2.โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ให้แก่อดีตสมาชิกกองกำลัง กองทัพประชาชน พรรคคอมมิวนิสต์มลายา และครอบครัว ได้เพิ่มจากอาชีพทำสวนยางพาราใน 4 หมู่บ้าน ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านมีทรัพยากร มีแหล่งท่องเที่ยว ที่สามารถพัฒนาเพิ่มรายได้ให้กับอดีตสมาชิกได้
"ดูแต่ละพื้นที่มีของดีๆ อยู่ เช่นบางพื้นที่ มีน้ำตก มีป่าที่สมบูรณ์ มีสวนผลไม้ แต่ขาดการพัฒนา ความร่วมมือในการทำระหว่างแต่ละพื้นที่ ในการเป็นเครือข่าย ทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าชุมชน หากทำได้มั่นใจว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับอดีตสมาชิกและครอบครัวได้ เสริมจากอาชีพและรายได้ที่มีอยู่เดิม จากการทำสวนยาง หรือทำสวนผลไม้ก็ดี" รองประธานชมรมสันติภาพประเทศไทย กล่าว