ข่าว

เที่ยว"บ้านพ่อ"ที่ "พระตำหนักปากพนัง"
พ่อหลวงผู้ให้ของปวงชนชาวไทยทุกคน

เที่ยว"บ้านพ่อ"ที่ "พระตำหนักปากพนัง" พ่อหลวงผู้ให้ของปวงชนชาวไทยทุกคน

09 ก.ค. 2552

ในอดีต อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช นับเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง แต่หลังจากประสบวาตภัยครั้งรุนแรง ประกอบกับผลกระทบจากอุตสาหกรรม "นากุ้ง" จึงทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมอย่างหนัก

 แต่ความทุกข์ยากของพสกนิกรหาได้รอดพ้นจากสายพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำปากพนัง

 โครงการพระราชดำริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2537 เน้นการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งระบบลุ่มน้ำ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.9 ล้านไร่

 จากพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนั้นทำให้วันนี้ลุ่มน้ำปากพนังกลับฟื้นคืนสภาพการเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญ ทั้งยังกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญไปแล้ว

 โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหูล่อง (อบต.หูหล่อง) อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานโครงการ และยังมี “บ้านพ่อ” คือ พระตำหนักปากพนัง และ พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติเพื่อพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

 พระตำหนักปากพนัง เป็นหมู่อาคารศิลปะไทยประยุกต์ ออกแบบโดย ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ โดยมีบันทึกของ ดร.ภิญโญ ที่กล่าวถึงโครงการสร้างบ้านให้พ่อด้วยความปลื้มปีติไว้ตอนหนึ่งว่า “หลังจากได้ศึกษาเรื่องทั้งหมดจากผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว ก็มานั่งเขียนแบบพระตำหนัก ช่วงนั้นในราวปลายปี 2538 ขณะนั่งอยู่ก็เห็นภาพพระองค์ท่านในทีวีมีพระราชดำรัสในวันที่ 5 ความว่าเป็นที่ที่ประชาชนจะสร้างบ้านถวาย ได้ฟังขณะนั้นขนลุกไปทั้งตัว เพราะเรื่องที่ทำอยู่นี้เป็นที่สุดของชีวิตแล้ว”

 พระตำหนักแห่งนี้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนเมื่อขับรถขึ้นไปบนสะพานข้ามแม่น้ำปากพนัง โดยเมื่อแลไปทางขวาจะเห็นหมู่อาคาร 15 หลังโดดเด่นเป็นสง่าแต่ไกล

 รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นลักษณะศิลปะไทยที่ผสมผสานงานศิลปะกลิ่นอาย "ปักษ์ใต้" อย่างลึกซึ้ง ประกอบด้วยหมู่อาคารที่สำคัญ คือ ตำหนักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นหลังคาบรานอร์ ทรงเครื่องลำยอง ตำหนักสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นหลังคาบรานอร์ ไม่มีเครื่องลำยอง ตำหนักพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นหลังคาปั้นหยาทรงสูง เรือนพักคุณข้าหลวง เรือนพักแพทย์หลวง เป็นต้น

 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพระตำหนักปากพนัง คือ "บ่อน้ำพุพระนารายณ์ทรงสุบรรณ" ตามคติความเชื่อที่ว่า พระมหากษัตริย์เป็นปางอวตารหนึ่งของพระนารายณ์

 มีตำนานเล่าขานว่าในวันบวงสรวงสร้างน้ำพุได้เกิดปรากฏการณ์ "พระอาทิตย์ทรงกลด" นานถึง 15 นาทีเหนือมณฑลพิธี

 การอนุรักษ์บ้านพ่อ เป็นการดำเนินการตามโครงการ "มูลนิธิร่วมพัฒนาแผ่นดินเกิดลุ่มน้ำปากพนัง สนองพระราชดำริ” เมื่อปลายปี 2538 และแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2549

 สำหรับความเป็นมาของการ "สร้างบ้านให้พ่อ" มีบันทึกว่า เดิมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ประตูน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ แต่ไม่มีที่ประทับ ชาวปากพนังจึงมีความคิดที่จะสร้างศาลาเล็กๆ ตรงประตูระบายน้ำ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2538

 ต่อมา จึงมีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์ตอนหนึ่งว่า “มีชาวบ้านเขาบอกว่า เขาจะทำบ้านให้ สร้างขึ้นที่หัวงานประตูระบายน้ำ”

 บ้านพ่อ หรือพระตำหนักปากพนังจึงถูกจัดสร้างขึ้นโดยใช้พื้นที่ประมาณ 120 ไร่ จากกรมชลประทานก่อสร้างพระตำหนักประทับแรมเฉลิมพระเกียรติ และสวนพฤกษศาสตร์พื้นเมือง จนกลายเป็นบ้านพ่อของชาวไทยทั่วประเทศมาจนถึงทุกวันนี้

 "บ้านพ่อ" อยู่ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ไปตามเส้นทางนครศรีธรรมราช-ปากพนัง ประมาณ 26 กิโลเมตร ถึงสามแยกใกล้ทางไปสะพานปลาให้เลี้ยวขวาไปทางสะพานปากพนัง ก่อนขึ้นสะพานประมาณ 2.5 กิโลเมตร ถึงสี่แยก เลี้ยวขวาไปตาม ถ.ปากพนัง-เชียรใหญ่ จากนั้นอีก 2 กิโลเมตรก็จะถึงบ้านพ่อของคนไทยทั้งประเทศ...พ่อที่ทรงดูแลพวกเรามานานกว่า 60 ปีโดยไม่มีวันหยุดพัก!

"กฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล"