
'แอร์เอเชีย'สูญหายปริศนาเครื่องบินมาเลเซีย
ชะตากรรม162ชีวิต'แอร์เอเชีย'สูญหาย ปริศนาเครื่องบินมาเลเซีย
ในช่วงปี 2557 มีเหตุการณ์ระทึกขวัญเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินโดยสารหลายเหตุการณ์ แต่ใครจะคาดคิดว่า ความสูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าวยังหมุนกลับมาทำให้คนทั้งโลกต้องช็อกกันอีกครั้งในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพราะเมื่อช่วงเช้าตรู่เวลา 05.25 น. วันที่ 28 ธันวาคม ได้เกิดเหตุ เครื่องแอร์บัส เอ 320-200 สายการบินแอร์เอเชียเที่ยวบิน คิวแซท 8501 บรรทุกลูกเรือและผู้โดยสารรวม 162 ชีวิต พุ่งทะยานออกจากท่าอากาศยานนานาชาติจวนดา ประเทศอินโดนีเซีย ไปประเทศสิงคโปร์ สูญหายไปจากจอเรดาร์ และขาดการติดต่ออย่างไร้ร่องรอยเมื่อเวลา 07.55 น. ตามเวลาท้องถิ่น
การสูญหายดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก แม้ว่าขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามระดมเจ้าหน้าที่เร่งค้นหาเครื่องแอร์บัส พร้อมหาสาเหตุของการสูญหายในครั้งนี้ โดยทีมค้นหามุ่งตรวจสอบพื้นที่ตั้งแต่เกาะเบลิตุงไปถึงกาลิมันตันทางตะวันตกของเกาะบอร์เนียว เพราะคาดว่าเที่ยวบิน คิวแซท 8501 น่าจะบินผ่าน
ขณะเดียวกัน กรมการจราจรทางอากาศของอินโดนีเซียออกมายืนยันว่า อากาศยานลำที่สูญหายไปมีลูกเรือ 7 คน ผู้โดยสาร 155 คน ประกอบด้วยผู้ใหญ่ 138 คน เด็ก 16 คน และเด็กทารก 1 คน โดยก่อนการสูญหายนักบินได้ขอลดเพดานบิน 60,000 ฟุต ลงไปอยู่ที่ระดับความสูง 38,000 ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล เพื่อหลบหลีกมวลกลุ่มเมฆที่จับตัวหนา เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย
อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันถึง ชะตากรรมของลูกเรือและผู้โดยสารทั้ง 162 ชีวิต ในแอร์บัส เอ 320-200 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่เป็นเหตุการณ์ช็อกโลก เพราะผู้คนทั้งโลกกำลังอยู่ในช่วงของการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ แต่ต้องมาพบกับข่าวร้ายที่สร้างความสะเทือนใจกันอีกครั้ง หลังจากได้เกิดเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่ทันสมัยของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ 2 ลำ สูญหายและถูกจรวดอากาศยานยิงตก ทำให้มีผู้สูญหายและเสียชีวิตรวมกันกว่า 500 คน
เหตุการณ์ทั้งสองเกิดห่างกันไม่เกิน 4 เดือน สร้างความสั่นสะเทือนต่อสายการบินต้นสังกัดอย่างรุนแรงจนเกือบล้มละลายและรัฐบาลมาเลเซียต้องเข้ามาอุ้ม อีกทั้งยังเป็นปริศนาที่รอคำตอบว่า เครื่องบินที่สูญหายไปนั้นอยู่ที่ใด และใครเป็นผู้ลั่นไกยิงจรวดสังหารเครื่องบินลำที่สองของมาเลเซีย แอร์ไลน์ในเหตุการณ์ครั้งที่สอง
ในคืนวันที่ 8 มีนาคม เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 อีอาร์ สายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ เที่ยวบิน เอ็มเอช 370 ที่มีกำหนดเดินทางจากสนามบินนานาชาติในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย ไปยังสนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เริ่มต้นการเดินทางในเวลา 01.19 น. อย่างราบรื่นโดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ ถึงชะตากรรมที่รออยู่ข้างหน้าในระหว่างการเดินทาง 7 ชั่วโมงไปยังกรุงปักกิ่ง
แต่เมื่อเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 อีอาร์ ที่มีศักยภาพในการบินในพิสัยไกลสุดถึง 16,000 กิโลเมตรโดยไม่ต้องหยุดพัก ที่ใช้ในเที่ยวบินเอ็มเอช 370 เดินทางไปได้ 1 ชั่วโมง 30 นาที ก็เกิดเหตุผิดปกติขึ้นมา เครื่องบินเปลี่ยนเส้นทางเบี่ยงไปทางตะวันตก มุ่งหน้าสู่หมู่เกาะอันดามัน และหลุดจากจอเรดาร์ของกองทัพอากาศมาเลเซียในที่สุด การสื่อสารระหว่างภาคพื้นดินกับกัปตันและนักบินผู้ช่วย ไม่สามารถทำได้อย่างฉับพลัน
ในเวลา 3 ชั่วโมงหลังจากพบว่าเครื่องบินขาดการติดต่อ รัฐบาลมาเลเซียประกาศภาวะฉุกเฉิน สั่งการให้ทหารทุกเหล่าทัพ และหน่วยงานพลเรือน ที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาและกู้ภัยเตรียมพร้อมและออกค้นหาในตำแหน่งที่พบเครื่องบินครั้งสุดท้าย พร้อมประสานงานมายังประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในเส้นทางการบินให้ตรวจสอบตำแหน่งของเครื่องบินลำนี้ ซึ่งปรากฏในภายหลังว่าเรดาร์ของกองทัพอากาศตรวจพบเครื่องบินลำนี้ที่บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คน บินเหนือ จ.สงขลา และหันหน้ามุ่งไปสู่ฝั่งตะวันตกของประเทศ
ในช่วงแรกทางการมาเลเซียประเมินว่า เที่ยวบินเอ็มเอช 370 น่าจะตกลงในอ่าวตังเกี๋ย ทางตอนใต้ของเวียดนาม และได้เรียกร้องให้ทางการไทย เวียดนาม ส่งเครื่องบิน และ เรือ ออกค้นหาในพื้นที่ดังกล่าว แต่ก็ไม่พบแม้แต่คราบน้ำมันที่เป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าเครื่องบินตกลงในทะเล
ขณะเดียวกัน ก็มีการประเมินความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ชะตากรรมสุดท้ายของเที่ยวบินเอ็มเอช 370 ตั้งแต่เหตุก่อการร้าย การตัดสินใจของนักบิน รวมทั้งความบกพร่องของเครื่องบินอายุ 11 ปีลำนี้ นำไปสู่การตรวจสอบประวัติของกัปตันซาฮารี ชาห์ ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยหลักในคดีนี้ เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคฝ่ายค้านของมาเลเซียที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับพรรครัฐบาลมาโดยตลอด
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังค้นพบคอมพิวเตอร์ที่บ้านของ กัปตันฮารี ชาห์ ติดตั้งโปรแกรมไมโครซอฟท์ ไฟลท์ ซิมูเลเตอร์ ที่ใช้สำหรับฝึกบิน ซึ่งจากการตรวจสอบก็พบว่ามีการตั้งโปรแกรมการบินไกลออกไปยังมหาสมุทรอินเดีย และฝึกซ้อมลงจอดบนรันเวย์สั้นๆ บนเกาะห่างไกลแห่งหนึ่ง ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยว่ากัปตันเจตนาบังคับเครื่องบินออกนอกเส้นทางหรือไม่
นอกจากนั้นยังมีการตั้งประเด็นการก่อการร้ายที่จะนำไปสู่การจี้เครื่องบิน เนื่องจากมีการตรวจพบผู้โดยสารชาย 2 คน ถือหนังสือเดินทางที่ขโมยมาจากเจ้าของตัวจริง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเครื่องบินลำนี้ที่มุ่งหน้าไปยังกรุงปักกิ่ง อาจจะเป็นเหยื่อของการก่อวินาศกรรม แต่อย่างไรก็ดี นับเนื่องมากว่า 24 ชั่วโมงแล้วก็ไม่มีกลุ่มหรือผู้ใดแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ขณะที่การค้นหาเอ็มเอช 370 ที่เชื่อว่าตกลงไปในมหาสมุทรอินเดีย บริเวณนอกชายฝั่งเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ราว 1,670 กิโลเมตร ก็ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นโครงการค้นหาเครื่องบินที่ใช้เงินมากที่สุดในโลก พล.อ.อ.แองกัส ฮุสตัน ห้วหน้าศูนย์สำนักงานความร่วมมือ ผู้รับผิดชอบการค้นหาเครื่องบินเอ็มเอช 370 เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 เมษายนว่า ยานเอดีวี โอเชียน ชิลด์ ของออสเตรเลียตรวจจับสัญญาณได้ 4 ครั้ง ที่ยืนยันได้ว่ามาจากกล่องดำของเครื่องบิน
สัญญาณที่ตรวจจับได้เมื่อวันที่ 5 และ 8 เมษายน นั้นเป็นสัญญาณที่ชัดเจน บนความถี่ 33.331 กิโลเฮิรตซ์ เว้นจังหวะครั้งละ 1.106 วินาที ที่เชื่อถือได้ว่าไม่ใช่เกิดจากธรรมชาติ และเป็นสัญญาณที่มนุษย์สร้างขึ้นมา
นับตั้งแต่ตรวจจับสัญญาณได้ก็มีการส่งสัญญาณโซนาร์ และ ยานดำน้ำลึกไร้คนขับลงไปสำรวจพื้นที่แต่ก็ไม่พบร่องรอยของเครื่องบิน
จนเมื่อเกิดเหตุจนถึงเดือนธันวาคมนี้ ยังไม่มีร่องรอยของเอ็มเอช 370 ปรากฏขึ้นมาบนโลก มีเพียงทฤษฎีต่างๆ ที่นักคิด ผู้บริหารสายการบิน และผู้เชี่ยวชาญต่างตั้งขึ้นมาเพื่ออธิบายการสูญหายไปของเครื่องบินลำนี้
ทฤษฎีล่าสุดที่นำเสนอมาจากนายมาร์ค ดูแกน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) สายการบินโปรเทียสแห่งฝรั่งเศสที่ตั้งทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับการสูญหายของเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 อีอาร์ ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบิน เอ็มเอช 370 ที่สูญหายไปอย่างลึกลับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า เครื่องบินลำดังกล่าวถูกกองทัพสหรัฐยิงจนตก เนื่องจากกองทัพสหรัฐเกรงว่าจะเกิดโศกนาฏกรรมเช่นเดียวกับเหตุการณ์ 11 กันยายน 2554
นายดูเกน ระบุว่า เครื่องบินลำนี้ถูกยิงตกในบริเวณใกล้เคียงเกาะดิเอโก การ์เซีย ที่มีฐานทัพสหรัฐตั้งอยู่ ซึ่งห่างจากพื้นที่ค้นหาของศูนย์ปฏิบัติการร่วมที่มีออสเตรเลียเป็นผู้นำการค้นหาราว 4,800 กิโลเมตร และอ้างว่าตนเองได้รับฟังข้อมูลจากชาวบ้านที่เห็นเครื่องบินขนาดใหญ่มีแถบสีแดง น้ำเงิน บนพื้นสีขาว บินเหนือบ้านในระดับต่ำ
ทั้งนี้ นายดูเกนตั้งทฤษฎีว่าสาเหตุที่เครื่องบินโบอิ้งลำนี้เปลี่ยนเส้นทาง เพราะคอมพิวเตอร์บนเครื่องทำงานผิดพลาด หรือถูกแฮ็ก โดยแฮ็กเกอร์ที่เข้าควบคุมเครื่องบินจากระยะไกล
เรื่องราวของเครื่องบินเอ็มเอช 370 ยังไม่ทันจางหายจากความสนใจของประชาคมโลก ก็เกิดเหตุ เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 อีอาร์ สายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ เที่ยวบินเอ็มเอช 17 ตกระหว่างบินเหนือน่านฟ้าตะวันออกใกล้เมืองโทเรซ ในจังหวัดโดเนสก์ โอบลาสท์ ประเทศยูเครน ใกล้กับชายแดนรัสเซีย ซึ่งเป็นเขตยึดครองของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนยูเครนฝักใฝ่รัสเซีย คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือรวม 289 คน ไปในพริบตา
ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวเนเธอร์แลนด์ที่โดยสารเที่ยวบินระหว่างกรุงอัมสเตอร์ดัม-กรุงกัวลาลัมเปอร์ ทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยื่นมือเข้ามารับผิดชอบการสอบสวนหาสาเหตุของเครื่องบินตก ในช่วงแรกระบุได้เพียงว่าเครื่องบินลำนี้ถูกจรวดต่อสู้อากาศยานยิงจนทำให้เครื่องบินเสียหายและตกในที่สุด
เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน หลังจากที่ทีมสอบสวนของเนเธอร์แลนด์ และประเทศอื่นๆ ที่ร่วมกันเสี่ยงชีวิตเข้าไปในเขตเครื่องบินตกที่เป็นสมรภูมิดีๆ นี่เอง เข้าถึงพื้นที่และนำเอาศพ และซากเครื่องบินมาตรวจสอบ ก็สรุปได้ว่า เครื่องบินถูกจรวดต่อสู้อากาศยานแบบดาวกระจายแบบพื้นสู่อากาศ รุ่น "บุ๊ค" เข้าทำลายบริเวณปีกเครื่องบินจนเครื่องเสียการทรงตัวและตกจากความสูง 33,000 ฟุต
กรณีของเที่ยวบินเอ็มเอช 17 กลายเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศในทันที เพราะรัฐบาลประเทศตะวันตกกล่าวโทษว่ารัฐบาลรัสเซียที่ให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏยูเครน เป็นผู้ส่งจรวดชนิดนี้ให้แก่กลุ่มกบฏ ขณะที่รัฐบาลรัสเซียก็อ้างว่ารัฐบาลยูเครนที่มีจรวดต่อสู้อากาศยานชนิดนี้ประจำการเช่นกัน เป็นผู้ลั่นไกสังหารเครื่องบินโดยสารลำนี้
แม้ว่าจะไม่มีผู้ใดยอมรับว่าเป็นผู้ลั่นไกสังหารเครื่องเอ็มเอช 17 แต่ทางการมาเลเซียระบุว่าจากข่าวกรองที่ได้รับมานั้น ทำให้เชื่อได้ค่อนข้างมากว่ากลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนยูเครนฝักใฝ่รัสเซียเป็นผู้ยิงจรวดบุ๊คใส่เครื่องบินลำนี้ ซึ่งเป็นท่าทีที่ค่อนข้างจะชัดเจนสำหรับทางการมาเลเซีย อย่างไรก็ตามทางการมาเลเซียยังคงยืนยันว่าจะต้องมีการสอบสวนกันต่อไปเพื่อหาผู้ที่ลงมือจริงๆ
กว่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนออกมา เหตุเครื่องบินโดยสารของมาเลเซีย แอร์ไลน์ ทั้งสองลำ ก็คงยังเป็นปริศนาอีกต่อไป