นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ พร้อมด้วย นายสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมความน่ารักของสมาชิกใหม่ "แพนด้าแดง" ของขวัญปีใหม่จากสวนสัตว์ในประเทศญี่ปุ่น มอบให้เป็นพิเศษแก่นักท่องเที่ยวชาวไทย
สวนสัตว์เปิดเขาเขียวได้นำแพนด้าแดงจำนวน 2 ตัว ซึ่งมาจากโครงการความร่วมมือแลกเปลี่ยนสัตว์ระหว่างสวนสัตว์ไทยกับสวนสัตว์อิชิฮารา ประเทศญี่ปุ่น เป็นเพศผู้ อายุ 5 ปี ชื่อ คูรูมิ แปลว่า ลูกวอลนัท และเพศเมียอายุ 2 ปี ชื่อ นานะ ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงเลข 7 ซึ่งเป็นเลขมงคลตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่น แพนด้าแดงนับเป็นสัตว์ต่างประเทศที่หาชมได้ยากชนิดหนึ่งในประเทศไทย ถือเป็นการมอบของขวัญสุดพิเศษในโอกาสวันปีใหม่ปีนี้ ให้แก่นักท่องเที่ยว รวมถึงเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้เรื่องราวน่ารักน่าสนใจของสัตว์ต่างถิ่น เช่น แพนด้าแดง ซึ่งเป็นสัตว์หาชมยากในตระกูลใกล้เคียงกับแพนด้า พร้อมที่จะอวดโฉมให้นักท่องเที่ยวชาวไทยได้ชมกันตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคมนี้ เป็นต้นไป
ข้อมูลทั่วไปของแพนด้าแดง
แพนด้าแดงมีจุดเด่นอยู่ที่รูปร่างหน้าตาคล้ายแรคคูน หัวมีขนาดใหญ่ จมูกแหลม ขาสั้นคล้ายหมี \ขนตามลำตัวมีหลากหลาย มีทั้งสีน้ำตาลเข้ม น้ำตาลเหลืองและน้ำตาลแดง ขนบริเวณลำคอยาวและนุ่มฟู หางเป็นพวงยาวคล้ายกับหางกระรอก มีลายปล้องสีน้ำตาลแดงสลับน้ำตาลอ่อน
แพนด้าแดงถูกจัดอยู่ในสถานภาพของสัตว์ป่าชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์จากพื้นที่ธรรมชาติในอนาคต ลักษณะเฉพาะตัวของแพนด้าแดงนั้นความยาวลำตัว 51-64 เซนติเมตร ความยาวหาง 28-50 เซนติเมตร น้ำหนัก 3-6 กิโลกรัม จมูกสั้นและแหลม ตาเล็ก หูตั้ง มีลายที่ใบหน้าเหมือนสวมหน้ากาก ขนยาว และหนา สีน้ำตาลแดง ส่วนท้องและสะโพกมีขนสีดำ มีจุดสีน้ำตาลแดงใต้ตา ที่แก้ม ขอบหู และเหนือดวงตามีขนสีขาว หางยาว มีวงแหวน 12 วงสีน้ำตาลแดง สลับสีน้ำตาลอ่อน มีต่อมกลิ่นที่เท้าและที่ก้น อาหารหลักคือ ใบไผ่ นอกจากนี้ก็กินลูกสน รากไม้ ลูกไม้ เห็ด บางครั้งกินไข่นกและลูกนก
แพนด้าแดงใช้เวลา 13 ชั่วโมงในหนึ่งวันเพื่อหาใบไผ่กิน พฤติกรรม การสืบพันธุ์ โตเต็มที่เมื่ออายุ 18 เดือนขึ้นไป ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ตั้งท้องนาน 112-158 วัน ออกลูกครั้งละ 1-4 ตัว ลูกแรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ 110-130 กรัม ลูกหย่านมเมื่ออายุ 5 เดือน อายุเฉลี่ย 15 ปี
ปัจจุบันมีแพนด้าจำนวนน้อยลงเนื่องจากถูกคุกคามจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองในประเทศจีนและเนปาล ไอยูซีเอ็น (สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์) จัดให้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์และจัดอยู่ในไซเตส (อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์) appendix l (ชนิดพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีแนบท้ายหมายเลข 1 ซึ่งเป็นชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่อยู่ในภาวะอันตรายใกล้สูญพันธุ์ จึงห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นชนิดที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์หรือเพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิจัย และเพาะพันธุ์ ทางวิชาการ ซึ่งกระทำได้โดยสถาบันที่เชื่อถือได้