
5หน่วยตำรวจเสริม'กองทัพ'ต้านก่อการร้ายสากล2015
5หน่วยตำรวจเสริม'กองทัพ' ต้านก่อการร้ายสากล2015 : โดยปฏิญญา เอี่ยมตาล ข่าวรายงานพิเศษ
จากเหตุการณ์คนร้ายบุกเข้าไปในสำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวรายสัปดาห์ "ชาร์ลี เอบโด" กรุงปารีส ใช้อาวุธปืนปลิดชีวิตเหยื่อไปถึง 12 คน เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา รวมถึงกรณีผู้ก่อการร้ายจับตัวประกันกว่า 20 คน ในร้านช็อกโกแลตใจกลางนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย นานกว่า 16 ชั่วโมง จนทำให้ตัวประกันเสียชีวิต 2 คน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ปีที่แล้วนั้น ...ถือเป็น "กรณีศึกษา" ที่หน่วยปราบก่อการร้ายของไทยต้องเตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง...
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหน่วยงานความมั่นคงกำลังทบทวน "แผนต่อต้านการก่อการร้ายสากล" ว่า มีชุดปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้มากน้อยแค่ไหน...สามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิมได้หรือไม่...เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน เรื่องนี้ไม่เพียง "ตำรวจ" เท่านั้นที่ตื่นตัว "คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์" ก็ให้ความสำคัญ...มีมติเห็นชอบลงนามการให้สัตยาบันในอนุสัญญา BIMSTEC ว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายสากล องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และการลักลอบค้ายาเสพติด ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2557
"ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายสากล" หรือ ศตก. สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) เป็นหน่วยงานระดับนโยบายรับผิดชอบภารกิจต่อต้านการก่อการร้ายโดยตรง มี 4 หน่วยงานร่วมปฏิบัติ คือ 1.กองทัพบก (ทบ.) กองพันปฏิบัติการพิเศษ หรือหน่วยเฉพาะกิจ 90 เดิม (ฉก.90) 2.กองทัพเรือ (ทร.) หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (หน่วยซีล) 3.กองทัพอากาศ (ทอ.) กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน 4.ตำรวจ... หน่วยอรินราช 26 (ดูแลพื้นที่ กทม.) หน่วยนเรศวร 261 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนและชุดคอมมานโดกองปราบปราม
"กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย" กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ เป็นหน่วยงานหลักกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ต่อต้านการก่อการร้ายสากลและการต่อต้านการก่อการร้ายในเมือง อารักขารักษาความปลอดภัยบุคคลและสถานที่สำคัญ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยร้าย การป้องกันประเทศที่เกิดจากการกระทำของกลุ่มชนอันจะก่อให้เกิดความไม่สงบ สนับสนุนตำรวจท้องที่ปราบปรามอาชญากรรม ป้องกันการก่อวินาศกรรมใน กทม. ปริมณฑล"
พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูตร รอง ผบช.น.อธิบายว่า ชุดต่อต้านการก่อการร้ายสากลนครบาล คือ "หน่วยอรินทราช 26" เป็นหน่วยที่เชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษขั้นสูง เรียกว่า Special Weapons And Tactics หรือหน่วย S.W.A.T. มีขีดความสามารถปฏิบัติการพิเศษต่อภัยคุกคามที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ การช่วยเหลือแย่งชิงตัวประกัน เป็นหน่วยระดับกองร้อยมีอาวุธหนักเบาครบมือ ผ่านการฝึกหลักสูตรพิเศษจากกองทัพอย่างโชกโชน เช่น ทำลายจู่โจมใต้น้ำ ลาดตระเวนสะเทินน้ำสะเทินบก การจู่โจมทางอากาศ การถอดทำลายวัตถุระเบิด ฯลฯ ใช้เวลาฝึกหลักสูตรละ 18 สัปดาห์...ที่ผ่านมาน้อยคนนักที่ผ่านการเป็น "อรินทราช"
แหล่งข่าวระดับ "หัวหน้าชุดต่อต้านการก่อการร้าย" เล่าถึงขั้นตอนการช่วยเหลือตัวประกันว่า สิ่งสำคัญต้องพิจารณาวางแผนอย่างแยบยล ดูว่าคนร้ายมีกี่คน วิธีการเป็นอย่างไร ตัวประกันตกอยู่ในสภาพใด สถานที่ไหนสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ถูกคนร้ายควบคุมตัวด้วยวิธีการใด การประมวลภาพทั้งหมดจะเป็นตัวกำหนดในองค์ประกอบการช่วยเหลือตัวประกันให้ปลอดภัย โดยยึดหลักปฏิบัติจากเบาไปหาหนักไม่ขัดต่อกฎหมาย เริ่มจากการเจรจา ดูข้อเรียกร้อง เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ปลอดภัยมากที่สุด ที่สำคัญคือ "ไม่ต้องการฆ่าผู้ร้ายต้องการจับเป็นมากกว่า"
หนึ่งในสมาชิกกลุ่มปฏิบัติชุดจู่โจมเล่าว่า สิ่งที่ผู้บังคับบัญชาและครูฝึกเน้นย้ำในการทำหน้าที่คือ ต้องมีสติและยื้อเวลาให้มากที่สุด แม้จะข้ามวันข้ามคืนก็ต้องทำ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง แต่หากมีแนวโน้มตัวประกันจะได้รับอันตรายก็ต้องคิดหาวิธีการใหม่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในเวลานั้น เช่น กรณีคนร้ายใช้ความรุนแรงกับตัวประกัน...ยิงตัวประกันทีละคน เจ้าหน้าที่ก็ต้องยิงเพื่อจะหยุดเขาตรงนี้ ไม่มีใครกำหนดได้ ต้องเจรจาอย่างมืออาชีพ ต้องเข้าใจมุมของคนร้าย ต้องโน้มน้าวเพื่อให้คนร้ายเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ได้
ด้านแหล่งข่าวความมั่นคง (สตช.) เปิดเผยว่า กรณีเกิดการก่อการร้ายสากลในไทย "ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายสากล" จะเป็นตัวหลักในการควบคุมสั่งการโดยมอบหมายให้หน่วยตำรวจหรือทหารเป็นเจ้าภาพ โดยทุกกรณีที่เกิดเหตุรุนแรง...ตำรวจท้องที่จะเข้าเก็บข้อมูลเบื้องต้นก่อน...รายงานให้หน่วยเหนือประเมินว่าเป็นการก่อการร้ายสากลหรือไม่...
นอกจาก "หน่วยอรินทราช 26" ดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ กทม.แล้ว เรามาทำความรู้จักตำรวจหน่วยสำคัญใน "สตช." ทำหน้าที่หลักในเรื่องนี้อีก 4 หน่วย คือ 1. "หน่วยนเรศวร 261" เป็นหน่วยรบตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) มีประสิทธิภาพสูงสุดรองรับได้ทุกสถานการณ์ สามารถเคลื่อนที่แบบพิเศษตอบโต้ต่อภัยคุกคาม มีความเชี่ยวชาญด้านจู่โจมทางอากาศ
2. "ชุดคอมมานโดกองปราบปราม" เป็นหน่วยจู่โจมระงับเหตุฉุกเฉิน ปราบจลาจลและการก่อวินาศกรรม สามารถจับกุมคนร้ายที่มีจำนวนมาก เป็นชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว มีความสามารถในการต่อสู้ป้องกันตัวสูง พร้อมเข้าสนับสนุนการทำงานตำรวจท้องที่ทันที
3. ชุดปฏิบัติการพิเศษ "สยบไพรี" กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) หน้าที่หลักปราบปรามยาเสพติดข้ามชาติ ต่อสู้ปราบปรามผู้ก่อการร้าย ผ่านการฝึกอย่างช่ำชองจากศูนย์สงครามพิเศษ ทบ. นาวิกโยธิน ทหารเรือ กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน และหน่วยรบพิเศษต่างประเทศ DEA ของหน่วยงานยาเสพติดสหรัฐอเมริกา
4. ชุดปราบไพรีอริศัตรูพ่าย หน่วยปฏิบัติการพิเศษตำรวจภูธรภาค 1 รับผิดชอบ 9 จังหวัดภาคกลาง เป็นชุดชำนาญด้านอากาศยานตรวจการไร้นักบินแบบขึ้นลงทางดิ่ง (UAV) และการชิงตัวประกันในอาคารสูงเป็นพิเศษ ผ่านการฝึกวางแผนช่วยเหลือตัวประกันมาอย่างดี แต่ละชุดมีกำลัง 8 นาย สามาถทำภารกิจพิเศษคดีก่อการร้ายสากลและคดีสำคัญอื่นๆ
ปี 2558 นั้น ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า กลุ่มก่อการร้ายจะมารูปแบบไหน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยจึงได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้น คนร้ายปัจจุบันไม่เกรงกลัวกฎหมาย มีการตอบโต้อย่างรุนแรงด้วยอาวุธที่ทันสมัย ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องพยายามฝึกทบทวนและศึกษากรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศตลอดเวลา