ข่าว

กษัตริย์‘อับดุลลาห์’ของซาอุฯเสด็จสวรรคต

23 ม.ค. 2558

กษัตริย์อับดุลลาห์ ของซาอุดิอาระเบีย เสด็จสวรรคต ขณะมีพระชนมายุ 90 พรรษา

 
 
          สถานีโทรทัศน์ของทางการซาอุดิอาระเบีย กษัตริย์อับดุลลาห์ บิน อับดุลลาซิส ซึ่งทรงปกครองราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย มาตั้งแต่ปี 2548 และทรงต้องเข้ารับการรักษาพระอาการประชวรหลายครั้ง ด้วยพระอาการพระปัปผาสะติดเชื้อ เสด็จสวรรคตแล้วที่โรงพยาบาล เมื่อเวลา 01.00 น. ของเช้าวันนี้ ตามเวลาในท้องถิ่น ขณะมีพระชนมายุ 90 พรรษา และเจ้าชายซัลมาน บิน อับดุล  ลาซิส อัล ซาอุด พระอนุชาของพระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระองค์ 
 
          ก่อนที่มีการประกาศข่าวนี้ สถานีโทรทัศน์ของทางการซาอุดิอาระเบีย ได้ตัดรายการอ่านกวีจากพระคัมภีร์อัล-กุรอ่าน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์สิ้นพระชนม์ของสมาชิกระดับสูงในพระราชวงศ์ โดยประกาศระบุว่า การเข้ารับการรักษาล่าสุดเกิดขึ้นเนื่องจากทรงมีพระอาการพระปัปผาสะบวม หรือ นิวมอเนีย และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นพักๆ 
 
          กษัตริย์อับดุลลาห์ ทรงเข้ารับการรักษาพระวรกายที่โรงพยาบาลเนื่องจากทรงประชวรด้วยพระอากาศพระปัปผาสะติดเชื้อมานานหลายสัปดาห์แล้ว และนับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์เป็นองค์ประมุขของราชอาณาจักรที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นต้นกำเนิดของศาสนาอิสลามแห่งนี้ ก็ทรงประสบปัญหาเกี่ยวกับพระพลานามัยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเจ้าชายซัลมาน พระชนมายุ 79 ชันษา ซึ่งทรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ทรงปฏิบัติภารกิจแทนพระองค์ในช่วงที่ทรงประชวร ขณะที่เจ้าชายโมเกรน ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของกษัตริย์อับดุลลาห์ ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร 
 
          แถลงการณ์จากสำนักพระราชวัง ระบุว่า เจ้าชายซัลมาน และสมาชิกพระราชวงศ์ทุกพระองค์รวมทั้งประชาชนทั่วประเทศ ได้ร่วมไว้อาลัยแด่กษัตริย์อับดุลลาห์ กษัตริย์ผู้ทรงพิทักษ์ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ 2 แห่ง และเสด็จสวรรคตเมื่อเวลา 01.00 น. ตามเวลาในท้องถิ่น และจะทำพิธีฝังพระศพในบ่ายวันนี้ ที่มัสยิดใหญ่ "อิหม่าม ตุร์กี บิน อับดุลลาห์" ในกรุงริยาร์ด ที่คาดว่าจะมีผู้นำโลกจำนวนมากร่วมไว้อาลัยด้วย ภาพจากสถานีโทรทัศน์ของทางการ ได้แสดงให้เห็น ฝูงชนจำนวนมากไปชุมนุมที่นครเมกกะ เพื่อร่วมถวายความอาลัยด้วย 
 
          ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ กล่าวในแถลงการณ์ยกย่ององค์ประมุขของซาอุดิอาระเบียว่า พระชนมายุของกษัตริย์อับดุลลาห์ เริ่มตั้งแต่ก่อนกำเนิดของยุคสมัยใหม่ของซาอุดิอาระเบีย ผ่านช่วงเวลาฉุกเฉินในฐานะกำลังสำคัญภายในเศรษฐกิจโลก และผู้นำในกลุ่มชาติอาหรับและอิสลาม 
 
          กษัตย์อับดุลลาห์ ซึ่งได้รับการคาดหมายว่า ทรงประสูติเมื่อปี 2466 และแม้จะทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2548 แต่ก็ทรงปฏิบัติภารกิจแทนพระองค์ก่อนหน้านี้นานนับสิบปี เนื่องจากกษัตริย์ฟาฮัดพระราชบิดาทรงประชวรด้วยโรคหลอดเลือดสมองและพลานามัยอ่อนแอลงเรื่อยๆ 
 
          การสถาปนาเจ้าชายซัลมานขึ้นดำรงตำแหน่งกษัตริย์องค์ต่อไป ถือเป็นเดิมพันสำหรับสหรัฐ เพราะซาอุดิอาระเบียได้ชื่อว่าเป็นพันธมิตรอาหรับที่สำคัญที่สุด และยังเป็นมุสลิมสุหนี่ที่ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผันผวนทั่วตะวันออกกลาง ซึ่งก่อนหน้านี้ กษัตริย์อับดุลลาห์ทรงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนรัฐบาลอิยิปต์ หลังจากถูกกองทัพเข้าแทรกแซงเมื่อปี 2555 และยังสนับสนุนฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซ้าด ของซีเรียด้วย 
 
          นอกจากนี้ ในรัชสมัยของพระองค์ กษัตริย์อับดุลลาห์ ยังทรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในราชอาณาจักรอิสลามเคร่งจารีตแห่งนี้ ที่รวมถึงการเพิ่มสิทธิสตรีและลดกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจแต่ไม่มีความคืบหน้าในเรื่องของการปฏิรูปไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย และยังคงนโยบายสายเหยี่ยวกับอิหร่าน 
 
          ว่าที่กษัตริย์ซัลมาน ทรงดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารและรัฐมนตรีกลาโหม มาตั้งแต่ปี 2555 และทรงเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดริยาร์ด มานานถึง 50 ปีด้วย ทรงได้รับการคาดหมายว่า จะทรงดำเนินตามนโยบายหลักและยุทธศาสตร์เดิมของพระเชษฐา ที่รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐและร่วมมือกันสร้างเสถียรภาพในตลาดพลังงาน 
 
          ในช่วง 50 ปี ที่ทรงเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดริยาร์ด ทรงมีชื่อเสียงในด้านการจัดการเพื่อให้เกิดความเสมอภาพระหว่างฝ่ายศาสนา, ขนเผ่า และผลประโยชน์ต่างๆ และมีความสัมพันธ์อันดีกับตะวันตกแต่ในระยะยาว รัฐบาลซาอุดิอาระเบียจะต้องมีการจัดการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และถูกรบกวนด้วยปัญหาการว่างงานและเศรษฐกิจที่ยังต้องพึ่งพารายได้จากน้ำมันและถูกทำลายโดยการใช้เงินอุดหนุนอย่างฟุ่มเฟือย 
 
          ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งครองส่วนแบ่งกว่า 1 ใน 5 ของน้ำมันดิบโลก ยังคงได้ชื่อว่าครองอิทธิพลในโลกมุสลิมที่มีประชากรรวมกัน 1,600 ล้านคน เนื่องจากเป็นที่ตั้งศาสนสถานศักดิ์สิทธิที่นครเม็กกะและเมดินา ที่ในแต่ละปีจะมีผู้แสวงบุญหลายล้านคนหลั่งไหลไปยังนครศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองแห่งนี้