ข่าว

ปิดฉากประชานิยม‘รถเมล์-รถไฟฟรี’7ปีมาตรการอุ้มเหวี่ยงแห

ปิดฉากประชานิยม‘รถเมล์-รถไฟฟรี’7ปีมาตรการอุ้มเหวี่ยงแห

02 ก.พ. 2558

ปิดฉากประชานิยม‘รถเมล์-รถไฟฟรี’ 7ปีมาตรการอุ้มเหวี่ยงแหใช้งบ2.4หมื่นล้าน : ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดงรายงาน

               นับถอยหลังการสุดสิ้นมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางในโครงการรถไฟฟรีและรถเมล์ฟรี หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบัน มีมติให้ขยายออกไปอีกแค่ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์-31 กรกฎาคม 2558 หลังจากนั้นจะยกเลิกโครงการดังกล่าว โดยหันไปใช้มาตรการใหม่ในการดูแลผู้มีรายได้น้อย หรือบริการฟรีเฉพาะกลุ่มเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาและสรุปมาให้ ครม.พิจารณา ก่อนจะนำมาใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2558

               การยกเลิกโครงการดังกล่าวน่าจะทำให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครที่ใช้บริการรถเมล์ฟรีกว่าวันละ 7 แสนคน และประชาชนในต่างจังหวัดที่ใช้บริการรถไฟฟรีเกือบวันละ 1 แสนคน รวมแล้วมีประชากรกว่า 8 แสนคน คงอดไม่ได้ที่จะบ่นเสียดายไปตามๆ กันหลังจากใช้บริการฟรีมายาวนานถึง 7 ปีเต็ม

สคร.ชงยกเลิกเหตุใช้ภาษีไม่คุ้มค่า

               นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)  กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา สคร.ได้เสนอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการรถเมล์และรถไฟฟรีมาตลอด เพราะเห็นว่าเป็นมาตรการช่วยลดค่าครองชีพประชาชนที่อาจจะไม่ตรงจุด เพราะเท่าที่ทราบ ไม่ใช่แค่คนที่มีรายได้น้อยหรือคนไทยเท่านั้น ที่มีการใช้บริการรถเมล์ฟรี แต่ยังมีชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยว ก็ใช้ประโยชน์จากรถเมล์ฟรีด้วยเช่นกัน ซึ่งสาเหตุที่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่กล้ายกเลิก เพราะกลัวกระทบคะแนนเสียง จึงได้ต่ออายุมาตรการมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นโครงการประชานิยม และเมื่อมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน โดยกระทรวงคมนาคมต่างก็เห็นด้วยให้ยกเลิกโครงการ

               “โครงการรถเมล์และรถไฟฟรีเป็นการทำแบบเหวี่ยงแหเกินไป เพราะไม่ได้มีอะไรบ่งบอกว่าผู้ใช้บริการเป็นผู้มีรายได้น้อยจริง คนไม่จนจริงๆ ก็ใช้บริการได้ โดย 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณชดเชยให้ทั้งองค์การขนส่งมลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. และการรถไฟฯ ทุกปี ปีละหลายพันล้านบาท มองว่าเป็นการใช้เงินภาษีที่ไม่คุ้มค่า เพราะไม่รู้ว่ารถเมล์ที่วิ่งฟรีนั้น วิ่งจริงวันละกี่เที่ยว และมีจำนวนผู้โดยสารขึ้นจริงมากน้อยแค่ไหน ขณะที่รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้แบบเหมาจ่ายตามต้นทุนที่ ขสมก.แจ้งเข้ามาทุกปี จึงควรเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมหากจะเดินมาถึงจุดจบของโครงการในอีก 6 เดือนข้างหน้า” นายกุลิศ กล่าว

               อย่างไรก็ตาม แม้ ครม.มีแนวโน้มว่าจะยกเลิกมาตรการรถเมล์รถไฟฟรีแบบเดิม แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะไม่สนใจช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากมติ ครม.มีความชัดเจนว่า ระหว่างนี้กระทรวงคมนาคมต้องหามาตรการเสริม หรือมีรูปแบบการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจริงๆ หรือกลุ่มด้อยโอกาส เช่น เด็ก คนพิการ คนชรา เพื่อคัดแยกกลุ่มคนที่ควรช่วยเหลือให้ชัดเจน เช่น อาจจัดทำเป็นบัตรประจำตัวผู้มีสิทธิได้ใช้บริการฟรี เป็นต้น แต่สิ่งที่ยากคือ การสำรวจและจัดทำข้อมูลให้ชัดเจนมากกว่า ซึ่งหากมีบัตรสำหรับผู้ได้รับการช่วยเหลือรัฐก็สามารถจ่ายเงินชดเชยให้ ขสมก. และรถไฟได้ตามจริง ซึ่งน่าจะใช้เงินภาษีลดลงด้วย แต่หากกระทรวงคมนาคมยังไม่สามารถสรุปมาตรการช่วยเหลือแบบใหม่ได้ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่อาจจะมีการต่ออายุมาตรการรถเมล์-รถไฟฟรีออกไปอีกระยะหนึ่ง

ขสมก.โวช่วยคนกรุงวันละ 7 แสนคน

               ด้าน นางปราณี ศุกระศร รักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า หากมีการยกเลิกวิ่งรถเมล์ฟรีหลังเดือนกรกฎาคมปีนี้ ขสมก.ก็พร้อมจะปรับมาเป็นรถที่วิ่งให้บริการตามปกติ จากปัจจุบันที่มีการจัดรถเมล์ฟรีไว้วันละ 800 คัน ในจำนวน 73 เส้นทางทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งตลอดเกือบ 7 ปีมานี้ไม่เคยลดจำนวนเส้นทางหรือจำนวนรถเมล์ลง โดยพบว่ามีประชาชนมาใช้บริการรถเมล์ฟรีประมาณวันละ 7 แสนคน อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีรถเมล์ฟรีที่ให้บริการแบบทั่วไป แต่ ขสมก.มีการดูแลกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอย่างคนพิการและผู้สูงอายุที่เก็บค่าโดยสารเพียงครึ่งเดียวอยู่แล้ว และเด็กก็ได้รับการยกเว้น นอกจากนี้ แม้ยกเลิกโครงการรถเมล์ฟรีแล้ว นโยบายของกระทรวงคมนาคมชัดเจนว่า ต้องการดูแลผู้มีรายได้น้อย และผู้ด้อยโอกาส โดยอาจจะจัดทำบัตรพิเศษให้คนกลุ่มนี้ เพื่อใช้บริการฟรีในอนาคตก็ได้ ซึ่ง ขสมก.พร้อมจะดำเนินการอยู่แล้ว

               “ถือเป็นหน้าที่ของ ขสมก.ในการวิ่งรถให้บริการประชาชน แม้ว่าเส้นทางส่วนใหญ่จะขาดทุน เพราะไม่สามารถเก็บค่าโดยสารได้เพิ่มขึ้น หรือเก็บได้ตามต้นทุนจริง โดยค่าโดยสารที่เก็บในปัจจุบันของรถเมล์ร้อนที่ 6.50 บาทนั้น หากพิจารณาตามต้นทุนจริงจะอยู่ที่ 15 บาท จึงไม่แปลกที่ ขสมก.จะมีผลขาดทุนและมีหนี้สะสมกว่า 9 หมื่นล้านบาท” นางปราณี กล่าว และว่า การวิ่งรถเมล์ฟรีมานานเกือบ 7 ปีนั้น รัฐบาลจัดงบประมาณมาชดเชยให้มาโดยตลอด โดยจัดสรรงบให้ประมาณปีละ 1,500 ล้านบาท และยังเป็นการจ่ายชดเชยให้ตามต้นทุนที่แท้จริงคิดจากค่าตั๋วโดยสารคนละ 15 บาท ดังนั้น ที่ผ่านมาการวิ่งรถเมล์ฟรีจึงไม่ได้มีผลให้ ขสมก.ขาดทุนมากขึ้น ซึ่งเป็นการดีในการมีรายได้แน่นอนด้วยซ้ำ

               สำหรับการลดภาระหนี้สะสมตามแผนฟื้นฟูนั้น ต้องให้รัฐบาลเข้ามาจัดการ เพราะจะหวังรายได้จาก ขสมก.มาลดภาระหนี้คงเป็นไปได้ยาก ทุกวันนี้ ขสมก.มีรายได้แค่เพียงพอจ่ายเงินเดือนพนักงานและจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ต่างๆ อีกเดือนละกว่า 200 ล้านบาทเท่านั้น หลังจากนี้ต้องปรับเงินเดือนพนักงานทั้งส่วนของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารประมาณ 1.4 หมื่นคน อีก 6.5% ก็ทำให้ยิ่งต้องใช้เงินในแต่ละเดือนมากขึ้น

รถไฟชี้ถึงเวลายกเลิกประชานิยม

               นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมารถไฟให้บริการฟรีจำนวน 164 ขบวน ในช่วงเกือบ 7 ปีที่ผ่านมา น่าจะเพียงพอในการใช้บริการฟรีมานาน จึงถือว่าเป็นการกลับไปสู่จุดเดิมก่อนที่จะมีนโยบายประชานิยม ดังนั้นไม่ควรมองว่าทำให้ประชาชนเสียประโยชน์จากการใช้บริการฟรี อย่างไรก็ตาม นโยบายของกระทรวงคมนาคมจะมีมาตรการพิเศษออกมาดูแลกลุ่มผู้ด้อยโอกาส อย่างเด็ก คนชรา คนพิการอยู่แล้ว ซึ่งอาจเป็นการจัดเก็บค่าโดยสารในราคาพิเศษหรือยกเว้นให้บางกลุ่มตรงนี้คงต้องรอให้ได้ข้อสรุปก่อน ทางรถไฟพร้อมจะดำเนินการตามนโยบาย

               “เห็นด้วยที่จะยกเลิกบริการรถไฟฟรี เพราะที่ผ่านมาโครงการประชานิยมทำให้คนเสพติดของฟรีมานาน และอย่าเรียกว่า ทำให้คนมีรายได้เสียโอกาส ต้องเรียกว่า กลับไปสู่จุดเดิมที่ควรจะเป็น และปัจจุบันค่าโดยสารรถไฟก็ไม่ได้เก็บแพงอยู่แล้ว โดยเฉพาะรถชั้น 3 เพราะถือเป็นบริการสาธารณะ ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาให้ประชาชนที่เคยใช้บริการฟรีได้มีเวลาทำใจและปรับตัวอีกถึง 6 เดือน หลังจากนั้นก็น่าจะรับได้ เพราะหากรัฐบาลไม่ทำช่วงนี้ก็อาจจะไม่มีใครกล้าตัดสินใจ” นายออมสิน กล่าว

               อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาการให้บริการรถไฟฟรี 164 ขบวนนั้น รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้เพียง 50% ของที่ขอรับชดเชยไป ส่วนอีกครึ่งหนึ่งยังสะสมยอดไว้เรื่อยๆ ยังไม่แน่ใจว่าจะได้รับทั้งหมดเมื่อไหร่ ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้รถไฟยังขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องทุกปี

โครงการ7ปีใช้เงินกว่า2.4หมื่นล้าน

               จากมติ ครม.ที่อนุมัติขยายเวลาดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนในโครงการรถไฟฟรี และรถเมล์ฟรี ออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์-31 กรกฎาคม 2558 ทางสำนักงบประมาณต้องไปจัดสรรงบประมาณชดเชยให้เป็นเงินรวม 2,113 ล้านบาท โดยเป็นการชดเชยให้ ขสมก. จำนวน 1,589 ล้านบาท สำหรับจัดบริการรถโดยสารประจำทางธรรมดาจำนวน 800 คันต่อวัน ใน 73 เส้นทาง และชดเชยให้ ร.ฟ.ท. จำนวน 524 ล้านบาท สำหรับบริการเชิงสังคม รถไฟชั้น 3 จำนวน 164 ขบวนต่อวัน แบ่งเป็นสายเหนือ 28 ขบวน สายตะวันออกเฉียงเหนือ 32 ขบวน สายตะวันออก 30 ขบวน สายใต้ 32 ขบวน และสายแม่กลอง 42 ขบวน และยังมีรถไฟชั้น 3 เชิงพาณิชย์ระยะทางไกลอีกจำนวน 8 ขบวนต่อวัน ที่วิ่งจาก กทม.ไปเชียงใหม่ หนองคาย อุบลราชธานี และสุไหงโก-ลก

               ทั้งนี้ หากพิจารณาย้อนหลังไปจะพบว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวถือเป็น 1 ในนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการลดค่าครองชีพของประชาชนในยุคข้าวยากหมากแพง โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2551 ตรงกับช่วงรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และโครงการรถเมล์ฟรี มีกระแสตอบรับที่ดีมากจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งกว่า 60% เป็นคนต่างจังหวัดที่มาทำงานในเมืองหลวง และส่วนใหญ่อาศัยระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทางในแต่ละวัน จึงสามารถเรียกคะแนนนิยมได้จากประชาชนเป็นอย่างดี ทำให้มาตรการดังกล่าวมีการต่ออายุมาเรื่อยๆ ในทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบันก็เข้าสู่ปีที่ 7

               จากข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลดกระบัง ได้ศึกษาการทำโครงการระยะที่ 1 มาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2551 ถึงระยะที่ 13 วันที่ 30 กันยายน 2556 พบว่ามีผู้ได้ประโยชน์จาการใช้บริการฟรีรวม 891 ล้านคน หรือเฉลี่ยเดือนละ 14.38 ล้านคน แบ่งเป็นใช้บริการ ขสมก. 722 ล้านคน เฉลี่ยเดือนละ 11.65 ล้านคน และใช้บริการรถไฟ 169 ล้านคน หรือเฉลี่ยเดือนละ 2.74 ล้านคน

               หากนับรวมมาถึงปัจจุบันและต่อไปจนถึงสิ้นสุดเดือนกรกฎาคม 2558 จะมีการต่ออายุมาตรการรวมทั้งสิ้น 17 ครั้ง ซึ่งการต่ออายุมาตรการที่ผ่านมาพบว่ามีทั้งระยะ 6 เดือน 5 เดือน 4 เดือน 3 เดือน และน้อยที่สุดคือ 2 เดือน โดยครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2551-31 มกราคม 2552 รวม 6 เดือน มีผู้ได้รับประโยชน์รวม 90.07 ล้านคน ใช้เงินงบประมาณสนับสนุนทั้งสิ้น 1,706.57 ล้านบาท ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552-31 กรกฎาคม 2552 รวม 6 เดือน มีผู้ได้รับประโยชน์ 92.81 ล้านคน  ใช้เงินงบประมาณสนับสนุน 1,712.27 ล้านบาท ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2552- 31 ธันวาคม 2552 รวม 5 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ 77.35 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุนทั้งสิ้น 1,544.28 ล้านบาท

               ระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553-31 มีนาคม 2553 รวม 3 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ 45.36 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 855.44 ล้านบาท ระยะที่ 5  ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553-30 มิถุนายน 2553 รวม 3 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ 43.52 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 878.34 ล้านบาท ระยะที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553-31 ธันวาคม 2553 รวม 6 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ 95.34 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 1,768.27 ล้านบาท ระยะที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554-28 กุมภาพันธ์ 2554 รวม 2 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ 29.96 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 590.64 ล้านบาท ระยะที่ 8 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554-30 มิถุนายน 2554 รวม 4 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ 61.71 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 1,260.05 ล้านบาท

               ระยะที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554-15 มกราคม 2555 รวม 6.5 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ 88.43 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุนทั้งสิ้น 1,838.54 ล้านบาท ระยะที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555-30 เมษายน 2555 รวม 3.5 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ทั้งสิ้น 54.77 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 1,349.16 ล้านบาท ระยะที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2555-30 กันยายน 2555 รวม 5 เดือน มีผู้ได้รับประโยชน์ 73.22 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 1,574.64 ล้านบาท ระยะที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555-31 มีนาคม 2556 รวม 6 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ 70.87 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 1,946.67 ล้านบาท ระยะที่ 13 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556-30 กันยายน 2556 รวม 6 เดือน มีผู้ได้รับประโยชน์ 68.20 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 1,907.41 ล้านบาท

               รวมแล้วรัฐบาลใช้เงินสนับสนุนไปแล้วกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมอีก 4 ระยะที่ต่ออายุมาอีก 6 เดือน 3 ครั้ง และ 3 เดือน 3 ครั้ง หากประมาณคร่าวๆ น่าจะเป็นการใช้เงินอีกกว่า 6,000 ล้านบาท และคาดว่ามีผู้ได้ประโยชน์อีกกว่า 250 ล้านคน โดยสรุปแล้ว รัฐบาลน่าจะปิดฉากโครงการนี้ด้วยการใช้เงินไปกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท และมีผู้ได้ประโยชน์ไปกว่า 1,140 ล้านคน และต้องใช้เวลาถึง 7 ปี กว่าจะถอนตัวจากมาตรการประชานิยมนี้ได้