พลิกล็อก!มติคว่ำองค์การคุ้มครองผู้บริโภค
พลิกล็อก!มติคว่ำองค์การคุ้มครองผู้บริโภค : ทีมข่าวรายงานพิเศษ
ไม่น่าเชื่อเวลาผ่านไปเพียง 20 กว่าวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะพลิกโผเดิม ลงมติคว่ำ "ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค" สร้างความประหลาดใจให้แก่เครือข่ายประชาชนที่ผลักดันมานานกว่า 17 ปี....
ใครหรืออะไรอยู่เบื้องหลังเสียงโหวตครั้งนี้ !?!....
ย้อนไปเมื่อ 5 มกราคม 2558 ที่ประชุม สปช.รับพิจารณารายงานการศึกษา "เรื่องการกำหนดให้มีองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ" หรือที่รู้กันในนาม "ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ...." เนื่องจากกลุ่มเอ็นจีโอที่เป็นสมาชิก สปช.ได้ช่วยกันรณรงค์ผลักดันร่างกฎหมายนี้มาตลอด เพราะจะทำให้ประเทศไทยมีตัวแทนผู้บริโภคอย่างแท้จริง ตามวัตถุประสงค์หลัก "คุ้มครองผู้บริโภค" "แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ" "ความไม่เป็นธรรม" "ลดปัญหาขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค" ฯลฯ
หรือถ้าสรุปหน้าที่ให้เป็นรูปธรรม คือ 1.ช่วยตรวจสอบหรือสอดส่องดูแลว่ามีหน่วยงานรัฐหรือเอกชนรังแกชาวบ้านหรือเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่อย่างไร เช่น ขึ้นราคารถโดยสารอย่างไม่เป็นธรรม หรือ คิดค่าบริการโทรศัพท์ไม่เป็นธรรม แม้กระทั่งสถาบันการเงินที่คิดค่าบริการตู้เอทีเอ็มเกินจริง ฯลฯ 2.ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินค้าและบริการต่างๆ ยารักษาโรค ค่าใช้จ่ายโรงพยาบาล ฯลฯ 3.ช่วยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือดำเนินคดีในชั้นศาลแทน กรณีชาวบ้านต้องการดำเนินคดีแต่ไม่มีเงินค่าใช้จ่าย 4.ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยในเรื่องสิทธิผู้บริโภค
สมาชิก สปช.มาร่วมประชุมวันนั้น 223 คน ส่วนใหญ่ผ่านตาร่างฯ ฉบับนี้แล้ว เพราะมีการเปิดเผยรายละเอียต่างๆ ผ่านสื่อมวลชนมาตลอด และเกือบผลักดันได้เป็นกฎหมายสำเร็จในหลายรัฐบาล โดยเฉพาะปี 2556 ที่กระบวนการออกกฎหมายผ่านไปถึงวุฒิสภาแล้ว แต่ทหารปฏิวัติยึดอำนาจ ทำให้ต้องเริ่มนับ 1 กันใหม่ เมื่อเป็นร่างกฎหมายที่คุ้นเคยกันดี ทำให้การลงมติวันนั้นผ่านฉลุย มีการอภิปรายแสดงความเห็นสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง สมาชิกลงมติให้ "คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค" ไปยกร่างเพื่อจัดตั้งองค์การอิสระฯ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 215 คน ไม่เห็นด้วย 2 คน งดออกเสียง 6 คน โดยตั้งเป้าให้ทำเสร็จภายใน 30 วัน แล้วนำกลับเข้ามาพิจารณาอีกครั้ง...
ทั้งนี้ หลักการสำคัญของกฎหมายฉบับที่ร่างเสร็จมี 3 ส่วน คือ
1. "คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค" กำหนดให้มี 15 คน แบ่งเป็น 2 ส่วน โดย "7 คน" ให้สรรหาคัดเลือกจากผู้แทนองค์การผู้บริโภคใน 7 ด้าน คือ การเงินและการธนาคาร, การบริการสาธารณะ, ที่อยู่อาศัย, บริการสุขภาพ, สินค้าและบริการทั่วไป สื่อสารและโทรคมนาคม และ ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ และต้องคำนึงถึงสัดส่วน "หญิงและชาย" ให้ใกล้เคียงกันด้วย
ส่วนกรรมการอีก "8 คน" ให้เลือกกันเองจากผู้แทนองค์กรผู้บริโภคเขต มี 8 เขต ได้แก่ 1.กทม. 2.ภาคกลาง 3.ภาคตะวันตก 4.ภาคตะวันออก 5.ภาคอีสานตอนบน 6.ภาคอีสานตอนล่าง 7.ภาคเหนือ และ 8.ภาคใต้
2. คณะกรรมการสรรหา มี 9 คน จากตำแหน่งต่างๆ เช่น นายกสภาทนายความ, อธิการบดีมหาวิทยาลัย ฯลฯ
3. เงินอุดหนุน มาจากงบประมาณแผ่นดินประจำปี รัฐบาลจัดสรรให้ไม่น้อยกว่า 3 บาทต่อหัวประชากร
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่ที่ประชุม สปช.เพื่อลงมติอีกครั้ง ปรากฏว่าครั้งนี้ผลลงมติ "พลิกล็อก" โดยมีคะแนนเสียง "ไม่เห็นด้วย" 145 คน "เห็นด้วย" 72 คน "งดออกเสียง" 7 คน
สร้างความงุนงง! สงสัย! ให้แก่เครือข่ายประชาชนที่ติดตามผลักดันเรื่องนี้มาตลอด..
"สารี อ๋องสมหวัง" ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ถึงการลงมติไม่เห็นด้วยครั้งนี้ ว่า อาจเกิดจากความสับสนในรายละเอียดของเนื้อความในร่างกฎหมาย ดังนั้นจึงให้กลับไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ แล้วส่งกลับมาให้ สปช.ลงมติใหม่ในอีก 7 วัน
"มี 2 เรื่อง ที่บางคนติดใจสงสัย คือ เรื่องกรรมการสรรหาฯ ที่กำหนดให้ไม่มีตัวแทน "ภาคธุรกิจ" เข้าร่วม ซึ่งเราคงต้องไปอธิบายให้ฟังว่า เพราะไม่อยากให้มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง อยากให้เป็นองค์การอิสระจริงๆ ส่วนอีกเรื่องคือ งบประมาณ 3 บาทต่อหัวประชากรนั้น เราต้องอธิบายว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีบทบาทในการให้งบประมาณ อนาคตไม่อยากให้เกิดปัญหาว่ารัฐบาลจากพรรคการเมืองนี้ให้เงินมาก จากพรรคนั้นให้เงินน้อย ถือเป็นการป้องกันปัญหาการเมืองแทรกแซงการทำงาน"
สารี กล่าวต่อว่า ภายใน 7 วันนี้ คงต้องเร่งอธิบายและทำความเข้าใจกับสมาชิก สปช.ที่ติดใจสงสัยในเนื้อหาหรือรายละเอียดบางอย่าง ซึ่งไม่รู้สึกกังวลมากนัก เพราะเป็นร่างกฎหมายที่ต่อสู้มาเกือบ 17 ปี ผ่านการแปรญัตติและแก้ไขหลายครั้งจากหลายฝ่าย จนแทบจะไม่มีข้อผิดพลาดอะไรแล้ว เพียงแต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ สปช.จะมีร่างกฎหมายที่ผลักดันออกมาก สมาชิกทุกคนจึงอยากให้สมบูรณ์ที่สุด...
การลงมติในอีก 7 วันข้างหน้า คงต้องลุ้นกันต่อว่าจะมีการพลิกล็อกความคาดหมายอีกหรือไม่ และถ้าร่างฉบับนี้ผ่านด่าน สปช.ได้แล้ว ก็ต้องไปเจอด่านที่ 2 คือ การพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี จากนั้นส่งต่อให้ด่านที่ 3 คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีจำนวน 220 คน ส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งเป็นทหาร หลายฝ่ายมองว่า ด่าน "สนช." อาจต้องแปรญัตติหลายครั้ง ใช้เวลาอีกหลายเดือน และถ้ามีการดึงเกมจากภาคธุรกิจจะยิ่งล่าช้าไปอีก ถึงวันนั้น "ทหาร" คงต้องตอบคำถามให้ได้ว่า
"จะขอเวลาอีกนานแค่ไหน จึงจะคืนความสุขผู้บริโภคตามสัญญา ?"
"9 ตำแหน่งกรรมการสรรหา"
1.นายกสภาทนายความ
2.อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐฯ
3.นายกสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนไทย
4.ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
5.ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
6.นายกสมาคมสภาคนพิการฯ
7.ประธานสภาองค์การพัฒนาเด็กฯ
8.ประธานสภาสมาคมผู้สูงอายุฯ
9.เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ