โพลล์ชี้ปชช.หนุนคงอัยการศึก
07 ก.พ. 2558
กรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจปชช.ส่วนใหญ่หนุนคงกฎอัยการศึก เชื่อวางระเบิดสยามพารากอนท้าท้ายกฎหมาย ระบุ รบ.ประยุทธ์ ช่วยบริหารประเทศดีขึ้น
7 ก.พ.58 กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ประเทศไทยวันนี้เป็นอย่างไรหลังผ่าน 8 เดือน คสช.” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,120 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 46.2 เห็นว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมามีผลอย่างมากต่อบรรยากาศความสงบสุขของประเทศในปัจจุบัน ส่วนร้อยละ 35.3 เห็นว่ามีผลบ้าง ขณะที่ร้อยละ 16.5 เห็นว่าไม่มีผล
เมื่อถามว่า “เหตุการณ์ความไม่สงบ การวางระเบิดที่รถไฟ BTS สถานีสยาม และห้างพารากอน เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อท้าทายกฎอัยการศึกใช่หรือไม่” ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.7 ระบุว่า “ใช่” ขณะที่ร้อยละ 20.9 ระบุว่า “ไม่ใช่” และร้อยละ 28.4 ไม่แน่ใจ
นอกจากนี้เมื่อถามว่ากฎอัยการศึกยังจำเป็นสำหรับ คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการบริหารประเทศหรือไม่ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ร้อยละ 70.4 เห็นว่ายังจำเป็น ในจำนวนนี้ร้อยละ 39.2 ให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการป้องกันการชุมนุมที่อาจเกิดขึ้นได้ และร้อยละ 31.2 เพราะยังมีการสร้างสถานการณ์ การวางระเบิด การก่อความไม่สงบ ขณะที่ร้อยละ 22.3 เห็นว่าไม่จำเป็น โดยร้อยละ 13.4 ให้เหตุผลว่าจะทำให้ดูไม่ดีในสายตาชาวต่างชาติ และร้อยละ 8.9 เห็นว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยว
สำหรับความเห็นต่อคำถามที่ว่า “ปัจจุบันบรรยากาศในชุมชนหรือจังหวัดที่ท่านอาศัย ยังมีความขัดแย้ง ความเห็นต่าง และการแบ่งฝ่ายทางการเมืองหรือไม่” ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.9 เห็นว่ายังมีอยู่บ้าง ขณะที่ร้อยละ 38.2 ไม่ค่อยเห็นเลย ส่วนร้อยละ 9.8 เห็นว่ายังมีเหมือนเดิม
เมื่อถามว่า “การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา และไม่มีคนต้าน จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการเลือกตั้งรอบหน้าว่าพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม จะสามารถหาเสียงได้ทั่วประเทศใช่หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 45.6 บอกว่า “ใช่” เพราะปัจจุบันความขัดแย้งลดลงมากจึงน่าจะสามารถหาเสียงทั่วประเทศได้ ขณะที่ร้อยละ 40.1 บอกว่า “ไม่ใช่” เพราะคิดว่าการต่อต้านการหาเสียงของฝ่ายตรงข้ามยังคงมีอยู่
สุดท้ายเมื่อถามว่า “ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านคิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด” ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.1 ระบุว่า “ดีขึ้นกว่าเดิม” ขณะที่ร้อยละ 19.6 ระบุว่า “ยังเหมือนเดิม” และร้อยละ 6.9 ระบุว่า “แย่ลงกว่าเดิม”