ข่าว

เปิดปูมเรือ‘มุซาชิ’ที่สถิตใต้น้ำกว่า70ปี

เปิดปูมเรือ‘มุซาชิ’ที่สถิตใต้น้ำกว่า70ปี

07 มี.ค. 2558

เวิลด์วาไรตี้ : เปิดปูมเรือ ‘มุซาชิ’ ที่สถิตใต้น้ำกว่า 70 ปี

 
            คนเราถ้ามีความตั้งใจจริง จะทำการอะไรก็สำเร็จ อย่างเช่นที่นายพอล อัลเลน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคม ด้วยการทุ่มเทเทคโนโลยี กำลังเงิน และกำลังกายในการกู้เรือชื่อดังในประวัติศาสตร์ขึ้นมาจากท้องทะเล เพื่อเป็นของขวัญแก่คนรุ่นใหม่ที่ห่างไกลจากเหตุการณ์ในอดีตที่สำคัญ ได้รับรู้และรับทราบว่าสิ่งต่างๆ ที่เคยได้ยินมาว่าเป็นเรื่องราวในอดีตนั้นมีอยู่จริง
 
            ล่าสุด นายอัลเลนประกาศความสำเร็จในการค้นพบเรือประจัญบาน "มุซาชิ" หนึ่งในเรือรบที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นที่เคยนำออกรบในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกว่า 70 ปีที่แล้ว เรือลำนี้เป็นแสนยานุภาพสำคัญของกองทัพญี่ปุ่นในสมัยนั้น มีลูกเรือประจำการอยู่กว่า 1,000 คน และติดอาวุธปืนใหญ่ขนาดใหญ่ เพื่อใช้โรมรันกับกองทัพสหรัฐอเมริกา และพันธมิตร
 
            นายอัลเลนทุ่มเทเวลา 8 ปีในการค้นหาสุดยอดเรือประจัญบานแห่งยุคลำนี้ โดยใช้เรือดำน้ำลึกส่วนตัวที่ชื่อ "ออคโทปุส" และทีมงานผู้เชี่ยวชาญร่วมกันทำงาน จนได้พบเรือลำนี้จมอยู่ใต้ทะเลสิบุยัน ในน่านน้ำฟิลิปปินส์ ที่ความลึก 1.6 กิโลเมตร ที่เป็นสถานที่สถิตของเรือประจัญบานทรงแสนยานุภาพลำนี้มานาน 70 ปี หลังจากที่ถูกเรือรบ และเครื่องบินรบของฝ่ายอเมริกันถล่มจนเรือระดับเรือธงของกองเรือญี่ปุ่นลำนี้ต้องจมลงในที่สุดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2487
 
            มุซาชิ เป็นหนึ่งในเรือประจัญบานชั้นยามาโตะ แห่งกองทัพเรือสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่และติดอาวุธหนักที่สุดในเวลานั้น ระวางขับน้ำ 73,000 ตัน ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 460 มิลลิเมตร แบบ 94 จำนวน 9 กระบอก ได้รับการตั้งชื่อตามจังหวัดมุซาชิ ซึ่งเป็นชื่อจังหวัดในสมัยโบราณของญี่ปุ่น เป็นเรือลำที่สองในชั้นยามาโตะต่อจากเรือประจัญบานยามาโตะ เป็นเรือที่หนักและติดอาวุธหนักที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างขึ้นมา ด้วยระวางขับน้ำเต็มที่ถึง 72,800 ตันและติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 460 มม.ถึง 9 กระบอก
 
            สร้างขึ้นในช่วงปี 2481-2484 ขึ้นระวางอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2585 มุซาชิทำหน้าที่เป็นเรือธงของ พล.ร.อ.อิโซรกคุ ยามาโมโต และมินีชิ โคะงะ
 
            ว่ากันตามประวัติศาสตร์แล้ว เรือมุซาชิ เป็นเหมือนกับสัญลักษณ์ของการไม่ยอมแพ้ของชนชาติญี่ปุ่นที่ในเวลานั้นอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ของแดนอาทิตย์อุทัย ยังด้อยกว่าประเทศตะวันตกมากนัก แต่การสร้างเรือมุซาชิ เรือประจัญบานที่ทรงแสนยานุภาพ ที่สามารถยิงกระสุนปืนใหญ่น้ำหนักเกือบ 1.5 ตัน และติดตั้งเกราะป้องกันเรือระดับที่ป้องกันตอร์ปิโดใต้น้ำที่ยิงมาจากระยะยิง 25-30 กิโลเมตร ทำให้กองทัพเรือญี่ปุ่นมีพลังในการต่อสู้กับกองเรือสหรัฐที่มีเรือรบที่ทันสมัยกว่าได้
 
            อย่างไรก็ตาม ชะตาของเรือมุซาชิถูกกำหนดให้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และต้องจมลงใต้ทะเล ในสมรภูมินาวีที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เรียกว่าสมรภูมิ เลย์เต ในทะเลบริเวณใกล้กับเกาะเลย์เต ซามาร์ และลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 23-26 ตุลาคม 2487 ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียกับจักรวรรดิญี่ปุ่น
 
            ช่วง 3 วันแรก เรือมุซาชิ ที่เข้าปฏิบัติการในภารกิจ "โช-โก" ที่ออกแบบมาเพื่อล่อหลอกให้กองเรือสหรัฐหันเหออกจากช่องแคบซาน เบอร์นาดิโน ก็ถูกโจมตีจากเรือดำน้ำของสหรัฐ แต่เรือประจัญบานที่มีความยาวตลอดลำเรือ 263 เมตร และติดเกราะหนาแทบทุกส่วนของลำ ยังประคองตัวเอาตัวรอดจากการโจมตีจากใต้น้ำในระลอกแรกได้ แต่ในวันที่ 4 นั่นเอง กองทัพเรือสหรัฐหันไปใช้การโจมตีเรือมุซาชิด้วยการทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน โดยระเบิดลูกแรกทิ้งดิ่งจากฟ้าลงสู่เรือที่ทรงแสนยานุภาพของญี่ปุ่นเมื่อเวลาราว 10.30 น. และมีการโจมตีทางอากาศอีกระลอกระดมกระหน่ำมาที่เรือลำนี้ ทำให้มุซาชิหนีชะตากรรมที่ถูกกำหนดมาแล้วไม่พ้น จมลงใต้ท้องทะเลในที่สุด
 
            เรือธงอีกลำหนึ่งในชั้นเดียวกันกับมุซาชิ มีชื่อว่า "ยามาโตะ" ที่สร้างความคร้ามเกรงให้แก่กองทัพพันธมิตรไม่น้อยเช่นกัน