บอร์ดเกมธุรกิจแนวใหม่ที่กำลังเติบโต
บอร์ดเกม ธุรกิจแนวใหม่ที่กำลังเติบโต : คมคิดธุรกิจนิวเจน เรื่อง : ฐิติพล ขำประถม ภาพ : สุกล เกิดในมงคล
ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้เราอยู่ในยุคสมัยที่เด็กรุ่นใหม่เล่นเกมออนไลน์กันเป็นกิจวัตร ส่งให้หลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านเกมคอมพิวเตอร์ได้รับความนิยมมาก จนเกิดขึ้นไปทุกซอกซอยราวกับดอกเห็ด ทว่า นอกจากความสนุกของเกมบนโลกออนไลน์ผ่านจอ ก็ยังมีความสนุกของเกมอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดมาก่อนกว่าศตวรรษอย่าง "บอร์ดเกม" หรือ "เกมกระดาน" ได้รับความสนใจเช่นกัน
เกมกระดาน เป็นเกมที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนผู้เล่นที่อยู่ตรงหน้า และด้วยการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง ทำให้เกิดเกมกระดานรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งมีประโยชน์ซ่อนอยู่ และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้กลุ่มคนรักเกมอย่าง "หญิง" สราวดี ผดุงศิริเศรษฐ์ "เล็ก" พนม ศิริมงคลสกุล และ "เทพ" พรเทพ โสภณสกุลสุข ร่วมกันนำสิ่งดีๆ ที่แฝงอยู่จากการเล่นเกมกระดาน มานำเสนอคนไทยทุกเพศทุกวัยได้สนุกด้วยกันผ่านร้านบอร์ดเกม คาเฟ่ "ลานละเล่น" ซึ่งเปิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคที่เกมกระดานยังไม่ได้รับความสนใจจากคนไทยเหมือนในปัจจุบัน
"ลานละเล่น" เกิดขึ้นได้อย่างไร น่าสนใจมากน้อยแค่ไหน และมีประโยชน์ต่อผู้เล่นจริงหรือไม่ สราวดี หนึ่งในเจ้าของร้าน พร้อมเล่าถึงที่มา
เดิม สราวดี และ พนม นั้น ทำงานบริษัทมาก่อน และเปลี่ยนมาทำธุรกิจ "ติวเตอร์" เมื่อปี 2551 อยู่ตรงข้าม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จากนั้นปีถัดมา ได้เปิดร้านกาแฟ ซึ่งมีแนวคิดจากที่ต้องการนำเกมที่เล่นง่ายๆ ไปวางตามโต๊ะ จึงตั้งชื่อร้านกาแฟที่ล้อกันกับของเล่นเหล่านั้นว่า "ลานละเล่น" ก่อนหาจุดเด่น ด้วยการทำเป็นบอร์ดเกม คาเฟ่ ในโอกาสต่อมา เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น
"เราทำงานบริษัทมาก่อน แล้วก็ออกมาเป็นติวเตอร์ ตอนนั้นเราเอาเกมแบบเล่นคนเดียวเข้าไปใช้ในชั้นเรียน ซึ่งรู้สึกว่าเกมดีมาก จากนั้นไปเจอบอร์ดเกมแบบที่เล่น 3-5 คน ลองเล่นเอง รู้สึกสนุกดี ตอนแรกที่นี่เป็นร้านกาแฟ จึงนำเกมไปวางตามโต๊ะ ลูกค้าไม่ได้เยอะ คิดว่าเผื่อลูกค้ามาดื่มกาแฟแล้วมีเกมให้นั่งเล่น ก็น่าจะเพลินๆ พอทำไปสักพัก สังเกตว่าลูกค้ากลับมาซ้ำเพราะมาเล่นเกม ทำให้เราคิดว่านี่แหละคือจุดขาย และต่อมาปี 2011 ร้านเจอเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พี่เทพ ซึ่งเป็นคนที่เล่นบอร์ดเกมและรู้จักกัน ก็เข้ามาช่วยและกลายเป็นพาร์ทเนอร์ของร้านมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ปีแรกๆ ลูกค้าส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักร้านบอร์ดเกมมากนัก ทำให้ยากต่อการสื่อสาร แต่ค่อยๆ ทำไป ไม่เสียกำลังใจ เพราะอยากให้ลูกค้าได้สัมผัสเกมดีๆ เราจึงไม่เคยท้อหรือคิดว่าจะล้มเลิก แต่กลับมองว่าธุรกิจดี ผลิตภัณฑ์ก็ดี และมีอนาคต ไม่ได้นิยมแบบแฟชั่นที่มาแล้วก็ไป" สราวดี เล่าถึงจุดเริ่มต้น
ปัจจุบัน ภายใน "ลานละเล่น" มีบอร์ดเกมให้เลือกสร้างความสนุก กว่า 400 เกม โดย สราวดี เล่าว่า ตอนเริ่ม ซึ่ง 100 เปอร์เซ็นต์ บอร์ดเกมในร้านเป็นของต่างประเทศจากฝั่งอเมริกาและยุโรป แต่เมื่อทำไปสักพักก็เจอเกมที่ออกแบบโดยคนไทยจึงนำเข้ามาในร้านด้วย แต่ยอมรับว่าคนไทยยังรู้จักบอร์ดเกมน้อยมาก เช่น ถ้ามีลูกค้า 10 คน จะมี 9 คน ที่ไม่รู้จัก ซึ่งลูกค้าจะคุ้นเคยกับเกมเดิมๆ ถามหาเกมเศรษฐี หรือ โมโนโพลี, เกมการ์ดอย่างอูโนมากกว่า ดังนั้น ที่ร้านจะไม่มีเกมเหล่านี้ เพราะอยากให้ลูกค้าได้ลองเล่นเกมใหม่ๆ พยายามทำให้ลูกค้าเปิดใจรับบอร์ดเกมที่สนุกไม่แพ้กัน ด้วยการแนะนำบอร์ดเกมที่มีลักษณะการเล่นใกล้เคียง เหมาะสมกับจำนวนคน เวลา และสอนวิธีการเล่นให้ด้วย
"บอร์ดเกมมีหลากหลาย สำคัญอันดับ 1 คือต้องสนุก รองลงมาคือ เอกลักษณ์ของเกมที่ให้ประโยชน์ต่างกัน บางเกมให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ บางเกมสอนให้รู้จักการวางแผนระยะสั้น และระยะยาว แต่ละเกมจะทำให้เราได้เรียนรู้ ขอให้เราเปิดใจ เกมอาจจะทำให้เราได้เห็นและเรียนรู้ความถนัดของตัวเองในช่วงเวลานั้นวัยนั้น ให้บอร์ดเกมเป็นตัวที่มาช่วยตอบโจทย์ตรงนั้น เมื่อคุณได้ลองก็จะได้ใช้เวลาในการรู้จักตัวเอง และนอกจากนี้เรายังมองว่า เกมที่ดีไม่ได้ให้แค่ความสนุกหรือความรู้ แต่ทำให้ได้ใช้เวลาด้วยกัน" เจ้าของร้านเผย
บอร์ดเกมของ "ลานละเล่น" แบ่งไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก สำหรับเด็กอายุ 4-8 ปี ใช้เวลาเล่น 10-15 นาที กติกาไม่ซับซ้อน, กลุ่มที่ 2 เกมครอบครัว เด็กกับผู้ใหญ่สามารถเล่นด้วยกันได้ ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกสนุกและลุ้นในการที่จะเอาชนะผู้ใหญ่, กลุ่มที่ 3 เกมสงคราม เกมที่เล่นแบบทำคะแนน โดยการปราบฝ่ายตรงข้ามแล้วนับคะแนนตอนจบ, กลุ่มที่ 4 เกมยูโร เป็นแนวสร้างเมือง เล่นด้วยการนับคะแนน เช่น แข่งกันสร้างบ้าน ปลูกผัก แข่งกันทำแต้ม โดยในร้านจะมีเกมแนวนี้มากที่สุด และสุดท้าย "ปาร์ตี้เกม" เป็นเกมที่มีกติกาไม่ยาก เล่นได้ถึง 10-15 คน ซึ่งต่างจาก 4 กลุ่มแรกที่เล่นได้ 3-6 คน
ด้านการตอบรับจากลูกค้านั้น สราวดี เล่าว่า ช่วงแรก ด้วยที่ตั้งอยู่ใกล้ ม.มหิดล ลูกค้ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นนักศึกษา แต่พอคนรู้จักมากขึ้น ทำให้ตอนนี้เป็นนักศึกษา 60 เปอร์เซ็นต์ อีก 40 เปอร์เซ็นต์เป็นลูกค้าทั่วไป โดยวันธรรมดาส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา วันเสาร์-อาทิตย์เป็นคนทำงานออฟฟิศและมาแบบครอบครัว โดยที่่ร้านจะมีให้เลือก ทั้งมานั่งเล่นที่ร้านและซื้อกลับไป หรือจัดส่งให้ทางพัสดุ
"เราคิดค่าบริการเป็นชั่วโมง โดยชั่วโมงแรก 65 บาท ได้เครื่องดื่มฟรี 1 แก้ว ส่วนชั่วโมงต่อไป คิด 35 บาท แต่หากสมัครสมาชิก ค่าสมัคร 350 บาท อายุสมาชิก 2 ปี หรือซื้อเกมจากร้านครบ 3,000 บาท สมัครสมาชิกได้ฟรี นอกจากนี้ยังสามารถนำมาลดค่าใช้บริการได้ สำหรับบอร์ดเกมที่ร้าน จะขายราคาเริ่มต้น 500-3,500 บาท ส่วนรายได้ต่อวัน รวมทุกอย่างประมาณวันละ 3,000-4,000 บาท ถือเป็นตัวเลขที่ทางร้านค่อนข้างพอใจ แม้ไม่ได้มากมายเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย" สราวดี กล่าว
การเติบโตของ "ลานละเล่น" ดำเนินไปอย่างช้าๆ แต่เป็นสัญญาณที่ดีมาตลอด เปรียบเสมือนเส้นกราฟที่ทะแยงขึ้นสู่ด้านบนไปเรื่อยๆ โดย สราวดี กล่าวว่า ความนิยมในการเล่นบอร์ดเกมที่เพิ่มขึ้น ทำให้สื่อเอาไปพูดถึง ส่งผลให้ตลาดของบอร์ดเกมคึกคัก มีร้านบอร์ดเกมเปิดให้บริการมากถึง 10 ร้าน เมื่อปีที่ผ่านมา และทำให้คนรู้จักร้านในวงกว้างขึ้น แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เคยลองเล่น จึงถือเป็นการบ้านที่จะทำต่อไป
"สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือบรรยากาศและประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับเมื่อเข้ามาในร้าน ฉะนั้น หัวใจสำคัญของร้านคือ พนักงาน ซึ่งต้องเข้าหาลูกค้าและแนะนำเกม พร้อมวิธีการเล่นให้ลูกค้าได้ เมื่อบุคลากรพร้อมรับลูกค้าได้มากขึ้นเมื่อไหร่ เราจะขยายสาขาออกไป แต่ตอนนี้ขอทำร้านแรกให้แข็งแกร่งก่อน" เจ้าของร้านบอร์ดเกม คาเฟ่ กล่าว
จากการได้พูดคุยกับ 1 ใน 3 ของเจ้าของร้าน "ลานละเล่น" ทำให้ทราบว่า มันไม่ใช่แค่ธุรกิจที่กำลังขยายตัวและเติบโตขึ้นเพียงเพื่อทำเงิน แต่ยังเป็นที่ที่ทำให้คนเล่นเกมได้สร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัว หลุดจากการก้มหน้าเล่นเกมในโลกออนไลน์บนจอคอมพิวเตอร์หรือจอมือถือ แล้วเงยหน้าขึ้นมามองคนที่อยู่ตรงหน้า เพื่อเปิดมุมมองที่ต่างออกไปพร้อมกันผ่านเกมกระดานแบบใหม่ๆ ที่ให้ประโยชน์แตกต่างกัน ซึ่งไม่ใช่แค่ความเพลิดเพลิน แต่ยังให้ความรู้ ซึ่งทำให้ใครหลายคนค้นพบตัวเองจากการเล่นเกมมาแล้ว ที่สำคัญทำให้ได้พบบรรยากาศอบอุ่น เฮฮา และได้ใช้ไหวพริบช่วงชิงอย่างสนุกสนานระหว่างเพื่อนผู้เล่น ซึ่งเป็นจุดเด่นของการเล่นบอร์ดเกมนั่นเอง
บอร์ดเกมคืออะไร
บอร์ดเกม หรือ เกมกระดาน ถูกสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงอย่างหนึ่ง มีหลายประเภทและหลากหลายรูปแบบ เป็นเกมที่ใช้การ์ด หรือเกมที่ใช้ชิ้นส่วนหรือตัวหมากวางไว้บนพื้นที่เล่นเคลื่อนที่หรือหยิบออกจากพื้นที่เล่น มีทั้งแบบที่มีกติกาง่ายๆ จนถึงเกมที่มีกติกาซับซ้อน ต้องใช้แผนการหรือยุทธวิธีเข้าช่วยเพื่อที่จะให้ตนเองชนะ คือบรรลุจุดประสงค์เพื่อชัยชนะของการเล่นเกมนั้น โดยพื้นที่เล่นเปรียบได้กับกระดาน ซึ่งจะมีรูปภาพหรือรูปแบบเฉพาะสำหรับเกมนั้นๆ
ตัวอย่างเกมใน "ลานละเล่น" ที่มี เช่น The Xvolution (ดิ เอ็กซ์โซลูชั่น) ซึ่งออกแบบโดย นายปีย์ชนิตว์ เกษสุวรรณ นักออกแบบคนไทยที่ใช้เวลาพัฒนาถึง 6 ปี ผลงานนี้เป็นหนึ่งในชิ้นงานที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เกมได้แรงบันดาลใจจากการครบรอบ 150 ปี ทฤษฎีวิวัฒนาการ ของ ชาร์ล ดาร์วิน เรื่องการคัดเลือกตามธรรมชาติที่มีแนวคิดที่ว่าผู้แข็งแกร่งที่สุดเป็นผู้ชนะ โดยนำเสนอผ่านการวิวัฒนาการของไดโนเสาร์ไทย ที่จะเป็นตัวแทนของผู้เล่นในเกม ผู้เล่นสามารถออกแบบทางเดินทั้งหมด 36 แผ่นในเกมได้อย่างอิสระจนได้เป็นตาเดินที่แปลกใหม่ทุกครั้งที่เล่น มีการวางจุดแบทเทิลเพื่อให้ไดโนเสาร์ได้ต่อสู้กัน การใช้การ์ดโซลูชั่นเพื่อวิวัฒนาการไดโนเสาร์ของเราให้แกร่งขึ้น
นอกจากนี้ เกมนี้ยังมีจุดเด่นที่เมื่อโหลดแอพพลิเคชั่น The Xvolution จะสามารถเห็นภาพ 3 มิติของไดโนเสาร์ มีเสียงและเคลื่อนไหวระหว่างเล่นเกมได้ ผ่านทางสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต อีกทั้งถ่ายภาพและแชร์ภาพบนโซเชียลมีเดียได้อีกด้วย สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมของเกมได้ที่ https://www.facebook.com/TheXvolution