
ฐานันดร 4
20 เม.ย. 2558
วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ : ฐานันดร 4 : โดย...ประภัสสร เสวิกุล psevikul.com
ในอังกฤษสมัยหนึ่ง สื่อมวลชนซึ่งในเวลานั้นมีเพียงหนังสือพิมพ์ เพราะวิทยุ โทรทัศน์ และโซเชียลมีเดีย ยังไม่มีในโลก ได้รับสมญานามว่า เป็นฐานันดรที่ 4 รองลงมาจากฐานันดรที่ 1 คือ พระมหากษัตริย์และราชวงศ์ ฐานันดรที่ 2 คือ นักบวช และฐานันดรที่ 3 คือ ขุนนาง ซึ่งแสดงถึงบทบาทและความสำคัญของหนังสือพิมพ์ได้เป็นอย่างดี
ตามประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์กล่าวว่า วันหนึ่งในระหว่างการประชุมสภา นายเอ็ดมันด์ เบิร์ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ แลเห็นว่ามีนักหนังสือพิมพ์มานั่งฟังการประชุมอยู่ด้วย จึงได้กล่าวในที่ประชุมว่า “ขณะที่ท่านทั้งหลาย ซึ่งเป็นฐานันดรใดฐานันดรหนึ่งในสามฐานันดรนี้กำลังประชุมอยู่ ขอได้โปรดรำลึกว่า ขณะนี้เรามีฐานันดรที่ 4 เกิดขึ้นแล้ว และกำลังนั่งฟังการประชุมของเราอยู่” ว่ากันว่า นายกรัฐมนตรีเจาะจงที่จะหมายถึงหนังสือพิมพ์ไทม์ (ออฟ) ลอนดอน เท่านั้น แต่หนังสือพิมพ์อื่นๆ ก็พอใจคำเรียกขานนี้ และนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย
หลายคนอาจคิดว่า การถูกอุปโลกน์ให้เป็นฐานันดรที่ 4 จะทำให้หนังสือพิมพ์และคนหนังสือพิมพ์มีความยิ่งใหญ่ ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ทำนองเดียวกับฐานันดรอื่น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว หนังสือพิมพ์ที่เป็นหนังสือพิมพ์แท้จริงนั้น มักขนานนามตัวเองว่า เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน ที่คอยพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของเจ้าของบ้าน คือประชาชน ด้วยความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ไม่นำความเป็นหนังสือพิมพ์หรือนักหนังสือพิมพ์ไปแสวงหาประโยชน์ส่วนตน ดังจะเห็นได้จากนักหนังสือพิมพ์ไทยในอดีตหลายคนที่กลายเป็นตำนาน และตำราสำหรับคนรุ่นต่อๆ มา
อย่างไรก็ตาม โลกในปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต นักหนังสือพิมพ์ที่กินอุดมการณ์มักจะอดๆ อยากๆ บางรายก็แทบไม่มีจะกิน ขณะที่ผู้แฝงตัวเข้ามาอาศัยคราบนักหนังสือพิมพ์กลับร่ำรวยอู้ฟู่ เพราะมองเห็นช่องทางที่จะใช้คำว่า “นักหนังสือพิมพ์” แสวงหาโอกาสดีๆ ได้ ขณะที่คนทำหนังสือพิมพ์ที่เคยล้มลุกคลุกคลาน ถึงขนาดจำนำข้าวของส่วนตัวเพื่อนำเงินมาเป็นค่ากระดาษ หรือเงินเดือนลูกน้อง ก็ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว คนทำหนังสือพิมพ์ส่วนหนึ่งเวลานี้ จึงมีแต่นักธุรกิจหรือนายทุนที่เก็งกำไรเป็นสำคัญ ว่ากันว่าข่าวบางข่าวและคอลัมน์บางคอลัมน์จะมีนัยที่แอบอิงผลประโยชน์ โดยผู้อ่านเสียเงินซื้อสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในนั้นไปโดยปริยาย
มีเสียงเรียกร้องและทวงถามเสมอถึงเสรีภาพของสื่อมวลชน หรือให้สื่อมวลชนดูแลกันเอง แต่ก็มักจะละเลยหรือพยายามมองข้ามคำว่าจรรยาบรรณ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำเป็นจะต้องมี เพื่อควบคุมตนเอง และสิ่งอันพึงประพฤติปฏิบัติหรือไม่พึงกระทำ
ฐานันดรที่ 4 ไม่ใช่เป็นเพียงคำเรียกโก้ๆ เท่านั้น แต่เป็นภาระและหน้าที่ที่ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์จะต้องรำลึกไว้ในใจเสมอครับ
--------------------
(วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ : ฐานันดร 4 : โดย...ประภัสสร เสวิกุล psevikul.com)