ข่าว

สินค้าวัฒนธรรม

สินค้าวัฒนธรรม

13 พ.ค. 2558

สินค้าวัฒนธรรม : วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์กับประภัสสร เสวิกุล

              วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ความนิยมในวัฒนธรรมต่อชาติใดชาติหนึ่งมีผลอย่างมากต่อความคิด ความเชื่อ และการยอมรับนับถือชาตินั้น

              ประเทศที่ใช้การรุกทางวัฒนธรรมอย่างได้ผลมาแล้วคือสหรัฐ แต่เดิมนั้นสหรัฐเป็นประเทศที่ปลีกตัวจากโลกและอยู่ตามลำพัง ตามนโยบายของประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร เพื่อป้องกันการรุกรานและแทรกแซงจากภายนอก แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในสงครามเพื่อยับยั้งการรุกของกองทัพนาซีเยอรมันในยุโรป และการรุกของกองทัพญี่ปุ่นในเอเชีย เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ สหรัฐทั้งในฐานะของผู้ชนะสงครามและมีความบอบช้ำน้อยที่สุดจากภัยสงคราม จึงก้าวมามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบูรณะเศรษฐกิจประเทศต่างๆ และเป็นผู้นำในการต่อต้านการแผ่อำนาจของสหภาพโซเวียต ซึ่งมีแนวคิดทางเศรษฐกิจ-สังคม แตกต่างจากสหรัฐและประเทศตะวันตก โดยสหรัฐยึดถือแนวคิดเรื่องทุนนิยม แต่สหภาพโซเวียตยึดแนวทางสังคมนิยม

              ในเอเชีย สหรัฐได้เข้ามามีบทบาทแทนมหาอำนาจเดิม คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลันดา หรือสเปน ซึ่งปกครองอาณานิคมของตนมาเป็นระยะเวลายาวนาน และเนื่องจากเป็นผู้เข้ามาใหม่ สหรัฐได้ใช้วัฒนธรรมเป็นสื่อให้ประชาชนในประเทศต่างๆ รู้จักตน ขณะเดียวกันก็เป็นการลบล้างวัฒนธรรมของเจ้าอาณานิคมเดิม สหรัฐดำเนินการรุกทางวัฒนธรรม ทั้งการให้เปล่าและเผยแพร่แบบซึมลึก ในยุคแรกหน่วยงานด้านวัฒนธรรมของสหรัฐในประเทศต่างๆ จะจัดพิมพ์วรรณกรรมชิ้นเอกของสหรัฐและหนังสือที่กล่าวถึงความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของสหรัฐออกแจกจ่าย จัดฉายภาพยนตร์ การแสดงดนตรีของสหรัฐ จนวัฒนธรรมสหรัฐมีอิทธิพลอย่างสูงทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิต คนในเอเชียและแทบทั้งโลกนิยมแต่งกายแบบอเมริกัน เช่น เสื้อยืด กางเกงยีน อ่านหนังสือดูหนังฟังเพลงอเมริกัน ดื่มเครื่องดื่มและกินอาหารแบบอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นฮอตด็อก แซนด์วิช ในตอนแรก จนถึง แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด พิซซ่า กาแฟ ไอศกรีม ฯลฯ ในปัจจุบัน สินค้าที่ประทับตรา “เมด อิน ยูเอสเอ” ได้รับความเชื่อถือว่าเป็นของดีมีคุณภาพสูง และคนรุ่นใหม่พากันเดินทางไปเรียนต่อหรือเดินทางท่องเที่ยวในสหรัฐเป็นจำนวนมาก และสินค้าวัฒนธรรมต่างๆ
              เหล่านี้ นอกจากสร้างค่านิยมต่อสหรัฐแล้ว ยังนำรายได้กลับประเทศอย่างมหาศาลในแต่ละปี

              ประเทศที่ใช้การรุกทางวัฒนธรรมอย่างได้ผล คือเกาหลีใต้ ซึ่งแต่เดิมเป็นประเทศที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ไม่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ หรือศิลปวัฒนธรรม เช่น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนหรือญี่ปุ่น - เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี พ.ศ.2540 แต่สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วเมื่อหันไปส่งเสริมสินค้าวัฒนธรรมแทนสินค้าอุตสาหกรรม กระแสของ “เค ป๊อป” ที่เริ่มต้นจากวงดนตรีบอยแบรนด์ ที่ไปเปิดการแสดงในประเทศจีน จุดประกายของสินค้าวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น เพลง ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ แฟชั่นการแต่งกาย เกม การ์ตูน เรื่อยเลยไปถึงอาหาร เครื่องสำอาง ศัลยกรรม และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องไฟฟ้า รถยนต์ และการท่องเที่ยว ก่อให้เกิดรายได้แก่ประเทศอย่างมากมาย

              ประเทศไทยของเราเป็นแหล่งวัฒนธรรม ที่มีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยว จำนวนมากและหลากหลาย ดนตรี ภาพยนตร์ การแสดง ของเราก็ไม่ด้อยไปกว่าใคร เพียงแต่ขาดการดูแลจัดการที่ดี และมีเป้าหมาย รวมทั้งแนวทางที่แน่นอนชัดเจน ทำให้เราตกเป็นฝ่ายรับแทนที่จะเป็นฝ่ายรุกด้านวัฒนธรรม จนคนไทยในปัจจุบันพากันละเลยหรือหลงลืมวัฒนธรรมของตน หันไปชื่นชมวัฒนธรรมของต่างชาติ

              ในสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจทุกวันนี้ ประเทศไทยสมควรที่จะหันมาให้ความสนใจต่อสินค้าวัฒนธรรมอย่างจริงจังและผลักดันให้ก้าวสู่ความนิยมภายนอก หาทางทำให้สินค้าวัฒนธรรมเป็นสินค้าที่มีความแปลกใหม่ สร้างสรรค์ และถูกรสนิยมของชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มิใช่เพียงแค่ขายของเก่ากินไปวันๆ

              โจทย์ข้อนี้ไม่ยากหรอกครับ เพียงแต่เราคิดกันเป็นหรือไม่เท่านั้น