เมื่อสนามเวิลด์คัพแพงสุดในบราซิล กลายเป็นลานจอดรถบัส
16 พ.ค. 2558
เวิลด์วาไรตี้ : เมื่อสนามเวิลด์คัพแพงสุดในบราซิล กลายเป็นลานจอดรถบัส
ฟุตบอลโลก 2014 ผ่านไปนานเกือบปีแล้ว บรรยากาศความรื่นเริงเฉลิมฉลองก็จบไปนานแล้วเช่นกัน แต่ประเทศเจ้าภาพบราซิลยังวุ่นอยู่กับการแก้อาการแฮงโอเวอร์ที่มาในรูปของสนามกีฬาขนาดยักษ์ร้าง โครงสร้างพื้นฐานอีกมากมายที่ไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ตีคู่มากับปัญหาเศรษฐกิจซบเซา กับการเร่งมือเตรียมจัดอีกมหกรรมกีฬาราคาแพง นั่นคือโอลิมปิกฤดูร้อน 2016
ไม่เหนือไปจากที่คาดเมื่อสนามใหม่ 4 แห่งที่สร้างขึ้นมารองรับฟุตบอลโลกและเป็นที่ถกเถียงมากที่สุด กำลังดิ้นรนอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด สนามในเมืองนาตาล ที่พยายามหารายได้จากการให้ใช้สถานที่จัดงานแต่งงานและงานเลี้ยงสำหรับเด็ก บริษัทที่ซื้อมาในตอนแรก กำลังประกาศขายอีกเป็นครั้งที่สอง
สนามในเมืองกุยาบา ซึ่งใช้ทุนสร้างราว 250 ล้านดอลลาร์ ตกเป็นข่าวหลายหน ครั้งแรกถูกปิดเพราะสร้างผิดแบบ มีปัญหามาตรฐานความปลอดภัย และเมื่อไม่นานนี้ มีคนไร้บ้านเข้าไปจับจองห้องที่ยังไม่ได้ใช้ ล่าสุด ผู้จัดการสถานที่ระบุว่า ทางการของเมืองกำลังมองหาบริษัทเอกชนสักแห่งมารับช่วงโครงการนี้ไป เพราะการบำรุงรักษามีแต่ทำให้เงินไหลออก
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทางการรวมถึงอดีตผู้ว่าการรัฐ อดีตประธานสภาท้องถิ่นและอดีตประธานคณะจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกของเมือง กำลังถูกสอบสวนความไม่ชอบมาพากล โครงการสร้างทางรถไฟในเมืองกุยาบา มูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ เพื่อเชื่อมสนามบินกับใจกลางเมือง ที่ตามแผนต้องแล้วเสร็จทันการแข่งขัน แต่รางรถไฟความยาว 22 กิโลเมตร จนถึงขณะนี้ สร้างไปได้ไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น
สนามอามาโซเนีย อารีนา ในรัฐมาเนาส์ มีต้นทุนดำเนินงานถึง 2.33 แสนดอลลาร์ต่อเดือน กำลังถูกประกาศขายแก่ภาคเอกชนแม้ว่าสร้างจากงบสาธารณะเป็นหลัก และสนาม เอสตาดิอู นาซิออนนาล ในกรุงบราซิลเลีย สนามฟุตบอลโลกแพงที่สุดของบราซิล ด้วยทุนสร้าง 500 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบันกำลังทำหน้าที่เป็นลานจอดรถบัสสาธารณะ
จูเซ่ ครูซ ผู้สื่อข่าวกีฬาของอูนีเวร์โซ ออนไลน์ ในกรุงบราซิลเลีย กล่าวว่า สนามที่จุคนได้ถึง 7 หมื่น สร้างเพื่อหวังใช้จัดคอนเสิร์ต สร้างรายได้ให้แก่สถานที่ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น อย่างวงเฮฟวีเมทัล “คิส” มาทัวร์คอนเสิร์ตที่บราซิลเลีย แต่ไม่ต้องการจัดในสเตเดี้ยม เพราะต้นทุนสูงกว่าคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ซึ่งสะท้อนว่า การวางแผนจัดมหกรรมกีฬาใหญ่ยักษ์และการหารายได้หลังจากนั้นย่ำแย่เพียงใด สเตเดี้ยมจำนวนมากจึงกลายเป็นเครื่องหมายอัปยศแทนที่จะเป็นความภาคภูมิใจ
ครูซ กล่าวว่า เขาไม่เห็นมรดกเวิลด์คัพใดๆ เว้นแต่หนี้สินที่ตกทอดมา และอีกนานาปัญหาในเวลานี้ เวิลด์คัพจบไปแล้ว เรากำลังเผชิญทุกสิ่งอย่างที่ตามมาหลังจากนั้นคงจำกันได้ว่า การขึ้นค่ารถโดยสารประจำทาง เป็นหนึ่งในชนวนให้คนออกมาเดินขบวนประท้วงทั่วประเทศก่อนหน้าฟุตบอลโลก ชาวบราซิลที่ต่อต้านตั้งคำถามว่า เหตุใดรัฐบาลจึงทุ่มเงินราว 3,000 ล้านดอลลาร์ไปกับการสร้างสเตเดี้ยม ขณะขึ้นราคาค่าโดยสารและทอดทิ้งบริการสาธารณะอื่นๆ
แม้แต่กรุงบราซิลเลียเองที่เป็นที่ตั้งของสนามราคาแพงที่สุด หน่วยงานตรวจสอบรัฐบาลระบุว่า มีโรงเรียนราว 80% ที่ขาดสิ่งอำนวยความสะดวก
ส่วนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่รัฐบาลบอกว่าจะเป็นมรดกตกทอดจากฟุตบอลโลกและใช้กันอีกนาน อย่างสนามบิน ถนน ระบบรถรางนั้น รายงานรัฐบาลที่เผยแพร่เมื่อธันวาคมปีที่แล้วปรากฏว่า บราซิลทุ่มเงินไปกับสนามกีฬาเกินงบ 1,000 ล้านดอลลาร์ และโครงการอื่นๆ เกี่ยวเนื่องส่วนใหญ่นั้นยังไม่แล้วเสร็จ
ขณะนี้ บราซิลกำลังเร่งมือเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 ในริโอเดอจาเนโร และมีแผนใช้จ่าย 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับการจัดงาน รวมถึงงบด้านสนามกีฬา 2,000 ล้านดอลลาร์ รัฐบาลยืนยันว่า โครงการโครงสร้างพื้นฐานจากฟุตบอลโลกจะแล้วเสร็จแน่ในที่สุด และยังมีแผนงานอีกมากสำหรับโอลิมปิก จึงต้องดูกันต่อไปว่า โครงการต่างๆ เกี่ยวกับโอลิมปิกจะทันเวลาหรือไม่ ท่ามกลางแรงกดดันรอบด้านจากภาวะเศรษฐกิจและมาตรการรัดเข็มขัด กับความล้มเหลวมาจากเวิลด์คัพ
เหล่านี้ยังไม่นับรวมกับต้นทุนทางสังคมอื่นๆ บราซิลได้โยกย้ายครอบครัวคนจนหลายพันครัวเรือนเพื่อเตรียมพื้นที่ เช่น ชุมชนยากจนแห่งหนึ่ง ถูกย้ายออกไปเพื่อสร้างหมู่บ้านโอลิมปิก และหลังจากจบโอลิมปิก ที่พักนักกีฬาจะแปรสภาพเป็นคอนโดหรู
บราซิลไม่ใช่ตัวอย่างเดียว จีน อังกฤษ และสหรัฐ ต่างก็เคยโยกย้ายคนจนเพื่อเปิดทางผุดสนามกีฬาและอื่นๆ ที่จะกลายเป็นของไม่ได้ใช้ในเวลาอันรวดเร็ว