ข่าว

‘ดาว์พงษ์ รัตสุวรรณ’นำทัพทวงคืนผืนป่า

‘ดาว์พงษ์ รัตสุวรรณ’นำทัพทวงคืนผืนป่า

28 พ.ค. 2558

‘ดาว์พงษ์ รัตสุวรรณ’นำทัพทวงคืนผืนป่า

                เริ่มในวันวิสาขบูชา 1 มิถุนายนนี้แล้ว สำหรับภารกิจ "ทวงคืนผืนป่า" ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่พุ่งเป้า "สวนยางพารา" ที่รุกป่าเป็นอันดับแรก โดยตั้งเป้ายึดคืน 6 แสนไร่ ในปี 2558 และอีก 9 แสนไร่ ในปี 2559
    
                พล.อ.ดาว์พงษ์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ "ชั่วโมงที่ 26" ทางช่อง NOW 26 ออกอากาศทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 22.30 น. โดยระบุถึงภารกิจเร่งด่วน 3 เรื่อง คือ 1.การแก้ปัญหาบุกรุกป่าไม้ 2.การจัดหาที่ดินทำกินให้ราษฎร และ 3.การแก้ปัญหาขยะ ซึ่งเขามองว่า ไม่มีเรื่องไหนง่ายเลย
    
                "อัตราการบุกรุกกับอัตราการเอาคืนมัน 1 ต่อ 5 บุกรุก 5 ส่วน ที่ผ่านมา 2.7 แสนไร่บุกรุกต่อปี เอาคืนมาได้ 4 หมื่นกว่าไร่ต่อปี ท่านนายกฯ เป็นคนมองอะไรที่ไกลๆ ท่านจะบอกว่า ถ้าเราจะเอาคืนสปีดนี้ไม่มีทางเอาอยู่ และจะก่อให้เกิดปัญหาตามขึ้นมา ท่านก็ให้ผมมาคิด มาวางแผนดูสิว่า ทำยังไงจะสามารถเร่งสปีด"
    
                ภารกิจทวงคืนผืนป่านั้น เริ่มตั้งแต่ยังเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งหลังการยึดอำนาจทหารก็เริ่มลงพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เริ่มยึดพื้นที่ที่ถูกบุกรุกคืนมาได้บางส่วน แต่ปัญหาที่พบในการลงพื้นที่ คือ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เป็น "คนยากจน" ซึ่งทำให้เกิดเงื่อนไขขึ้นมาว่า ถ้าเอาเขาออกมาแล้ว จะเอาเขาไปไว้ที่ไหน
    
                นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายของโครงการนโยบายคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คตช.) คือ หาที่ดินให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกิน
    
                พล.อ.ดาว์พงษ์ ชี้แจงว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาไม่ประสบความสำเร็จ คือ การเจอกับ "ผู้มีอิทธิพล" ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าทำงาน และเขาก็เข้ามาแก้ปัญหานี้ทันที
    
                "สิ่งที่เจอในพื้นที่เขาจะเจออิทธิพลในท้องถิ่น และอิทธิพลในทุกระดับ ถึงขนาดระดับชาติลงมา เขาก็เซฟตัวเองดีกว่า หรี่ตาหลับตาดีกว่า มันถึงเกิดปัญหาหมักหมม พอมาถึงรัฐบาลปัจจุบันเราก็ต้องทำให้เจ้าหน้าที่เขามั่นใจในนโยบายของเรา"
    
                การเข้ามาเป็น "แบ็กอัพ" ให้ลูกน้องอย่างเต็มที่ ทำให้ผ่าน 7 เดือนไป สามารถยึดพื้นที่คืนได้กว่า 5 หมื่นไร่ ซึ่งบิ๊กหนุ่ยมองว่ายังไม่พอ และเผอิญเป็นช่วงที่มีปัญหา "ยางราคาตก" เขาจึงมองว่า ที่ผ่านมามีการบุกรุกป่าทำสวนยางพารากว่า 4 ล้านไร่ ทำให้ยางพาราล้นตลาด
    
                "นายกฯ เลยให้เอาเรื่องจัดการการบุกรุกป่าไม้ และสวนยาง เป็นความเร่งด่วนแรกก่อน และก็จัดการนายทุนซะก่อน ซึ่งมีนายทุนตัวจริงกับที่เอาชาวบ้านเป็นนอมินี เรารู้หมดละครับ"
    
                ในปี 2558 เขาตั้งเป้าจะยึดพื้นที่คืน 6 แสนไร่ พร้อมทั้งขอกำลังจาก "กองทัพ" เพื่อนำมาช่วยเจ้าหน้าหน้าที่ป่าไม้ โดยจะปูพรมทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป
    
                ภารกิจเร่งด่วนเรื่องที่ 2 คือ การจัดการ "ขยะ" ซึ่งที่ผ่านมาได้รับงบประมาณสนับสนุนน้อยมาก โดยปริมาณขยะก่อนที่ คสช.จะเข้ามามีประมาณ 30 ตัน พอ คสช.เข้ามาได้ 8 เดือน ก็จัดการไปได้ราว "ครึ่งหนึ่ง" แต่ขยะใหม่ก็เข้ามาเติมทุกวัน ดังนั้นจะต้องหาทางบริหารจัดการ โดยแนวทางที่มองไว้คือ การแปลงเป็น "พลังงาน" เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน
    
                ภารกิจเร่งด่วนที่ 3 คือ การแก้ปัญหา "ที่ดินทำกิน" รัฐบาลมีพื้นที่เป้าหมายอยู่ 6 พื้นที่ 5 หมื่นกว่าไร่ โดยที่นำร่องไปแล้วก็คือ ที่ ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ และจะเปิดเฟส 2 อีก 5 หมื่นไร่ใน 8 พื้นที่ ซึ่งเรื่องที่ดินนั้น เดิมอย่างที่แม่ทาชาวบ้านจะได้รับเป็น "โฉนดชุมชน" ซึ่งจะเป็นสิทธิรายบุคคล แต่เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายให้เป็นที่ดินรวม เขาก็ยอมรับได้
    
                "ประชาชนบางส่วนไม่เข้าใจระบบนี้ และไม่ยอมรับ อยากจะได้เอกสารสิทธิเป็นรายบุคคลเหมือนเดิม ซึ่งเรายอมไม่ได้แล้ว เพราะเราแก้ปัญหาจากนั้นมาหลายครั้งแล้ว และไม่ประสบความสำเร็จสักที เกิดการเปลี่ยนสิทธิ์มากมาย ทั้งเปลี่ยนสิทธิ์ และเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดิน ฉะนั้นวิธีใหม่เราคิดว่าจะยั่งยืน"
    
                แนวทางหนึ่งที่จะนำมาแก้ปัญหาคือ ให้กระทรวงเกษตรฯ หา "แหล่งเงินทุน" ให้ชาวบ้าน โดยอาจทำในรูป "สหกรณ์" ซึ่งปัจจุบันมีราษฎรที่ไม่มีที่ทำกินที่ยื่นบัญชีกับ ส.ป.ก.ประมาณ 3.3 แสนราย และที่อยู่ในพื้นที่ตามมติครม.ปี 2541 อีก 6 แสนราย ซึ่งเรื่องนี้นายกฯ ให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นการลดทั้งความเหลื่อมล้่ำ และกำจัดต้นตอความขัดแย้งในบ้านเมือง
    
                ขณะที่เรื่องการทวงคืนผืนป่าอันเป็นภารกิจที่เร่งด่วนที่สุด พล.อ.ดาว์พงษ์ ชี้แจงว่า สาเหตุของปัญหามีอยู่ 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.เจ้าหน้าที่ป่าไม้ อุทยาน และท้องถิ่นที่ร่วมกันทุจริต และ 2.เรื่อง "แผนที่ขอบเขต" ที่กระทรวงทรัพย์ใช้อัตราส่วน 1 : 50,000 ส่วนกรมที่ดินใช้อัตราส่วน 1 : 4,000 ซึ่งเวลาเอาแผนที่มาซ้อนกันจะทำให้เกิด "ช่องว่าง" ในการทุจริตขึ้นมา
    
                "เราเห็นปัญหานี้ครับ และกำลังแก้ ช่วงนี้กระทรวงทรัพย์กำลังแก้ปัญหา จะเปลี่ยนแผนที่ของเราจาก 1 ต่อ 50,000 มาเป็น 1 ต่อ 4,000 โดยจะเสร็จภายในปีนี้"
    
                ภารกิจที่เข้ามาทำตรงนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ มองว่า เป็นการเข้ามาจัดการเรื่อง "เงินสีเทา" ที่ คสช.จัดการเรื่องพวกนี้มาตลอด แต่ถ้าเงินสีเทาตรงนี้หมดไปก็จะกระทบกับคนส่วนหนึ่ง เช่น ถ้าจัดการสวนยางหมด ราษฎรที่กรีดยางก็จะไม่มีงานทำอีก ดังนั้นก็ต้องแก้ปัญหาตรงนี้อีก
    
                พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวถึงสไตล์การทำงานว่า ทำงานตามสไตล์ทหาร คือ ให้ความใกล้ชิดกับลูกน้อง และชอบ "ให้โอกาสคน" เพื่อพิสูจน์ตัวเองด้วยผลงานโดยที่ไม่ได้มองว่า เป็นเด็กใคร มาจากขั้วไหนเลย
    
                "คุณเชื่อมั้ย ผมเข้ามาในกระทรวงนี้มีคนส่งชื่อให้ผม ฝั่งนี้คนของคุณ "ยย." ฝั่งนี้คนของ "เจ๊" ผมไม่อ่านสักคน กลัวแกว่ง นี่อยู่ในโต๊ะผมเนี่ย ผมกลัวแกว่งจริงๆ กลัวว่าผมอ่านไปแล้วมันติดอยู่ในหัว แล้วเราไปพิจารณาเขา ไปสั่งเขามันจะติด"
    
                ขณะที่การลุยรีสอร์ทหรูที่เขาใหญ่จนถูกยกเป็น "โคราชโมเดล" นั้น พล.อ.ดาว์พงษ์ยืนยันว่า ไม่คิดจะกล่าวร้ายใคร เพราะถ้าไม่จริงจะไปกระทบธุรกิจ และตอนนี้ก็อยู่ในกระบวนการพิสูจน์กันอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีอีกหลายพื้นที่ที่มีการบุกรุกขนานใหญ่ เช่น อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต ที่ต้องตรวจสอบอีก 700 กว่าแปลง ซึ่งต้องดูทั้งเรื่องกฎหมาย และผลกระทบอื่นๆ ด้วย
    
                อีกกรณีที่อยากยกเป็นกรณีศึกษาคือ อุทยานแห่งชาติ "ทับลาน" ที่มีการไล่รื้อรีสอร์ทหลายแห่ง ซึ่งทำได้ง่ายกว่า เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ และยังหาวิธีที่จะ "เซฟเงิน" ของรัฐในการเข้าไปไล่รื้อทำลายด้วย
    
                "ถ้าเขาทุบเองเราก็จะไม่ยุ่ง แต่ถ้าเขาไม่ทุบก็ราคานี้ มีลิสต์หมดเลย ค่าถอนเสา ค่าขนย้าย เป็นรายละเอียดเลย วิศวกรเข้าไปสำรวจ ผมก็บอกว่า ถ้าคุณไม่ทุบผมทุบเองนะ ภายใน 30 วัน หรือแล้วแต่กำหนด ผมก็จะเอานี่ไปฟ้องแพ่งคุณเอาเงินคืน คือเขาต้องจ่ายไม่ว่าจะยังไงก็ตาม
    
                ซึ่งแต่ก่อนไม่ใช่อย่างนี้ครับ แต่ก่อนนี่ทุบกันเอง เอาแบ็กโฮไปจกๆ สุดท้ายใช้เงินหลวงหมดครับ ผมบอกว่าไม่ถูกเขาบุกรุก เราไปรื้อ เอาเงินหลวงไปจ่าย เขาต้องเป็นคนจ่ายสิ ทำอย่างนี้ได้ไง ผมก็มาแก้วัฒนธรรมกระทรวงนี้ใหม่ บอกไม่ได้ คุณทำอย่างผมทำเนี่ย แล้วก็ได้ผลที่ผางาม"
    
                พล.อ.ดาว์พงษ์ ยังวางเป้าหมายที่จะแก้ไขเรื่องการเข้าไปใช้พื้นที่ "เกาะพีพี" ซึ่งเกิดปัญหาจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลังว่า โดยแนวทางที่มองไว้ คือ ระบบ "ขายตั๋วออนไลน์" เพื่อสะดวกในการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยว
    
                "ก็มาดูกันว่า เราจะจองตั๋วออนไลน์ได้มั้ย เอาสัก 50 เปอร์เซ็นต์นะ อีก 50 เป็นพวกวอล์กอิน เพราะถ้าออนไลน์ 100% พวกทัวร์จะจองหมดเลย และออนไลน์จะช่วยในการลิมิตจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละวันได้ด้วย เพราะที่ผ่านมาเราคอนโทรลยาก ทำให้การทำลายสิ่งแวดล้อมมันง่าย"
    
                นี่คือวิสัยทัศน์ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ ในบทบาทเจ้ากระทรวงทรัพย์ ที่มุ่งจะทวงคืนผืนป่าให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็จะพยายามรักษาสิ่งที่มีอยู่อย่างดีที่สุดอีกด้วย

 
ขุนพลคู่บารมี"ประยุทธ์"
    
                พล.อ.ดาว์พงษ์ เป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่ผ่านตำแหน่งระดับคุมกำลังสำคัญมามากมาย เช่น ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.11 รอ.) ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) และเกษียณในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก
    
                พล.อ.ดาว์พงษ์ ได้รับการยกย่องให้เป็น "มันสมอง" คนสำคัญมาตั้งแต่ยุทธการกระชับพื้นที่เมื่อปี 53 เคียงข้างกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นรองผบ.ทบ.ในขณะนั้น ซึ่งบิ๊กหนุ่ยเกษียณก่อนเพื่อนรัก 1 ปี ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "ที่ปรึกษา คสช." หลังการยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 และขึ้นมาเป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเวลาต่อมา
    
                แม้จะใหม่กับงานในกระทรวง แต่ พล.อ.ดาว์พงษ์เคยผ่านภารกิจการรักษาป่ามาอย่างโชกโชนสมัยอยู่ในกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งต้องทำงานให้ "มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด" ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ทำให้ "คลิก" กับภารกิจทวงคืนผืนป่าที่จะเริ่มในวันวิสาขบูชา 1 มิถุนายนนี้ ได้อย่างรวดเร็ว