
จากพนง.สินเชื่อแบงก์สู่ธุรกิจไส้กรอกTGM
จากพนง.สินเชื่อแบงก์สู่ธุรกิจไส้กรอกTGM ก้าวย่างอย่างมั่นคงทรงวุฒิ พัวพัฒนขจร : สุรัตน์ อัตตะเรื่อง ทวีชัย จันทวงศ์ภาพ
แม้จะเกิดในครอบครัวมีอันจะกิน แต่เส้นทางชีวิตกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ สำหรับ ”ทรงวุฒิ พัวพัฒนขจร" หรือคุณโอ คนหนุ่มรุ่นใหม่วัย 30 เศษ ที่ก้าวมาสู่ธุรกิจผลิตไส้กรอกระดับพรีเมียม ต้นตำรับจากเยอรมนี ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว ”พัวพัฒนขจร" ภายใต้บริษัท ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักท์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายไส้กรอก เบเคอน แฮม และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกว่า 300 รายการ
“มันเป็นกฎของครอบครัวและเครือญาติเลยว่า ถ้าเป็นลูกหลานจะมาทำธุรกิจที่บ้านจะต้องไปหาประสบการณ์ข้างนอกก่อนอย่างน้อย 5 ปี ใครก็แล้วแต่จะเป็นพี่น้อง หรือลูกพี่ลูกน้อง ก็ต้องเข้ากฎนี้หมด ผมก็เช่นกัน ต้องไปหาประสบการณ์ข้างนอกก่อนเหมือนกัน”
ทรงวุฒิเอ่ยถึงกฎเกณฑ์กติกาในการเข้ามาทำธุรกิจของครอบครัว ซึ่งเขายอมรับว่า เป็นเรื่องที่ดีในการออกไปหาประสบการณ์จากภายนอก เพราะจะช่วยพัฒนาให้เข้าใจความรู้สึกของคนเป็นลูกจ้าง เมื่อมารับผิดชอบในธุรกิจของครอบครัวจะได้ไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกัน
ไม่เพียงแค่กติกาการหาประสบการณ์จากภายนอกที่วางกรอบไว้ให้คนในครอบครัว แต่ทรงวุฒิเองก็มุ่งมั่นที่จะเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว โดยเริ่มใฝ่รู้ด้านภาษามาตั้งแต่เด็ก ด้วยความคาดหวังจากผู้เป็นมารดาว่า อนาคตจะนำมาใช้ในการต่อยอดของธุรกิจของครอบครัว โดยเริ่มจากการส่งไปเรียนภาษาที่สหรัฐอเมริกา ก่อนมาต่อปริญญาตรีบริหารธุรกิจภาคอินเตอร์ที่จุฬาฯ
หลังจบปริญญาตรีก็ไปทำงานที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย อยู่ 1 ปี แล้วบินไปต่อปริญญาโทด้านการเงินที่ประเทศอังกฤษอีก 2 ปี ก่อนเข้าทำงานที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเป็นเวลาเกือบ 5 ปี
“ตอนอยู่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ผมทำงานอยู่ฝ่ายสินเชื่อ ดูลูกค้ารายใหญ่ๆ ของแบงก์ ทำให้เราได้รู้จักพัฒนาการเข้าหาผู้ใหญ่ การจะไปขายของ แบงด์ก็คือแบงก์นะใช่ แต่สุดท้ายมันก็คือการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เราก็ได้เรียนรู้กลยุทธ์วิธีการขาย วิธีการควบคุมแต่ละคนต้องทำอย่างไร ระบบระเบียบกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ของแบงก์เป็นอย่างไร” ทรงวุฒิ ย้อนอดีตให้ฟัง
เขายอมรับว่า ประสบการณ์จากการทำงานธนาคารนั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี เพียงแต่เปลี่ยนตัวผลิตภัณฑ์จากธุรกรรมทางการเงินมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารไส้กรอก เบคอน แฮม เป็นต้น
“พนักงานสินเชื่อก็คือเซลส์แมนนั่นแหละครับ ผมก็เริ่มจากเซลส์แมนแบงก์ ตอนนี้ก็เป็นผู้จัดการเซลส์แมน เพียงแค่เปลี่ยนไลน์ผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ผมมองว่าคนขายของเก่ง จะขายอะไรก็ขายได้หมด”
ถึงแม้วันนี้เขาจะรั้งตำแหน่งกรรมการบริษัท รับผิดชอบงานขายทั้งหมด โดยจะเน้นธุรกิจค้าส่ง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจที่ทำรายได้ให้แก่บริษัท แต่การจะก้าวมาสู่จุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่แกร่งพอ เพราะการทำตลาดทางด้านค้าส่งนั้น ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของทุกบริษัทในระดับบนต้องการส่วนแบ่งทางตลาดในด้านนี้
“สมัยก่อนเราขายผ่านห้างขายปลีกค่อนข้างเยอะ ส่งตรงถึงผู้บริโภค บังเอิญช่วงที่ผมเข้ามาบริษัทเปลี่ยนกลยุทธ์การขายใหม่มาเน้นธุรกิจค้าส่งมากขึ้น คุณแม่ก็เลยให้ผมมาดูตรงนี้ ตอนนี้เราก็มาเน้นขายให้ร้านเบเกอรี่ ร้านอาหาร ภัตตาคารโรงแรมต่างๆ”
ทรงวุฒิ ระบุว่า หลังจากบริษัทเปลี่ยนกลยุทธ์การขายใหม่ ที่มาเน้นการค้าส่ง ทำให้ทุกวันนี้มียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือ 40 เปอร์เซ็นต์ จะยังคงเป็นตลาดขายปลีก ซึ่งในอนาคตจะพยายามทำสัดส่วนให้ค้าส่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดค้าส่งของประเทศให้ได้ในอนาคตอันใกล้
“ที่เรามาเน้นตรงนี้ เพราะว่าอาจโชคดีที่เรามีหน่วยงานที่ดูแลตรงนี้โดยเฉพาะ ใช้จังหวะที่ถูกต้องในการตอบโจทย์ของลูกค้าของเราได้ และมีข้อดีที่เป็นบริษัทของครอบครัว มีการตัดสินใจที่ฉับไว ไม่ต้องผ่านขั้นตอนเยอะ ที่สำคัญเราเน้นคุณภาพของสินค้าต้องได้มาตรฐานพร้อม มีความปลอดภัยสูง พวกเราจะจดจำคำสอนของคุณตาทวด ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเสมอว่า อาหารที่ผลิตขายทุกอย่างลูกหลานต้องกินได้ เพื่อตอกย้ำถึงความปลอดภัยจริงๆ”
ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าจำหน่ายอยู่ในตลาดมากกว่า 300 รายการ มีทุกประเภทให้เลือกหาตั้งแต่ไส้กรอก แฮม เบคอน และอีกมากมาย โดยผ่านกระบวนการผลิตจากโรงงานที่ทันสมัย โดยนำเข้าเครื่องจักรมาจากประเทศเยอรมนี และขณะนี้โรงงานแห่งที่สองอยู่ระหว่างการตกแต่งภายใน คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยพร้อมเดินเครื่องจักรได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า มีกำลังผลิต 30 ตันต่อวัน
ทรงวุฒิย้ำถึงจุดเด่นของบริษัทว่า มีอยู่ 3 ประการ ประการแรกในเรื่องของคุณภาพผลิตภัณฑ์ตัวสินค้าที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน วัตถุดิบในการผลิตมีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ประการต่อมาเรื่องนวัตกรรม บริษัทมีการวิจัยและพัฒนาสินค้าออกมาเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคในทุกกลุ่มเป้าหมาย และประการสุดท้าย จะเน้นในเรื่องศีลธรรม มีการทำการค้าอย่างตรงไปตรงมาสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าว่าไม่ถูกเอาเปรียบ
“สินค้าเราถ้าบอกว่าเป็นหมูก็คือหมู ไม่มีส่วนผสมอย่างอื่น ต้องไม่หลอกลูกค้า หรือถ้ามีปัญหาในตัวสินค้าบริษัทจะรับผิดชอบ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสินค้าขายดีอันดับหนึ่งตอนนี้ก็คือ เบคอนและสโมกเบคอน เพราะสามารถนำไปแปลงเป็นสินค้าอย่างอื่นได้หลายประเภท เช่น อาหารเช้า เอาเบคอนไปรับประทานกับผัก ส่วนไส้กรอกเยอรมันนั้น ไม่ต้องห่วง ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นเบอร์หนึ่งมานานแล้ว” ทรงวุฒิ เผยข้อมูล
ในส่วนการตลาด ทรงวุฒิเปิดเผยว่า ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ของบริษัททุกประเภท ภายใต้ตราสัญลักษณ์ "TGM" ทำตลาดภายในประเทศประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ ส่งออกไปยังประเทศอาเซียน ซึ่งขณะนี้ส่งไปจำหน่ายในหลายประเทศ โดยกัมพูชามากที่สุด รองลงมาคือ สปป.ลาว และขณะนี้กำลังจะขยายไปสู่เวียดนาม พม่า มาเลเซีย และบรูไน
“เราไม่ได้มองลึกไปถึงตลาดยุโรป อเมริกาหรือญี่ปุ่น มีข้อจำกัดด้านระยะทาง การขายแช่แข็งไม่เหมาะกับสินค้าเรา เราจึงมาเน้นตลาดอาเซียน อย่างตอนนี้ไส้กรอกเราเป็นเบอร์หนึ่งที่กัมพูชาอยู่แล้ว เข้าสู่เออีซีในปีหน้าก็จะขยายตลาดไปยังสปป.ลาว พม่า เวียดนามเพิ่ม ส่วนมาเลเซียก็น่าสนใจ เพราะยังมีกลุ่มคนจีนในมาเลย์และชาวต่างชาติที่ทำงานในบริษัทขุดเจาะน้ำมันในบรูไน ซึ่งเราก็เล็งไว้ว่าจะไปเจาะตลาดกลุ่มนี้ด้วย” ทรงวุฒิกล่าวทิ้งท้าย พร้อมวาดหวังว่า อีกไม่เกิน 5 ปีน่าจะครองตลาดอาเซียนได้สำเร็จ โดยเฉพาะตลาดในระดับบนที่บริษัทยังครองความเป็นเบอร์หนึ่งอยู่ในปัจจุบัน
นับเป็นคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตาในการก้าวขึ้นมาสานต่อธุรกิจครอบครัว ภายใต้บริษัท ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักท์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทไส้กรอก เบคอน และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้แบรนด์ ”TGM” ที่มีมูลค่าการตลาดนับพันล้านบาทต่อปี มีกำลังการผลิต 30 ตันต่อวัน
จาก”หมูสองตัว”สู่ต้นตำรับเยอรมัน”TGM”
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยซอสเซส ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2506 ที่ตึกแถว 1 คูหา ริมถนนสาทรใต้ โดย บุญส่ง ศรีสยาม เพื่อดำเนินธุรกิจการผลิตอาหารแปรรูปเนื้อหมูและเนื้อไก่ ประเภทไส้กรอก แฮม และเบคอน ภายใต้เครื่องหมายการค้าตราหมูสองตัว ซึ่งเป็นธุรกิจของคนไทยรายแรกที่ดำเนินการโดยใช้สูตรและกรรมวิธีการผลิตแบบตะวันตก ทำให้รสชาติเป็นที่ถูกใจของผู้บริโภค
มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ผู้บริโภคให้การยอมรับเพิ่มขึ้น จนต้องมีการขยายโรงงานมาตั้งอยู่ถนนสาธุประดิษฐ์ เมื่อปี 2515 จากความก้าวหน้าที่เพิ่มมากขึ้นในปี 2536 จึงก่อตั้งโรงงานแห่งใหม่บนเนื้อที่กว่า 5 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ภายใต้ชื่อ บริษัท ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักท์ จำกัด โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมนีคอยควบคุมและดูแลการผลิตให้มีมาตรฐานอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งการผลิตสินค้าใหม่ ภายใต้เครื่องหมาย ”TGM”
ขณะเดียวกันบริษัทก็มีการควบคุมมาตรฐานการผลิตที่เข้มงวด โดยคัดเลือกวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ ปราศจากสารเร่งเนื้อแดงและยาปฏิชีวนะตกค้าง และจะต้องได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ มีมาตรฐาน GMP และ HACCP ซึ่งเนื้อสัตว์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตนั้น บริษัทจะนำไปตรวจวิเคราะห์ในห้องแล็บที่ทันสมัย
นอกจากนี้ในส่วนของเครื่องเทศบริษัทมีการนำเข้าจากเยอรมนี จากนั้นจะนำวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตภายใต้การควบคุมคุณภาพ ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและเครื่องจักรอันทันสมัย โดยได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCP จึงมั่นใจได้ในคุณภาพภายใต้การผลิตของบริษัท ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักท์ จำกัด ภายใต้สโลแกน ”รสชาติมีระดับ ต้นตำรับเยอรมัน”
มุมมองมารดา”จันทนา พัวพัฒนขจร”
ทรงวุฒิ พัวพัฒนขจร หรือคุณโอ เป็นบุตรชายคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 2 คนของ วัฒนา-จันทนา พัวพัฒนขจร ปัจจุบันอายุ 32 ปี หลังจบไฮสคูลที่บางกอกพัฒนา มาต่อปริญญาตรีบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนตระเวนหาประสบการณ์ที่มาเลเซีย 1 ปี แล้วบินไปต่อปริญญาโทด้านการเงินที่แคส บิสซิเนส สคูล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หลังจบเข้าทำงานที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเป็นเวลา 4 ปี ก่อนมาสานต่อธุรกิจของครอบครัวในตำแหน่งกรรมการบริษัท รับผิดชอบงานด้านการขายทั้งหมด
จันทนา กล่าวถึงบุตรชายหัวแก้วหัวแหวนคนนี้ว่า เป็นคนชอบเรียนรู้ ชอบทำเอง กล้าพูดและกล้าที่จะทำทุกอย่าง โดยเริ่มให้เขาได้เรียนรู้ ซึมซับเกี่ยวกับการทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะการพาไปตรวจงานตามห้างสรรพสินค้าในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เนื่องจากตนเองไม่มีเวลาพาไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวอย่างอื่น
“มีอยู่ครั้งหนึ่งทางห้างเขาจัดโปรโมชั่นการขาย เราก็พาลูกไปช่วยขาย นึกขำโอเขา คือเขาจะบอกพนักงานขายว่า พี่ๆ อันนี้ของโอขาย ไม่รวมกับของพี่นะ เดี๋ยวเวลาแม่จ่ายพิเศษ ผมจะไม่ได้ คือเขากลัวจะไม่ได้เงินพิเศษในส่วนที่เขาขายได้ มันเหมือนกับว่าเราฝึกลูกให้รู้จักการขายมาตั้งแต่เด็ก ฝึกโดยเขาไม่รู้ตัว ได้ซึมซับตรงนี้ เพราะเราไม่มีเวลาให้ลูกที่จะไปอย่างอื่น เสาร์-อาทิตย์ต้องไปตรวจงาน จันทร์-ศุกร์ก็ต้องดูแลโรงงาน” จันทนา กล่าวทิ้งท้ายอย่างภูมิใจ