รีสอร์ทผสานสวนเกษตรในแบบฉบับปัณณทัต จิตต์สมุทร
รีสอร์ทผสานสวนเกษตรในแบบฉบับปัณณทัต จิตต์สมุทร : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยกัมปนาท ขันตระกูล
การประกอบธุรกิจด้วยประสบการณ์ล้วนๆ เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะขนาดของทุนและกิจการในระดับเอสเอ็มอี ที่ต้องอาศัยสายป่านที่ยาวพอ และการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตามสถานการณ์อย่างชาญฉลาดและเท่าทัน การนำพา "บ้านสวนลิ้นจี่แม่กลองรีสอร์ทแอนด์สปา” ให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ในท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นทุกขณะในเมืองท่องเที่ยวอย่างสมุทรสงคราม จึงเป็นดั่งเครื่องหมายรับประกันความสำเร็จของ "ปัณณทัต จิตต์สมุทร" และครอบครัวจิตต์สมุทร
ตลาดชุมชนอัมพวาที่เริ่มซบเซาลงเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ถูกปลุกให้ฟื้นตื่นขึ้นมาเป็นเมืองท่องเที่ยวในนาม "ตลาดน้ำยามเย็น" ที่ติดปาก ติดตา และตรึงใจนักท่องเที่ยวต่างถิ่นใกล้ไกล ทั้งไทยและเทศ นั่นคือร่วมสองทศวรรษแห่งความหวังครั้งใหม่ของคนแม่กลอง ในอันที่จะพลิกฟื้นผืนดินเกษตรกรรมสู่เมืองท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างที่พักอาศัย หากแต่สูตรผสมผสานงานสวนเข้ากับงานบริการอย่างลงตัวคือการตอบโจทย์สำหรับ "รีสอร์ท" เฉพาะถิ่นเมืองสามน้ำอันอุดมด้วยลิ้นจี่ ส้มโอ และผลไม้อีกมากมายหลายหลาก ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว
"มีปัญหาคือในช่วงวันปกติจะมีนักท่องเที่ยวมาน้อย ที่พักไม่เต็ม จะเต็มเฉพาะในช่วงเทศกาล แต่ผมก็อยู่ได้เพราะมีรายได้จากการขายผลไม้ในสวนมาช่วย" ปัณณทัตบอกเล่าเส้นทางกิจการครอบครัวอันน่าจะเป็นอีกหนึ่งโมเดลสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนระดับชุมชน
ในสภาพความเป็นจริง สมุทรสงครามอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นัก การท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์หรือช่วงเทศกาล จึงเป็น "ฤดูกาล" สั้นๆ ในแต่ห้วงเวลา นับตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์ เป็นเดือนหรือรายปี ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจรีสอร์ทจึงจำเป็นต้องมีแผนรับมือ
"สภาพแบบนี้เราต้องปรับตัว โดยเฉพาะการให้สมาชิกในครอบครัวร่วมสนับสนุน เพราะหากใช้การจ้างงาน แบบจ้างลูกจ้างจะทำให้มีภาระในเรื่องเงินเดือนของลูกจ้าง ทำให้ต้นทุนธุรกิจสูง แต่หากจะจ้างเฉพาะในช่วงที่นักท่องเที่ยวมาคืออาทิตย์ละแค่ 3 วัน ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้ และหาจ้างไม่ได้"
ปัณณทัต บริหารธุรกิจไปพร้อมบริหารกำลังคนในครอบครัว
"ผมให้คนในครอบครัวมาช่วยกันในวันนักท่องเที่ยวมา เพราะส่วนใหญ่เป็นวันหยุด คนในครอบครัวผมว่าง ทำกันเองตั้งแต่ทำความสะอาด บริการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวในด้านต่างๆ หากเป็นกลุ่มสัมมนาก็จะทำอาหารให้บริการด้วย เป็นการทำธุรกิจรีสอร์ทผสมกับการทำสวนผลไม้ เพราะประเมินว่า หากนักท่องเที่ยวมาพักรีสอร์ทน้อย ก็ยังมีรายได้จากการขายผลไม้ในสวน ในทำนองเดียวกันผลไม้ที่ผลิตได้ในสวน ก็ไม่มีปัญหาเรื่องการตลาดเพราะมีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้ที่มาพักรีสอร์ท" เจ้าของบ้านสวนลิ้่นจี่กล่าว
กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ปัณณทัตต้องอาศัยความมานะบากบั่นไม่ใช่น้อย เริ่มจากการลงทุนซื้อที่ดินย่านต.บางสะแก อ.บางคนที และเริ่มขยายเรือนพักบนที่สวนที่ซื้อไว้ ภายใต้คอปเซ็ปต์บริหารจัดการอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะต้องคำนึงถึงข้อจำกัดนอกเหนือจากนักท่องเที่ยวระยะสั้นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และเทศกาลแล้ว โลเกชั่นหรือที่ตั้ง "บ้านสวนลิ้นจี่แม่กลองรีสอร์ทแอนด์สปา” ที่อยู่ห่างจากตลาดนัดยามเย็นอัมพวาราว 6-7 กิโลเมตรก็ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเห็นเป็นอุปสรรค หากแต่ก็แลกมาอย่างสมน้ำสมเนื้อด้วยธรรมชาติอันร่มรื่นและเงียบสงัด
"ที่ลูกค้าสะท้อนมาโดยตลอดคือ รู้สึกว่าอยู่ไกลสถานที่ท่องเที่ยว และรีสอร์ทไม่ติดแม่น้ำ แต่นักท่องเที่ยวที่ชอบธรรมชาติก็ไม่มีปัญหาอะไร ยอมรับได้ ด้วยจุดเด่นอยู่ที่ความเป็นธรรมชาติ และความเป็นส่วนตัว"
ด้วยจุดขายที่แตกออกไปจากแหล่งเที่ยวระดับแม่เหล็กที่รู้จักกันดีอีกหลายแห่ง เขาจึงเน้นไปที่ความเป็นธรรมชาติและสวนผลไม้ที่สามารถตอบโจทย์เรื่องรายได้เข้ารีสอร์ทไปในเวลาเดียวกัน
"ผมคงสภาพสวนเดิมไว้ไม่ได้ตัดต้นไม้ เอาตัวบ้านหรืออาคารไปแทรกไว้ตามพื้นที่ที่มีอยู่ เพื่อรักษาต้นไม้โดยเฉพาะต้นลิ้นจี่ไว้ นอกจากนี้ยังปลูกส้มโอเพิ่มแทนไม้ประดับ เพราะสามารถเก็บผลผลิตขายได้ และที่สำคัญดอกส้มโอมีกลิ่นหอม ทำให้เป็นอีกจุดขายของรีสอร์ท"
แต่เดิมนั้น บ้านสวนลิ้นจี่ตั้งเป้าลูกค้าไปที่เป็นกลุ่มสัมมนา แต่เมื่อเปิดให้บริการจริงกลับพบว่า ลูกค้าหลักที่มาใช้บริการคือ กลุ่มนักท่องที่มาเป็นแบบครอบครัวเล็ก และนักท่องเที่ยวที่ต้องการความเป็นส่วนตัว แต่ถึงกระนั้นความครบครันด้านบริการก็จำเป็น เพราะที่นี่มีห้องสัมมนาไว้รองรับ พร้อมบริการอื่นๆ คือ เล่นน้ำ พายเรือ ตักบาตรยามเช้า ชมหิ่งห้อยรอบรีสอร์ท ปาร์ตี้ปิ้งย่าง ขี่จักรยานชมสวน รวมทั้งจัดกิจกรรมทัวร์พาเที่ยวสถานที่ต่างๆ ด้วย
แม้การดำเนินกิจการจะค่อยเป็นค่อยไป แต่ปัณณทัต บอกว่า วางเป้าหมายไว้อีก 5 ปี จะจับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ ซึ่งตรงกับจุดขายหลักของรีสอร์ท เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และโฮมสเตย์
"แต่ที่ทำตอนนี้ไม่ได้ เพราะผมยังไม่พร้อมเรื่องภาษา และกิจกรรมที่จะให้นักท่องเที่ยวทำในระหว่างที่มาพัก ผมกำลังศึกษาว่านักท่องเที่ยวต่างชาติต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกแบบไหน ซึ่งขณะนี้่
เท่าที่ศึกษานักท่องเที่ยวต่างชาติต้องการจักรยาน เรือพาย"
สำหรับอนาคตธุรกิจรีสอร์ทในสมุทรสงคราม ปัณณทัต มองว่า ปัจจุบันในพื้นที่แห่งนี้ มีบ้านพัก โรงแรม รีสอร์ท และโฮมสเตย์หลายร้อยแห่ง และอาจถึง 1,000 แห่ง ทำให้การแข่งขันสูง จึงต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด โดยใช้ความเป็นธรรมชาติของรีสอร์ทเป็นจุดขาย และตั้งราคาไม่แพงให้นักท่องเที่ยวรับไหว รวมทั้งลดรายจ่ายในธุรกิจโดยใช้แรงงานในครอบครัวแทน และจากประสบการณ์ทำธุรกิจรีสอร์ทมา 6 ปี พบว่าหากคิดจะทำธุรกิจด้านนี้ ต้องมีเป้าหมายกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน อย่าทำธุรกิจตามกระแส ทำตามคนอื่นเพราะสุดท้ายแล้วจะไปไม่รอด
ก่อร่างสร้างธุรกิจบนถิ่นเกิด
เหตุที่เมืองสมุทรสงครามยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติอยู่มาก บวกกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนพื้นถิ่นที่ดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่น และเป็นเมืองสามน้ำ-สายน้ำสามเวลา ที่มีจุดเด่นคือ ตลาดน้ำและวิถีชีวิตสองฝั่งคลองที่มีให้เห็นอีกหลายชุมชน ทำให้จังหวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทยด้วยพื้นที่ 416.7 ตารางกิโลเมตรมีเพียง 3 เขตปกครองคือ อ.เมือง อ.บางคนที และอ.อัมพวา ได้รับการปักหมุดว่า มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวจนเป็น 1 ใน 12 จังหวัดของประเทศที่ "ห้ามพลาด"
"บ้านสวนลิ้นจี่แม่กลองรีสอร์ทแอนด์สปา” ซึ่งตั้งอยู่ที่เลขที่ 101 หมู่ 1 ต.บางสะแก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เป็นอีกหนึ่งรีสอร์ทที่ผุดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ของนักท่องเที่ยว ตามแนวคิดของ ปัณณทัต จิตต์สมุทร ซึ่งพื้นเพเดิมเป็นชาวต.กระดังงา อ.บางคนที หลังเรียนจบปริญญาตรีเอกบริหารจัดการตลาด จากมหาวิทยาลัยบูรพา ด้วยวัย 20 ปีเศษๆ ปัณณทัตเข้าทำงานประจำที่สำนักงานสมัชชาอาหารปลอดภัยสมุทรสงคราม ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำเรื่องอาหารปลอดภัยในจ.สมุทรสงคราม 5 ปีต่อจากนั้น เขารู้สึกอิ่มตัวต้องการเบนเข็มทิศชีวิตไปประกอบธุรกิจของตนเอง
ครั้งหนึ่ง เมื่อปัณณทัตในฐานะไกด์พาทัวร์มีโอกาสต้อนรับคณะผู้มาศึกษาดูงานอาหารปลอดภัยในจังหวัด จึงมีแนวคิดที่จะทำรีสอร์ทเพื่อรองรับอาคันตุกะกลุ่มนี้ เขาเริ่มมองหาที่ดินที่จะนำมาพัฒนา และในปี 2552 ขณะที่ไปเป็นวิทยากรบรรยายที่โรงเรียนวัดบางสะแก ได้เห็นประกาศขายที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ เป็นสวนลิ้นจี่กับส้มโอ ต้นลิ้นจี่มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี สภาพร่มรื่น และที่ดินอยู่ติดคลองบางสะแก เหมาะที่จะสร้างเป็นที่พัก
จึงตัดสินใจควักเงินสะสมและเงินครอบครัวซื้อที่แปลงนี้ในราคา 4 ล้านบาท จากนั้นลงมือปลูกสร้างอาคารซึ่งทำด้วยไม้ทั้งหลัง จำนวน 6 หลัง ยอมตัดใจให้กระทบธรรมชาติรายรอบน้อยที่สุด โดยเฉพาะต้นลิ้นจี่ไม่ได้ถูกโค่นลงเลย หากแต่อาคารถูกสร้างไว้ใต้ต้นลิ้นจี่คร่อมร่องสวน และให้ชื่อบ้านพักตามพันธุ์นั้นๆ ให้บรรยากาศที่ร่มรื่น ขณะที่ในร่องสวนยังเลี้ยงปลาอีกหลายชนิด ทั้งปลาสวาย ปลาแรด หลังจากนั้นได้สร้างอาคารสัมมนา และบ้านพักเพิ่มเติม จนปัจจุบัน "บ้านสวนลิ้นจี่แม่กลองรีสอร์ทแอนด์สปา" มีบ้านพักทั้งหมด 18 หลัง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่มาพักหลังละ 2-6 คน ทั้งรีสอร์ทรับนักท่องเที่ยวได้ 30-50 คน จนถึงปัจจุบันลงทุนไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท
ส่วนที่ใช้ชื่อค่อนข้างยาวว่า "บ้านสวนลิ้นจี่แม่กลองรีสอร์ทแอนด์สปา" นั้น ปัณณทัตบอกว่า ลิ้นจี่เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของสมุทรสงคราม การใช้ชื่อลิ้นจี่มาเป็นชื่อรีสอร์ทจะทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ แต่เนื่องจากญาติๆ มีความเชื่อในเรื่องเลขมงคล หากใช้ชื่อบ้านสวนลิ้นจี่ อย่างเดียวจะสั้นไป ตัวเลขไม่ลงตัว จึงได้ต่อคำว่าแม่กลองรีสอร์ทแอนด์สปาลงไป
สำหรับช่องทางโฆษณาประชาสัมพันธ์ ปัณณฑัต ในวัย 35 ปีไม่ยอมตกเทรนด์ เพราะเขาเลือกโซเชียลมีเดียคือ เว็บไซต์ www.baansuanlynjee.com และแฟนเพจเฟซบุ๊กชื่อ "บ้านสวนลิ้นจี่แม่กลองรีสอร์ท" เป็นสื่อกลางเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม ทุกเพศวัย ได้ผลดี และประหยัดค่าใช้จ่าย ที่ไม่จำเป็นต้องควักแพงไปกับโฆษณาผ่านสื่อกระแสหลักหลัก