ข่าว

เปิดไอเดียแมลงทอด‘ไฮโซ’เติมความคิดเพิ่มอีกนิดก็อร่อยโดนใจ

06 ก.ค. 2558

เปิดไอเดียแมลงทอด‘ไฮโซ’เติมความคิดเพิ่มอีกนิดก็อร่อยโดนใจ : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยอนัญชนา สาระคู ช่างภาพชื่อ พรหมสรรค์ พูลสวัสดิ์

            “ไอเดีย” มีอยู่รอบๆ ตัวเรา อยู่ที่เราจะเห็นหรือไม่ แล้วหยิบยกขึ้นมาเติมแต่งความคิดสร้างสรรค์เข้าไปก็สามารถช่วยเพิ่มมูลค่ากลายเป็นสินค้ายอดฮิตติดลมบนได้

            ดังเช่น “แมลงทอดไฮโซ” ที่นำ แมลงทอด ซึ่งเราเห็นอยู่ทั่วไปตั้งแต่เด็กจนเหมือนเป็นของกินเล่นธรรมดาๆ แต่เจ้าของไอเดียก็นำมาปรับ “ลุค” ใหม่ ด้วยการต่อเติมนวัตกรรมบวกกับแนวคิดทางการตลาดที่ทันสมัย จนปัจจุบันนอกจากจะวางขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำหลายต่อหลายแห่งทั่วประเทศแล้ว ยังเตรียมขยายกำลังการผลิตเพื่อต่อยอดส่งออกไปอีกหลายประเทศทั่วโลก

            และเมื่อพูดถึงเรื่องการคิดที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างธุรกิจของตนเองนั้น “ปณิธาน ตงศิริ” ผู้บริหารบริษัท สไมล์ บูล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด หนึ่งในสามหุ้นส่วนหลักที่ร่วมก่อตั้งบริษัทขึ้นมา บอกว่า แมลงทอดไฮโซ เกิดจากความคิดที่อยากหาสินค้าสักอย่างที่อยู่ในกระแส “บลู โอเชียน” และไม่ซ้ำคนอื่น เพราะเราไม่มีทุนมากนัก จึงต้องการหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางการตลาดและราคา และกว่าจะลงตัวก็ต้องใช้เวลาพอสมควร

            “เราสังเกตพฤติกรรมของคนว่า ชอบกินแมลงทอดกันมาก แต่ก็ยังไม่มีขายเป็นการทั่วไป จึงเริ่มเข้าไปศึกษาตลาดถึงแหล่งค้าส่ง ซึ่งผมเคยทำธุรกิจเสื้อผ้ามาก่อนด้วย ทำให้รู้ว่าการจะศึกษาเริ่มต้นทำธุรกิจอะไรอย่างหนึ่ง เราต้องเข้าไปถึงแหล่งจริงๆ เพื่อดูว่าเขาทำกันอย่างไร ซึ่งผมก็เข้าไปดูถึงตลาดค้าส่งแมลง ก็พบว่ามีการซื้อขายกันมากและอนุมานกันว่า น่าจะมีตลาดรองรับ ประกอบกับในช่วงนั้น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ออกมาประกาศว่า นี่แหละคืออาหารสำหรับอนาคต รวมกับเหตุผลด้านการลงทุน และมีตลาดรองรับ จึงเห็นว่าน่าจะเป็นกระแสที่ช่วยผลักให้เราขึ้นไปได้ในตอนเริ่มต้น”

            จากวันที่เริ่มต้นจนปัจจุบัน แมลงทอดไฮโซ เกิดมาได้ 2 ปีแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นหุ้นส่วนแต่ละคนล้วนมีธุรกิจของตัวเองอยู่ใน “เรด โอเชียน” คือธุรกิจต้องแข่งขันสูง เหมือนธุรกิจทั่วไปทั้งหมด จนทำให้รู้สึกเหนื่อย จึงมีแนวคิดในตอนแรกเริ่มว่า จะมีธุรกิจใดบ้างที่ไม่ต้องมีคู่แข่ง

            เขาบอกว่า ผลตอบรับที่ออกมาเบื้องต้นเป็นไปตามที่คาดไว้ คือผลิตเท่าไรก็ขายได้หมด เพราะมีตลาดรองรับ มีความต้องการบริโภครออยู่ และที่บอกว่ากระแสจะช่วยดันเรา ก็เป็นไปตามนั้นจริง เพราะสื่อต่างชาติให้ความสนใจเรามาก ถึงขนาดมาสัมภาษณ์ถึงที่โรงงาน แต่ตอนนี้การผลิตหลักยังผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเท่านั้น และบริษัทอยู่ระหว่างการขยายโรงงานที่พื้นที่ใกล้เคียงกัน จากปัจจุบันใช้วัตถุดิบในการผลิตราว 1 หมื่นซองต่อวัน เมื่อโรงงานแห่งใหม่เสร็จกำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า สามารถผลิตได้ 1 แสนซองต่อวัน และยังพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตได้อีกหากมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น

            ปณิธานบอกว่า ปัจจัยที่ทำให้เติบโต มีเรื่องกระแสเป็นส่วนหนึ่ง แต่หลักๆ มองว่า เป็นเพราะความต้องการบริโภค ซึ่งได้แยกกลุ่มลูกค้าหลักออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ชอบรับประทานแมลงทอดอยู่แล้ว จะเป็นกลุ่มที่เจอที่ไหนก็ซื้อกิน แม้แต่ตามรถเข็นขายแมลงทอด กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่อยากกินแต่ไม่ซื้อ เพราะไม่มั่นใจในเรื่องความสะอาด และกลุ่มที่สาม ไม่กินเลยแต่ก็คิดอยากที่จะลอง บวกกับช่องทางการขายที่เรามีวางจำหน่ายทั้งในห้างสรรพสินค้า ร้านขายของชำ รวมทั้งช่องทางสังคมออนไลน์ (โซเชียลเน็ตเวิร์ก) เช่น ไลน์ ช็อป และเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ก็สามารถสั่งซื้อได้ เป็นช่องทางที่สะดวกสำหรับผู้บริโภค จึงช่วยดันให้ยอดขายเราเติบโตขึ้น

            มาที่เรื่องชื่อ แมลงทอด “ไฮโซ” ปณิธาน เล่าว่า ก่อนหน้านี้คิดจะใช้ชื่ออื่นที่เป็นภาษาเกาหลี หรือญี่ปุ่น เพราะเขาก็รับประทานแมลงทอดเหมือนกันและรับประทานกันทั่วโลก แต่เมื่อไปศึกษาตลาดที่เกาหลีแล้วเราพบว่าไม่มีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจกว่าเรื่องราวของไทย ส่วนชื่อ “ไฮโซ” ก็มาจากการที่เราต้องทำแบรนด์หลอกเพื่อสำรวจตลาดก่อน โดยต้องการให้หน้าตาออกมาเป็นโอท็อปที่สุด บรรจุใส่กระปุกไปวางขายในร้านขายของฝากเพื่อจะดูว่าคนชอบกินหรือไม่ โดยยังไม่ได้คุยเรื่องแพ็กเกจจิ้งและแบรนด์เลย แต่ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ และเมื่อเราใช้ชื่อนี้ไปสักพักก็คิดว่า เข้าท่ากว่าการใช้ชื่อเกาหลี หรือญี่ปุ่น จึงยังคงใช้ชื่อนี้เรื่อยมา ตามด้วยการปรับลุคใหม่ให้ดีขึ้น

            “ชื่อ ไฮโซ นี้ เราเห็นว่าเป็นการสื่อสารที่ชัดเจนนะ คือแมลงทอดที่ถูกยกระดับขึ้นมา ทีแรกก็ลังเลอยู่ เพราะว่าเป็นคำที่ใช้กันทั่วไป ร้านขายลูกชิ้น ร้านขายหมูปิ้งก็ใช้กัน แต่เราก็คิดว่าไม่ได้เอาคำคำนี้มาเฉยๆ แต่เรานำมาแล้วทำให้เห็นภาพจริงว่าเป็นอย่างนั้น คือสื่อสารว่าเป็นแมลงทอดนะแต่ทำให้ดีขึ้น ซึ่งก็ไม่มีคำไหนจะดีกว่าคำนี้อีกแล้ว”

            ส่วนเรื่องวัตถุดิบ ปัจจุบันที่ใช้คือ ดักแด้หนอนไหม และจิ้งหรีด หรือแมงสะดิ้ง โดยจะไม่ใช้แมลงที่จับจากธรรมชาติ ปณิธานบอกว่า เหตุที่เลือกใช้แมลงทั้ง 2 ชนิดนี้ เพราะการใช้วัตถุดิบแมลงที่ถูกเลี้ยงในฟาร์ม ถือว่ามีความจำเป็นมากสำหรับการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ต้องเป็นวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งคุณภาพต้องดีและมีปริมาณมากพอให้ใช้ได้ตลอดทั้งปี ที่สำคัญคือ จะต้องเป็นฟาร์มที่สามารถตรวจสอบได้ว่า ไม่มีการใช้สารเคมี จึงมาลงตัวที่ ดักแด้ ซึ่งมาจากฟาร์มเลี้ยงที่เจ้าของฟาร์มจะต้องเพาะเลี้ยงอย่างดี เพื่อจะได้ไหมคุณภาพ ส่วนแมงสะดิ้ง เป็นฟาร์มเลี้ยงของเกษตรกรที่ทำเป็นอาชีพอยู่แล้ว

            “ส่วนวัตถุดิบชนิดอื่นที่จะมีออกมาหลังจากนี้ คือ หนอนรถด่วน ซึ่งเป็นข้อยกเว้น แม้ไม่มีฟาร์มเลี้ยง เพราะหนอนรถด่วนจะอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ แต่เขาเติบโตจากธรรมชาติโดยไม่ถูกสารเคมี ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการคิด และน่าจะออกมาในลักษณะที่เป็นสินค้าพรีเมียม ต้องออกแบบเฉพาะ เพราะหนอนไม้ไผ่ไม่ได้มีทั้งปี ราคาจึงน่าจะสูงกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ขณะที่ ตั๊กแตน จะต้องจับมาจากธรรมชาติ ทำให้เราคิดว่า คงไม่ทำ และคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะการที่เราใช้แบรนด์ไฮโซ เราไม่ได้มองว่าเป็นแมลงทอดที่ถูกยกระดับขึ้นมาอย่างเดียว แต่เราคำนึงในเรื่องความปลอดภัยที่สุดในการบริโภคสำหรับคนที่ไม่แพ้แมลงด้วย”

            ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ แมลงทอดไฮโซ ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งมาตรฐานด้านสุขอนามัย มาตรฐาน จีเอ็มพี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

            ผู้บริหารบริษัทสไมล์ บูล มาร์เก็ตติ้ง บอกอีกว่า ในอนาคต แมลงทอดไฮโซ จะเป็นหนึ่งในสินค้าหลากหลายของบริษัทที่จะทยอยผลิตออกมา โดยให้อยู่ในคอนเซ็ปต์ที่บอกได้ว่า ถ้าออกมาแล้วจะต้อง “ว้าว” แบบที่ไม่ต้องใช้แรงผลักมาก แต่ก็จะต้องเป็นที่สนใจ อยู่ในกระแส แต่การจะออกสินค้าใหม่ๆ ออกมานั้นก็ต้องอยู่ภายใต้แนวคิดหลักของเรา คือ จะต้องไม่ไปชนกับใคร จะคิดของใหม่ๆ เข้ามา เพราะเป็นความเชื่อของบริษัทเราอยู่เสมอว่า “มีสิ่งใหม่อยู่นอกกรอบเดิมๆ อยู่ตลอดถ้าเราคิด” จึงอยากเสนอให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือนักธุรกิจรุ่นใหม่คิดแบบนี้ คือไม่ใช่แค่ง่ายกับสำหรับธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องคิดเผื่อภาพรวมของประเทศและสังคมด้วย

            “ผมเข้าใจ เรื่องการทำตามๆ กันว่า เกิดจากอะไร เข้าใจดีด้วย เพราะเราเคยเป็นมาก่อน แต่สุดท้ายแล้วก็เหนื่อย เพราะเราต้องไปแข่งกับคนที่เขาทำมาก่อน ใหญ่กว่า คนรู้จักเยอะกว่าเรา ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ผมคิดว่าคงไม่ใช่แล้ว"

            สนทนามาถึงตรงนี้ ปณิธานยกเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง ซึ่งได้ยืมมาเป็นตัวอย่างของการทำ "ตามๆ กัน" ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ มาเล่าต่อว่า ถ้ามีพื้นที่โล่งๆ ผืนหนึ่ง ถ้าเป็นคนไทยคนหนึ่งเปิดปั๊มน้ำมันขึ้นมา 1 แห่ง แล้วเขาขายดีมาก ก็จะมีปั๊มน้ำมันในพื้นที่ใกล้เคียงติดๆ กันอีก 7-8 ปั๊ม แต่ถ้าเป็นคนญี่ปุ่น มีพื้นที่โล่งๆ เหมือนกัน เมื่อมีคนเปิดปั๊มน้ำมันแห่งแรกแล้ว คนที่สองก็จะมาเปิดร้านอาหาร คนที่สามเปิดร้านกาแฟ คนที่สี่เปิดบริการล้างรถ และคนที่ห้าเปิดเป็นโรงแรม สุดท้ายจะกลายเป็นคอมมูนิตี้ที่เข้มแข็งมีธุรกิจรองรับ ทำให้ชุมชนนั้นเข้มแข็ง ในทางตรงกันข้าม คนไทยกลับเปิดปั๊มน้ำมันเหมือนๆ กันหมด เกิดการแข่งขัน และตัดราคาและสุดท้ายก็ตายกันหมด

            "ผมไม่รู้ว่าเรื่องเล่านี้จริงหรือไม่ แต่ก็คิดว่าเป็นภาพที่ชัดเจนที่สุด และการทำธุรกิจในลักษณะนี้ไม่ใช่แค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ประเทศที่เจริญแล้วหลายๆ ประเทศก็มีลักษณะแบบนี้ ผมอยากเห็นภาพนี้ในบ้านเรา ลองคิดดูว่า ถ้าเราจะขายโรตีสายไหม แทนที่จะขายโรตีสายไหมเหมือนๆ กันหมด แต่เราคิดที่จะมาขายน้ำอ้อยบ้าง แค่นี้เราก็อยู่ร่วมกันได้แล้ว” เขาให้คมคิดถึงหลายๆ คนที่จะก้าวเข้าสู่ธุรกิจในอนาคต โดยย้ำว่า ผู้ที่ต้องการจะสร้างธุรกิจของตัวเอง ขอให้พยายามมองที่ภาพรวม คือเวลาที่เราอยากจะทำธุรกิจอะไรก็จะโฟกัสกับมัน แต่ก็เป็นเพียงการมองแค่จุดๆ หนึ่ง แล้วไม่ถอยออกมาดูภาพรวม แต่ถ้ามีสติพอ เมื่อมีแผนธุรกิจที่คิดว่าดีแล้ว แต่หากยอมวางแผนนั้นไว้และถอยออกมาดูภาพรวมว่ามันดีจริงๆ หรือไม่ จะทำแล้วได้คืนทุนอย่างที่คิดหรือไม่

            “ถ้ามันไม่ดีจริง ก็ต้องกล้าทิ้ง ลองคิดใหม่ ซึ่งอาจจะทำให้เสียเวลาในตอนแรกๆ นะที่คิด แต่ถ้าเราทำได้ เราก็จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จอย่างหลายๆ ธุรกิจที่เขาประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นหมูทอด เจ๊จง หรือเจคิว ปูม้านึ่งฯ ซึ่งเขาเป็นคนแรกๆ ที่ทำแล้วสำเร็จ ถ้าเราคิดได้แบบนี้ จากนั้นก็จะเป็นเรื่องง่ายแล้วสำหรับเรา”

            สำหรับตัวเขานั้่นเองนั้น ยึดถือ “คาถา” อยู่สองคำ คือ “อีกนิด” คือถ้าใส่ลูกเล่นไปอีกนิด หรือคิดอีกนิดหนึ่งในสวยขึ้นอีกนิด แค่คำคำนี้ก็สามารถที่จะเพิ่มอะไรได้เยอะเลย อย่างเมื่อหลายวันก่อนมีข่าวร้านบะหมี่ที่เชียงใหม่ ซึ่งสร้างไอเดียแบบตั้งชื่อสะดุดหูผู้คน ทำให้นักข่าวสนใจกันมาก คนแห่ไปกิน แต่ถ้ามีใครทำตามและลอกเลียนแบบชื่อเมนูนั้น ก็อาจจะทำให้คนเลียนแบบดูแย่ไปเลยก็ได้ ผู้คนอาจจะต่อว่า ไม่เข้าร้านใหม่นั้น จึงมองว่า ถ้าเราคิดอะไรเพิ่มเข้าไปอีกนิด ก็น่าจะทำให้เราสามารถสร้างธุรกิจของเราเองได้ และคิดว่า ยุคนี้ก็เป็นยุคอินเทอร์เน็ตที่เปิดโลกมาก มีพินเทอเรสต์ (Pinterest) มีทัมเบลอร์ (Tumblr) ที่มีตัวอย่างสินค้า มีไอเดียดีๆ เยอะมาก ก็ขอให้เข้าไปดู จะหยิบนิด หยิบหน่อยมารวบรวมสร้างเป็นไอเดียใหม่ของเราก็ได้ ซึ่งคิดว่าจะช่วยเพิ่มอะไรให้เราได้เยอะทีเดียว

            "เกษตรกรญี่ปุ่นที่ปลูกแตงโม เมื่อนำบล็อกมาใส่เกิดเป็นแตงโมรูปสี่เหลี่ยม แล้วมาเพิ่มเติมประโยชน์เข้าไป เช่น การวางเรียงสินค้าได้ง่าย หอม อร่อย ก็สามารถขายได้ราคาดี แต่สำหรับบ้านเราสิ่งที่แตกต่างกันออกไปคือ ถ้ามีคนคิดทำได้ คนอื่นก็ทำบ้าง เหมือนๆ กัน เกิดการแข่งขัน ตัดราคา ราคาก็ลดลงไปอะไรแบบนี้"

            อย่างไรก็ตาม อยากจะเพิ่มเติมด้วยว่า หากเราคิดอะไรขึ้นมาได้แล้วก็มีคนมาทำตาม ก็ขออย่าไปคิดว่าเขาเป็นคู่แข่ง แต่ขอให้มองว่ามาช่วยกันทำการตลาดก็ได้ คืออย่าไปแข่งขัน และเล่นเรื่องราคา ตัดราคากัน เพราะไม่เช่นนั้นสุดท้ายแล้วก็จะตายกันหมด เป็นการทำลายประเทศและทำลายเศรษฐกิจในที่สุด แต่ถ้าเราช่วยกัน ยอมเหนื่อยกันมากขึ้น สุดท้ายก็จะเกิดผลดีกับทุกฝ่าย

            ในมุมมองของปณิธาน หากจะมีธุรกิจแมลงทอดเจ้าอื่น ก็ถือว่าเป็นเพื่อน ไม่ได้มองเป็นคู่แข่ง และยินดีด้วยซ้ำ หากคนที่ทำแมลงทอดเจ้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรถเข็น หรือแฟรนไชส์ ตั้งเป็นกลุ่มเป็นสมาคมแล้วมาคุยกัน มาแบ่งปันความรู้ระหว่างกันก็ยินดี ถ้าได้คุยกันแบบเพื่อนมองให้เป็น “กีฬา” ไม่ใช่ “สงคราม” ที่จะต้องต่อสู้จนทะเลเต็มไปด้วยเลือด แต่ถ้าเรามองเป็นกีฬา เข้ามาทำด้วยกัน สุดท้ายก็จะทำให้กีฬาชนิดนั้นมีคนรู้จักมากขึ้น มีผู้ชมมากขึ้น สปอนเซอร์เข้ามา จะทำให้เราสามารถทำอะไรกับกีฬาชนิดนั้นได้อีกมากมาย ซึ่งก็เหมือนกับสินค้าชนิดหนึ่ง จะเป็นแตงโม หรือทุเรียน ก็ได้

            "ถ้าเรามาคุยกัน เช่น เรามีไอเดีย และไอเดียเราเหลือก็แบ่งปันให้เพื่อนทำ หรือการสร้างเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป ไม่มองคนที่เข้ามาเป็นคู่แข่ง ถ้าเราปรับทัศนคติให้ตรงกันได้แล้ว นอกจากจะเป็นการพัฒนาตัวคุณเอง และเพื่อนที่จะสามารถทำอะไรอื่นๆ ได้มากขึ้น สุดท้ายแล้วก็มองว่าเศรษฐกิจจะเข้มแข็งด้วย ถ้าแต่ละคนมีการพัฒนาตัวเอง"

            อย่างไรก็ตาม เขามองว่า บ้านเรายังมีไอเดียอื่นๆ ใหม่ๆ ที่จะสร้างสรรค์สินค้าขึ้นมาได้อีกมายมาย และถือว่าเป็นโอกาสสำหรับคนไทยอย่างมาก สำหรับเอสเอ็มอีไทย ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นก่อนหน้า รุ่นเดียวกับเขา หรือรุ่นใหม่ๆ อย่างเด็กจบใหม่ มีวิทยานิพนธ์ดีๆ เจ๋งๆ ทั้งนั้น ถ้าเราทำได้ และทำได้ดี ก็เชื่อได้ว่าจะไม่แพ้ญี่ปุ่นเลย

            "เพราะเราก็ไม่ได้ฉลาดน้อยไปกว่าคนญี่ปุ่น เราไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์น้อยกว่า แต่เป็นเพราะเราไม่เคยอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น เราไม่เคยแข่งขันแบบที่เขาทำ แต่สิ่งที่เราทำกันคือ ความคิดแบบเดิมๆ แบบตัดราคา แบบก๊อปปี๊แค็ต ซึ่งก็เป็นอะไรที่ไม่เข้าท่า"

            ปณิธาน หรือ ฟาง ผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ วัย 29 ปี ที่ผ่านประสบการณ์การหารายได้ การสร้างธุรกิจของตัวเอง ทิ้งท้ายด้วยคำแนะนำสำหรับผู้ที่มีความใฝ่ฝันจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองเช่นตนว่า ความแตกต่างนั้นเกิดขึ้นได้ อยู่ที่เราจะคิด หรือจะทำหรือไม่ แล้วคิดที่จะเพิ่ม “อีกนิด” ได้หรือไม่เท่านั้น

ชูวิชั่น แมลงทอดไฮโซ เบอร์ 1 ของโลก

            นอกจากการพูดคุยกันในเรื่องแนวคิด ไอเดียที่สร้างสรรค์จนมาเป็น “แมลงทอดไฮโซ” แล้ว “ปณิธาน ตงศิริ” หรือฟาง ผู้บริหารบริษัท สไมล์ บูล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ยังบอกอีกว่า ปัจจุบันยอดขายของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิมตั้งเป้าหมายไว้ว่า ยอดขายในปีนี้ทั้งปีอยู่ที่ 100 ล้านบาท หากโรงงานแห่งใหม่ที่จะเดินเครื่องได้ในเดือนสิงหาคมนี้ เชื่อว่าจะช่วยผลักดันยอดขายให้ได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศรออยู่ในทุกภูมิภาคแล้ว ไม่ใช่แค่เฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่รวมถึง เอเชีย ยุโรป และอเมริกา อีกทั้งบริษัทพร้อมรับทั้งคำสั่งซื้อที่เป็นแบรนด์แมลงทอดไฮโซเอง และการรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) ไปอีกทางหนึ่งด้วย

            “ตอนที่ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ที่ 100 ล้านบาทนั้น ยังไม่ได้เข้าห้างด้วยซ้ำไป จนปัจจุบันสินค้าของเรามีวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าเกือบทุกแห่งแล้ว ยังยกเว้นที่ร้านเซเว่นฯ แต่มีวางจำหน่ายในแค็ตตาล็อกของเซเว่นฯ แล้ว อีกแห่งที่ยังไม่ได้วางจำหน่ายคือโลตัส ส่วนที่เหลือนั้นเรามีวางแล้วทั้งหมด และอีกหลายแห่งอยู่ในขั้นเจรจาที่มีความคืบหน้าแล้ว และเมื่อโรงงานใหม่เริ่มเดินเครื่องการผลิตก็จะทำให้กำลังการผลิตของเราเพิ่มขึ้นมาได้เป็น 10 เท่า จะทำให้สามารถส่งออกได้ทันที และวางแผนในอีก 5 ปีข้างหน้าจะสามารถส่งออกได้ทั่วโลก”

            นอกจากนี้ เมื่อมองถึงเป้าหมายในอนาคตของธุรกิจ เขาบอกว่า บริษัทมีจุดยืนที่ว่า เมื่อจะผลิตสินค้าอะไรออกมาต้องเป็นสินค้าที่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ซ้ำแบบใคร พร้อมตั้งวิสัยทัศน์สำหรับบริษัท สไมล์ บูลฯ ในการเป็นผู้นำด้านสแน็ค ที่ใช้นวัตกรรม หรือใช้ความคิดสร้างสรรค์ทั้งหมด และผลิตภัณฑ์แมลงทอดไฮโซก็จะเป็นหนึ่งในนั้น โดยต้องการเห็น “ไฮโซ” เป็นเบอร์ 1 ของโลก หมายถึงว่า การที่เราทำมาก่อน เราเป็นรายแรกที่ทำบรรจุซองและจำหน่ายในห้าง ซึ่งเราอาจจะไม่ใช่รายเดียว แต่เมื่อเทียบกันแบรนด์ต่อแบรนด์ เรายังเป็นผู้นำอยู่ในแง่นวัตกรรมและโนว์ฮาว ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถเก็บเกี่ยวข้อมูล ความรู้ต่างๆ ได้เยอะมาก ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และเพื่อนๆ ที่เข้ามาช่วยเรามาก จึงตั้งเป้าในการเป็นผู้นำในระดับโลก คือ ถ้านึกถึงแมลงทอด ก็จะนึกถึงเราก่อนเลย

            อย่างไรก็ตาม การตั้งเป้าเป็นเบอร์ 1 ของโลก อาจจะเป็นการตั้งวิชั่นที่ผิดก็ได้ เพราะการตั้งวิชั่นนั้น น่าจะจับต้องได้ แต่เนื่องจากยังอยู่ในขั้นเพิ่งเริ่มต้น และเป็นธุรกิจใหม่ จึงยังไม่รู้ว่าจะวัดอย่างไร ไม่เหมือนกับเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่เขามีวิธีวัดกันได้ว่าใครเป็นเบอร์หนึ่ง ใครเป็นรอง

            "เรารู้แต่ว่า จากนี้ไปอีก 3-4 ปีข้างหน้า หน้าที่ของเราคือการพัฒนาไปในทุกมิติ ทั้งในด้านสินค้า และแบรนด์ จะต้องมีการพัฒนาอย่างไม่หยุด การที่เราตั้งเป้าหมายไว้ ก็เพื่อทำให้เรามีพันธกิจที่จะต้องพัฒนาในทุกด้านก่อน จากที่เราเป็นสตาร์ทอัพ ก็จะพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง และเมื่อใดที่เราสามารถพัฒนาไปจนถึงสุดขีดในทุกด้านแล้ว ถึงจุดตรงนั้นก็อาจจะมาเริ่มหาวิธีวัด ซึ่งเมื่อไม่เคยมีคนวัดมาก่อน เราก็ต้องวางมาตรฐานในการวัดของเราเอง"