ข่าว

NGOเรียกร้องตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน

NGOเรียกร้องตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน

18 ก.ค. 2552

องค์กรเอกชนอาเซียนเรียกร้องการตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนให้มีบทบาทอำนาจหน้าที่ชัดเจน

 (18ก.ค.) ที่โรงแรมทวินปาล์ม หาดสุรินทร์ อ.ถลาง.ภูเก็ต กลุ่มองค์กรภาคเอกชน หรือเอ็นจีโออาเซียน จัดประชุม เรื่อง กลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน โดยมีกลุ่มประชาสังคมอาเซียน ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่ขึ้นตรงต่อภาครัฐเข้าร่วมการประชุม เพื่อแสดงจุดยืนเรียกร้องในเรื่องกฎบัตรอาเซียน ในส่วนการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริม คุ้มครอง เรื่องสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียน
 
 นางชลิดา พาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนที่เข้าร่วมในการประชุม กล่าวว่า ในการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน นั้นจะต้องรับฟังเสียงจากกลุ่มประชาสังคมอาเซียนต่างๆ เช่น กลุ่มนักโทษการเมือง กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้อพยพพลัดถิ่น กลุ่มเด็กและผู้หญิง เป็นต้น โดยเฉพาะในเรื่องของบทบาทหน้าที่ ซึ่งเท่าที่ทราบในวันพรุ่งนี้ (19 กค.) คณะทำงานอาวุโสของอาเซียยนจะนำเสนอร่าง(ทีโออาร์) ว่า องค์ประกอบขององค์กรฯ ควรมีคณะกรรมการกี่คน หลักเกณฑ์วิธีการในการคัดเลือก รวมถึงบทบาทอำหน้าที่
 
 ในการจัดประชุมร่วมภาคประชาสังคมซึ่งประกอบด้วย องค์กรเอกชนต่างๆ ของอาเซียน ในระหว่างวันที่ 17-18 ก.ค.นี้ที่ภูเก็ตนั้นจะเป็นการพูดคุยเรื่องการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนร่างที่สอง และคณะทำงานสูงสุดจะต้องนำเสนอต่อรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่งยังมีความเป็นกังวลว่าร่างที่ยกร่างในครั้งนี้ยังไม่สามารถใส่เรื่องของอำนาจหน้าที่ในการปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในอาเซียนได้
 
 เพราะเท่าที่มีการติดตามการทำงานของคณะทำงานสูงสุดที่เป็นตัวแทนจาก 10 ประเทศ มีเฉพาะเนื้อหาด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเท่านั้นแต่จากการพูดคุยในประเทศสมาชิกอาเซียน หลายๆประเทศประชาชนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าเขาต้องการเรื่องปกป้องและคุ้มครอง เพราะการสนับสนุนส่งเสริมได้มีการจัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์กันมากมายอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการกรณีมีการละเมิดสิทธิมนุษยนชนในแต่ละประเทศและไม่สามารถเยียวยาในระดับประเทศของตนเองได้ โดยสามารถร้องเรียนผ่านกลไกที่จัดตั้งขึ้นได้
 
 ที่สำคัญ คือ ให้มีการตรวจเยี่ยมการละมิดสิทธิมนุษยชนในแต่ละประเทศในอาเซียน เพื่อทำให้เกิดการคุ้มครองอย่างจริงจัง โดยแต่ละประเทศต้องฟังคณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้น พร้อมรับฟังความเห็นและน้อมรับข้อเสนอแนะ โดยรัฐบาลนั้นๆ ต้องนำไปปฎิบัติให้เป็นรูปธรรม เพราะที่วิตก คือ เกรงว่ากลไกตัวนี้จะเป็นกลไกที่ไม่มีเขี้ยวเล็บ และอย่าให้เป็นกลไกที่หวังเพียงจัดตั้งให้แล้วเสร็จไปเท่านั้นเอง ในความจริงภาคประชาคมอาเซียนเราต้องการองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนมากและฝากความหวังไว้กับกลไกสิทธิมนุษยนอาเซียนที่จะจัดตั้งในครั้งนี้ เพราะในเอเชียเราปัจจุบันยังไม่มีกลไกตัวนี้ ทั้งๆที่ในยุโรป แอฟริกาและอเมริกามีกันหมดแล้ว หากจะมีก็อยากให้มีแบบที่ดีๆ ที่เป็นประโยชน์และประชาชนในภูมิภาคอาเซียนทุกคนได้ประโยชน์
 
 “เมื่อเราไม่สามารถทำให้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ในการยกร่างครั้งนี้มีประโยชน์สูงสุด เพราะเท่าที่ทราบการยกร่างครั้งนี้ยังไม่ครอบคลุมในฐานะภาคประชานจึงรวมตัวกันเพื่อสะท้อนความเห็นของภาคประชาชนไปยังผู้นำอาเซียน และต้องรอดูท่าทีของรัฐมนตรีอาเซียนต่อไปอีกครั้ง ” นางชลิดา กล่าว