จับตาการสรรหากสม.ความหวังกู้ศักดิ์ศรีระดับสากล
จับตาการสรรหากสม. ความหวังกู้ศักดิ์ศรีระดับสากล : ประกาศ เรืองดิษฐ์ ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมการพัฒนา (ผสพ.)
ในที่สุดก็มีผู้สนใจสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ "กสม." ชุดที่ 3 จำนวน 121 คน หลังจากมีการเปิดรับสมัครมาตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 จนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ในจำนวนผู้สมัครทั้งหมดนี้ ต่างเป็นบุคคลที่อยู่ในแวดวงต่างๆ ที่หลากหลาย มีทั้งนักการเมือง อดีตข้าราชการ ตำรวจ ทหาร นักธุรกิจ เอ็นจีโอ รวมถึงประชาชนคนธรรมดาที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิโดยตรง
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดแรกจำนวน 11 ท่าน ถูกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จากแรงผลักดันและความเรียกร้องต้องการของประชาชน ให้เป็นองค์กรอิสระ และได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน
ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีจำนวน 7 คน ลดลงจากเดิมที่เคยมี 11 คน และให้มีหน้าที่ส่งเสริมการเคารพและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เสนอมาตรการการแก้ไขต่อบุคคล หน่วยงาน ที่กระทำหรือละเลยการกระทำเพื่อดำเนินการ เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ที่ร้องเรียนว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางการปกครองที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย รวมถึงการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหายเมื่อได้รับการร้องขอและเป็นกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวมเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงกระบวนการสรรหาและการเลือกกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากเดิม ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ทำให้มีคณะกรรมการสรรหา จำนวน 7 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน ทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือก ซึ่งคณะกรรมการสรรหาชุดที่จะทำหน้าที่คัดเลือกกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 3 ปัจจุบันเหลือเพียง 5 ท่านเท่านั้น เนื่องจากประธานศาลปกครองสูงสุดถูกคำสั่งพักราชการ และไม่มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
การทำงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งสองชุด มีผลงานและเป็นที่ยอมรับต่างกัน โดยชุดแรก มี ศ.เสน่ห์ จามริก เป็นประธาน ชุดที่สอง มี ดร.อมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน กระนั้นไทยก็ยังถูกคณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เสนอให้มีการลดเกรดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทย (กสม.) จากระดับ เอ ไปเป็นระดับ บี เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา หลังจากที่ใช้เวลาในการรวบรวมรายงานเป็นเวลาถึง 3 ปี โดยให้เวลาประเทศไทย 1 ปี เพื่อหาเอกสารยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามหลักการปารีส (The Paris Principles) หรือไม่
โดยสรุป หลักการปารีสเป็นแนวความคิดในการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศต่างๆ ซึ่งกำหนดขึ้นจากการสัมมนาว่าด้วยสถาบันแห่งชาติและท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันถึงมาตรฐานขั้นต่ำของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีการกำหนดแนวทางของอำนาจและหน้าที่ไว้ โดยได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (General Assembly) ในมติที่ 48/134 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2536 เพื่อที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แนะนำรัฐบาลในเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชน ทบทวนกฎหมายสิทธิมนุษยชน รายงานปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงรับและสอบสวนเรื่องราวร้องทุกข์จากสาธารณชน
มาตรฐานสากลตามหลักการปารีส จะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 6 ประการคือ
1.มีความเป็นอิสระในการทำงาน 2.ต้องกำหนดภาระหน้าที่อย่างชัดเจน 3.ต้องเป็นสถาบันที่บุคคลและคณะบุคคลทุกฝ่าย 4.ต้องยึดหลักการความร่วมมือกับทุกฝ่าย ตั้งแต่สหประชาชาติ สถาบันสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคและระดับประเทศ องค์การเอกชนหรือองค์การที่มิใช่ของรัฐ (NGOs) ตลอดจนองค์การระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Organizations) ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและกับหน่วยงานตุลาการ 5.ต้องยึดหลักประสิทธิภาพในเชิงปฏิบัติการ 6.ต้องมีความรับผิดชอบทางด้านกฎหมายและด้านการเงินต่อรัฐบาลและรัฐสภา
หลักการปารีส จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย นั่นหมายความว่า ต้องเริ่มตั้งแต่การสรรหาตัวบุคคลที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของประชาชน ซึ่งภารกิจนี้อยู่ในมือของกรรมการสรรหาชุดนี้ ที่มี นายดิเรก อิงคนินันท์ เป็นประธานกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 3
ในสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับการดำเนินการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา มีข้อเสนอที่น่าสนใจว่า การสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องดูที่เจตนารมณ์ และการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. คณะกรรมการสรรหาจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการละเมิดสิทธิทางกฎหมาย ในขณะเดียวกันก็ต้องเห็น หรือเคารพความหลากหลาย เพื่อให้เกิดการรับฟัง การได้ยิน และทำความเข้าใจคนที่มีตัวตนอยู่จริง ซึ่งก็ทำให้เกิดความเป็นธรรมได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ บุคคลที่มาปฏิบัติหน้าที่ต้องกล้าที่จะยอมรับ และเรียนรู้ในเรื่องที่ตนเองไม่รู้ เป็นคนที่ฝึกตัวเองในการทำงานกับภาคประชาสังคมและหมั่นไตร่ตรองพฤติกรรมและการกระทำของตนเองที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน การทำหน้าที่ของ กสม.มิใช่เพียงการตรวจสอบ หรือการชี้ประเด็นการละเมิดเท่านั้น สิ่งที่ต้องทำมากกว่านั้น คือ การยกระดับ หรือถอดรหัสความคิดทั้งคนที่กระทำการละเมิด หรือคนที่ถูกละเมิดโดยไม่รู้ตัว
ความแตกต่างในองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาฯ ในชุดปัจจุบัน และต้องการเห็นองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ต้องการเห็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชน มีความเป็นกลาง ไม่ประพฤติเสื่อมเสียหรือมีความบกพร่องทางศีลธรรมจรรยาที่อาจมีผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการดำรงตำแหน่งหน้าที่ หรือมีส่วนได้เสียในกิจการหรือธุรกิจใดๆ ที่อาจมีผลกระทบโดยตรง หรือมีพฤติการณ์ในการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง
ดังนั้น ทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือกกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะกรรมการสรรหาฯ จะต้องสรรหาและคัดเลือกบุคคลผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ด้วยการใช้หลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วยังจะต้องคำนึงถึงหลักการปารีส องค์ประกอบที่หลากหลาย การมีส่วนร่วมของหญิงและชาย กระบวนการสรรหาต้องทำอย่างเปิดเผยโปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมีการเปิดรับฟังความเห็นจากภาคประชาสังคม และกลุ่มต่างๆ รวมถึงรับฟังวิสัยทัศน์ของผู้ที่ผ่านการพิจารณาในชั้นต้นเพื่อกอบกู้ศักดิ์ขององค์กร ให้เป็นที่พึ่งของประชาชน มีการส่งเสริม คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนปรากฏเป็นจริง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า การสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ จะได้คนที่ช่วยให้องค์กรที่เป็นสถาบันการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เป็นที่พึ่งของประชาชน ในการส่งเสริม คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิเสรีภาพหรือไม่ และกู้ศักดิ์ศรีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากลกลับคืนมาหรือไม่