
คดี'รินดา'หมิ่น'บิ๊กตู่'ปัดการเมือง
13 ก.ค. 2558
'ประยุทธ์' ย้ำ 'รินดา' โพสต์หมิ่น ไม่ใช่คดีการเมือง เป็นเรื่องข้อกฎหมาย เมินให้ความเห็น 'รัฐบาลแห่งชาติ'
13 ก.ค. 58 เมื่อเวลา 13.30 น. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัวนางรินดา ปฤชาบุตร ผู้ต้องหาโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ตามความผิดอาญา มาตรา 116 ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่คดีทางการเมือง แต่มีบางคนพยายามไปสร้างกระแสว่าเป็นคดีทางการเมือง แต่เป็นความผิดกฎหมายอาญา ที่ไปหมิ่นประมาทใส่ร้ายคนอื่น ในขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองยังมีความขัดแย้ง การไปให้ร้ายบุคคล หน่วยงาน ประเทศ จึงทำให้ขาดความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ย้ำว่า ทุกเรื่องจะเดินไปในทางที่ดีขึ้นได้ ประเทศต้องมีเสถียรภาพความมั่นคง เกิดความเชื่อมั่นจากทั้งในและนอกประเทศ ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น เพราะทุกเรื่องล้วนเชื่อมโยงกันทั้งหมด จึงวิงวอนขอให้ทุกฝ่ายตระหนักให้มากกับการที่จะไปทำอะไรลักษณะนี้ เพราะจะสร้างความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจให้กับคนในและต่างประเทศ
"นายกฯ ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องข้อกฎหมาย ต้องว่าไปตามกฎหมาย แต่อย่าไปกดดันกระบวนการยุติธรรม และอย่าสร้างความวุ่นวาย โดยเฉพาะคนที่มีคดีติดตัวทั้งหลาย ต้องระวังพฤติกรรมในการแสดงออกครั้งต่อๆ ไป ทั้งนี้ผมเห็นว่า กรณีของคุณรินดาไม่มีไก่ไม่มีลิง อะไรที่ผิดกฎหมายก็ดำเนินการทั้งหมด แต่ที่ระบุเช่นนี้ เพราะไม่อยากให้มีการวนเวียนอยู่ในกระบวนการที่ต้องติดคุก และตัวคนกระทำเองก็จะได้รับความกดดันจากสังคม หากได้รับการประกันตัวและไปทำกิจกรรมเหล่านี้ซ้ำๆ คงต้องตอบคำถามจากสังคมว่า ไม่มีจิตสำนึกเลยหรือ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีบุคคลอื่นที่เข้าข่ายกรณีนี้ แต่เชื่อว่าวันข้างหน้าคงมีเป็นระยะ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เกิดโดยธรรมชาติ แต่มีสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้น และหากพบคงต้องดำเนินการทางกฎหมายเช่นเดียวกัน"
ผู้สื่อข่าวถามว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงไอซีที ได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับบุคคลที่โพสต์ข้อความหมิ่นประมาท ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ติดตามมาอย่างต่อเนื่องอย่างไรบ้าง พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า เชื่อว่าคงมีการรายงานการทำงานและคุมเข้มในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แต่บางเรื่องข้อมูลที่ส่งมาจากต่างประเทศยอมรับว่าเป็นเรื่องลำบากที่จะดำเนินการ ทำได้โดยการตรวจสอบ หากพบว่ามีข้อมูลที่บิดเบือน และส่งผลกระทบ ก็ต้องแจ้งหน่วยงานที่ตรวจสอบ เช่น กระทรวงไอซีที และ กสทช.ไปดำเนินการ นอกจากนั้น ขอความร่วมมือประชาชนที่ติดตามข้อมูลข่าวสารให้ช่วยอธิบายข้อเท็จจริงในเว็บไซต์ หรือในกระทู้ที่มีการนำเสนอข้อมูลนั้นๆ อย่าละเลยและสนใจเพียงสื่อหลักเท่านั้น นายกฯ ระบุว่า สื่อโซเชียลก็ละเลยไม่ได้ เพราะในปัจจุบันมีวิวัฒนาการในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น หากพบว่ามีการเข้าใจผิดก็ต้องทำความเข้าใจ แม้จะรู้ว่าไม่ได้เข้าใจผิดแต่มีการรับจ้างมาโพสต์ก็ตาม
เมินให้ความเห็น 'รัฐบาลแห่งชาติ'
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องเหล่านี้ เพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ข้อเสนอดังกล่าวก็เป็นความคิดและมุมมองของแต่ละคน หรือจะมองอีกแบบก็ได้
'กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ' มอบดอกไม้ขอให้นายกฯ อยู่ต่อ
เมื่อเวลา 10.05 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน ภายในสำนักงาน ก.พ. ถนนพิษณุโลก มีตัวแทนกลุ่ม 'อาชีวะช่วยชาติ ราชดำเนิน 56' จากสถาบันอาชีวะ 14 แห่ง นำโดยนายวิศรุต นิติดา จากโรงเรียนเทคโนโลยีดุสิต เดินทางมาพร้อมดอกกุหลาบ พร้อมกับสวมเสื้อและถือป้ายไวนิลที่ระบุชื่อของกลุ่มว่า 'อาชีวะช่วยชาติ ราชดำเนิน 2556' ได้ยื่นหนังสือและดอกไม้เพื่อเป็นกำลงใจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ โดยมีนายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าศูนย์ประสานมวลชนฯ เป็นผู้รับมอบ ผ่านศูนย์บริการประชาชนฯ
ตัวแทนกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ กล่าวว่า การมาครั้งนี้เพื่อเป็นกำลังใจให้กับนายกรัฐมนตรี ในการทำหน้าที่ และต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง โดยเมื่อหลังปฏิรูปเสร็จต้องการให้มีการปราบปรามคอร์รัปชั่น เพื่อให้เกิดนักการเมืองที่ดี และสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ แต่จะไม่มีการเคลื่อนไหวเผชิญหน้ากับกลุ่มเห็นต่าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ เคยรวมตัวชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และร่วมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในช่วงปี 2556 - 2557 ที่ผ่านมา
ปัญหาประเทศไทยวันนี้ ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ คตช. ครั้งที่ 5 / 2558 โดยมีรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ภาคเอกชน เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนการประชุมว่า การทำงานขณะนี้ มีทั้งการเดินหน้า และการขจัดปัญหาข้อขัดแย้งการตรวจสอบทุจริตต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งทำได้ในหลายมิติ โดยขณะนี้เป็นมิติด้านความมั่นคง ที่จะทำให้ประเทศชาติ มีจุดยืน ที่จะทำให้ไทยได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ปัญหาหลัก คือ การขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ ประชาชน ยังมีความขัดแย้งทุกระดับ ที่ต้องแก้ไข โดยต้องไม่ให้มีการขยายความขัดแย้งออกไป เพราะกระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยให้หลายหน่วยงานไปชี้แจง ว่า ไม่ว่าจะแก้ปัญหาอะไรก็ตามจะต้องเริ่มต้นจากการมีเสถียรภาพของรัฐบาล และความสงบสุขของบ้านเมือง
โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) แถลงผลการประชุมคตช. ว่า นอกจากโครงการโตไปไม่โกง พล.อ.ประยุทธ์ มีความประสงค์จะให้มีวิชาใหม่ คือ กลุ่มวิชาเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศ เพื่อให้เด็ก เยาวชน มีความสำนึก ตระหนักรู้ เพื่อให้เยาวชนรู้ถึงหน้าที่พลเมืองและสิทธิ์ สร้างเสริมให้ประเทศมีความเข้มแข็ง โดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการรับไปพิจารณาหาแนวทางเพื่อดำเนินการ นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีแนวคิดที่จะตั้งกองทุนขึ้น โดยจะของบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมทั้งภาคเอกชน ทั้งนี้เพื่อให้การปราบปรามการทุจริตสามารถขยายผลได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องใช้งบประมาณ
ขณะเดียวกัน นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ในฐานะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ด้านการป้องกันการทุจริต กล่าวว่า วันนี้ได้เสนอให้ที่ประชุมได้พิจารณา 3 เรื่อง คือ ข้อ 1. การยกระดับใช้มาตรการในทางปกครองและวินัย เพราะเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันการทุจริต ถือเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ซึ่งเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาแต่ละส่วนราชการ โดยกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่า หากผู้บังคับบัญชาไม่ใช้อำนาจทางวินัยนี้ถือว่าผู้บังคับบัญชากระทำความผิด ที่ผ่านมาซึ่งมีการใช้มาตรา 44 ถือเป็นการกระตุ้นให้มีการใช้อำนาจทางวินัยนี้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนจึงต้องผลักดันให้กระบวนการตามปกติให้เดินหน้าไปได้ โดยจากนี้ไปการดำเนินงานของ ศอตช.เมื่อพบกระทำความผิดจะแจ้งให้หัวหน้าส่วนราชการทราบ โดยขอให้ดำเนินการตามอำนาจปกครองและวินัย หากแจ้งไปแล้วไม่ดำเนินการก็จะเสนอนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจในการจัดการ ข้อ 2. ให้ใช้มาตรการทางด้านภาษีเป็นเครื่องมือการตรวจสอบเชิงรุกสำหรับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริต
โดยจากนี้ไป ศอตช.จะใช้มาตรการทางภาษีกับผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือแม้แต่ภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งไม่ดำเนินการทางภาษีให้ถูกต้องโดยวิธีการ คือ 1. เสนอให้กรมสรรพากร และ ป.ป.ช.ใช้อำนาจตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 / 7 โดยผู้ประกอบการต้องแสดงบัญชีรับจ่ายหลังจากมีการเซ็นสัญญากับภาครัฐ 2. เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทุจริต หากตรวจสอบและพบว่ามีทรัพย์สินมากกว่าปกติ และไม่ได้เสียภาษีก็จะเข้าไปดำเนินการ 3. ดำเนินการตรวจสอบเชิงรุกกับผู้ค้าที่ทำการค้ากับส่วนราชการ เช่น หน่วยงานรัฐซื้อเครื่องออกกำลังกายโดยซื้อในราคาถูก แต่ขายให้กับรัฐในราคาที่แพงกว่าหลายเท่า โดยเราจะตรวจสอบว่าเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ส่วนโทษนั้นจะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
นายประยงค์ กล่าวว่า ข้อ 3. กระตุ้นผลักดันกลไกการบังคับใช้ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวก การพิจารณาการอนุญาตของราชการ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ หากผู้ประกอบการภาคเอกชน หรือประชาชนต้องการขออนุมัติเรื่องใดๆ จากภาครัฐ โดยไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายหรือคู่มือกำหนดก็ขอให้ร้องเรียน เพราะ ศอตช.จะเข้าไปติดตามเพื่ออำนวยความสะดวกให้ ขณะเดียวกันกระทรงยุติธรรมอาจจะขอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับ ป.ป.ท. เพื่อให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยนำมาตรการหลายๆ เรื่องเข้าไปบรรจุด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีการแก้ไขในเร็วๆ นี้
ในส่วนของนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ด้านการประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 ก.ค. โดยทุกหน่วยงานจะมีการทำคู่มือสำหรับประชาชนว่าในการติดต่อหน่วยราชการนั้นมีกี่ขั้นตอน และใช้เวลากี่วันเพื่อให้ประชาชนทราบ และหน่วยราชการจะได้ทำงานตามกรอบที่กำหนดไว้ โดยมีหน่วยงานหลายหมื่นแห่งที่ต้องทำให้เสร็จภายในวันที่ 21 ก.ค. ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงความสะดวกโดยไม่ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีการออก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างแทน พ.ร.บ.ระเบียบพัสดุ โดยคาดว่าจะประกาศใช้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลครอบคลุมถึงภาครัฐทุกหน่วยงานในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้มีความโปร่งใสมากกว่าเดิม ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรียังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกป่าไม้ การหลีกเลี่ยงภาษี และการซื้อขายตำแหน่งของข้าราชการ
ทั้งนี้ นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) กล่าวว่า ทางสำนักงานฯ จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. กระทรวงการคลัง โดยจะร่วมกันดูว่าข้อมูลภาครัฐส่วนใดที่เปิดเผยเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต และพิจารณาว่าควรมีข้อมูลชุดใดบ้างที่สามารถเปิดเผยได้ รวมทั้งวิธีการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้ ทางสำนักงาน ก.พ.ร. จะได้รวบรวมข้อมูลภาครัฐเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ ซึ่งสามารถติดตามผ่านทางเว็บไซต์ www.info.co.th