ข่าว

จากคนมองว่าป้าสู่ธุรกิจส่งออก'สิรินุช ฉิมพลี'โตจากปลากัด5คู่

จากคนมองว่าป้าสู่ธุรกิจส่งออก'สิรินุช ฉิมพลี'โตจากปลากัด5คู่

17 ก.ค. 2558

จากคนมองว่าป้าสู่ธุรกิจส่งออก'สิรินุช ฉิมพลี'โตจากปลากัด5คู่ : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยดลมนัส กาเจ

             แม้เส้นทางชีวิตของคนเราจะไม่ได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็ใช่ว่าจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามเสมอไป หากแต่ความสำเร็จของแต่ละชีวิตย่อมขึ้นอยู่กับความตั้งใจ ดั่งคำโบราณว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”
 
             "สิรินุช ฉิมพลี" เจ้าของฟาร์มปลากัด “เบตต้าฟาร์ม” แห่งเมืองนครปฐม ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ประสบผลสำเร็จในอาชีพ ที่เริ่มต้นจากเลี้ยงปลากัดจีนเพียง 5 คู่ มีบางคนมองว่าเธอบ้า “เป็นผู้หญิงเลี้ยงปลากัด” มาวันนี้ ความพยายามของเธอส่งผลให้เป็นผู้เลี้ยงปลากัดส่งออกสวยงาม ระดับเงินล้านอย่างไม่น่าเชื่อ

             สิรินุช จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านการบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ในช่วงปลายของวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ในปี 2542 ทำให้จบมาแล้วกลายเป็นบัณฑิตว่างงาน เดินเตะฝุ่นไม่ทราบว่าจะไปทำอาชีพอะไรดี เพราะสมัครงานหลายแห่ง ยังไม่มีการเรียกตัว สุดท้ายต้องกลับไปตั้งหลักใหม่ที่บ้านเกิด ต.โพรงมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครปฐม

             “ที่บ้านมีอาชีพด้านการเกษตรทำไร่ ทำนา เราเองไม่ทราบจะทำอะไร เดินไปเดินมาก็เครียด เลยไปซื้อปลากัดจีนมาเลี้ยงเล่น 5 คู่ ในราคาตัวละ 3 บาท คิดเป็นเงินลงทุนไปครั้งแรก 30 บาท หาขวดโหล ขวดน้ำมาเลี้ยงเล่นๆ เพราะมีเพื่อนบ้าน 2-3 ครอบครัวที่เลี้ยงปลากัดอยู่แล้ว สังเกตว่าปลากัดที่เพื่อนบ้านเลี้ยงมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ มาคิดว่า ว่างๆ มาเลี้ยงปลากัดบ้างดีกว่า ไม่ต้องไปเร่ขายให้เหนื่อย เพราะมีคนมาซื้อถึงที่” สิรินุช ย้อนอดีตก่อนมาเป็นเจ้าของฟาร์มปลากัดส่งออกในวันนี้

             การเลี้ยงปลากัดเล่นๆ เพียง 5 คู่ ทำให้สิรินุชมีเวลาพอที่จะค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และจากตำราต่างๆ รวมทั้งวารสารของกรมประมง พบว่าปลากัดไม่ได้มีแค่ปลากัดหม้อ ปลากัดจีน แต่มีอีกหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งล้วนแต่มีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างกันออกไป แต่ข้อดีที่พบคือ เลี้ยงง่ายตายยาก ทนทุกสภาวะอากาศ ที่สำคัญใช้เงินลงทุนไม่สูง ใช้พื้นที่ไม่มากนัก และเมื่อดูข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ปลากัดเป็นสัตว์เศรษฐกิจของประเทศไทยจัดอยู่ในประเภทปลาสวยงาม มีการเลี้ยงเพื่อส่งออกขายในต่างประเทศเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย ตรงนี้จึงเป็นการจุดประกายให้สิรินุชตัดสินใจทดลองเลี้ยงอย่างจริงจัง

             “ที่บ้านก็ไม่ได้ส่งเสริม เพราะอุตส่าห์หาเงินส่งเรียนในเมืองกรุง และเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนค่าหน่วยกิตก็สูง เราก็เข้าใจนะว่าพ่อแม่เราต้องการให้เรามีงานดีๆ มีเงินเดือนเยอะๆ ไม่ต้องมาลำบากกับการทำไร่ทำนาเหมือนท่าน แต่ช่วงจังหวะชีวิตไม่เอื้อในตอนนั้น ก็ลองเลี้ยงปลากัดเล่นๆ ก่อน ท่านก็ไม่ได้ห้าม คนอื่นนี่สิหาว่าเราบ้าหรือเปล่า เป็นผู้หญิงทำไมต้องมาเลี้ยงปลากัด อาชีพอื่นมีตั้งเยอะ หาว่าพ่อแม่หวังว่าส่งเสียให้ลูกเรียนจนจบปริญญาตรีก็เพื่อทำงานดีๆ...เราก็คิดเหมือนกันว่า บางคนก็คงคิดว่า ถ้าจะมาเลี้ยงปลากัดไม่จำเป็นต้องเรียนจบปริญญาตรี ซึ่งความจริงการเรียนมาก็ทำให้เรามีความรู้ในการที่จะหาข้อมูลได้ จากเสียงสะท้อนเหล่านี้ทำให้เราฮึดสู้ และเริ่มมั่นใจว่า ข้อมูลที่ได้รับมา เชื่อว่าการเลี้ยงปลากัดน่าจะทำเป็นอาชีพได้” สิรินุช กล่าวอย่างมั่นใจ

             กระนั้นเรื่องประสบการณ์ก็มีความสำคัญไม่น้อย สิรินุชได้เรียนรู้จากการเลี้ยงปลากัดในช่วงปีแรกๆ ที่ต้องล้มลุกคลุกคลาน ลองผิดลองถูก เพราะไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการ และเรื่องการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามมาก่อน ต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าที่จะเพาะพันธุ์ได้เอง เพราะการหาความรู้จากผู้ที่มีอาชีพเดียวกัน ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ค่อยมีคนใจดีที่จะถ่ายทอดวิชาอย่างง่ายดาย ทางออกของเธอคือ “ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง”

             จากที่ สิรินุช เริ่มเลี้ยงปลากัด 5 คู่ ขยายเพิ่มเป็น 10 คู่ ในลักษณะที่ค่อยๆ ทำ เพราะทุนมีไม่มากนัก หลังจากเริ่มเพาะพันธุ์ได้เอง และได้ลูกปลากัดที่มีคุณภาพ เธอยอมรับว่า ทำให้มีกำลังใจที่จะเดินหน้าต่อไป เพราะว่าการเพาะพันธุ์ปลากัดแต่ละครั้งจะออกลูกจำนวนมาก และในจำนวนนี้มีพันธุ์ปลากัดใหม่ๆ สวยๆ เกิดขึ้น จะยิ่งเพิ่มความท้าทายว่า “เราทำได้แล้ว” และแน่นอนที่สุดเมื่อปลากัดตัวสวยๆ งามๆ ออกมา ตลาดย่อมต้องการ เธอจึงตัดสินใจเลี้ยงปลากัดในเชิงธุรกิจภายใต้ฟาร์ม “เบตต้าฟาร์ม” โดยในระยะเริ่มแรกขายให้พ่อค้าที่มารับซื้อถึงที่บ้าน

             สิรินุช บอกว่า การเลี้ยงปลากัดต้องทุ่มเทเอาใจใส่พอสมควร ต้องมีความขยันอดทนเป็นที่ตั้ง การทำงานต้องต่อเนื่อง หมั่นเรียนรู้และทำความเข้าใจอยู่เสมอ สิ่งสำคัญที่สุดในการเลี้ยงปลากัดสวยงาม อยู่ที่การเพาะขยายพันธุ์ ต้องคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดี และต้องจับกระแสให้ได้ก่อนว่า ณ เวลานี้ตลาดกำลังเล่นปลากัดแบบไหนจึงจะขายได้ ตรงนี้ต้องตระเวนหาข้อมูลตามตลาดนัดปลาสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นที่สวนจตุจักร และตลาดต่างประเทศที่ค้นหาจากอินเทอร์เน็ตต่างๆ หลังจากศึกษาแล้วต้องไปหาซื้อพ่อแม่พันธุ์มาเพาะขยายพันธุ์ตามวิธีที่ศึกษามา เพื่อปรับกิจการให้ทันสมัยตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งในความเป็นจริงการเพาะพันธุ์ปลากัดก็ไม่ได้มีอะไรเป็นเคล็ดลับมาก มันก็เหมือนกับการเพาะขยายพันธุ์ปลาสวยงามทั่วไป

             เวลาผ่านไป 5 ปี สิรินุช มุ่งมั่นกับการพัฒนาและเพาะพันธุ์ปลากัด โดยไม่ได้ทำตลาดด้วยตัวเอง หากแต่ยังอาศัยรูปแบบเดิมคือ ติดต่อพ่อค้ามาซื้อถึงฟาร์มเหมือนเกษตรกรคนอื่นๆ แม้จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง พอทำให้มีเงินหมุนเวียนบ้าง เพราะหากจะรอให้ตลาดมาหาอย่างที่ผ่านมา โอกาสที่จะขยายการขายคงลำบาก เธอจึงตัดสินใจหาตลาดเองเป็นครั้งแรก ด้วยวิธีการคือ เดินสายประกวดปลากัด ที่ไหนมีประกวดเธอไปที่นั่น เพราะต้องการที่จะสร้างชื่อเสียงให้คนรู้จัก แต่ก็ต้องผิดหวังในช่วงปีแรกๆ เพราะการส่งเข้าประกวดโดยไม่ได้ศึกษารายละเอียด ทำให้ไม่ได้รางวัลใดๆ เลย

             “แรกๆ เราคิดเอง เรากำหนดเอง ส่งปลากัดตัวที่เราชอบ ไม่ได้ศึกษาเลยว่าคนที่เขาได้รางวัลชนะเลิศเพราะอะไร ทำไม จากนั้นกลับมาคิดและศึกษาใหม่ หาข้อมูลใหม่ว่าปลากัดเขามีมาตรฐานตรงไหน เช่น ดูหาง ดูสี ดูตะเกียบ ดูเกล็ด เมื่อศึกษาและเข้าใจ เราก็ส่งเข้าประกวดใหม่ในปี 2554 ความฝันก็มาเป็นความจริงปลากัดที่ส่งเข้าประกวดคว้ารางวัลแกรนด์แชมเปี้ยนชิพ ชนะเลิศอันดับ 1 ของประเทศไทย ทำให้ปลากัดจากฟาร์มเราคนรู้จักมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับมากขึ้นด้วย ตรงนี้ถือเป็นการเปิดตลาดด้วยตัวเอง”

             รางวัลแรกเป็นการเปิดทางสู่บันไดขั้นต่อไป จากการประกวดภายในประเทศ สู่การประกวดในต่างแดน และในปี 2556 สิรนุชส่งปลากัดของเธอเข้าประกวดที่ประเทศออสเตรเลีย ปรากฏว่าไม่ผิดหวัง เพราะปลากัดจีนที่ส่งประกวดสามารถคว้ารางวัลแกรนด์แชมเปี้ยนชิพ ชนะเลิศอันดับ 1 สร้างความภาคภูมิใจให้แก่สิรินุชเป็นอย่างมาก

             มาถึงวันนี้ จากการที่ สิรินุช เดินสายส่งปลากัดไปประกวด ทำให้เธอคว้ารางวัลในการประกวดปลากัดสวยงามมากกว่า 50 รางวัล เป็นรางวัลชนะเลิศ 27 รางวัล และรางวัลที่ 2-3 อีก 23 รางวัล และผลจากการได้รับรางวัลต่างๆ ทำให้ปลากัดจากเบตต้าฟาร์มเริ่มมีชื่อเสียง ปลากัดที่ผลิตออกได้รับการยอมรับในตลาดต่างประเทศโดยอัตโนมัติ นอกจากรางวัลที่ได้รับมากมายแล้ว ยังมีปลากัดที่สร้างความฮือฮามากที่สุดคือ ปลากัดสีคล้ายธงชาติไทย ที่หลุดมาเองโดยบังเอิญ และนานๆ จึงจะมีเพียง 1-2 ตัวเท่านั้น

             “พอเรามีชื่อเสียง ทำให้ตลาดของปลากัดจากฟาร์มหลากหลาย เราต้องขยายฟาร์มเพื่อเพิ่มผลผลิต ปัจจุบันเรามีบ่อซีเมนต์เพาะเลี้ยง 500 บ่อ และเลี้ยงในขวดอีก 1 แสนขวด แรกๆ เราทำคนเดียว ตอนนี้ให้พ่อกับแม่ ซึ่งเดิมมีอาชีพทำไร่ทำนามาช่วยงานด้วย พร้อมกับสามี ลูกหลาน น้องชายมาช่วยกัน เน้นการผลิตปลากัดเพื่อส่งออกเท่านั้น” เจ้าของเบตต้าฟาร์ม กล่าว
  
             สำหรับตลาดส่งออกนั้น สิรินุช บอกว่า ส่วนหนึ่งมีพ่อค้าประจำมารับซื้อเพื่อส่งออกต่างประเทศกว่า 90% ส่วนใหญ่จะเป็นสหรัฐอเมริกา ตลาดโซนยุโรป อาทิ อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และอีก 10% เป็นตลาดที่เราส่งออกเองโดยตรงด้วยวิธีการถ่ายรูปปลากัดขึ้นเว็บไซต์ รวมทั้งส่งรูปปลากัดเข้าประมูลผ่านเว็บไซต์ด้วย ในแต่ละปีจะมียอดขายส่งออกปลากัดทั้งหมด ราย 8-9 แสนตัว มูลค่าปีละหลักหลายล้านบาท โดยปลากัดที่ได้รับความนิยมในตลาดส่งออกในปัจจุบัน มีปลากัดคราวน์เทล (Crowntail) ปลากัดซูเปอร์เดลต้า (Super delta) ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีก หรือฮาล์ฟมูน (Halfmoon) และปลากัดหางคู่ หรือปลากัดสองหาง

             อย่างไรก็ตาม เพื่อความหลากหลายของวงการปลากัด สิรินุชเพาะขยายพันธุ์โดยการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดีที่สุด สีสวยที่สุด นำพันธุ์ที่กำลังมาแรงไปผสมพันธุ์และคัดเลือกลูกพันธุ์ที่ดีและสวยงามที่สุด เพื่อให้ปลากัดในฟาร์มของเธอมีความหลากหลายและถึงพร้อมความเป็นที่สุดในทุกๆด้าน

             “สิรินุช ฉิมพลี” เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่อีกคนหนึ่งที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเริ่มจากการเลี้ยงปลากัดจีนเพียง 5 คู่ มาถึงวันนี้เธอกลายเป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงปลากัดเพื่อส่งออกที่มีมูลค่านับล้านบาท และล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คัดเลือกให้เธอรับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติอีกด้วย