ข่าว

‘สิรินทร์ พัธโนทัย’การทูตลับ-สัมพันธ์‘ไทย-จีน’

‘สิรินทร์ พัธโนทัย’การทูตลับ-สัมพันธ์‘ไทย-จีน’

28 ก.ค. 2558

‘สิรินทร์ พัธโนทัย’ การทูตลับ-สัมพันธ์‘ไทย-จีน’

             ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีน มีมาแต่ครั้งบรรพชนที่มีการค้าขายระหว่างกัน และบรรพบุรุษชาวจีนได้มาตั้งรกรากในเมืองไทยก็มีมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งจนถึงปัจจุบันการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศก็มีมาต่อเนื่องกว่า 40 ปี ดังเห็นได้จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานเปิดงานพิธีเนื่องในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2558 งานจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

             ในความสัมพันธ์สองประเทศ มีบางครั้งที่อาจต้องใช้กลยุทธ์ทางการทูตนอกตำรา เนื่องจากบางช่วงจังหวะประเทศไทยถูกกดดันจากฝั่งตะวันตกที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศจีนใช้ระบบคอมมิวนิสต์ ดังนั้นท่ามกลางอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจสองฝั่ง ประเทศไทยต้องรู้จักเลือกเดินเกมการทูต และบางกรณีก็เป็นเรื่องลับ แต่ยืนอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของไทยเป็นที่ตั้ง

             รายการ "ไทม์ไลน์ สุทธิชัย หยุ่น" ได้เปิดแง่มุมที่ยังไม่เคยมีคนไทยเท่าไหร่รับรู้ถึงการดำเนินทางการทูตระหว่างประเทศ ผ่านทาง "สิรินทร์ พัธโนทัย" หรือ "คุณแดง" ผู้เขียนหนังสือ "มุกมังกร" หรือ Dragon's Pearl ผู้เป็นทายาทของ "สังข์ พัธโนทัย" ที่ปรึกษาคนสนิทของ "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" และสิรินทร์ผู้นี้นับเป็นบุคคลที่มีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน โดยสิรินทร์เป็นคนไทยคนแรกที่ถูกส่งไปเป็นลูกเลี้ยงของ "โจว เอินไหล" นายกรัฐมนตรีคนแรกของจีน ในช่วงเวลาที่มหาอำนาจประเทศตะวันตกและจีน ได้ทำสงครามเย็นลัทธิการปกครอง โดยมีพิธีกรรายการ "สุทธิชัย หยุ่น" ดำเนินรายการ

             เริ่มต้นเท้าความถึง ในช่วงความสัมพันธ์ของไทยและจีน ที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองทั้งที่กรุงเทพฯ และปักกิ่ง ช่วงสมัยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้ลงนามกับ "โจว เอินไหล" ในช่วงปี ค.ศ.1975 เป็นการเปิดศักราชใหม่ในด้านความสัมพันธ์ จนเป็นที่แปลกใจของคนทั้งใน 2 ประเทศ เพราะสมัยนั้นประเทศไทยกับจีนยังยืนอยู่คนละฝั่ง ตอนนั้นไทยอยู่ข้างสหรัฐอเมริกาด้านโลกเสรี ส่วนจีนเป็นแกนนำคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยร่วมกับแกนนำของคอมมิวนิสต์จีนด้วย

             สิรินทร์ เล่าว่า ความสัมพันธ์ของไทยและจีนแบบเป็นทางการ มีระยะเวลามา 40 ปี แต่ในความเป็นจริงความสัมพันธ์นี้หากนับระยะเวลาที่ดำเนินไปแบบลับๆ แล้ว ถือได้ว่ามีอายุถึง 60 ปี เพราะตลอด 20 ปีที่ ตระกูล "พัธโนทัย" ต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเสรีทุนนิยมที่มีสหรัฐเป็นผู้นำ ซึ่งรัฐบาลไทยเข้าร่วม พร้อมกับการเป็นศัตรูกับลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงเป็นเรื่องยากลำบากที่ครอบครัวไทยตระกูลหนึ่งต้องกระชับมิตรกับประเทศฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ตาม ไทยก็เป็นประเทศที่ 101 ที่ได้เซ็นสัญญาสัมพันธไมตรีต่อจีน โดยได้เซ็นสัญญากับ "โจว เอินไหล" เป็นประเทศสุดท้าย

             ส่วนครอบครัวก็เป็นครอบครัวเดียวในโลก ที่ได้อยู่และสัมผัสกับผู้นำจีนในรุ่นแรกจนถึงปัจจุบันนี้ ครอบครัวของเราถูกเลี้ยงดูมาจากท่านนายกฯ โจว เอินไหล ไปจนถึงรุ่นเหลนของโจ เอินไหล ผ่านมาแล้ว 4 รุ่นด้วยกัน โดยทางครอบครัวมีประวัติศาสตร์ร่วมในด้านความสัมพันธ์ของจีนและพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการมากว่า 40 ปี แต่ก่อนหน้า 20 ปี คุณพ่อ (สังข์ พัธโนทัย) ได้ติดต่อกับจีนในสมัยนั้น ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม รับทราบอย่างไม่เป็นทางการ

             แต่สมัยนั้นฝ่ายไทยเลือกข้างสหรัฐในด้านเสรีนิยม มีการส่งทหารไปร่วมกับเกาหลีใต้ แต่ทางจีนร่วมกับทหารเกาหลีเหนือ มีการรบกันอยู่ ซึ่งต่างฝ่ายกันสิ้นเชิง ทางประเทศจีนสมัยนั้นถูกล้อมรอบด้วยอีกฝ่ายหนึ่ง สมัยสงครามโลกก็มีการแบ่งของซีกโลกทางฝั่งสหรัฐและโซเวียต

             "ในช่วงขณะนั้น โจว เอินไหล ได้หาทุกวิถีทางให้ชาวโลกได้รู้จักว่านี่คือประเทศจีน และเชื่อมั่นว่าสามารถปรับความเข้าใจกันได้มากกว่าเพื่อลดอคติลง แต่ตอนนั้นมีการต่อต้านการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ และตอนนั้นประเทศไทยเลือกข้างสหรัฐที่เป็นระบบเสรี โดยจีนโดนโจมตีหนักและถูกสร้างทัศนคติเชิงลบ มีการใส่ภาพต่างๆ แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่เป็นเลิศของ โจว เอินไหล ในครั้งที่มีการเยือนประเทศในแถบยุโรป มีการนำวัฒนธรรมของจีนที่ถือว่าเป็นกระแสมากพอสมควร นั่นคือการนำคณะอุปรากรจีน (งิ้ว) ร่วมเดินทางไปเผยแพร่ด้วย"

             สิรินทร์ เล่าผ่านความทรงจำในอดีตว่า การแสดงอุปรากรจีนได้แสดงเรื่องรักโรแมนติก มีเนื้อหาความรักของชายหญิงคู่หนึ่ง ที่เดินเรื่องทั้งสุขสมหวัง สุขเศร้าเคล้าน้ำตา ก่อนการแสดงจะมีการทำใบปลิวเพื่อโปรโมทการแสดงงิ้วให้ผู้เข้าชมเกิดความสนใจ แต่คณะทีมงานกลับบรรยายเรื่องราวไว้อย่างละเอียด ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ โจว เอินไหล เป็นอย่างมาก เพราะเห็นว่าใบปลิวแบบนี้ใครจะมานั่งอ่านให้เสียเวลา พร้อมกับชี้แนะด้วยความเฉียบคมว่า ละครที่จะแสดงให้ใช้ชื่อว่า “โรมิโอแอนด์จูเรียตแห่งเมืองจีน” ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างมากมายว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าประเทศที่ปกครองระบอบคอมมิวนิสต์จะมีเรื่องราวโรแมนติกแบบนี้ด้วย ถือเป็นสื่อให้ผู้คนได้รับรู้ความเป็นจริงของประเทศจีนในทางอ้อมด้วย

             นอกจากนี้ ในยุคนั้นประเทศไทยต้องพึ่งสหรัฐที่มากด้วยอำนาจ และเศรษฐกิจก็ต้องพึ่งพา และด้วยช่วงนั้นสภาวะการเมืองจีนอาจไม่เรียบร้อยมากนัก และเป็นประเทศที่ใกล้กันและเกรงว่าจะมีการรุกรานไทย ส่วนนี้เองคุณพ่อจึงคิดและพยายามจะปกป้องประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยว่าจะอยู่ร่วมกับจีนอย่างไร

             ต่อมามีประเทศที่เป็นตัวกลางสำคัญไม่เข้าข้างฝ่ายใด ที่สำคัญคือ อินโดนีเซีย ที่มีนายกฯ ซูการ์โน รวมทั้งผู้นำทั้งหลายก็มาคิดกันว่า เราควรริเริ่มจัดประชุมนานาชาติแบบที่เขาจัดกัน โดยที่ไม่เข้ากับฝั่งหนึ่งฝั่งใด รวมถึงนายกฯ โจว เอินไหล ก็เห็นด้วย จึงมีแนวคิดดึงประเทศที่เป็นกลางร่วมกันจัดการประชุมเพื่อคลี่คลายปัญหาและได้อยู่กันอย่างสันติ โดยนายกฯ ซูการ์โน ยกมือขอจัดขึ้นที่บันดุง แต่การประชุมครั้งแรกไม่มีประเทศไทยเข้าร่วม แต่เราอยากรู้ความเคลื่อนไหวท่าทีของจีนต่อประเทศในภูมิภาค

             ดังนั้นพอเริ่มมีการประชุมดังกล่าว คุณพ่อเล็งเห็นว่าไทยมีความจำเป็นต้องเข้าร่วมประชุม เพราะเป็นห่วงเรื่องความเป็นอยู่ของประเทศ จึงเข้าไปเป็นผู้ทำรายงานในการประชุมครั้งนั้น ซึ่งไม่ได้อยู่ในฐานะรัฐบาล และเราพยายามจะเข้าถึงจีน และนายกฯ โจว เอินไหล ก็อยากรู้จักไทย จนมีโอกาสเข้าหารือกันในสถานที่หนึ่งที่ไม่เคยเปิดเผย โดยคณะผู้แทนไทยมีความประทับใจในตัวนายกฯ โจว เอินไหล เป็นอย่างมาก กระทั่งมีการสานสัมพันธ์กันในเบื้องหลังรัฐบาล โดยนายกฯ โจว เอินไหล ส่งของขวัญมอบให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผ่านทางคุณพ่อด้วย คุณพ่อจึงใช้โอกาสนี้พูดถึงนโยบายทางการต่างประเทศว่าต้องมีการปรับเปลี่ยน เพราะเสี่ยงถึงความมั่นคงในประเทศ

             "ในจุดนี้เอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นด้วย แต่เมื่อรัฐบาลไทยอยู่ฝ่ายเสรีทุนนิยม จึงไม่อาจเปิดเผยความสัมพันธ์กับจีนอย่างเป็นทางการได้ จึงมอบหมายให้คุณพ่อสานต่อความสัมพันธ์ในรูปแบบการแทรกซึมของประชาชนกับประชาชน โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทย ทำให้ประเทศไทยเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่มีลักษณะความสัมพันธ์แบบส่วนตัว ที่ได้พัฒนาความแน่นแฟ้นกันมากที่สุด และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ร่วมกับจีนมายาวนานเช่นเดียวกัน ก่อนที่ชาติต่างๆ ในแถบนี้จะพัฒนาตัวเองว่า “ชาติอาเซียน” ด้วยซ้ำ" สิรินทร์ บอกกล่าวถึงการทูตแบบไม่เปิดเผยเป็นทางการของไทยและจีน

             "จอมพล ป. พิบูลสงคราม มอบเงื่อนไขให้คุณพ่อรับผิดชอบบุกเบิกประเทศจีน แต่บอกว่าอย่ามายุ่งกับผม ไม่รับรู้เป็นทางการ ทางคุณพ่อก็ไม่เคยอยู่ในระบบราชการก็ทำในแบบประชาชนกับประชาชนก็สอดคล้องกับนโยบายของจีน ระหว่างปี ค.ศ.1949 จนเปิดสัมพันธ์ใน ค.ศ.1972 ตรงนี้นายกฯ โจว เอินไหล ได้ริเริ่มขึ้น ทางองค์กรสำคัญของจีนได้ทำบันทึกประวัติศาสตร์ในเรื่องการทูตระหว่างประชาชนกับประชาชน ทำไว้ 8 ตอน ตั้งแต่เปิดประเทศจนปัจจุบัน ทำไว้ว่ามีความสำคัญอย่างไร"

             ดังนั้นก่อนที่จะเซ็นสัญญาความสัมพันธ์ฉบับ 40 ปีเป็นทางการ ได้มีรูปแบบการทูตให้อยู่ด้วยกันอย่างสันติ ฉบับประชาชนต่อประชาชน และเรื่องราวครั้งนั้น ประธานเหมา เจ๋อตุง ก็ร่วมรับรู้ด้วย ต่อมาสหรัฐจึงรู้ถึงสัมพันธไมตรีไทยกับจีนดังกล่าว และยิ่งรู้ว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคุณพ่อเป็นผู้สนับสนุน จึงมีแผนการกดดันให้ต้องเลือกข้าง คุณพ่อตัดสินใจอยู่เมืองไทย แต่เราเลือกไปจีนและดำเนินชีวิตกับครอบครัวนายกฯ โจว เอินไหว ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง ที่ได้ชื่อว่า “เป็นมิตรกับศัตรู เลี้ยงดูศัตรูเป็นมิตร”

             "เป็นมุมที่ประชาชนในขณะนั้นเลื่องลือมาก เป็นการทูตแบบประชาชนกับคอมมิวนิสต์จีน ที่ทำให้ไม่เกิดการต่อต้านหรือรุกราน ทั้งที่รัฐบาลไทยเลือกอยู่ฝั่งตรงข้ามกับจีน การทูตไทยกับจีนจึงมีความสัมพันธ์ที่อ่อนโยน แม้คุณพ่อถูกจับกุมในเวลาต่อมาด้วยเหตุผลทางการเมือง" สิรินทร์ กล่าว และว่า จากนั้นสมาชิกในครอบครัวทั้งหมดจึงไปอยู่ที่ประเทศจีน ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นและรวมญาติทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งฝั่งตระกูลพัธโนทัย และฝั่ง โจว เอินไหล มีบ้างที่เกิดความขัดแย้งต่อกัน แต่พอนั่งคุยกัน ปัญหาต่างๆ ก็คลี่คลายออกไป

             ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวที่หนึ่งครอบครัวไทยได้พัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ได้อย่างแนบแน่น และซ่อนตัวไว้จนเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยสืบต่อจนถึงทุกวันนี้ เป็นอีกกลยุทธ์การทูตไทยนอกแบบแผน ที่ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นคู่ขัดแย้งกับจีน