ข่าว

 ‘การปฏิรูป’คืออะไร?

‘การปฏิรูป’คืออะไร?

19 ส.ค. 2558

‘การปฏิรูป’คืออะไร? : มอนิเตอร์ร่างรัฐธรรมนูญ โดยสำนักข่าวเนชั่น

               ถึงแม้ล่าสุดดูเหมือนคำถามประชามติเรื่อง “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติหลังเลือกตั้ง” จะมาแรงกว่าคำถาม “ปฏิรูป 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง” แต่การตั้งคำถามถึงคำว่า “ปฏิรูป” ว่ากินความแค่ไหน อย่างไร ยังคงอยู่

               ผู้คนจำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญกับความหมายของ “การปฏิรูป” มากขึ้น หลังจากมีข้อเสนอ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ขึ้นมาอย่างเป็นจริงเป็นจัง ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” และ สปช.กลุ่มหนึ่ง ที่ผลักดันออกมาเป็นคำถามประชามติเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาเพื่อให้รัฐบาลอยู่ปฏิรูป 2 ปี จึงค่อยจัดการเลือกตั้ง หรือข้อเสนอของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการ กปปส. ที่วันนี้สวมหมวกเป็น “ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” ที่มาแถลงข้อเสนอแทบจะทันทีหลังสึกออกมาว่า ต้องการให้รัฐบาลอยู่ปฏิรูปให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจะไปเลือกตั้ง โดยไม่กำหนดกรอบระยะเวลา“รสนา โตสิตระกูล” สมาชิก สปช. ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่อง “การปฏิรูป” ว่า การปฏิรูปที่แท้จริงจะต้องสร้างกลไกเพื่อถ่วงดุลอำนาจ เพื่อแก้รากเหง้าของปัญหาคือการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็น โดยเฉพาะจากตัวร่างรัฐธรรมนูญ

               รสนาบอกว่า ที่ผ่านมา “กลุ่มทุน” จะอยู่เบื้องหลังหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือการเมืองที่มาจากการยึดอำนาจ กลุ่มทุนมักเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างๆ  ของฝ่ายการเมือง และกลายเป็นปัญหาอุปสรรค ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น หัวใจของการปฏิรูปจึงต้องสร้างกลไกถ่วงดุลอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น “อำนาจทุน” หรือ “อำนาจการเมือง”

               “แม้ปัจจุบันจะมีกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจอยู่แล้ว คือ ข้าราชการและองค์กรอิสระต่างๆ แต่ยังไม่เพียงพอ จุดสำคัญต้องมีกลไกตรวจสอบจากภาคประชาชนด้วย แต่หลายกลไกถ่วงดุลของภาคประชาชนที่กำหนดไว้ในร่างแรกของรัฐธรรมนูญกลับถูกตัดออกไป เช่น องค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค”

               รสนา ยกสมการเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น “คอร์รัปชั่น = อำนาจ - การตรวจสอบ” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทั้ง 3 ส่วนนี้มีความสัมพันธ์กัน นั่นคือ ยิ่งไม่มีการตรวจสอบการใช้อำนาจก็ยิ่งจะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้น สมมุติ มีอำนาจ 10 การตรวจสอบเป็น 0 ก็จะทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นเท่ากับ 10 แต่หากการตรวจสอบมีเพิ่มขึ้น การคอร์รัปชั่นก็จะลดลง

               “หากไม่มีการสร้างกลไกถ่วงดุลโดยประชาชน ไม่ว่าจะใช้เวลาอีก 2 ปี หรืออีกกี่ปี การปฏิรูปที่แท้จริงก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากเป็นเช่นนั้นจะไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นเพียงแค่อำนาจผลัดกันชมเท่านั้น การบอกให้อยู่ปฏิรูปก่อนแล้วค่อยไปเลือกตั้ง เหมือนให้เซ็นเช็คเปล่าไว้ให้ หากไม่มีการปฏิรูปที่แท้จริงก็เป็นเหมือนหินทับหญ้า แค่ทับเอาไว้ แต่ไม่ได้ไปแก้ที่ต้นตอปัญหาจริงๆ แบบนี้ก็จะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ได้”

               ถามว่าจะยกมือเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้ไหม รสนา กล่าวว่า ต้องดูเนื้อหา แต่ถึงที่สุดแม้จะไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดก็อาจต้องรับ เพราะไม่รู้ได้เลยว่า หากมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะดีหรือแย่กว่านี้ “เป็นสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก”!!