ข่าว

ปลาหางนกยูง'ซัน กัปปี'ต่อยอดห้องเรียนสู่รายได้ครึ่งแสน

25 ส.ค. 2558

ปลาหางนกยูง'ซัน กัปปี'ต่อยอดห้องเรียนสู่รายได้ครึ่งแสน : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยลัทธวิทย์ ธูปแจ้ง :เรื่อง วันชัย ไกรศรขจิต :ภาพ

            หากกล่าวว่า มีหนุ่มอายุ 19 ปี มีความสามารถในการหารายได้เสริมให้ตัวเอง ฟังแล้วก็คงไม่แปลกอะไรนัก แต่หากกล่าวว่ามีหนุ่มอายุ 19 ปี ตอนนี้เป็นเจ้าของธุรกิจแล้ว คงน่าสนใจมากกว่า ซึ่งก็คือ "ต้นกล้า" วิรภูมิ หงส์ศุภางค์พันธ์ นิสิตปี 1 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะประมง เอกการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ที่เป็น เจ้าของธุรกิจเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูง ร้าน "Sun Guppy (ซัน กัปปี)"

            เราอาจสงสัยว่าทำไมนิสิตมหาวิทยาลัย ปี 1 จึงมีกิจการเป็นของตัวเองได้ "ต้นกล้า" ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า เขามีความฝันอยากเป็นนักลงทุน แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องมีเงินทุนไว้คอยสนับสนุนตัวเอง จึงเริ่มทำงานเพื่อเก็บหอมรอมริบ ทำจากงานเล็กๆ ซึ่งทำมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม เช่น ขายเสื้อกีฬา, ขายแผ่นดีวีดีเกม เป็นต้น และด้วยความที่ชอบเลี้ยงปลาอยู่แล้ว จึงตัดสินใจที่จะเลี้ยงปลาเพื่อการค้า

            “ผมมีความคิดว่าการที่เราเลี้ยงปลา เราต้องเสียทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ เครื่องทำอากาศ ทำไมเราไม่ลองเลี้ยงปลาให้ได้เงินดูบ้าง แต่เนื่องจากที่บ้านไม่ได้มีพื้นที่ใช้สอยมากนัก เมื่อเพาะพันธุ์ปลาออกมาได้มากๆ ก็ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับเก็บปลาได้ ดังนั้น ปลาหางนกยูง จึงตอบโจทย์ทุกข้อที่ผมตั้งไว้ ทั้งเสน่ห์ของมัน สีสันและความสวยงาม ที่สำคัญเป็นปลาขนาดเล็ก ไม่เปลืองพื้นที่” วิรภูมิ กล่าว

            ในช่วงแรก “ต้นกล้า”  หนุ่มกรุงเทพฯ ได้เพาะเลี้ยงเจ้าปลาตัวน้อยๆ เหล่านั้นไว้ที่บ้านก่อน และใช้ประโยชน์จากสื่อยุคใหม่ โซเชียลมีเดียหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ ในการประกาศขายปลาหางนกยูง ตามกลุ่มคนรักปลาต่างๆ ทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Tonkla Hongsupangpan และติดต่อโดยตรงกับเขาที่เบอร์โทรศัพท์ 08-3607-6623 แต่สุดท้าย เขาก็ตระหนักว่าการขายของ ไม่ว่าจะเป็นปลาหรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ จำเป็นต้องมีหน้าร้าน เพื่อให้ลูกค้าทราบว่าร้าน "ซัน กัปปี" มีตัวตนอยู่บนโลกนี้ และเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่เจ้าของร้านด้วย

            เมื่อมีหน้าร้านของตัวเองเรียบร้อยแล้ว เขาจึงได้ลงปลาชุดใหม่ทันที โดยร้านตั้งอยู่ที่ ล็อก B 20 ซอย 2 ตลาดศรีสมรัตน์ ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์เด็ก จตุจักร เปิดเวลา 10.30-17.30 น. และหยุดทุกวันจันทร์ เสียค่าเช่าเดือนละ 1 หมื่นบาท และจัดว่าอยู่ในทำเลที่ดี เพราะตลาดศรีสมรัตน์เป็นตลาดขายสัตว์เลี้ยงที่เป็นที่รู้จักของคนเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ ไม่เฉพาะแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่รู้จักในระดับอาเซียนและเอเชียด้วย

            และแน่นอนว่าการทำงานแต่ละอย่าง ย่อมต้องมีอุปสรรคเป็นธรรมดา ในครั้งแรกที่นำปลามาลงที่ร้านก็เกิดปัญหาขึ้นทันที มีปลาติดโรค และเมื่อปลาหลายๆ ตัวมาอยู่ในที่เดียวกัน ประกอบกับร้านเป็นมุมอับ ไม่มีอากาศถ่ายเท จึงเป็นศูนย์รวมของเชื้อโรค ทำให้ปลาทั้งร้านติดเชื้อโรคไปด้วย ปลาชุดนั้นไม่สามารถขายได้ แตกต่างกับปลาหางนกยูงที่เลี้ยงที่บ้านที่ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ จึงได้แก้ไขด้วยการแบ่งตู้ปลาให้เล็กลง (สูง 30 ซม. กว้าง 15 ซม. ยาว 15 ซม.) ให้ปลาอยู่เพียง 1-2 ตัว ต่อ 1 ตู้ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคน้อยลง

            ปัญหาอีกข้อคือ ปลาผลิตไม่ทันขาย อาจฟังดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ "ต้นกล้า" กล่าวว่า เป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่ เพราะมีลูกค้าหลายรายที่สั่งปลาจาก “ซัน กัปปี” เป็นรายเดือน และการที่ไม่สามารถส่งปลาให้ลูกค้าได้ตามใบสั่ง ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้ร้านขาดความเป็นมืออาชีพ ลูกค้าอาจจะมองหาร้านใหม่ที่มีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการ จึงได้แก้ปัญหาด้วยการใช้วิธี "Contact Farm (คอนแท็ค ฟาร์ม)" คือการนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปฝากเลี้ยงไว้กับคนอื่นแล้วคอยเก็บเอาลูกๆ มาขายต่อไป โดยมีเพื่อนร่วมคณะประมงให้ความสนใจเป็นอย่างดี นำปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปเลี้ยงกันพอสมควร ทำให้มีปลาที่พร้อมขายมากขึ้น

            “สำหรับราคาปลาหางนกยูงที่ขายในปัจจุบัน มีตั้งแต่คู่ละ 50 บาท จนถึงคู่ละ 2,000 บาท ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และกระแสในขณะนั้น โดย ซัน กัปปี มีสินค้าที่ช่วยเสริมการเติบโตของปลา ทั้งอาหารเฉพาะของหางนกยูง วิตามินต่างๆ โดยจะขายพร้อมกับปลาไปเลย เพื่อความสะดวกของลูกค้า” นิสิตปี 1 ม.เกษตรศาสตร์ กล่าว

            ในส่วนผลประกอบการนั้น ช่วงแรก ซึ่งเริ่มเปิดขายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้ไม่ได้ดีอย่างที่หวังไว้ แต่ก็ไม่ถึงกับขาดทุน เพราะเขาได้สิ่งสำคัญที่สุดของการทำธุรกิจกลับมาคือ การเป็นที่รู้จักของคนในแวดวงปลาสวยงามมากขึ้น เนื่องจากในตลาดการค้าขายปลานั้น มีร้านจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ในร้านร้านหนึ่ง จะขายปลาหลายประเภท แต่ "ซัน กัปปี" เป็นร้านเฉพาะทาง ขายเพียงปลาหางนกยูงเท่านั้น ซึ่งเมื่อมีลูกค้าสนใจปลาหางนกยูงก็จะมาที่ร้าน อีกทั้งร้านที่ขายแต่ปลาหางนกยูงก็มีไม่มาก คู่แข่งขันจึงน้อย

            เมื่อทุกอย่างลงตัว ทั้งการขายที่ร้านและการใช้สื่อออนไลน์ตีตลาดข้ามประเทศ ทำให้เขามีลูกค้าต่างชาติมาซื้อด้วย อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย อังกฤษ เป็นต้น ทำให้ตอนนี้ "ต้นกล้า" ยอมรับว่า นอกจากต้นทุนได้คืนแล้ว ซึ่งมียอดขายประมาณ 3-5 หมื่นบาทต่อเดือน หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังมีกำไรเหลือไปมอบให้พ่อแม่ และเก็บไว้ใช้เรียนหนังสือเองด้วย ชนิดหลักหมื่นบาท เสมือนเงินเดือนคนทำงานจบวุฒิปริญญาตรีเลยทีเดียว

            อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่กำลังศึกษาอยู่ จึงมีเวลาให้ร้านได้ไม่เต็มที่นัก แต่เขาได้พยายามจัดสรรเวลา ลงทะเบียนเรียนในวิชาที่สามารถเลิกได้ช่วงเที่ยงของแต่ละวัน เพื่อไม่ให้การทำงานกระทบกับการเรียน และด้วยระยะทางจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) กับร้าน (ตลาดศรีสมรัตน์ จตุจักร) ไม่ได้ไกลมากนัก การเดินทางจึงไม่ลำบาก รวมถึงการที่เป็นนักศึกษาคณะประมง ทำให้ วิรภูมิ สามารถนำความรู้จากห้องเรียน โดยเฉพาะเรื่องน้ำและสัตว์น้ำ ไปใช้ประโยชน์ในการอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ จึงทำให้ร้าน “ซัน กัปปี” ดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

            “ตัวอย่างที่ผมอธิบายกับลูกค้า เช่น กรณีที่ปลาหางนกยูงมีอาการซึมเศร้า เราจะต้องใส่เกลือลงไปในน้ำเล็กน้อย เพื่อให้ปลาได้แลกเปลี่ยนไอออนและหายซึมเศร้า การอธิบายแบบนี้จะทำให้ลูกค้ามั่นใจในร้านมากขึ้น” ต้นกล้า กล่าว

            แม้ร้านของเขาจะติดตลาดแล้ว แต่นักธุรกิจหนุ่มที่เอาดีทางด้านการขายปลาหางนกยูงไม่คิดจะหยุดแค่นี้ แต่ต้องการให้ร้านเล็กๆ ของเขา เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ เอเชีย และโลก ให้ได้ แม้รู้ว่าเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลาอีกนาน แต่เขายืนยันว่าจะทำให้ได้ โดยจะพัฒนาสายพันธุ์ปลาของตัวเองให้มีมาตรฐานสูงขึ้นเพื่อให้โลกยอมรับ เช่นเดียวกับตัวเลขรายได้ ซึ่งไม่ได้มองแค่การหาเลี้ยงตัวเองให้รอดเท่านั้น แต่ต้องมากพอที่จะเลี้ยงครอบครัวของเขาด้วย

            “ผมจะบอกข้อเท็จจริงทั้งหมดกับลูกค้า จะไม่โกหกหรือโฆษณาเกินจริง เพื่อทำให้ปลาที่ลูกค้าซื้อไปนั้นมีชีวิตอยู่ได้นานและสวยงามที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะคนที่ซื้อปลาไป คงไม่อยากให้ปลาของตัวเองต้องตาย ผมเองก็อยากให้ปลามีชีวิตอยู่ได้นานและสวยงามที่สุดเช่นกัน การทำธุรกิจนั้น ผมไม่ได้มองแค่ผลกำไร แต่ทำด้วยความรัก ซึ่งเชื่อว่าความรักตรงจุดนี้ จะทำให้ผมก้าวไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้แน่นอน และการเป็นนักลงทุน ก็ต้องกล้าได้กล้าเสีย ผมมีเป้าหมายที่ใหญ่ครับ คนเราต้องตั้งเป้าหมายให้ใหญ่ไว้ก่อน แล้วก็เดินหน้าไปให้เต็มที่” ต้นกล้า กล่าวทิ้งท้าย

วิธีเพาะพันธุ์ “ซัน กัปปี”

            การเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูงนั้น วิรภูมิ หงส์ศุภางค์พันธ์ เล่าว่า ก็เหมือนกับการเพาะเลี้ยงปลาชนิดอื่นๆ โดยอันดับแรก ต้องจับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงมาไว้ในตู้เดียวกันก่อน (พ่อพันธุ์ที่แข็งแรงต้องมีอายุพร้อมเจริญพันธุ์ น้ำเชื้อสมบูรณ์ แม่พันธุ์ต้องมีขนาดใหญ่ ร่างกายสมบูรณ์) และเมื่อพ่อพันธุ์ฉีดน้ำเชื้อแล้ว แม่พันธุ์จะใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 1 เดือน และจะออกลูกเป็นตัว จากนั้นต้องแยกลูกปลากับแม่ปลาออกจากกัน เพราะธรรมชาติของปลาหางนกยูง แม่จะกินลูกของมันเอง จากนั้นให้อาหาร เลี้ยงดูตามปกติ จนกระทั่งปลามีขนาดตามที่ต้องการ ก็สามารถนำมาขายได้

            แม่ปลา เมื่อออกลูกแล้วจะมีช่วงพักประมาณ 1-3 วัน จึงจะสามารถผสมพันธุ์อีกครั้งได้ โดยจำนวนลูกปลาและความสวยงามของลูกปลานั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งขนาดของแม่พันธุ์ ความสมบูรณ์ของน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ สายพันธุ์ของปลา น้ำ อุณหภูมิ สภาพแวดล้อม เป็นต้น

            “การผสมพันธุ์ปลาข้ามสายพันธุ์ ทำได้อย่างแน่นอน เมื่อปลาหางนกยูงสองสายพันธุ์มาผสมพันธุ์กันก็จะเกิดการกลายพันธุ์ กลายเป็นปลาหางนกยูงพันธุ์ใหม่ขึ้นมา การผสมพันธุ์ปลานับเป็นเรื่องพื้นฐานที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่การผสมพันธุ์ปลาออกมาให้สวย ไม่ใช่เรื่องที่ใครก็ทำได้ นักเพาะพันธุ์ปลาที่มีฝีมือที่คนในวงการยอมรับ มีประสบการณ์ในการเพาะพันธุ์ปลา จะไม่จับปลามั่วๆ มาผสมกัน โดยเขาจะต้องรู้ความต้องการของลูกค้าก่อนว่า ต้องการปลารูปร่างแบบหางนกยูงพันธุ์อะไร สี ลาย และครีบแบบไหน โดยใช้ประสบการณ์ที่เรียนรู้มาดูว่า ต้องเป็นตัวนี้ผสมกับตัวนี้ ถึงจะได้ปลาแบบที่ต้องการออกมา ถือเป็นศิลปะอีกขั้นหนึ่งเลยก็ว่าได้” วิรภูมิ กล่าว