ข่าว

ใบไม้สีทอง'สวยมหัศจรรย์...สู่งานศิลป์เงินล้าน!

ใบไม้สีทอง'สวยมหัศจรรย์...สู่งานศิลป์เงินล้าน!

24 ก.ย. 2558

ใบไม้สีทอง'สวยมหัศจรรย์...สู่งานศิลป์เงินล้าน! : คมคิด โดยธานี กุลแพทย์

            ประกายความคิดสู่การลงมือปฏิบัติอย่างมุ่งมั่นของเด็กหนุ่มเมืองยะลา อับดุลมาลิก เจ๊ะตีรอกี และผองเพื่อน “กลุ่มบ้านใบไม้” ที่ช่วยกันสรรค์สร้าง “ย่านดาโอ๊ะ” หรือ “ต้นไม้สีทอง” พืชท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปถึงความงดงาม ความมหัศจรรย์ในการเปลี่ยนสีหาที่อื่นใดในโลกไม่ได้นอกจากพื้นที่เทือกเขาบูโดรอยต่อ 3 จังหวัดชายแดนใต้ถูกพัฒนาต่อยอดสู่เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน การันตีโอท็อป 5 ดาว ได้กระตุ้นกระแสตอบรับจากผู้บริโภคต่อเนื่อง ไม่เฉพาะลูกค้าชาวไทยที่สนใจแต่ก้าวไกลสู่ตลาดโลก สร้างอาชีพ สร้างเม็ดเงินสู่ชุมชนนับล้านบาทต่อเดือน

            อับดุลมาลิก เจ๊ะตีรอกี หรือ ดุลย์ ในวัย 39 ปี ประธานกลุ่มบ้านใบไม้ บัณฑิตภาคการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ย้อนให้ฟังว่า เป็นลูกคนที่ 3 ในพี่น้องจำนวน 4 คน ของครอบครัวซึ่งมีอาชีพทำสวนยาง ลองกอง แห่ง ต.บาโงย อ.รามัน จ.ยะลา

            ตั้งแต่เด็กดุลย์ผูกพัน รับรู้เรื่องราวของ “ย่านดาโอ๊ะ” โดยเฉพาะใบที่สวยสะดุดตาคล้ายกำมะหยี่ การเปลี่ยนจากสีเขียว สู่สีนาค สีทอง และสีเงิน อันเป็นคุณสมบัติโดดเด่น เขาจึงได้ติดตามศึกษาธรรมชาติของพืชชนิดนี้มาตลอด กระทั่งเห็นจริงถึงความสวยงามว่าควรค่าแก่การอนุรักษ์ ควรส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักของผู้คนควบคู่กันไป มองว่าสร้างอาชีพให้ท้องถิ่นได้ ผนวกกับชาวบ้านส่วนใหญ่เชื่อว่าต้นไม้สีทองเป็นพืชราชาแห่งป่า ซึ่งสมัยก่อนหากใครที่เดินทางเข้าป่ามักนิยมพกเหน็บไว้บริเวณเอวเพื่อป้องกันสัตว์ร้ายและภัยอันตรายต่างๆ

            เหล่านี้เป็นแรงผลักทำให้ดุลย์รวบรวมผองเพื่อนชายล้วน 17 คน ตั้งเป็น “กลุ่มบ้านใบไม้” ขึ้นในปี 2549 สร้างสรรค์ผลงานใบไม้สีทองในกรอบรูปหลากสไตล์ในโหมดเฟอร์นิเจอร์ เพื่อผู้ที่ต้องการเก็บเป็นของที่ระลึก ตลอดจนนำไปประดับบ้านเรือนเพื่อความเป็นสิริมงคล

            “เราระดมทุนจากสมาชิกในกลุ่มได้ทั้งหมด 3 หมื่นบาท เพื่อนำเงินมาซื้ออุปกรณ์เข้ากรอบ เครื่องตัดกรอบรูป ตลอดจนสร้างโรงงานผลิตเล็กๆ ซึ่งทุกคนต่างให้ความร่วมแรงร่วมใจดีมาก เป้าหมายของกลุ่ม แรกก็คือ นำใบไม้สีทองที่ว่านี้มาเข้ากรอบรูปเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกประจำจังหวัด” ดุลย์บอกถึงเป้าหมาย

            โดยการทำงานระยะแรก ยึดแนวทางความถนัดของแต่ละบุคคลเป็นหลัก ส่วนการคีเอทีฟงาน รวมทั้งการออกแบบชิ้นงาน เขาเป็นผู้ดูแลทั้งหมด เช่นเดียวกับด้านการตลาดที่ส่วนใหญ่กลุ่มจะขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

            ต่อเมื่อปี 2550 ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) และชิ้นงานได้รับรางวัลโอท็อป 5 ดาวของจังหวัด จึงมีกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เข้ามาช่วยหาตลาด แนะนำด้านบรรจุภัณฑ์ ดีไซน์ ด้วยมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางและระดับบนเป็นหลัก

            กรมต่างๆ เหล่านี้ได้เปิดโอกาสให้ผลงานของกลุ่มได้ออกร้านตามเทศกาลต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งงานโอท็อปที่เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เป็นประจำทุกปี และเดินสายโรดโชว์ต่างประเทศ ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ จีน เซี่ยงไฮ้ เนเธอร์แลนด์ ผลก็คือชิ้นงานของกลุ่มได้รับการตอบรับจากลูกค้าชาวต่างชาติอย่างมาก โดยเฉพาะที่เมืองเฉิงตูและคุนหมิงของจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเปิดสาขาที่คุนหมิง

            “ชาวจีนสนใจกันมาก เพราะความเชื่อของเขาที่ว่าต้นใบไม้สีทองเป็นไม้มงคลที่สวยงาม ไม่มีที่ใดในโลกนอกจากที่เขาบูโดของไทยเรา ประมาณว่าหากมีไว้ครอบครองจะทำให้ชีวิตมีความสุข ฉะนั้นกลุ่มจึงมีออเดอร์จากที่นี่ 2 เดือนต่อลอต ลอตละนับหมื่นชิ้น”

            ด้วยสนนราคาตั้งแต่ 500-35,000 บาท ปัจจุบันเดือนเดือนหนึ่งกลุ่มสร้างสรรค์งานทำรายได้เฉลี่ยหลักล้านบาท ด้วยฝีมือของสมาชิกเกือบ 30 ชีวิต แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 65% และตลาดต่างประเทศ 35% ทั้งนี้ ชิ้นงานเล็กสุด ประกอบด้วย ใบไม้สีทอง 1 ใบ พร้อมกรอบรูป ราคา 500 บาท ส่วนขนาดใหญ่สุดสูง 2 เมตร พร้อมใบไม้สีทอง 99 ใบ ราคา 35,000 บาท

            โดยวิธีคัดเลือกวัตถุดิบก่อนนำมาเข้ากรอบนั้น ดุลย์เล่าให้ฟังว่า ธรรมชาติของต้นไม้ชนิดนี้บนเทือกเขาบูโดในหนึ่งฤดูกาลจะมีสีสันที่แตกต่างกันถึง 4 สี ดังนั้นจึงต้องทราบธรรมชาติของไม้ชนิดนี้ในการผลัดเปลี่ยนสีใบได้ถูกเวลา เริ่มจากสีเขียว สู่สีนาค สีทอง ก่อนผันเป็นสีเงินช่วงฤดูใบไม้ร่วง และกลับสู่วัฏจักรสีเขียวอีกครั้ง

            “ที่มีมากที่สุดคือสีทอง คือจะมีลักษณะเป็นกำมะหยี่ทองออกม่วง หรือกำมะหยี่สนิมทองปกคลุมทั้งใบ ซึ่งแต่ละต้นจะไม่เป็นทุกใบจะเป็นเฉพาะบางส่วนเท่านั้น”

            ทั้งมวลนี้ เมื่อได้ใบไม้สีทองมาแล้วก็จะนำมาอบโดยใช้วิธีภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่กลุ่มคิดค้นเพื่อให้ได้การเก็บรักษาให้คงอยู่ในสภาพเดิมหลังเก็บจากต้น กระทั่งได้สูตรสำเร็จที่เก็บรักษาได้ยาวนานหลายปี และเมื่อนำมาเข้ากรอบก็ส่งให้ชิ้นงานนี้สวยโดดเด่นได้อย่างลงตัว

            ล่าสุดกลุ่มได้นำใบไม้ที่คัดทิ้งไป มาเพิ่มค่าแกะสลักเล่าเรื่องราวลงบนใบไม้ก่อนนำใส่กรอบ เป็นอีกผลงานที่ตลาดอินเดียสั่งออเดอร์เข้ามาเป็นประจำทุกเดือน เดือนละกว่าพันชิ้น ด้วยสนนราคาชิ้นละ 1,500 บาท

            สำหรับแผนการตลาดในอนาคต ดุลย์บอกว่า กลุ่มได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับผู้ประกอบการในประเทศกลุ่มอาเซียน อีกทั้ง เยอรมนี สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ซึ่งให้ความสนใจจะนำชิ้นงานนี้ไปจำหน่าย เชื่อมั่นใจจะได้ผลตอบรับที่ดีสืบเนื่องจากชาวต่างชาติเชื่อในความเป็นสิริมงคล ความสวยมหัศจรรย์ของใบไม้สีทองนี้

            อย่างไรก็ตาม การสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์เข้ากรอบใบไม้สีทองจนเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างชาตินั้น  นับเป็นความสำเร็จเบื้องต้นของ

            อับดุลมาลิก เจ๊ะตีรอกี ทว่า เหนืออื่นใดคือความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมพัฒนายกระดับรายได้ให้แก่ผู้คนในท้องถิ่น

            ที่สำคัญเป็นอาชีพที่ไม่ต้องเดินทางออกนอกชุมชน ซึ่งทุกนาทีมีความเสี่ยงต่อวิถีชีวิต ท่ามกลางบริบทของสถานการณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ยังคุกรุ่นเฉกเช่นปัจจุบัน


“ย่านดาโอ๊ะ”แห่งขุนเขาบูโด

            พรรณไม้ในวงศ์ Leguminosae ชื่ออื่นๆ ใบไม้สีทอง เถาใบสีทอง โดยเฉพาะชื่อ “ใบไม้สีทอง” ตั้งโดย ศ.ไค ลาร์เสน นักพฤษาศาสตร์ชาวเดนมาร์ก เมื่อ พ.ศ.2532 โดยตั้งชื่อตามสีของใบ (Chryso-สีทอง, Phyllun-ใบ)

            ถิ่นกำเนิดพบเฉพาะในเขต จ.ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ขึ้นตามที่โล่งริมลำธารในป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูง 50-200 เมตร เป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ มีมือเกาะม้วนงอ เลื้อยขึ้นคลุมเรือนยอดต้นไม้ใหญ่ได้ไกลถึง 30 เมตร

            ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปเกือบกลม ปลายใบหยักเว้าเป็นแฉกลึก 2 แฉก โคนใบเว้าหยักคล้ายรูปหัวใจ ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงคล้ายกำมะหยี่ เริ่มแรกใบจะเป็นสีนาค เมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์จะกลายเป็นสีน้ำตาลและเข้มขึ้นเรื่อยๆ จน 3 เดือนจะเป็นสีทอง และอีก 6-7 เดือนต่อจากนั้นจากสีทองจะกลายเป็นสีเงิน

            ดอก สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีครีม มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะที่ปลายกิ่ง ช่อละ 2-3 ดอก ผล เป็นฝักแบนยาวคล้ายฝักดาบ เมื่อแห้งจะแตก