
อุยกูร์:ปัญหามุสลิมในจีน(2)
อุยกูร์:ปัญหามุสลิมในจีน (2) โลกมุสลิม โดยศราวุฒิ อารีย์
เขตปกครองซินเจียงอุยกูร์มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ของกลุ่มประชากร อย่างที่เรียนไปเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าชาวมุสลิมอุยกูร์เป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุดในพื้นที่ประมาณร้อยละ 45 ถัดมาคือชาวจีนฮั่นที่มีประชากรอยู่ประมาณร้อยละ 39 รองลงมาคือชาวมุสลิมฮุย และประชากรชนชาติอื่นๆ อีกมากมาย ลักษณะความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างชาวอุยกูร์ ชาวฮุย และชาวจีนฮั่นในซินเจียงน่าสนใจครับ เพราะมันสะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
มุสลิมฮุยกับชาวอุยกูร์ดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนา ก่อนหน้าทศวรรษที่ 1960 รัฐบาลจีนจะใช้คำว่า ‘ฮุย’ กับทั้งชาวอุยกูร์และชาวฮุยแบบไม่มีการแยกแยะ ชาวฮุยจำนวนไม่น้อยปัจจุบันยังคงใช้คำหลายคำที่เป็นภาษาของชาวอุยกูร์บรรพบุรุษของชาวฮุยเองสืบไปสืบมาก็มาจากเชื้อสายเติร์กจากดินแดนเอเชียกลาง คล้ายๆ กับชาวอุยกูร์ และด้วยความที่นับถือศาสนาเดียวกัน ชาวมุสลิมฮุยจึงมีความเห็นอกเห็นใจชะตากรรมของมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียงไม่น้อย
ในทางกลับกัน ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมจีนกับชาวฮั่น(ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 ของจำนวนประชากรทั้งหมด)ไม่ค่อยดีมากนัก ความขัดแย้งเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ต่อเนื่องเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ดังจะเห็นได้ว่าชาวมุสลิมลุกฮือต่อต้านการขยายดินแดน การปราบปราม การเข่นฆ่าของพวกแมนจู-ฮั่นที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายครานับตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ถึง 20
ในช่วงศตวรรษที่ 16 หลังจากที่ราชวงศ์ชิง(1644-1911) สามารถพิชิตกรุงคาชการ์(ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของซินเจียงปัจจุบัน) ขุนนางจีนชาวฮั่นจำนวนหนึ่งก็เริ่มปราบปรามทำลายสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นศาสนาแปลกปลอมของชาวมุสลิม
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากจีนเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ(ค.ศ.1911-1949) หรือที่เรียกว่า “Five-Peoples Republican” ชาวมุสลิมก็มีสถานะทางการเมืองดีขึ้น ยุคสมัยนี้จีนประกอบไปด้วยประชากร 5 กลุ่มใหญ่ ที่สำคัญคือ พวกมองโกล แมนจู มุสลิม ฮั่น และทิเบต องค์กรมุสลิมจำนวนมากมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมทั้งการทูตระหว่างประเทศ ถึงขนาดที่ชาวมุสลิมเรียกขอการสนับสนุนจากโลกมุสลิมให้ช่วยจีนต่อต้านสงครามที่ญี่ปุ่นเข้ามารุกราน
พอถึงยุคสมัยคอมมิวนิสต์(1949ถึงปัจจุบัน) ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับจีนก็มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ในด้านหนึ่ง จีนก็มีนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง โดยแบ่งมุสลิมออกเป็น 10 ชนชาติ แต่ในอีกด้านหนึ่งศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมก็ตกเป็นเป้าของการทำลายล้าง เพราะถือเป็นศัตรูกับระบอบสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม(1966-1976) อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 จีนก็ปล่อยให้มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเสรีมากขึ้นภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของหน่วยงานภาครัฐ
ปัจจุบันชาวมุสลิมจีนต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างภายใต้บริบทที่ประเทศจีนกำลังผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจ และกระแสชาตินิยมของชาวฮั่นเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเข้มข้นอีกครั้ง ขณะเดียวกัน นโยบายการต่อต้านการก่อการร้ายของจีน ภายใต้กรอบความร่วมมือเซี่ยงไฮ้(Shanghai Cooperation Organization หรือ Shanghai 5) ก็ทำให้ชาวมุสลิมในซินเจียงกลายเป็นเหยื่อความรุนแรง การปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิมในพื้นที่อ่อนไหวถูกมองด้วยความหวาดระแวง นำไปสู่การจำกัดสิทธิทางศาสนาบางประการ
แม้ชาวมุสลิมฮุยในพื้นที่ต่างๆ ของจีนจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่บางครั้งสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการในบางพื้นที่ก็ถูกละเมิด เช่น ชาวมุสลิมฮุยที่อาศัยในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศมักถูกจำกัดสิทธิในการได้หนังสือเดินทาง จนเป็นอุปสรรคใหญ่ในการไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น ขณะเดียวกัน ชาวฮั่นบางกลุ่มก็เริ่มออกมารณรงค์ต่อต้านอิสลามในหลายๆ มิติ
ในดินแดนซินเจียงเอง สถานการณ์ความทุกข์ยากของชาวมุสลิมอุยกูร์ก็เริ่มเป็นที่รับรู้ของประชาคมโลกมากขึ้น ซึ่งคงต้องอธิบายขยายความกันอีกทีในบทความตอนหน้าครับ