ข่าว

ศึกชิงนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี 
ตระกูล"เทือกสุบรรณ"ยังแรง!

ศึกชิงนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี ตระกูล"เทือกสุบรรณ"ยังแรง!

24 ก.ค. 2552

ศึกเลือกตั้ง นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี โค้งสุดท้าย "ตระกูลเทือกสุบรรณ” ยังนำโด่ง ส่วนภาคเอกชน ตั้งความหวังนายกคนใหม่ต้องแก้วิกฤติท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ

  สนามเลือกตั้งซ่อม นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ แทน นายธานี เทือกสุบรรณ น้องชายคนเล็กของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ใบเหลือง ทาง กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่

 โดยสนามการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ลงชิงชัย 3 คน ประกอบด้วย 1.นายดำรงค์ เทือกสุบรรณ อดีตประธานสภา อบจ.สุราษฎร์ธานี สมัยที่ นายธานี เทือกสุบรรณ เป็นนายก อบจ. ซึ่งนายดำรงค์ มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้หากถามใครๆ จะได้รับคำตอบว่า นายหัวเทพเทือกจะไม่ให้ความช่วยเหลือ แต่อาศัยความเป็นตระกูล ”เทือกสุบรรณ” ที่ยังอยู่ในใจของคนสุราษฎร์ธานี จึงทำให้เสียงขานรับยังเหนียวแน่น แม้ว่าบางพื้นที่ประชาชนจะไม่รู้จัก ”ดำรงค์ เทือกสุบรรณ” ก็ตาม

 2.นายประวิช นิลวัชรมณี อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 5 สมัย และอดีตนายกเทศมนตรีเมืองสุราษฎร์ธานี ที่ขันอาสามารับใช้สนามท้องถิ่นอีกครั้งหลังจากกระโจนเข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติ แต่ไม่มีความคืบหน้ามากนัก และ 3.นายมนตรี เพชรขุ้ม อดีต นายก อบต.ท่าเรือ อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี อดีต ส.ส.ร.ปี 2550 ที่ผ่านมาและอดีตผู้สมัคร นายก อบจ.ครั้งที่ผ่านมาที่ได้เคยต่อกรกับตระกูล ”เทือกสุบรรณ” มาครั้งหนึ่งแล้ว โดยได้คะแนนเป็นรองนายธานี เทือกสุบรรณ กว่า 4 หมื่นคะแนน

 ช่วงโค้งสุดท้าย ผู้สมัครทั้ง 3 คนพยายามที่จะลงพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกแห่ง เพื่อหวังขอคะแนนเสียงจากประชาชนให้ได้มากที่สุด เพราะทุกคนก็คาดหวังว่าจะได้รับการเลือกตั้ง มีระบบการจัดทีมงานและหาเสียงให้ได้เสียงมากที่สุด

 โดยที่ "ดำรงค์ เทือกสุบรรณ” เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ ระยะแรกในการหาเสียงต้องใช้ทีมงานเน้นระบบการบริหารจัดการของการเมืองระดับชาติ ในการขอเสียงจากประชาชน และใช้นโยบายการหาเสียงอย่างมีหลักการ ไม่แตกต่างจากผู้สมัครคนอื่นมากนัก แต่มีความได้เปรียบตรงที่ทีมงานแข็ง เพราะตระกูลเทือกสุบรรณผ่านการเมืองระดับชาติมานาน แม้ว่าคนทั่วไปจะไม่รู้จักกับตัวตนที่แท้จริงของ ”ดำรงค์” มากนัก นอกจากเห็นจากป้ายโปสเตอร์ แต่ยังมีความได้เปรียบด้วยตระกูลของ ”เทือกสุบรรณ” ประกอบมีพรรคพวก ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงมาก ทำให้ได้รับการขานรับจากประชาชนได้ไม่ยาก

 ตราบใดที่คน จ.สุราษฎร์ธานี แยกแยะได้ว่าการเมืองระดับชาติกับการเมืองท้องถิ่นแตกต่างกัน ช่วงเลือกตั้งอาจมีพลิกโผเกิดขึ้นก็ได้ ที่สำคัญกระแสการหาเสียงของคู่แข่งที่ระยะหลังเสียงตีตื้นขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้ ”ดำรงค์” ต้องลุยหาเสียงเอง โดยทีมงานต้องพยุงให้ขึ้นรถลงรถอย่างระมัดระวัง และต้องดูแลเรื่องสุขภาพอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ฐานเสียงหลักยังอยู่กระจายทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุซึ่งเป็นผู้ลงคะแนนเสียงมากที่สุดของการเลือกตั้งทุกประเภท

 ขณะที่ "ประวิช นิลวัชรมณี“ แม้ว่าจะเป็นอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ถึง 5 สมัยก็ตาม คลุกคลีกับท้องถิ่นมานาน และเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการตั้งคำขวัญ ”เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ“ ผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวมานาน แต่ด้วยความที่ห่างหายจากท้องถิ่นสู่การเมืองระดับชาติ ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักอดีตมากนัก ขณะที่คนรุ่นเก่าส่วนใหญ่ยังให้ความเชื่อมั่นกับ ”นายหัวเทพ” มากกว่าคนอื่นๆ ของพรรคประชาธิปัตย์

 งานนี้ ”ประวิช” ต้องทำงานหนักพอสมควรที่จะทำให้คะแนนตีตื้นขึ้นมา เพราะบรรดาทีมงานล้วนแล้วแต่เป็นคนไม่เป็นที่รู้จักของวงสังคมมากนัก ส่วนฐานเสียงหลักตอนนี้ยังคงกระจายเช่นกัน แต่ไม่หวือหวามากนัก

 ส่วน "มนตรี เพชรขุ้ม”  ที่ขันอาสาและตั้งใจเต็มที่จะเอาชนะให้ได้ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ต่อสู้อย่างเต็มที่เป็นเพียงการชิมลาง โดยครั้งนี้ถือว่าเตรียมพร้อมทั้งทีมงานที่แม้จะไม่เป็นที่รู้จักของแวดวงสังคมมากนัก แต่จัดได้ว่าทีมงานเป็นถังข้าวสารย่อยๆ ไม่แพ้ตระกูลของ ”เทพเทือก” จึงทำให้มีกำลังในการหาเสียงแต่ยังมีจุดด้อย เรื่องวิธีการหรือระบบบริหารจัดการยังเป็นมือใหม่ ยังสู้ผู้มีประสบการณ์อย่าง 2 เบอร์แรกไม่ได้

 ที่สำคัญ ระยะหลังด้วยความที่เสียงของ ”มนตรี” ตีตื้นขึ้นมา อาจส่งผลทำให้คู่แข่งงัดกลยุทธ์เด็ดคือความที่ ”มนตรี” เคยรู้จักกับแกนนำคนเสื้อแดงหลายคนมาตีตรงนี้ อาจมีผลทำให้คะแนนตกได้ก่อนเลือกตั้ง

 อย่างไรก็ตามสำหรับสนามเลือกตั้ง นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี ครั้งนี้สังคมเมืองคนดียังหวังที่จะให้ นายก อบจ.คนใหม่ เน้นการแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ

 อย่าง นายธีระกิจ หวังมุฑิตากุล ประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่า ตอนนี้ปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวของจังหวัด หากมองถึงจุดวิกฤติถือว่าวิกฤติระดับหนึ่งแล้ว และยิ่งสุราษฎร์ธานีมีปัญหาเรื่องขยะล้นเมืองไม่มีระบบการจัดการที่เหมาะสม จึงเป็นเรื่องสำคัญของการรองรับการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามใครก็ได้ที่จะมาเป็น นายก อบจ.ขอให้ทำงานจริงจัง ทำงานให้เป็น อย่าเป็นผู้บริหารเงินแต่เพียงอย่างเดียว

 ขณะที่ภาคประชาชน “วิชาญ เพชรรัตน์” ตัวแทนเอ็นจีโอ จ.สุราษฎร์ธานี สะท้อนออกมาว่า ผู้ที่ขันอาสามารับใช้ประชาชนครั้งนี้ หากมองโดยภาพรวมแล้วในทุกส่วน มองว่าไม่เข้าตามากนัก ทั้งตัวผู้สมัครและทีมงาน แต่เมื่อขันอาสามาแล้วขอให้ทำงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประชาชน เพื่อบ้านเมืองจริงๆ สักครั้ง เพราะขณะนี้ จ.สุราษฎร์ธานี ถึงจุดวิกฤติแล้ว

 ด้านมุมมองของผู้คลุกคลีแวดวงการท่องเที่ยว “ปัญญา แสงสุริยัน” อุปนายกสมาคมมัคคุเทศก์ จ.สุราษฎร์ธานี เสริมว่า การท่องเที่ยวของ จ.สุราษฎร์ธานี เหมาะเป็นเมืองหลักของภาคใต้ตอนบนมากกว่า จ.ภูเก็ต ด้วยซ้ำ เพราะศักยภาพการท่องเที่ยวมีความพร้อม ทั้งแหล่งท่องเที่ยวบนบกและชายทะเล แต่นักท่องเที่ยวทั่วโลกส่วนใหญ่จะไม่รู้จักสุราษฎร์ธานี จะรู้จักเกาะสมุย และเกาะพะงัน ทั้งนี้ ท้องถิ่นจะวางระบบ มีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งทำได้ไม่ยาก หากพร้อมที่จะทำอย่างจริงจัง จึงขอฝาก นายก อบจ.คนใหม่ช่วยพิจารณาจุดนี้ให้ถี่ถ้วนด้วย

 ทั้งมวลนี้ ต้องรอลุ้นวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ ว่า จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 675,733 คน จำนวน 1,429 หน่วยเลือกตั้ง ใครจะได้รับการไว้วางใจมากที่สุด และเป็นความหวังของประชาชนคน จ.สุราษฎร์ธานี ในการช่วยพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่วิกฤติให้กลับคืน ซึ่งขึ้นกับนายก อบจ.สุราษฎร์ธานีคนใหม่ ว่าจะทำได้ตามยุทธศาสตร์ที่เขียนไว้หรือไม่!


"สุวรรณี บัณฑิศักดิ์"