ข่าว

หมู่บ้านละล้านปลอดดอกเบี้ย2ปีเพิ่มหนี้หรือเงินทุนชาวบ้าน

หมู่บ้านละล้านปลอดดอกเบี้ย2ปีเพิ่มหนี้หรือเงินทุนชาวบ้าน

27 ต.ค. 2558

หมู่บ้านละล้านปลอดดอกเบี้ย2ปีเพิ่มหนี้หรือเงินทุนชาวบ้าน : ชมพิศ ปิ่นเมืองรายงาน

              กองทุนหมู่บ้าน หรือกองทุนเงินล้าน เป็นสิทธิของแต่ละหมู่บ้านที่ได้เงินจำนวน 1 ล้านบาท แต่ละหมู่บ้านได้จัดตั้งคณะกรรมการกองทุนกำหนดกฎเกณฑ์การให้กู้เงินและหลักเกณฑ์ของผู้กู้ มีการแบ่งตามสัดส่วนกระจายให้ครบทุกครัวเรือนในหมู่บ้าน ถือเป็นการมอบอำนาจการบริหารเงินให้แก่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน โดยมีสำนักงานพัฒนาชุมชนของแต่ละจังหวัดเป็นพี่เลี้ยงกำกับดูแลในฐานะเลขาฯ นายทะเบียนกองทุนหมู่บ้าน

              จากการสำรวจหมู่บ้านละล้านในจังหวัดกาฬสินธุ์พบว่ามีหลายหมู่บ้านที่บริหารจัดการประสบความสำเร็จจนสามารถยกฐานะเป็นสถาบันการเงิน กลายเป็นแหล่งเงินทุนที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านที่ชาวบ้านได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

              "หนองเมย เป็นตำนานเล่าขานงานกองทุน เกื้อหนุนวัฒนธรรม นำพัฒนาสิ่งแวดล้อม ประชาพร้อมสามัคคี นาปี นาปรังดีเลิศ ถิ่นกำเนิดกองเส็ง” เป็นคำขวัญของบ้านเมย หมู่ 11 ต.ดงลิง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ หมู่บ้านเล็กๆ ที่ได้บรรจุเอาความเป็นเลิศในการบริหารจัดการเงินกองทุนหมู่บ้านเอาไว้ เป็นความโดดเด่นที่แสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจกับเงินกองทุนหมู่บ้านที่ได้รับมา แสดงถึงความสามัคคีในหมู่บ้านที่มีผู้นำที่ดีมีวิสัยทัศน์กว้างไกล

              “ประยูร เห็มวิพัฒน์” นายกเทศมนตรีดงลิง ซึ่งสวมหมวกอีกใบในฐานะประธานกองทุนหมู่บ้านบ้านเมย หมู่ 11 อีกทั้งยังได้รับการคัดเลือกเป็นประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลดงลิง, ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านอำเภอกมลาไสย, ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านจังหวัดกาฬสินธุ์ และประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงสถานการณ์ของกองทุนว่า ในวันนี้มีเงินหมู่บ้านละล้านปลอดดอกเบี้ย 2 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กระจายลงตามหมู่บ้าน สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านคือความเป็นมาของเงิน รวมถึงวัตถุประสงค์และคุณสมบัติของผู้ที่จะกู้เงิน

              “เราต้องบอกชาวบ้านว่าเงินส่วนนี้ เป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 2 ปี หลังจากนั้นต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืน และทางกองทุนหมู่บ้านก็ต้องนำมาชำระหนี้ต่อธนาคาร” ประยูร กล่าวถึงการทำความเข้าใจต่อชาวบ้าน

              เขาเล่าว่า ด้วยความศรัทธาของชาวบ้านบ้านเมยจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการ 15 คนเข้ามาบริหารการเงิน เพื่อพิจารณาอนุมัติเงินให้แก่ผู้กู้เงินกองทุนหมู่บ้านที่จะต้องผ่านการพิจารณาทั้งการประเมินของผู้ใหญ่บ้าน ประชาคมหมู่บ้าน และการพิจารณาโดยคณะกรรมการ ซึ่งยึดถือเป็นขั้นตอนที่ทุกคนต้องปฏิบัติและเคารพในกฎกติกา จนมาถึงเงินกู้รอบล่าสุดวงเงิน 1 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ย 2 ปี ซึ่งคุณสมบัติของกองทุนที่จะกู้ได้นั้นจะต้องเป็นกองทุนหมู่บ้านระดับเอ-บี ซึ่งกองทุนหมู่บ้านของ จ.กาฬสินธุ์ มีกองทุนหมู่บ้านที่ผ่านเกณฑ์ 1,305 กองทุน จาก 1,609 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 81.11 โดยกองทุนบ้านเมย หมู่ 11 ก็เป็นหนึ่งในนั้น

              สำหรับกองทุนหมู่บ้านบ้านเมย หมู่ 11 ได้นำเสนอโครงการของสมาชิกทั้งรายเก่าและรายใหม่ จำนวน 90 โครงการ วงเงินกู้ 1-2 หมื่นบาท ส่วนใหญ่เป็นการซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ยในการทำนาปรัง รองลงมาเป็นอาชีพค้าขาย เสริมสวยและซื้ออุปกรณ์ตัดเย็บผ้าโรงงาน ซึ่งเงินได้ตกถึงมือชาวบ้านทั้งหมดแล้ว

              “กระแสตอบรับเงินกองทุนปลอดดอกเบี้ย 2 ปีมีอย่างล้นหลาม สิ่งที่สมาชิกต้องเข้าใจคือเงินกองทุนหมู่บ้านนี้เป็นเงินกองทุนที่รัฐบาลตั้งใจกระจายรายได้ให้แก่ชาวบ้านในระดับฐานราก แตกต่างจากเงินกองทุนหมู่บ้านอื่นๆ เพราะเป็นเงินกองทุนจะต้องส่งคืนมีดอกเบี้ยที่ต้องชำระ” ประยูรย้ำถึงเป้าหมายของทางราชการ

              “ประภัสสร อุราสาย” พัฒนาการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวถึงที่มาที่ไปว่า จังหวัดได้ดำเนินการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมาตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว 1,609 กองทุน แยกเป็นกองทุนหมู่บ้าน 1,584 กองทุน กองทุนชุมชนเมือง 25 กองทุน ในขณะที่มีกองทุนที่ยกระดับเป็นสถาบันการเงินแล้ว 28 กองทุน แบ่งเป็นกองทุนระดับเอ จำนวน 733 กองทุน ระดับบี จำนวน 572 กองทุน รวม 1,305 กองทุน เพื่อให้การดำเนินการกองทุนมีการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ทางสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะเลขาฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัดขึ้น

              “เงินกองทุนละ 1 ล้านบาทนี้ เป็นเงินที่ให้สินเชื่อปลอดดอกบี้ย 2 ปี จากนั้นต้องผ่อนชำระพร้อมดอกเบี้ยภายในกำหนดเวลา 7 ปี จึงได้เน้นย้ำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส โดยเฉพาะต้องมีวินัย ใช้จ่ายเงินให้เกิดประโยชน์ ตรงตามวัตถุประสงค์เพราะกองทุนที่ประสบความสำเร็จทุกระดับ เกิดจากการมีวินัยที่เมื่อเป็นเงินกู้ครบกำหนดสัญญาต้องส่งคืน เพื่อความเข้มแข็งยั่งยืนของกองทุน ทั้งนี้ จ.กาฬสินธุ์ ได้ให้สินเชื่อกองทุนปลอดดอกเบี้ย 2 ปีไปแล้ว 756 กองทุน โดยผ่านธนาคารออมสิน 324 กองทุน และ ธ.ก.ส. 432 กองทุน” พัฒนาการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าว

              สำหรับชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายย่อยไม่ใช่นายทุน การเข้าถึงแหล่งทุนจึงเป็นเรื่องลำบาก ดังนั้นการมีเงินทุนหรือมีเงินให้ชาวบ้านได้กู้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของชาวบ้าน จากอดีตที่ต้องพึ่งพาแต่นายทุนเงินกู้ดอกเบี้ยสูง ต้องเอาที่นา-บ้านไปจำนอง สุดท้ายต้องสูญเสียทรัพย์สินไปหลายกรณีที่เกิดขึ้นในอดีต

              กองทุนหมู่บ้านลอตใหม่ปลอดดอกเบี้ย 2 ปี จึงยังเป็นทางเลือกทางรอดกับวิถีชาวบ้านที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจริงๆ แต่ส่วนสำคัญที่เป็นหัวใจและต้องเคร่งครัดปฏิบัติคือ “การมีวินัย” ต้องส่งคืนภายใน 2 ปี ไม่เช่นนั้นต้องโดนบวกดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อตกลงกับธนาคาร

              ดังนั้น ความเหมือนและความแตกต่างของเงินกองทุนหมู่บ้านปลอดดอกเบี้ย 2 ปี จึงไม่ใช่เงินฟรีเหมือนที่ใครหลายคนเข้าใจ และผู้กู้ต้องมีระเบียบวินัยการเงินอย่างดีเยี่ยมด้วย


มท.ยันตำบลละ5ล้านไร้โกง

              สำหรับโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล หรือที่เรียกว่า “ตำบลละ 5 ล้าน” ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มี 7,255 ตำบลทั่วประเทศ เป็นวงเงินงบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท แต่มีข้อท้วงติงให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสการจัดการเงินตำบลละ 5 ล้าน

              “กฤษฎา บุญราช” ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวไร้โกงแน่นอน โดยมีมาตรการดูแลและตรวจสอบ ดังนี้ 1.โครงการทุกโครงการที่เสนอมายังจังหวัดจะต้องเป็นโครงการที่ถูกเสนอโดยคณะกรรมการหมู่บ้านหรือกองทุนหมู่บ้าน 2.เมื่อคณะกรรมการในระดับจังหวัด โดยมีผู้แทนของหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดที่เป็นภาคเอกชนเป็นกรรมการร่วมได้มีการอนุมัติ เมื่อไปถึงยังตำบลและหมู่บ้าน ได้กำหนดให้ขึ้นป้ายประกาศให้คนในหมู่บ้านทราบ รวมถึงลงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการไว้ในเว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทยเพื่อตรวจสอบได้

              3.คณะกรรมการตรวจรับตามระเบียบข้าราชการ ได้เพิ่มให้ผู้แทนชาวบ้านเป็นกรรมการตรวจรับด้วย จากเดิมที่มีอยู่โครงการละ 3 คน ได้เพิ่มขึ้นอีกโครงการละ 2 คน เป็นโครงการละ 5 คน

              ขณะเดียวกันมีผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รวมถึงกระทรวงอื่นได้ร่วมกันตรวจสอบ พร้อมทั้งร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อหาแนวทางป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่นในโครงการดังกล่าว