
ชักเย่อเป็นมรดกโลก
05 ธ.ค. 2558
เวิลด์วาไรตี้ : ชักเย่อเป็นมรดกโลก
เกมชักเย่อกีฬาพื้นๆ ที่เราเห็นกันเกลื่อนตาในการแข่งขันกีฬาเชื่อมสามัคคี หรืองานกีฬาโรงเรียน ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกประเภทจับต้องไม่ได้โดยองค์กรการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง
ชักเย่อเป็นกีฬาที่เล่นได้ง่าย เพียงมีเชือกที่เหนียวๆ สักเส้นกับกลุ่มคน 2 กลุ่ม ที่ยืนกันคนละฝั่งและกำหนดเส้นกลางเพื่อเป็นจุดชี้ขาดการแพ้-ชนะ ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถลากคู่แข่งหรือระยะเชือกตอนกลางระหว่างทั้งสองกลุ่มให้ข้ามเส้นกลางมาได้ก็จะคว้าชัยไปในการแข่งขันไป

แต่อยู่ดีๆ ยูเนสโกจะยกย่องกีฬาชักเย่อให้เป็นมรดกโลกนั้นเป็นไปไม่ได้ จะต้องมีการเสนอให้ยูเนสโกรับรอง ในกรณีของกีฬาชักเย่อได้รับการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 10 ที่จัดขึ้นในกรุงวินด์ฮุก ประเทศนามิเบีย ในทวีปแอฟริกา โดยเกาหลีใต้ เวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ที่มีการแข่งขันกีฬาประเภทนี้แพร่หลายในกลุ่มประชาชนตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา
เมื่อรวมกีฬาชักเย่อเข้าไปเป็นมรดกโลกแล้ว ทำให้จำนวนมรดกโลกด้านวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ที่ได้รับการยกย่องโดยยูเนสโกเพิ่มขึ้นเป็น 18 ประเภท โดยก่อนหน้านี้มีการยกย่อง “นองกัก” ดนตรีของเกษตรกรในเกาหลีใต้เมื่อปี 2557 และ “คิมจัง” วิธีการร่วมกันทำกิมจิของชุมชนในเกาหลีใต้

ศิลปะการบังคับม้าในออสเตรีย
นอกจากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการยังได้ให้การยกย่องกิมจิของเกาหลีเหนือ กาแฟอาราบิก้า รวมทั้งสิ่งต่างๆ อีก 18 ชนิดเป็นมรดกโลกด้วยเช่นกัน
ตั้งแต่ศิลปะการบังคับม้าในออสเตรีย การเต้นรำพื้นเมืองในเปรู และโรมาเนีย รวมทั้งเทศกาลแห่งผลไม้ของชาวนามิเบีย
ขณะที่การชงและเสิร์ฟกาแฟในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย โอมานและกาตาร์ ที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “กาแฟอาหรับ” ก็ได้รับการยกย่องขึ้นทะเบียนมรดกโลกในฐานะพิธีฉลองเพื่อแสดงออกซึ่งความมีน้ำใจ

การเต้นรำของเกษตรกรในเปรู
ส่วนศิลปะการบังคับม้าที่มีการสอนในโรงเรียนสแปนิช ไรดิ้ง สคูล เวียนนา ในกรุงเวียนนา เมืองหลวงออสเตรียก็ได้รับการยกย่องในฐานะที่มีอัตลักษณ์และบุคลิกที่ชัดเจน
นอกจากนั้นคณะกรรมการยังยกย่องให้ศิลปะช่างแกะสลักหินอ่อนที่สืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นบนเกาะติโนส ประเทศกรีซ ที่ถ่ายทอดความเป็นเอกลักษณ์ของชาวกรีกตั้งแต่รูปสลักเทพเจ้า เวทมนตร์จนถึงตำนานจากรุ่นสู่รุ่น ภาพวาดที่ใช้เทคนิคแบบ “Asfilete Porteno” ในอาร์เจนตินา งานเทศกาล “Oshituthi shomangongo” ในนามิเบีย งานศิลป์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ Gorogly ในเติร์กเมนิสถาน ก็ได้รับการยกย่องขึ้นเป็นมรดกโลกในการประชุมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน