
'เสี่ยว'คำสั้นๆแต่รักนั้นยาว...
'เสี่ยว'คำสั้นๆแต่รักนั้นยาว...: โดย - ศิวะ โลโห
“เสี่ยว” หรือ “บักเสี่ยว” เป็นคำที่เรามักได้ยินอยู่บ่อยครั้งทั้งในละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน จนหลายต่อหลายคนคุ้นชินกับคำคำนี้ไปแล้ว ทว่าความหมายหรือสิ่งที่ผู้พูดส่วนใหญ่สื่อสารออกไป กลับเป็นไปในทำนองขบขันและในเชิงดูหมิ่นดูแคลนคนภาคอีสาน เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยนำเอาคำว่า “เสี่ยว” ไปตีความหมายและนำไปใช้แบบผิดๆ เช่น นำไปล้อเลียนคนที่มาจากภาคอีสานว่าเป็นพวกบ้านนอก เฉิ่ม เชย หรือไม่ทันสมัย
แต่แท้จริงแล้วคำว่าเสี่ยวนั้นกลับตรงกันข้ามกับหมวดหมู่ของคำดูหมิ่นดูแคลนอย่างสิ้นเชิง เพราะคำว่าเสี่ยว ในภาษาอีสานหมายถึง “เพื่อนรัก” ที่มีความเอื้ออาทรต่อกันและพร้อมที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งในยามสุขและยามทุกข์ คำว่าเสี่ยวจึงเป็นคำที่มีความหมายไปในทางที่ดีงาม ซึ่งชาวอีสานทุกคนต่างมีความซาบซึ้งกับคำคำนี้และให้ความสำคัญกับคำคำนี้เป็นอย่างมาก
มีผญาอีสานบทหนึ่งที่ผู้เฒ่าผู้แก่ทางภาคอีสานมักใช้ในการบอกกล่าวลูกหลานเพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีเพื่อนพ้องความว่า “บ่มีผมให้ตื่มซ้อง บ่มีพี่น้องให้ตื่มเสี่ยวสหาย” ซึ่งมีความหมายว่า ถ้าศีรษะมีผมน้อยก็ให้หาผมปลอมมาสวมใส่ และถ้ามีพี่น้องจำนวนน้อยก็ต้องหาเพื่อนไว้เพิ่ม แต่การที่คน 2 คนจะมาเป็นเสี่ยวกันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เหมือนการเป็นเพื่อนกันแบบธรรมดาทั่วไป
"ธาดา พรหมสาขา ณ สกลนคร" รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีการจัดกิจกรรมผูกเสี่ยวทุกปีอย่างต่อเนื่องมานานเกือบ 40 ปีแล้วในงานเทศกาลไหมนานาชาติจังหวัดขอนแก่น และประเพณีผูกเสี่ยวเล่าให้ฟังว่า คนอีสานสมัยก่อนจะคบกันอยู่ 2 ระดับ คือคบกันเป็นเพื่อนฝูงธรรมดาทั่วไปจะเรียกว่า “เป็นหมู่กัน” และถ้าคบกันในระดับที่สนิทแนบแน่นเป็นพิเศษมีความรักความผูกพันกันจนถึงขั้นพึ่งพาอาศัยและตายแทนกันได้ จะเรียกว่า “เป็นเสี่ยวกัน” การที่คนสองคนจะมาเป็นเสี่ยวกันได้จะต้องผ่านขั้นตอนและพิธีผูกเสี่ยวก่อนจึงจะถือว่าเป็นเสี่ยวกันอย่างสมบูรณ์ หรือที่เรียกว่า “เสี่ยวแท้”
“การผูกเสี่ยวคือการนำบุคคลสองคนมาผูกพันเป็นมิตรผ่านพิธีผูกเสี่ยว โดยมีหมอสู่ขวัญหรือหมอพราหมณ์ที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่ได้รับความเคารพนับถือเป็นผู้ทำพิธีให้ความเป็นเสี่ยวกันนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งชายและหญิง คุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นเสี่ยวกันมีอยู่หลายข้อ เช่น มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกัน มีนิสัยใจคอคล้ายหรือใกล้เคียงกัน มีเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ได้ แต่สิ่งที่ถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุดของคนที่จะมาเป็นเสี่ยวกันก็คือต้องมีความรัก ความเอื้ออาทรต่อกัน และจะต้องเกิดจากความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายด้วย เพราะถ้าหากบุคคลสองคนที่มาผูกเสี่ยวกันไม่ได้มีความรัก ความเอื้ออาทรต่อกันและไม่ได้เกิดจากความสมัครใจก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นคู่เสี่ยวที่สมบูรณ์ได้” ธาดา บอก
ธาดา เล่าต่อว่า พิธีผูกเสี่ยวในภาคอีสานอาจมีรายละเอียดของการทำพิธีและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำพิธีแตกต่างกันออกไปบ้างเล็กน้อยแต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ ขันหมากเบ็งหรือพานบายศรีและฝ้ายผูกแขนหรือฝ้ายผูกข้อมือสีขาวเมื่อเริ่มทำพิธีหมอสู่ขวัญจะจุดเทียนที่ปักไว้บนยอดขันหมากเบ็งและให้คู่เสี่ยวนั่งหมอบหันหน้าเข้าหาขันหมากเบ็ง จากนั้นหมอสู่ขวัญจะนำไหว้พระพร้อมกับกล่าวอัญเชิญเทพเทวดาให้มาร่วมเป็นสักขีพยานก่อนจะกล่าวคำสู่ขวัญ เมื่อสวดจบหมอสู่ขวัญจะนำเอาข้าวเหนียวใส่มือให้คู่เสี่ยวคนละหนึ่งปั้น พร้อมไข่ต้มคนละฟอง กล้วยน้ำว้าคนละใบและนำฝ้ายผูกแขนที่วางอยู่ในขันหมากเบ็งมาผูกให้แก่คู่เสี่ยวเป็นครั้งแรก จากนั้นจึงให้พ่อแม่พี่น้องรวมทั้งเพื่อนฝูงของแต่ละฝ่ายผูกแขนให้คู่เสี่ยวพร้อมทั้งให้ศีลให้พรและให้โอวาทแก่คู่เสี่ยว
“เมื่อคนสองคนตกลงใจที่จะเป็นเสี่ยวกันและผ่านการทำพิธีผูกเสี่ยวอย่างถูกต้องตามประเพณีแล้ว ถือว่าต่อจากนี้ไปทั้งคู่จะมีสัญญาทางใจต่อกัน คือไม่ว่าสุขหรือทุกข์ก็จะช่วยเหลือดูแลกัน เมื่อเสี่ยวคนหนึ่งลำบากไม่ว่าเรื่องใด คนที่เป็นเสี่ยวกันก็จะต้องช่วยเหลือและหากเห็นว่าเสี่ยวประพฤติปฏิบัติตนไปในทางไม่ถูกไม่ควรเสี่ยวอีกคนก็จะต้องตักเตือนและให้คำชี้แนะ นอกจากนี้ความเป็นเสี่ยวกันนอกจากที่คู่เสี่ยวจะดูแลกันแล้วความสัมพันธ์นี้ยังส่งต่อไปถึงครอบครัวและญาติพี่น้องของคู่เสี่ยวแต่ละฝ่ายด้วย หมายความว่าคู่เสี่ยวจะต้องให้ความเคารพนับถือญาติพี่น้องของอีกฝ่ายประดุจญาติพี่น้องของตนเองด้วย” รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นบอกเล่า
ด้าน "ศรัณยู ภูพันนา" และ "ณัฐพงษ์ ไพบูลย์" นักศึกษา ปวส.ชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น ซึ่งวันนี้ทั้งคู่มีโอกาสได้เดินทางมาเข้าร่วมในพิธีผูกเสี่ยวซึ่งจัดขึ้นในงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่นประจำปี 2558 บอกว่าเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ตลอดเวลาที่เป็นเพื่อนกันมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนครอบครัวและญาติพี่น้องของกันและกันอยู่บ่อยๆ จนทั้งสองครอบครัวและญาติผู้ใหญ่รักเหมือนลูก กระทั่งมาเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น ทั้งสองคนก็ยังเป็นเพื่อนกันและคอยให้ความช่วยเหลือกันมาโดยตลอดเมื่อมีโอกาสมาทำพิธีผูกเสี่ยวจึงนับว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นสิริมงคลให้ทั้งคู่ด้วย
“ทุกสิ่งทุกอย่างนับจากนี้ก็จะยังคงเป็นเหมือนเดิม คือดูแล เทกแคร์กันให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเหมือนเดิม การที่เราทั้งคู่มาผูกเสี่ยวก็จะทำให้เรามีสิ่งที่จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจว่าผมคือเสี่ยวเขาและเขาคือเสี่ยวผม เราสามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง ให้คำแนะนำกันได้ทุกเรื่องโดยต่างฝ่ายต่างไม่โกรธกัน ในอนาคตเมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่และมีครอบครัวแม้ว่าจะต้องไปทำงานอยู่คนละที่แต่เราก็จะยังติดต่อสื่อสารและไปมาหาสู่กันเสมอและเมื่อต่างฝ่ายมีลูก ลูกของเราก็จะมาเป็นเพื่อนกัน ซึ่งพวกเขาก็อาจจะพัฒนามาเป็นเสี่ยวกันได้” ศรัณยู กล่าว
การผูกเสี่ยวนอกจากจะเป็นการนำบุคคลสองคนมาผูกพันเป็นมิตรกันแล้วยังเป็นการขยายมิตรภาพของคนในสังคมให้กว้างขวางออกไปอีกด้วย เพราะยิ่งมีคู่เสี่ยวมากขึ้นเท่าใดก็จะยิ่งทำให้คนในสังคมเกิดความรักความผูกพันและมีความเป็นพี่เป็นน้องกันเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ จ.ขอนแก่น จึงเล็งเห็นความสำคัญของพิธีผูกเสี่ยว โดยได้นำพิธีผูกเสี่ยวมาผนวกเข้ากับงานเทศกาลไหมซึ่งเป็นงานประจำปีของจังหวัด ที่มีมาตั้งแต่ปี 2523 ซึ่งในทุกๆ ปีที่มีการจัดงานก็จะมีคนหนุ่มสาวจับคู่กันมาเข้าร่วมพิธีผูกเสี่ยวอย่างไม่ขาดสาย