TheLoom ปรับลุค'กี่ทอผ้า'ให้คุณค่าทางใจที่ได้มากกว่าชิ้นงาน
TheLoom ปรับลุค'กี่ทอผ้า'ให้คุณค่าทางใจ...ที่ได้มากกว่าชิ้นงาน : คมคิดธุรกิจนิวเจน
หัวใจหลักของธุรกิจบริการ คือ การบันดาลความสุขให้แก่ลูกค้า ซึ่งแน่นอนว่า “The Loom” สตูอิโอ สอนทอผ้า ย่านเอกมัย ไม่ทิ้งคอนเซ็ปต์นี้ เพราะไม่ว่าลูกค้าวัยใดที่ได้เข้ามาเรียนรู้วิธีการทอผ้ากับทางร้าน นอกจากจะรู้สึกผ่อนคลาย มีสมาธิแล้ว ยังได้ความภาคภูมิใจในผลงานของตน ที่ผลิตเองติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย
The Loom เป็นธุรกิจที่ต่อยอดมาจากธุรกิจทำผ้าไหมของหนึ่งในหุ้นส่วน ที่พยายามสร้างความแตกต่างจากสิ่งเดิมๆ เมื่อ 6-7 ปีก่อน เริ่มต้นด้วยการเปิดคอร์สสอนการทอผ้าด้วย “กี่ทอผ้า” ขนาดเล็ก ประยุกต์มาจากกี่ทอผ้าโบราณ โดยมีวัตถุดิบเป็นเส้นไหมหลากหลายชนิด ทั้งจำหน่ายเส้นไหมในประเทศและส่งออก รวมทั้งจำหน่ายปลีกผลงานที่สร้างสรรค์มาจากการทอผ้า ล่าสุด เตรียมเปิดตัวชุดเครื่องมือการทอผ้าแบบพกพา ที่ผู้ซื้อสามารถนำไปทอเองด้วยมือจนออกมาเป็นกระเป๋าสำเร็จรูป เรียกได้ว่าแสนจะสะดวกสบาย ทำที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็ได้
“วิวรรณ เลิศโภคานนท์” ผู้ก่อตั้ง The Loom กล่าวถึงกี่ทอผ้าของทางร้าน ว่า เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ และน่าจะมีที่เดียวเท่านั้น (ไม่รวมการจำหน่ายปลีกให้แก่บางร้านค้าที่นำไปเป็นเครื่องมือสาธิตประกอบการจำหน่ายผ้าเป็นหลัก) โดยประยุกต์แบบมาจากกี่โบราณ เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานได้สะดวก ซึ่งกี่โบราณที่พูดถึงนั้น ถือเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นของไทย แต่งานของทางร้านไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นไทยแท้ๆ เพราะไม่คิดจะไปแย่งงานชาวบ้าน ไม่คิดจะไปทอผ้าขายแข่ง เพราะเราต้องยอมรับว่า พ่อแก่-แม่เฒ่าเขาเก่งกว่าเราเยอะ สามารถทำลวดลายยากๆ ได้ ส่วนทางเราเองจะเป็นการนำเทคนิคเหล่านั้นมาประยุกต์ทำให้เป็นลวดลายที่ทันสมัยขึ้น และนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง
สำหรับลูกค้าที่มาลงเรียนส่วนใหญ่มาเพื่ออยากเรียนรู้ อยากที่จะใช้เวลาว่างทำงานอดิเรก หรือผลิตชิ้นงานให้แก่ตัวเอง หรือคนที่รัก กลุ่มลูกค้าหลักคือวัยทำงานอายุระหว่าง 30-50 ปี ซึ่งมีมากกว่าครึ่ง รองมาคือกลุ่ม 50-60 ปี มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% ของกลุ่มลูกค้าทั้งหมด คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมาเพื่อต้องการการผ่อนคลาย ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ บางส่วนก็ต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมการทอผ้า เพราะหาไม่ได้ง่ายๆ แล้วในปัจจุบัน และของเราก็เป็นการทอเสมือนจริง
"เราใช้เวลาเบื้องต้นแค่ 2 ชั่วโมง หลังจากเรียนเสร็จ ลูกค้าก็จะสามารถทำชิ้นงานอะไรก็ได้เป็นของตัวเอง จึงเป็นเหมือนการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความพึงพอใจแก่ตัวเองที่สามารถทำชิ้นงานด้วยตัวเองออกมาได้ ซึ่งเขาก็จะภูมิใจ เริ่มจากง่ายๆ คือการทำผ้าพันคอใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง ก็ทำออกมาได้แล้ว จากนั้นก็เป็นการทำผ้าคลุมไหล่ กระเป๋า หมอนอิง ซึ่งเมื่อเราทำได้เองเราก็จะภูมิใจ อย่างตัวหมวยเอง เดี๋ยวนี้กระเป๋าแบรนด์เนมไม่ได้กินเงินเราเลย เพราะรู้สึกว่าเราทอเองใช้เองได้”
นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่ม ที่จริงๆ แล้วไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ลูกค้าในกลุ่มนี้ แต่บังเอิญก็ได้มา คือกลุ่มเด็ก ซึ่งอายุตั้งแต่ 6 ขวบ เป็นต้น ก็ทำได้แล้ว โดยเด็กที่เข้ามาเรียนส่วนหนึ่งก็เพราะน้องเขาอยากลองทำ หรือพ่อแม่มาเห็นเข้าก็สนใจอยากให้ลูกเข้ามาลองเรียนทำดู แล้วก็พบว่าน้องๆ ส่วนใหญ่จะมีสมาธิในการทอ ซึ่งก็ทำให้พ่อแม่แปลกใจ หรือเด็กบางคนที่คุณแม่มากระซิบว่าน้องสมาธิสั้น แต่น้องก็สามารถทำผ้าพันคอผืนยาว 150 เซนติเมตรได้สำเร็จ บางคนทำครั้งเดียวจนเสร็จ หรือบางคนมาทำสองครั้งเสร็จก็มี ซึ่งก็จะทำให้พวกเขาได้ภูมิใจที่ทำผ้าผืนยาวกว่าตัวเองได้ด้วย
ดังนั้น จะบอกว่าการทอผ้าช่วยในเรื่องสมาธิ หรือจะเป็นการบำบัดรักษาความเครียดก็ได้ แม้จริงๆ แล้วเราจะไม่ได้คาดหวังในเรื่องนี้ แต่ตัวเองเมื่อเจอเรื่องเครียดๆ มา แล้วมานั่งทอผ้าก็ทำให้สมาธิเราจดจ่ออยู่ตรงนั้น ก็ทำให้เราลืมเรื่องเครียดๆ ได้เช่นกัน
สำหรับคอร์สสอนทอผ้า ปัจจุบันมี 2 แบบ คือ แบบแรก สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาและต้องการชิ้นงานกลับไปภายในวันเดียวกันนั้นเลย เริ่มที่การทำผ้าพันคอ จะใช้เวลาทอประมาณ 3-4 ชั่วโมง จะได้ผ้าพันคอยาว 150 เซนติเมตร กลับไป ราคาอยู่ที่ 2,400 บาท หรือจะทำเป็นผืนสั้นคลุมและติดกระดุมก็ได้ ก็จะประหยัดเวลาลง หรือจะผลิตออกมาเป็นดอกไม้เล็กๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ส่วนอีกแบบคือ สำหรับกลุ่มลูกค้าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเลย และต้องการเรียนรู้ในเชิงลึกก็จะมีสอน 5 ระดับด้วยกัน
ระดับแรก จะเป็นเบสิก สอนการทอลวดลายง่ายๆ สำหรับคนที่ไม่เคยทำมาก่อนเลย เช่น ลายริ้ว ลายสกอต เป็นต้น ทุกคนที่มาเรียนไม่จำเป็นต้องเรียนครบทุกระดับ จะเรียนกี่ระดับก็ได้ หรือแม้แต่เรียนระดับแรกระดับเดียวก็สามารถทอออกมาเป็นชิ้นงานได้แล้ว ส่วนระดับที่สอง จะเป็นการทอลายพื้นฐานที่ทางร้านเราจะเรียกว่า วิธีการกวักซ้ายขวาเพื่อให้เกิดรูปทรงเลขาคณิตแบบง่ายๆ ระดับที่สาม หากจะเปรียบเทียบให้เห็นชัด จะเป็นเหมือนการขิด การจกในแบบของชาวบ้าน ระดับสี่ จะเป็นการทอที่สามารถทำหลายๆ สีในแถวเดียวกันได้ สามารถเจาะช่องหน้าต่างทำเป็นรังดุมได้โดยไม่ต้องมาตัดทำรังดุมในภายหลัง หรือเจาะช่องซิปได้ สุดท้ายระดับห้า เป็นการตกแต่งที่แอดวานซ์ขึ้น โดยสามารถทำเป็นลวดลาย ลายนูนขึ้นมาได้
“จะเรียนกี่ระดับก็แล้วแต่ความพอใจของลูกค้า ซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียนครบทุกระดับ โดยเราพบว่ากลุ่มลูกค้าคนไทยมักจะชอบการทอผ้าพันคอ และทำกระเป๋า ส่วนลูกค้าญี่ปุ่นก็มีบ้าง แต่ก็จะเน้นไปในแนวการทำของตกแต่งบ้านด้วย เช่น ปลอกหมอนอิง ที่รองจาน ที่รองแก้ว อย่างกรณีเป็นผ้าพันคอ ลูกค้าจะสามารถนำกลับบ้านได้เลย แล้วแต่ชอบว่าจะให้ปลายรุ่ยออกมา หรือจะให้เราเก็บปลายให้ก็ได้ ส่วนที่เป็นการทำกระเป๋า เรายังไม่ถึงขั้นสอนการขึ้นรูปกระเป๋า แต่ก็จะทำให้ ซึ่งจริงๆ ก็มาดูได้ เพราะเราก็เย็บภายในร้านนี้เองอยู่แล้ว โดยงานเราไม่ใช่งานแมส จะเป็นการทำชิ้นต่อชิ้นทั้งสิ้น” คุณวิวรรณ กล่าว
ย้อนกลับไปเมื่อ 6-7 ปีก่อน คุณวิวรรณ เล่าว่า ตนเองและหุ้นส่วนอยากจะทำอะไรที่มีความแตกต่าง และจากธุรกิจของครอบครัวของหุ้นส่วนเอง คือผลิตผ้าไหมขายส่งตามคำสั่งซื้อ จึงมองไปที่การเปิดร้านขายผ้าไหม แต่ก็คิดว่าเป็นเหมือนทั่วๆ ไปไม่แตกต่าง ประกอบกับช่วงนั้นได้มีโอกาสไปดูงานก็พบว่าการทอผ้า ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการทอแบบชาวบ้านหรือโรงงาน ก็ไม่ได้ยาก เรียกว่าเทคนิคและกระบวนการคล้ายๆ กัน เพียงแต่เครื่องมือในโรงงานจะเป็นอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ และเส้นไหมก็ดูเล็กมาก จึงคิดทำกี่ให้มีขนาดเล็กลง และทำเส้นไหมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งในช่วงนั้นยังไม่เห็นงานอดิเรกที่เป็นพื้นถิ่นของเราเอง จะมีก็แต่รับวัฒนธรรมมาจากต่างชาติ จึงมองไปว่า ถ้าสามารถปรับขนาดของกี่ได้และมาสอนทอผ้า เป็นแบบไทยๆ น่าจะทำได้
นั่นจึงเป็นที่มาของการประยุกต์กี่ทอผ้าให้มีขนาดเล็กลง และส่วนตัวเองก็ไปลองเรียนรู้การทอผ้าจากชาวบ้านบ้าง กลับมาฝึกเองบ้าง ผิดๆ ถูกๆ ซึ่งการลองผิดลองถูกนี่เอง มีข้อดีตรงที่เราได้ลายที่แตกต่างออกมา และมีความสวยงาม ก็เลยนำมาประยุกต์เข้าด้วยกัน หลังจากนั้น 1 ปีก็ได้เปิดร้าน
“ทีแรกยอมรับว่าเหนื่อยเหมือนกัน เพราะตัวเองค่อนข้างใหม่กับการทำธุรกิจ และการที่เป็นธุรกิจสอนทอผ้า เป็นอะไรที่คนค่อนข้างไม่รู้จัก หรือบางทีมองเข้ามาแล้วไม่กล้าเข้า เพราะไม่รู้ว่าร้านเราทำอะไร แต่ก็มีบางคนที่สนใจเข้ามาถาม อีกทั้งในความยาก เราก็ยังมีความโชคดีอยู่บ้าง ที่เมื่อสื่อต่างๆ ได้เห็นเรา เข้ามาถามเรา พอทราบไอเดียเราก็นำไปเผยแพร่ คนก็เริ่มรู้จักมากขึ้น”
ส่วน “กี่ทอผ้า” ทางร้านเรามีการจำหน่ายเช่นกัน ในราคาตัวละ 2.9 หมื่นบาท ก็ยังสามารถขายได้เรื่อยๆ แต่อาจจะไม่หวือหวานัก โดยมีขายให้ลูกค้าทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาเจอแล้วถูกใจก็ซื้อกลับบ้านไป ซึ่งหลักๆ แล้วธุรกิจทางร้านยังเป็นการเปิดสอนทอผ้า แต่จากการที่ได้ไปออกบูธงานบ้านและสวนครั้งที่ผ่านมา มีลูกค้าสนใจซื้อชิ้นงานเราจำนวนมาก ทั้งกระเป๋า ผ้าคลุมไหล่ และผลงานที่เป็นมาสเตอร์พีซ คือเป็นผ้าทอสำหรับแขวนโชว์ ก็ยังขายได้ ก็ทำให้เราภูมิใจและคิดได้ว่า ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบงานเหล่านี้ แต่เขาอาจจะยังไม่มีเวลาพอ หรือไม่สะดวกที่จะผลิตชิ้นงานด้วยตัวเอง
คุณวิวรรณ บอกอีกว่า ในช่วงปีแรกๆ เราเจอกับปัญหาหลายอย่าง ทั้งน้ำท่วมใหญ่ หรือเหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่น เพราะตอนนั้นลูกค้าส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นที่มาอาศัยอยู่ในเมืองไทย จนมาเจอกับสถานการณ์การเมืองไม่นิ่ง เศรษฐกิจโลกซบเซาอีก ทำให้เราอาจจะไม่เติบโตเท่าไร แต่มาปีนี้คิดว่าพอไปได้แล้ว และอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า เป็นขาขึ้นเสียเยอะ แต่การที่เราเป็นธุรกิจค่อนข้างเฉพาะ เป็นนิช มาร์เก็ต ทำให้การเติบโตจะไม่หวือหวา แต่ก็ถือว่าโอเค และตลาดงานอดิเรกในเมืองไทยก็โตขึ้น คนสนใจงานฝีมือที่ทำด้วยมือกันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการขยายธุรกิจจะไม่เน้นการขยายสาขา เพราะห่วงว่าอาจจะดูแลไม่ทั่วถึง แต่หากใครสนใจทำแฟรนไชส์กับเราก็มาคุยกันได้ ซึ่งก็ต้องการคนที่เขาอยากทำกับเราจริงๆ เป็นคนที่ชอบในงานฝีมือจริงๆ เพราะนี่เป็นธุรกิจบริการที่ต้องใส่ใจเยอะ ไม่ใช่แค่การซื้อมาขายไปเท่านั้น
ส่วนการเติบโตได้มองไปที่การเพิ่มไลน์ของผลิตัณฑ์มากกว่า เช่น การสอนในรูปแบบที่แอดวานซ์มากขึ้น จากรูปแบบเดิมๆ ที่จะทอเป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ก็จะพัฒนาในเชิงลึกให้มากขึ้น โดยทอออกมาเป็นรูปภาพได้ ทำให้เป็นแรงจูงใจสำหรับลูกค้าเดิมๆ ที่สนใจจะกลับมาทำเพิ่มเติม และลูกค้าใหม่ๆ ก็สนใจกันมากขึ้น อีกรูปแบบหนึ่งคือเราได้พัฒนาในเชิงกว้าง ออกตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยจัดเป็นชุดที่เรียกว่า weaving kit นำไปทำได้เองที่บ้าน โดยจะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า วิฟวิ่ง การ์ด ซึ่งจดสิทธิบัตรแล้ว ที่เตรียมเส้นด้ายไว้พร้อมสำหรับการทอด้วยมือ พร้อมเส้นไหม และข้อมูลบอกวิธีการทำ สามารถทำออกมาเป็นชิ้นงานได้สำเร็จเลย ซึ่งปัจจุบันมีจำหน่ายแล้ว 4 ขนาด และ 6 แบบ มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 บาท ไปจนถึง 2,000 กว่าบาท
“เราเตรียมจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ ผ่านช่องทางต่างๆ ของเรา ที่มีทั้งเว็บไซต์ และสื่อออนไลน์ แต่ตอนนี้ก็เปิดจำหน่ายแล้วที่ร้าน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมองไปที่ตลาดค้าปลีกทั้งในและต่างประเทศด้วย โดยน่าจะอยู่ในโซนงานฝีมือ ซึ่งสินค้าเราเป็นสินค้าพรีเมียม วัตถุดิบที่ใช้เป็นเส้นไหม แต่เราก็มีการพัฒนาเส้นไหมให้มีความสนุกมากขึ้น ด้วยการใช้เทคนิคต่างๆ” คุณวิวรรณ กล่าวและบอกว่า ส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ค่อนข้างพอเพียง ไม่ได้ทำธุรกิจในเชิงรุกมากนัก แต่ก็มีความหวังไว้ว่าชุดวิฟวิ่ง คิทนี้ เมื่อได้ออกสู่ตลาดแล้วก็น่าจะไปได้ดีในระดับหนึ่ง
“ทอด้วยใจรัก” สร้างความสุข
คุณวิวรรณ เล่าว่า ครั้งที่เริ่มต้นทำร้านแรกๆ ยังไม่แน่ใจนัก เพราะทำงานออฟฟิศ และเรียนจบมาด้านบัญชี จบเอ็มบีเอก็ด้านบัญชี ทำให้เป็นคนอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม พอมาทำร้านก็ลองผิดลองถูก แต่สิ่งหนึ่งที่ได้ค้นพบว่าชอบที่จะทำร้านนี้ก็คือ การที่เราชอบทอ เมื่อได้ลองทำก็คิดว่าสนุก แม้จะอยู่ในช่วงที่มาทั้งขาขึ้นบ้าง ลงบ้าง และยอมรับว่าบางครั้งก็เครียด แต่พอได้ทอผ้าแล้วเราก็มีความสุข จึงสามารถทำให้เรายืดหยัดที่จะสู้ต่อไปได้
“หมวยพยายามพัฒนาทั้งตัวเราเองและผลงาน ทำให้ทุกวันนี้ยอมรับเลยว่ามีความสุขกับงานทอมาก ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีความสุข คือมาทำงานก็เหมือนไม่ได้มาทำงาน แต่จะรู้สึกมีความสุขเหมือนอยากจะมาทำงานทุกวัน และเชื่อว่าแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว อีกอย่างเราสนุกกับการที่ได้ทำได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ด้วย อย่างชุดวิฟวิ่ง คิท ที่ทำออกมายังไม่รู้ว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ยังไม่รู้นะ แต่ก็คิดว่าน่าจะตอบโจทย์ได้ ซึ่งก็อาจจะดีและต่อไปเราก็จะสบายขึ้น”
นอกจากนี้ สำหรับตัวเองไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องร่ำรวย แต่ขอให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เราอยู่ได้ ก็ถือว่าโอเคแล้ว เพราะเราทำด้วยใจรัก ส่วนตัวแล้วคิดว่า การที่เราทำด้วยความตั้งใจ และไม่ได้เบียดเบียนใคร ก็น่าจะได้รับสิ่งดีๆ กลับมา แล้วก็คิดว่าจริงเช่นนั้น เพราะมีข้อพิสูจน์มาหลายครั้งแล้ว เช่น อย่างทุกวันนี้ดีขึ้นก็ด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของเราจริงๆ
สำหรับร้าน The Loom เปิดให้บริการทุกวัน ที่ชั้น 3 ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย โดยรับนัดการสอนให้สำหรับลูกค้าตามที่ลูกค้าสะดวก แต่ก็จะไม่รับนัดทีละมากๆ เพราะจะเน้นการสอนแบบใกล้ชิดและเป็นการสอนแบบตัวต่อตัว ยกเว้นการจัดกรุ๊ปสอนที่จะมีเข้ามาเป็นครั้งคราว ซึ่งก็มีทั้งกรุ๊ปเด็กและผู้ใหญ่