
เติมตารางธาตุด้วยโลหะหนัก4ชนิดใหม่
09 ม.ค. 2559
เวิลด์วาไรตี้ : เติมตารางธาตุด้วยโลหะหนัก 4 ชนิดใหม่ : โต๊ะต่างประเทศ
ตารางธาตุ (Periodic Table) เหมือนยาขมที่นักเรียนสายวิทย์ต้องกล้ำกลืนท่องจำและทำความเข้าใจ เพื่อที่จะใช้ในการทำคะแนนในวิชาเคมีพื้นฐาน ตารางธาตุเป็นการแสดงสัญลักษณ์ของธาตุเคมีที่จัดเรียงบนพื้นฐานของเลขอะตอม (จำนวนโปรตอนในนิวเคลียส) การจัดเรียงอิเล็กตรอน และคุณสมบัติทางเคมีโดยจัดเรียงไปในทิศทางการเพิ่มจำนวนของเลขอะตอมตามลำดับ
ตารางธาตุมาตรฐานมี 18 หมู่ และ 7 คาบ และมีคาบพิเศษเพิ่มเติมมาอยู่ด้านล่างของตารางธาตุ ซึ่งธาตุแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ก๊าซเฉื่อย จนถึงโลหะหนัก และโลหะที่ไม่ทำปฏิกิริยากับธาตุอื่น
ผู้คิดค้นตารางธาตุขึ้นมาได้แก่ นายดิมิทรี เมนเดเลเยฟ นักเคมีชาวรัสเซียและนักประดิษฐ์ ที่สร้างตารางธาตุขึ้นมาก่อนจัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2412 ทำให้การอ่านและทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของธาตุที่เป็นที่รู้จักในแวดวงนักวิทยาศาสตร์ทำได้ง่ายขึ้นมาก

นายเมนเดเลเยฟ เชื่อว่าตารางธาตุที่ตนเองสร้างขึ้นมาเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้วนัั้นยังมีช่องว่างอีกมากที่จะเติมรหัสของธาตุเข้าไป เนื่องด้วยในเวลานั้นเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าเพียงพอที่จะทำความรู้จักกับธาตุที่มีคุณสมบัติใหม่ๆ นั่นเอง
ตลอดช่วงเวลากว่า 100 ปีนับตั้งแต่มีการตีพิมพ์ตารางธาตุออกมาสู่สาธารณชน ก็มีการเติมธาตุชนิดใหม่เข้าไปเรื่อยๆ ตามการค้นพบและพิสูจน์ให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์
ธาตุสุดท้ายที่มีอยู่ในธรรมชาติและนายเมนเดเลเยฟเชื่อว่าจะปรากฏอยู่ในตารางธาตุคือเฟรนเซียม ที่มีการค้นพบในปี 2482 แต่ก็ปรากฏว่ามีการค้นพบพลูโทเนียม(Pu) ในช่วงระหว่างปี 2482-2485 และมีการพบแคลิฟอร์เนียม(Cf) จากการสังเคราะห์และต่อมามีการยืนยันการพบในธรรมชาติเมื่อปี 2554 จึงนำรวมเข้าไปในตารางธาตุหลังจากเป็นที่ยอมรับในกลุ่มนักวิชาการแล้ว

ล่าสุดเมื่อช่วงปลายปี 2558 ก็มีข่าวการเพิ่มธาตุลำดับที่ 113 115 117 และ 118 เข้าไปในตารางธาตุ หลังจากที่สหภาพระหว่างประเทศว่าด้วยเคมีศาสตร์บริสุทธิ์และประยุกต์ (ไอยูพีเอซี) ทำการศึกษาการค้นพบธาตุใหม่โดยนักวิจัยชาวอเมริกัน ญี่ปุ่น และรัสเซีย และพบว่าธาตุที่นักวิจัยทั้งหมดเสนอเข้ามานั้น “เข้าข่ายการค้นพบธาตุใหม่”
ซึ่งหมายความว่านักวิจัยที่ค้นพบธาตุเหล่านี้สามารถสร้างขึ้นมาได้ในห้องปฏิบัติการ
ธาตุที่ค้นพบใหม่มีเลขอะตอมสูงถึง 113 115 117 และ 118 ทำให้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มธาตุหนักที่สุดในตารางธาตุ และมีช่วงครึ่งชีวิตสั้นมาก เพียงไม่ถึงวินาทีเท่านั้นธาตุหนักเหล่านี้ก็แปรสภาพไปเป็นธาตุชนิดอื่น
ในเวลานี้ยังไม่มีการตั้งชื่อธาตุที่ค้นพบใหม่อย่างถาวร มีเพียงชื่อชั่วคราวที่ใช้เรียกไปก่อน โดยธาตุหมายเลข 113 ได้ชื่อว่า อุนอุนเทรียม (Uut) หมายเลข 115 ชื่อ อุนอุนเพนเทียม (Uup) หมายเลข 117 ชื่อ อุนอุนเซพเทียม (Uus) และอุนอุนเทรียม (Uuo) สำหรับธาตุหมายเลข 118

ส่วนธาตุหมายเลข 114 และ 116 มีการค้นพบและตั้งชื่อไปก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ปี 2554 โดยธาตุหมายเลข 114 ชื่อเฟลโรเวียม และหมายเลข 116 ชื่อ ลิเวอร์มอเรียม
ที่น่ายินดีคือธาตุหมายเลข 113 ที่มีการบรรจุเข้าไปในตารางธาตุในครั้งนี้เป็นธาตุที่นักวิจัยชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ค้นพบ โดยเป็นทีมงานของนายโคสุเกะ โมริตะ หัวหน้าทีมกับวิจัยแห่งสถาบันไรเคน ดังนั้น จะมีการตั้งชื่อให้มีกลิ่นอายของเอเชีย เป็นที่น่าภูมิใจของชาวเอเชียอย่างที่สุด เพราะชื่อนี้จะปรากฏไปตราบชั่วกาลนาน