'มีชัย'เปิดตัวรธน.ปราบโกง!
29 ม.ค. 2559
'มีชัย' แถลงเปิดตัว รธน. 270 มาตรา 15 หมวด ตั้งฉายา 'รธน.ฉบับปฏิรูปประเทศ' ใช้ปราบโกง-ไม่ฟอกคนทำผิด
29 ม.ค. 59 เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมงบประมาณชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่า หลังจาก กรธ.ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 และเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2558 - 29 มกราคม 2559 ใช้เวลา 117 วัน วันหยุด 40 วัน รวมเวลาการทำงาน 77 วัน ได้ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่มี 94 หน้า บทบัญญัติจำนวน 270 มาตรา มี 15 หมวด ประกอบด้วย หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ หมวด 7 รัฐสภา หมวด 8 คณะรัฐมนตรี หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ หมวด 10 ศาล หมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ หมวด 12 องค์กรอิสระ หมวด 13 องค์กรอัยการ หมวด 14 การปกครองท้องถิ่น หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาล
นายมีชัย กล่าวว่า ด้วยเวลาที่มีอยู่ เราได้ร่างรัฐธรรมนูญได้ดีที่สุด โดยยึดตามกรอบร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 39/1 วรรคสอง ทั้งนี้ กรธ.พร้อมเปิดรับฟังและข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับปรุงเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ที่สุด โดยเราต้องการให้เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง และไม่ใช่เป็นที่ฟอกตัวคนทำผิด ใครทำการทุจริต เช่น ฉ้อโกงประชาชน ก็จะเข้าสู่การเมืองไม่ได้ และเป็น ส.ส.ไม่ได้ เช่น ถูกตัดสินมีความผิดฐาน เป็นเจ้ามือการพนัน ฟอกเงิน ค้ายาเสพติด รวมถึงฉ้อโกงประชาชน ซึ่งถ้ารัฐธรรมนูญยังอยู่ สิ่งป้องกันปัญหาเหล่านี้ก็จะคงอยู่ อย่างไรก็ตาม กรธ.ไม่ได้เพิ่มอำนาจองค์กรอิสระมากกว่าที่เคยมีอยู่ อำนาจองค์กรอิสระยังมีอย่างเดิม หรือใกล้เคียงกับที่มีมา แต่กำหนดกระบวนการชัดเจนว่า อย่างไรคือทุจริต ไม่สมควรทำ จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไร เช่นกำหนดมาตรฐาน จริยธรรมธรรมว่าอย่างไหน ฝ่าฝืน แล้วถือว่าร้ายแรงและกำหนดเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ถ้าเข้ามาแล้วกระทำก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งและให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดในเรื่องการฝ่าฝืนและพ้นตำแหน่ง
“อะไรที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้ประชาชนสามารถทำได้ ทั้งนี้ ในการออกกฎหมายจำกัดสิทธิของประชาชน มีหลัก 3 ข้อ คือ 1.การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องไม่ขัดสิทธิเสรีภาพที่วางไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2.ไม่ขัดสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 3.ไม่สร้างภาระเกินความจำเป็น”
ฟังความเห็นทุกฝ่ายภายใน 15 ก.พ.
ส่วนการมีส่วนร่วมของประเทศชาติและประชาชน นายมีชัยยืนยันว่า ตลอดเวลาการร่างรัฐธรรมนูญได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายในทุกรูปแบบ ขณะเดียวกันจะมีการรับฟังความคิดจากทุกฝ่ายอีกครั้ง คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประชาชนทั่วประเทศ ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเน้นมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง
นายมีชัย กล่าวว่า กระบวนการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปก็เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง การเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม, การเปิดชื่อคนเป็นนายกฯ ทำให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม, การให้ ส.ว.เลือกทางอ้อม ก็เพื่อให้ประชาชนเข้ามาสู่อำนาจอย่างแท้จริง ไม่ต้องพึ่งพานักการเมืองหรือนายทุน ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกไปใช้กับประชาชนทั้งประเทศ เพื่ออนาคตของประเทศ
ส่วนในเรื่องการปรองดอง นายมีชัยกล่าวว่า เรื่องปรองดองแทรกไว้ในแต่ละเรื่อง เช่น การให้ฝ่ายค้านสามารถเสนอเปิดอภิปรายได้ ก็เป็นการปรองดอง, การใช้สิทธิเสรีภาพต้องนึกถึงคนอื่นด้วย ก็เป็นการปรองดองอย่างหนึ่ง การจะคิดเรื่องปรองดองขึ้นมาโดยเฉพาะเป็นเรื่องจนปัญญา ได้บอกนายกฯ ไปแล้ว
ตั้งนิยาม “รธน.ฉบับปฏิรูปประเทศ”
เมื่อถามว่า ภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งหมด จะเรียกว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใด นายมีชัยกล่าวว่า เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศ
นอกจากนี้นายมีชัยยังบอกว่า เมื่อ คสช.ปฏิวัติเข้ามา เมื่อภารกิจยังไม่เสร็จก็ต้องให้เขามีอำนาจอยู่
เมื่อถามว่า มีกลไกอะไรเป็นหลักประกันไม่ให้ คสช.สืบทอดอำนาจ นายมีชัย กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ห้าม คสช.ตั้งพรรคการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ต้องลาออกจาก คสช.เสียก่อนหลังร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ 90 วัน ซึ่งถ้าไม่ลาออกก็แสดงว่าไม่สนใจลงเล่นการเมือง
นายมีชัย กล่าวถึงประเด็นในบทเฉพาะกาลมาตรา 260 ที่ให้กำหนดวันเลือกตั้งภายใน 5 เดือนนับจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายสำคัญ จำนวน 10 ฉบับแล้วเสร็จ เท่ากับว่าไม่สามารถทำเสร็จก่อน 8 เดือนใช่หรือไม่ ว่า กรธ.จะต้องทำให้เสร็จภายในเวลา 8 เดือน ขยายอีกไม่ได้ เพราะมาตรา 259 เขียนบังคับไว้ว่า หาก กรธ.ทำกฎหมายลูกไม่เสร็จตามกำหนด กรธ.ก็กลับบ้าน แล้วให้ คสช.ตั้งชุดใหม่ขึ้นมาร่างกฎหมายลูก ส่วนจะใช้เวลาเท่าไรก็ขึ้นกับชุดใหม่จะกำหนด
เมื่อถามว่า เนื้อหาแบบนี้เปิดช่องให้การร่างรัฐธรรมนูญนานขึ้นอีกหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ตนกำหนดไว้ 8 เดือน ก็หมายความว่า มั่นใจจะทำเสร็จตามกรอบเวลา เหมือนเมื่อตอนรับตำแหน่งประธาน กรธ.ก็มั่นใจว่าจะร่างทันภายใน 6 เดือน ตนเขียนแบบนี้ ก็ต้องคิดว่าทำได้ แม้ตอนนี้จะเริ่มล้าเต็มที
เมื่อถามว่า หากโรดแม็พต้องเลื่อนออกไป ภาพลักษณ์ของไทยต่อต่างประเทศจะเสียความน่าเชื่อถือหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า “เอาเฉพาะเมืองไทยก่อนดีมั้ย”
ส่วนถ้าร่างฉบับนี้ไม่ผ่านจะทำอย่างไร นายมีชัยกล่าวว่า “อย่ารู้เลยเดี๋ยวตกใจ”
เมื่อถามย้ำว่า อยากรู้ทางออก อยากตกใจ นายมีชัยกล่าวว่า “อย่าเลยเดี๋ยวเป็นลม”
ส่วนกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ นายมีชัยระบุว่า ก็ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่