ข่าว

บริหารธุรกิจโลจิสติกส์ยุคใหม่ใส่เทคโนฯปั้นอินโนเวทีฟคอมพานี

บริหารธุรกิจโลจิสติกส์ยุคใหม่ใส่เทคโนฯปั้นอินโนเวทีฟคอมพานี

01 ก.พ. 2559

บริหารธุรกิจโลจิสติกส์ยุคใหม่ใส่เทคโนโลยีปั้น'อินโนเวทีฟ คอมพานี' : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยอนัญชนา สาระคู

           ในบรรดาผู้บริหารคนรุ่นใหม่ แถมยังเป็นผู้หญิงเก่งที่อยู่ในแวดวงธุรกิจโลจิสติกส์ ต้องนึกถึงคนนี้ “จุฑานุช ชุมมานนท์” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ ที เอ็น โลจิสติคส์ จำกัด และยังได้รับความไว้วางใจจากผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการให้ขึ้นแท่นเป็นนายกสมาคมขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออก นั่นหมายถึงการได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจ นำพาสมาชิกออกไปบุกตลาดอาเซียน และพัฒนาธุรกิจไปสู่ระดับสากล

           “จุฑานุช” หรือ “เอย” ปัจจุบันอายุ 30 ปี เล่าว่า นอกจากเป็นนายกสมาคมขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออกแล้ว ยังเข้าร่วมเป็นกรรมการในสหพันธ์การขนส่งอาเซียน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของสมาคมต่างๆ ในธุรกิจโลจิสติกส์ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจ แก้ปัญหา และทำให้การนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศในอาเซียนเป็นไปอย่างราบรื่น ภายหลังจากการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

           “ถือเป็นภาระหน้าที่ที่ค่อนข้างหนัก แต่ก็คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มีความร่วมมือกับภาครัฐ ได้เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการไปบอกกล่าวกับภาครัฐถึงปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนสถานการณ์ความเป็นจริงที่บางครั้งรัฐอาจจะยังไม่ทราบ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาความร่วมมือไปในทางที่ดี นอกจากนี้ คิดว่าการที่ได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาเป็นนายกสมาคมก็เพราะว่าผู้ใหญ่หลายๆ ท่านในวงการมีความสนใจออกไปขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน จึงต้องการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่สามารถสื่อสารกับต่างประเทศได้ดี และมีคอนเนกชั่นที่ดี เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมตรงนี้”

           ในปีนี้สมาคมมีแผนจะช่วยสมาชิกยกระดับมาตรฐานธุรกิจ เช่น สนับสนุนให้ผ่านการรับรองมาตรฐานต่างๆ อย่างไอเอสโอ และคิวมาร์ก ที่เป็นเหมือนมาตรฐานรับรองของกรมการขนส่งทางบก รวมทั้งเข้าไปช่วยให้การบริหารจัดการธุรกิจของสมาชิกมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การบริหารจัดการรถบรรทุกที่มีอยู่ว่าควรจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อจะสามารถรับงานขนาดใหญ่ๆ ได้มากขึ้นเรื่อยๆ และจะสามารถขยายธุรกิจไปพร้อมๆ กันได้

           กับอีกส่วนคือ คิดว่าการรวมกลุ่มกันก็เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพมากพอที่จะสามารถแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้ ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยมีความแข็งแรงมากขึ้น

           อย่างไรก็ตาม ปัญหาเร่งด่วนที่อยากให้ภาครัฐเข้ามาดำเนินการก็คือ การอำนวยความสะดวกในการขนส่งผ่านชายแดน การปรับปรุงสาธารณูปโภคตามด่านชายแดน แต่ยอมรับว่าในเรื่องนี้จะต้องใช้ความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐในการเจรจากับรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการนำเข้าและส่งออกสินค้าให้ง่ายขึ้นและถูกต้องมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาที่ค่อนข้างเรื้อรังมานาน แต่เมื่อมีการเปิดเออีซีแล้ว อย่างน้อยก็น่าจะผลักดันในจุดนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความราบรื่น

           โดยมองว่าปัญหาในอาเซียนมีความคล้ายคลึงกัน คือ ความไม่พร้อมด้านสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวก จึงเกิดการรวมกลุ่มเป็นสหพันธ์อาเซียนขึ้น ที่สมาชิกในแต่ละประเทศจะมาร่วมกันคิดหาวิธีการแก้ปัญหากันเองก่อน

           สำหรับบริษัท อาร์ ที เอ็น โลจิสติคส์ จำกัด “เอย” นับเป็นทายาทธุรกิจรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาบริหารกิจการต่อจากรุ่นพ่อแม่ ที่ได้ร่วมสร้างธุรกิจกันขึ้นมา แต่แนวทางการบริหารเรียกได้ว่า จะเป็นการบริหาร “ธุรกิจโลจิสติกส์ยุคใหม่” ที่จะแตกต่างจากรุ่นก่อน

           เอยเล่าว่า บริษัทอาร์ ที เอ็นฯ เริ่มต้นมาได้ประมาณ 20 ปีแล้ว ซึ่งทั้งคุณพ่อคุณแม่ได้เปลี่ยนอาชีพจากการเป็นทันตแพทย์มาสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ บริการส่งออกและนำเข้าสินค้าแบบครบวงจร ทั้งทางเรือและทางอากาศ รวมทั้งยังมีบริการคลังสินค้าสำหรับลูกค้าที่ต้องการพักสินค้าไว้ก่อนการจัดส่ง มีบริการรถบรรทุกหัวลากตู้คอนเทนเนอร์ รวมไปถึงบริการจัดส่งสินค้าไปถึงโรงงานลูกค้า โดยบริษัทมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีพนักงานกว่า 200 คน และคิดว่า ในส่วนของบริการนำเข้าส่งออกครบวงจร บริษัทเองจัดอยู่ในท็อป 5 ของบริษัทที่เป็นของคนไทย

           ธุรกิจหลักในปัจจุบันคือ ธุรกิจรถบรรทุกคอนเทนเนอร์สำหรับการขนส่งเพื่อการนำเข้าและส่งออก แต่เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดในประเทศค่อนข้างอิ่มตัว บริษัทจึงได้ขยายงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ในส่วนของธุรกิจนำเข้าส่งออก จะขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามด่านชายแดน คือ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่สามารถส่งเข้าไปถึงประเทศจีนด้วย อีกส่วนเป็นธุรกิจใหม่เพิ่มเข้ามาสำหรับตลาดในประเทศ ด้วยการพัฒนาไปทางด้านออนไลน์ โลจิสติกส์ เพื่อรองรับตลาดอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม เนื่องจากระยะหลังธุรกิจค้าออนไลน์ขยายตัวสูงมาก และลูกค้าของบริษัทหลายราย ก็เข้ามาขยายตลาดค้าออนไลน์กันมากขึ้นด้วย ได้สอบถามเข้ามากันมากว่า มีบริการขนส่งหรือไม่ เราเห็นโอกาสนี้ จึงได้พัฒนาบริการขึ้นมารองรับ

           “เราพัฒนาบริการขนส่งสินค้าออนไลน์มาได้ 1-2 ปีแล้ว เพราะเห็นทิศทางการค้าเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ลูกค้าหลักๆ ของเราที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ก็เริ่มเปิดแผนกออนไลน์กันมากขึ้น พอเขาเปิดขึ้นมาก็มาถามว่า เราจะสามารถทำโลจิสติกส์ให้ได้หรือไม่ เหมือนเขาไว้วางใจเราอยู่แล้วจึงอยากให้รับงานนี้ต่อ จึงเริ่มขยายธุรกิจตรงนี้ขึ้นมา แต่ปัจจุบันยังเน้นการขนส่งภายในประเทศก่อน และในอนาคตจะขยายออกไปสู่ตลาดต่างประเทศด้วย”

           นอกจากนี้ยังมองว่าตลาดในประเทศเป็นเหมือน เรด โอเช่ยน หรือตลาดขาลงแล้ว เห็นได้จากวอลุ่มของลูกค้าเดิมค่อนข้างจะลดลง บริษัทจึงต้องหาธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมเพื่อเพิ่มยอดขาย ซึ่งก็พยายามปรับทิศทางการทำงานในหลายส่วน อย่างในส่วนต่างประเทศพบว่าลูกค้าในประเทศลดลงไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีบริษัทต่างชาติเข้ามาแข่งขันค่อนข้างมาก เราก็พยายามพลิกผันตัวเองให้เข้าไปเป็นซับคอนแทรกเตอร์ให้บริษัทต่างชาตินั้นอีกทอดหนึ่ง คือจะเป็นการรับช่วงงานมาดำเนินการให้ เพราะเรามีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินการสำหรับตลาดในประเทศได้ดีกว่า

           ส่วนตลาดนำเข้า-ส่งออก หลังจากพบว่าลูกค้าส่วนใหญ่หันไปเปิดโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านกันมากขึ้น เพราะพวกเขาประสบปัญหาต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนด้านค่าแรงในไทยที่สูงขึ้น แต่ค่าแรงในประเทศเพื่อนบ้านถูกกว่า แถมยังได้รับการสนับสนุน หรือมีแรงจูงใจด้านการลงทุน บริษัทเองในฐานะผู้ให้บริการขนส่งจึงตามไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งทำให้ยอดขายของเราเพิ่มขึ้นในจุดนี้

           สุดท้ายคือ ธุรกิจออนไลน์ที่ค่อนข้างเติบโต และเรามองว่า น่าจะเป็น บลู โอเชียน ในประเทศไทยที่จะทำให้บริษัทสามารถสร้างรายได้จากส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ของธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์นี้ยังเล็กอยู่ คิดเป็น 10-20% ของรายได้รวม แต่ในอนาคตคาดว่าน่าจะไปได้ไกล และน่าจะมีสัดส่วนได้สูงถึง 50% เพราะด้วยจุดแข็งของบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการครบวงจร และมีความชำนาญในการดำเนินการ มีประสบการณ์ และมีรถขนส่งที่เป็นสินทรัพย์ของบริษัทเอง ตลอดจนการมีเทคโนโลยีรองรับ จะทำให้การบริการขนส่งของบริษัทมีความสะดวกต่อลูกค้าได้มากกว่า

           สำหรับทิศทางธุรกิจหลังจากนี้ มองว่าการส่งออกสินค้าปีนี้น่าจะยังทรงๆ และอาจจะลดลงบ้างตามสภาพเศรษฐกิจที่ไม่หวือหวานัก โดยการส่งออกระยะทางไกล เช่น ยุโรป อเมริกา น่าจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย ส่วนการนำเข้า หากค่าเงินยังเป็นเช่นนี้ก็อาจจะลดลงนิดหน่อยเช่นกัน แต่ที่มองว่าน่าจะเติบโตขึ้นได้ในปีนี้ก็คือ ธุรกิจที่เป็น “โลจิสติกส์ ฮับ” หมายถึงการนำเข้ามาในประเทศและผ่านแดนไปประเทศเพื่อนบ้าน หรือสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านนำเข้ามาและผ่านออกไปยังประเทศที่สาม เช่น ยุโรป และอเมริกา

           “การเป็นโลจิสติกส์ ฮับของไทย เริ่มที่จะเห็นว่ามีการเติบโตขึ้นมา และมีภาพชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทก็ทำกิจกรรมนี้อยู่แล้ว เพราะมีใบอนุญาตในการประกอบการมานาน 3-5 ปี และบริการให้ลูกค้ารายใหญ่อย่างเอสซีจี ที่เขาทำมานานแล้ว และตอนนี้ก็มีลูกค้ารายย่อยๆ ที่เข้ามามากขึ้น นั่นเป็นเพราะการเปิดเออีซี ที่กำแพงด้านภาษีลดลง ทำให้คนเข้ามาทำกิจกรรมการขนส่งผ่านแดนกันมากขึ้น และก็มาใช้บริการเรามากขึ้นด้วย รวมถึงยังมีการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้การขนส่งสินค้าเป็นไปอย่างสะดวกขึ้น”

           อย่างไรก็ตาม การที่ไทยจะเป็นฮับในเออีซีได้นั้น จะต้องมีสาธารณูปโภคในประเทศที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ถนน ด่านชายแดน จะต้องพัฒนาให้ได้มากขึ้น รวมทั้งตัวผู้ประกอบการเองจะต้องมีความรู้และศึกษาเรื่องการนำเข้าและส่งออกให้มากขึ้น

           สำหรับการบริหารธุรกิจ “จุฑานุช” กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 35% และจากนี้ไปภาพการเติบโตจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และน่าจะเติบโตได้ปีละ 40-50% เพราะเราขยายธุรกิจที่สอดคล้องไปกับเทรนด์ของตลาด และในระยะหลังยังได้ลงทุนด้านเทคโนโลยีค่อนข้างมาก เพื่อช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลูกค้าจะสะดวกมากขึ้นที่มาใช้บริการเรา

           อย่างไรก็ตาม แนวทางการบริหารธุรกิจโลจิสติกส์ของตัวเองจะเรียกว่าเป็น “โลจิสติกส์ ยุคใหม่” ก็ว่าได้ ซึ่งจะแตกต่างจากยุคก่อนในหลายๆ เรื่องคือ ด้านเทคโนโลยี จากสมัยก่อนธุรกิจโลจิสติกส์ส่วนใหญ่จะพึ่งพาการใช้แรงคน แต่ตอนนี้เราได้พัฒนาลงทุนด้านเทคโนโลยี โดยนำโปรแกรมสมัยใหม่เข้ามาบริหารจัดการแทนแรงงานคน เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนลงให้ได้มากที่สุด แต่ก็ยังต้องใช้แรงงานคน โดยเราพยายามทำให้บริษัทของเราเป็น “อินโนเวทีฟ โลจิสติกส์ คอมพานี” และมีคนรุ่นใหม่เข้ามาค่อนข้างมากที่จะมาช่วยผลักดัน

           “วัฒนธรรมองค์กรของเรา นอกจากจะมีคนรุ่นเก่าแล้ว ก็จะให้คนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยคิด ช่วยกันระดมสมองกันว่าจะทำอย่างไรที่จะมาช่วยลดต้นทุนให้ได้มากขึ้น และหาลูกค้าได้มากขึ้น เช่นเมื่อก่อนเราจะมีฝ่ายขายไว้คอยวิ่งหาลูกค้า ระยะหลังเราพยายามทำการตลาดผ่านเว็บไซต์ และโซเชียล มีเดียต่างๆ เพื่อเป็นช่องทางให้ลูกค้าเข้ามาหาเราให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันคนจะค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จนะ เพราะมีคนโทรเข้ามาใช้บริการเราโดยไม่จำเป็นต้องส่งฝ่ายขายออกไป และหากเราต้องการโฟกัสตลาดใด ก็จะเลือกโปรโมทเป็นเว็บไซต์ๆ ไป”

           เอย กล่าวด้วยว่า การบริหารงานของบริษัท แม้จะพยายามเน้นคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนช่วยคิดสร้างสรรค์ หานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ แต่องค์กรของเราก็ยังเป็นลักษณะผสมผสานกับคนรุ่นเก่าที่ยังคงมีอยู่ โดยคนรุ่นเก่าก็จะเป็นหัวหน้าทีมคอยดูแล ส่วนคนรุ่นใหม่ก็จะเข้ามามากขึ้น โดยจะประชุมระดมสมองกันค่อนข้างบ่อยเพื่อสร้างธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

           “เราจะประชุมกันทุกเดือนว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะมีรางวัลสำหรับคนที่มีอินโนเวทีฟ หรือไอเดียใหม่ๆ เข้ามา คือพยายามจะผลักดันแนวทางที่ให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วม ให้การทำงานเป็นทีมเวิร์กมากขึ้น เพราะคิดว่าเมื่อเขาได้ร่วมกันคิดแล้ว เขาก็จะตั้งใจในการทำสิ่งขึ้นเพราะเขาเป็นคนคิดเอง”

            “โลจิสติกส์”ในยุคดิจิทัล

           บอกได้เลยว่า “จุฑานุช ชุมมานนท์” เป็นผู้บริหารหญิงรุ่นใหม่ไฟแรง ด้วยแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไปสู่ยุคใหม่ ที่เรียกว่า เป็น “ยุคดิจิทัล” โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าให้มีความทันสมัย และนอกจากจะพัฒนาภายในบริษัท อาร์ ที เอ็น โลจิสติคส์ จำกัด แล้ว ยังนำมาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกันรายอื่นๆ ให้พัฒนาไปพร้อมๆ กันเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในสูงขึ้น

           เอย จบการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจ ภาคอินเตอร์ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง ส่วนประสบการณ์การทำงานค่อนข้างหลากหลายก่อนจะเข้ามารับช่วงต่อบริหารธุรกิจของครอบครัว โดยเคยเป็นผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนสินค้ากลุ่มบำรุงผิวพรรณ ของยูนิลีเวอร์, ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายแบรนด์กระดาษชำระคลีเน็กซ์ ของคิมเบอร์ลี่ย์ฯ อีกทั้งยังเป็นฝ่ายการตลาดของ ล็อกซิทาน ออง โพรวองซ์ และเป็นผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทอาร์ ที เอ็น โลจิสติคส์

           ล่าสุดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ในบริษัท อาร์ ที เอ็นฯ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการนำเข้า-ส่งออก ตั้งแต่ปี 2543 โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้าจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยให้บริการขนส่งสินค้าทั้งทางอากาศ ทางเรือ แบบ FCL, LCL , Consolidation, Break bulk ทั้งนำเข้าและส่งออก

           สำหรับมุมมองถึงภาพรวมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในอนาคตนั้น เอยมองว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ควรจะมีระบบที่ราบรื่นไปตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางให้ได้มากกว่านี้ เพื่อผู้บริโภค ผู้ใช้บริการ หรือลูกค้าจะได้สะดวกสบายมากขึ้น คือปัจจุบันยังเป็นเรื่องยากสำหรับลูกค้า เช่น เรื่องการนำเข้าและส่งออกจะทำอย่างไร เรื่องเอกสาร การติดต่อหน่วยงานต่างๆ จะทำอย่างไร ในอนาคตเห็นว่าควรจะดำเนินการได้ในออนไลน์ทั้งหมด ทั้งการจัดการเรื่องเอกสาร การสั่งซื้อสินค้า การจัดส่ง รวมไปถึงการติดตามข้อมูลสินค้าว่าจัดส่งไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว อยู่ที่ไหนแล้ว และถึงผู้รับหรือยัง แต่ปัจจุบันยังค่อนข้างเป็นแบบแมนวล ใช้คนทำ ซึ่งลูกค้าจะต้องโทรหาเอง ติดตามเอง ทำให้ค่อนข้างยุ่งยาก

           “คิดว่าในอนาคตควรสมูทมากกว่านี้ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่จะทำได้ต้องใช้ความร่วมมือของภาครัฐด้วยที่จะต้องพัฒนาแพลตฟอร์มเข้ามารองรับ โดยภาครัฐก็พยายามที่จะพัฒนาตรงนั้นอยู่แล้วเช่นกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องทำแค่ภาครัฐของไทยฝ่ายเดียว จะต้องเป็นการหารือระหว่างภาครัฐของแต่ละประเทศในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันด้วย ซึ่งก็ยอมรับว่าในแต่ละประเทศมีความพร้อมแตกต่างกัน”