ข่าว

จำเป็นแค่ไหนที่ไทยต้องมีเรือดำน้ำ

จำเป็นแค่ไหนที่ไทยต้องมีเรือดำน้ำ

08 ก.พ. 2559

จำเป็นแค่ไหนที่ไทยต้องมีเรือดำน้ำ : ทีมข่าวสืบสวนสอบสวน

              หากนับเอาความผิดหวังที่จะได้เรือดำน้ำมาประจำการ ก็ต้องบอกว่า ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ที่กองทัพเรือต้องผิดหวังกับการจัดหาเรือดำน้ำมาประจำการ

              แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า กองทัพเรือจะล้มเลิกความต้องการ ถึงแม้จะมีคำถามว่า ในสภาวะเช่นนี้ ประเทศไทยมีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องมีเรือดำน้ำมาประจำการ

              เรือดำน้ำนับเป็นอาวุธลับที่แต่ละประเทศซื้อมาประจำการเพื่อต่อรองและหาข่าว การทำงานของเรือดำน้ำนั้น เรียกได้ว่า เงียบ ลับ เข้าทำลายฝ่ายตรงกันข้ามได้โดยที่ยังไม่ทันรู้ตัว ความสำคัญของเรือดำน้ำนั้น ถึงกับนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ว่า ในยุคสงครามเย็น ผู้ที่มีอำนาจที่สุดรองจาก ประธานาธิบดีสหรัฐ ประธานาธิบดีรัสเซีย ก็คือ ผู้บัญชาการเรือดำน้ำที่ติดตั้งขีปนาวุธ เพราะสามารถตัดสินใจยิงขีปนาวุธได้เอง

              น.อ.วชิรพร วงศ์นครสว่าง ผู้อํานวยการกองวิชาความมั่นคงและวิชาพิเศษฝ่ายวิชาการ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่กองทัพเรือไทยจะต้องมีเรือดำน้ำว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับความพร้อมรบที่จำเป็นจะต้องมีอาวุธ หรือยานรบ ให้ครบ 3 มิติ คือ ผิวน้ำ อากาศ และใต้น้ำ ซึ่งเป็นไปตามหลักคิดของกองทัพเรือทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันกองทัพเรือมีกำลังรบแค่ 2 มิติ ยังขาดมิติที่ 3 ที่ผ่านมากองทัพเรือเคยมีเรือดำน้ำประจำการ แต่ก็ปลดประจำการไปแล้ว กองทัพเรือก็อยากจะมีเรือดำน้ำขึ้นมาทดแทน แต่ขณะนี้มีปัญหาหลายอย่างที่ไม่สามารถมีเรือดำน้ำได้

              ปัญหาที่ว่านั้น มีตั้งแต่ในระดับเทคนิคจนถึงระดับนโยบาย โดยระดับเทคนิคคือ หากจะต้องมีเรือดำน้ำ เราจะต้องเตรียมความพร้อมหลายอย่าง ทั้ง "องค์บุคคล” ที่ก่อนหน้านี้กองทัพจัดกำลังพลไปศึกษายังต่างประเทศ และ “องค์วัตถุ” คือเราจะต้องมีศูนย์ซ่อมเรือดำน้ำที่ปัจจุบันเรายังไม่ได้มีการเตรียมการในเรื่องนี้เลย

              “ทั้งที่การเตรียมความพร้อมในการซ่อมบำรุงนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ปัจจุบันกองทัพเรือจะมีอู่ซ่อมเรืออยู่ แต่ยังไม่มีแผนกซ่อมเรือดำน้ำโดยเฉพาะ หากมีเรือดำน้ำมาประจำการ กองเรือดำน้ำจึงเป็นเพียงผู้ใช้เท่านั้น กรมอู่ทหารเรือเป็นผู้ซ่อม ซึ่งการซ่อมก็จะต้องมาซ่อมที่กรมอู่ทหารเรือ แต่ความจริงไม่ใช่เป็นแบบนั้น”

              สิ่งที่บ่งบอกว่ามีการเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้ก็คือ การตั้งงบประมาณ แต่ทุกครั้งที่กองทัพเรือผิดหวังจากการจัดซื้อเรือดำน้ำนั้น ไม่แม้แต่ครั้งเดียวที่จะมีการเตรียมงบประมาณสำหรับการสร้างอู่ซ่อมเรือดำน้ำ

              น.อ.วชิรพร บอกว่า จะไปหวังว่า หากทำสัญญากับจีนแล้วจีนจะซ่อมให้ไม่ได้ เพราะระยะยาวอาจเกิดปัญหา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากองทัพเรือเจาะจงซื้อเรือจากจีน เพราะช่วงนั้นยังมี เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส รัสเซีย สวีเดน และเยอรมนี มาเสนอขายด้วย

              “บางครั้งกองทัพเรือเราไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ หรือสร้างความรับรู้ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง กองทัพเรือเมื่อจะต้องมีเรือดำน้ำ หรือมีโอกาสได้เรือดำน้ำจากรัฐบาล จึงจะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ นอกจากนี้อีกปัญหาที่พบคือ บางครั้งรัฐบาลให้งบประมาณแน่ๆ หรือรัฐบาลอาจจะมีความสนิทสนมกับรัฐบาลบางประเทศเป็นพิเศษ แต่ขณะที่กองทัพก็มีจุดยืนว่า ประเทศนั้นเรือดำน้ำไม่ตรงสเปก ดังนั้นผู้ขอกับผู้อนุมัติมีความเห็นไม่ตรงกันก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้”

              น.อ.วชิรพร ยอมรับด้วยว่า มีเสียงสะท้อนจากภายในกองทัพเรือว่า เรือดำน้ำจากจีนไม่ตอบโจทย์ เพราะเรือฟริเกตที่จีนต่อให้ก็มีเสียงบ่นจากกำลังพลและเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทหารเรือบางส่วนกังวล เพราะว่าทหารเรือสำเร็จการศึกษาจากยุโรป ทำให้มีความเชื่อมั่นว่าเรือดำน้ำของประเทศยุโรปน่าจะมีสมรรถนะและความคงทนดีกว่าประเทศจีน

              แต่ความเชื่อกับความเป็นจริงก็สามารถหักล้างกันได้หากมีเหตุผลเพียงพอ เพราะที่ผ่านมาเรือดำน้ำจีนยังไม่มีอุบัติเหตุร้ายแรง แต่ปัญหาระดับนโยบายคือ กองทัพเรือขอเรือดำน้ำ หรือจัดซื้อเรือดำน้ำในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทุกครั้ง

              ย้อนกลับไปปี 2537 สมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ก็เคยอนุมัติซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ วงเงินจำนวน 1,700 ล้านบาท เลือกเรือดำน้ำชั้น Gotland ของบริษัท Kockums ประเทศสวีเดน เป็นเรือดำน้ำที่ทันสมัยมากในขณะนั้น แต่ถูกโจมตีเรื่องความโปร่งใส

              7 ปีถัดมา สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็มีการขอซื้อเรือดำน้ำอีก แต่ก็ไม่สำเร็จ

              และอีกครั้งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งขณะนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีการขอซื้อเรือดำน้ำมือสอง อู 206 จากเยอรมนี วงเงิน 7,500 ล้านบาท แต่โครงการก็ถูกตีกลับอีก

              “การจัดซื้อเรือดำน้ำคนจัดหาจะไม่พอใจ แต่คนพอใจหากได้ของยุโรป ซึ่งคนจัดหาส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักการเมือง หรือคนที่มาจากกองทัพ แล้วมีอำนาจทางการเมือง”

              น.อ.วชิรพร บอกด้วยว่า เรือดำน้ำเป็นอาวุธทางรุก เหมือนจารชน จะต้องทำงานนอกบ้าน ต้องไปใช้น้ำในทะเลลึก

              ถึงแม้จะพูดคุยกันในเรื่องของความจำเป็นตามหลักคิดของกองทัพเรือทั่วโลกที่จะต้องครองทะเลให้ได้ แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่กองทัพเรืออ้างถึงความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำ นั่นก็คือ การคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศในทะเล ซึ่งระบุว่า มีถึง 24 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

              เอกสารแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล ฉบับปี 2558-2564 ระบุว่า มีมูลค่า 17 ล้านล้านบาท แต่เอกสารที่กองทัพเรือนำออกมาชี้แจงให้สาธารณะได้เข้าใจเหตุผลที่กองทัพเรือต้องมีเรือดำน้ำประจำการนั้น ระบุว่า 24 ล้านล้านบาท

              การคิดเม็ดเงินนั้นคิดได้หลายตำรา บางตำราคิดผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในเรื่องของกิจกรรมที่เกิดขึ้น บวกกับค่าเงิน กิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทประกันภัยทางทะเล หรืองานซ่อมอู่ต่อเรือ บางที่อาจจะคิดมูลค่าที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็มี ทั้งแหล่งก๊าซที่ตกลงกับประเทศกัมพูชาไม่ได้ รวมถึงโครงการทวาย ที่ไทยร่วมลงนามกับประเทศพม่าและญี่ปุ่น ที่จะเป็นมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้น แต่โดยรวมนั้นมากมายมหาศาลแน่นอน

              แม้ในอนาคตข้างหน้า ภัยสงครามขนาดใหญ่จะไม่เกิดขึ้น แต่ผลประโยชน์ของชาติจะมองในเรื่องภัยคุกคามรูปแบบเดิม คือการรุกรานจากกำลังทหารของต่างชาติอย่างเดียวไม่ได้ เพราะภัยคุกคามรูปแบบใหม่มีหลายอย่าง เช่น จากการก่อการร้าย ที่สามารถก่อวินาศกรรมท่าเรือ หรือการปล้นเรือ ที่กองทัพเรือได้จัดกำลังไปดูแลบริเวณอ่าวเอเดน ประเทศโซมาเลีย รวมทั้งช่องแคบมะละกา

              นอกจากนี้ยังมีภัยคุกคามจากการอพยพลักลอบเข้าเมืองทางทะเล ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้เรือจำนวนมาก เป็นเรือที่มีขีดความสามารถในการบรรเทาทุกข์ หรือการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพ การช่วยเหลือกรณีเกิดภัยธรรมชาติ อย่างกรณีคลื่นยักษ์สึนามิที่จะต้องใช้เรือใหญ่ในการช่วยเหลือ โดยเฉพาะเรือโอพีวี หรือเรือหลวงอ่างทอง เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เรือสนับสนุนยกพลขึ้นพล ในการจัดตั้งโรงพยาบาลลอยน้ำ เรือกู้ภัย เรือซ่อมเครื่องยนต์ เรือขจัดคราบน้ำมัน

              ขณะที่ภัยคุกคามประเทศในอนาคตอีก 10-20 ปี น.อ.วชิรพร กล่าวว่า ยังเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยเป็นภัยคุกคามในเรื่องก่อการร้ายสูงขึ้น เนื่องจากว่าการก่อการร้ายเริ่มรุนแรงในหลายพื้นที่ ดังนั้นเราจะต้องรับมือให้พร้อมมากขึ้น เพราะอาจรวมถึงการแพร่กระจายอาวุธทำลายล้างสูง เช่น นิวเคลียร์ เคมี ชีวภาพ เราจะต้องสามารถต่อต้านภัยเหล่านี้ให้ได้ผลมากยิ่งขึ้น