ข่าว

4 ทางเลือก หาก 'ประชามติไม่ผ่าน'

4 ทางเลือก หาก 'ประชามติไม่ผ่าน'

14 ก.พ. 2559

คม วิเคราะห์ การเมืองรอบสัปดาห์ : 4 ทางเลือก หาก 'ประชามติไม่ผ่าน' : โดย...โอภาส บุญล้อม

 
                      เคาะออกมาเรียบร้อยแล้วว่า วันที่  31 กรกฎาคมนี้ เป็นวันลงประชามติ หลังจาก “สมชัย ศรีสุทธิยากร ” กกต.ด้านการบริหารงานการเลือกตั้ง ได้หารือกับ วิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหลังจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เปิดเผยร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นออกมาก็มีเสียงสะท้อนกลับมา ทั้งที่เห็นด้วย เห็นแย้ง                       ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็รับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ เพื่อแก้ไขนำไปสู่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ต่อไป 
 
                      แต่นาทีนี้คำถามว่า หากประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไรกันต่อไป ดังถี่ขึ้นเรื่อยๆ 
 
                      ขณะที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557  แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) เขียนแต่เพียงว่า “ในการออกเสียงประชามติ ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ" แต่กลับไม่ได้เขียนว่า "ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป"
 
                      ดังนั้น หากเกิดกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ  คนที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรต่อไปก็คงหนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพราะก่อนหน้านี้ “วิษณุ” เคยให้สัมภาษณ์ว่า “หากประชามติไม่ผ่าน...หัวหน้า คสช.จะเป็นผู้ตัดสินใจ”  
 
                      ซึ่งขณะนี้มีวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ 2 วิธี หาก “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์” ไม่ผ่านประชามติ คือ 1.แก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน 2.ใช้มาตรา 44
 
                      ก่อนอื่นขอกล่าวถึงมาตรา 44  ซึ่งเป็นมาตราที่ค่อนข้างครอบจักรวาล หลายคนจึงมองว่า มาตรา 44 ทำให้หัวหน้า คสช.มีอำนาจเหนือนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ และมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป เป็นการใช้อำนาจในฐานะ “รัฏฐาธิปัตย์” แปลว่า อะไรที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ หัวหน้า คสช.อาจใช้มาตรา 44 เขียนอุดช่องได้ 
 
                      อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้่  “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ มือกฎหมายของรัฐบาล เคยบอกว่า การนำมาตรา 44 มาใช้ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติว่าจะทำอย่างไร อาจจะไปแย้งกันเองกับรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เพราะว่ารัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ไม่ได้เขียนเอาไว้ว่า กรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไรต่อไป เขียนแต่ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติว่าให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเท่านั้น   ในขณะที่มาตรา 44  ก็เป็นมาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ซึ่งตามหลักกฎหมายขัดแย้งกันเองไม่ได้ ดังนั้นโอกาสที่จะใช้มาตรา 44 จึงค่อนข้างต่ำ อีกทั้งมาตรา 44 เป็นอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ดังนั้นการที่ พล.อ.ประยุทธ์จะใช้อำนาจของตัวเองในการเขียนรัฐธรรมนูญภาพจะไม่สวยเท่าไหร่ 
 
                      ดังนั้น กรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จึงน่าจะใช้วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มากกว่า  
 
 
4 ทางเลือก หาก \'ประชามติไม่ผ่าน\'
 
 
                      อีกทั้งขณะนี้มีประเด็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) อยู่แล้ว เช่น เสียงการผ่านประชามติของร่างรัฐธรรมนูญ  ซึ่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ใช้คำว่า “ผู้มีสิทธิออกเสียงโดยเสียงข้างมาก” ซึ่งหากดูตามถ้อยคำที่ใช้ ก็ต้องหมายถึง เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง แต่ฝ่าย คสช.กลับแปลความว่า เสียงข้างมากของผู้ออกเสียงใช้สิทธิ ซึ่งขัดแย้งกับถ้อยคำที่ใช้  ดังนั้นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)  ให้ชัดลงไปว่า “ใช้เสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียง” หากต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านโดยง่าย 
 
                      นอกจากนี้้ยังมีประเด็นขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากการพูดคุยระหว่าง กกต.กับตัวแทนรัฐบาล เกี่ยวกับกรณีที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ซึ่งบัญญัติว่า "ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกําหนดวันออกเสียงประชามติ นับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของครัวเรือนทั้งหมดที่ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ" ซึ่ง กกต.เห็นว่า เป็นเรื่องอันตราย เพราะหาก กกต.ส่งร่างรัฐธรรมนูญได้ไม่ถึงร้อยละ 80 ของครัวเรือนของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ก็ไม่สามารถลงประชามติกันได้  ดังนั้นจึงจะยกเลิกเกณฑ์เกี่ยวกับการส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ถึงร้อยละ 80 ของครัวเรือน จึงจะลงประชามติได้ เปลี่ยนเป็นว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีส่งร่างรัฐธรรมนูญถึง กกต. ให้จัดให้มีการลงประชามติภายในเวลาไม่เกิน 120 วัน ซึ่งเป็นหลักประกันว่า การลงประชามติเกิดขึ้นได้แน่ๆ จึงเป็นที่มาของการกำหนดวันลงประชามติในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ และการยกเลิกเกณฑ์ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของครัวเรือนของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติก่อนลงประชามติ ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเช่นกัน
 
                      ส่วนประเด็นสำคัญที่ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะเอาอย่างไรต่อ จะนำรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้ก็ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ไปพร้อมกันก่อนที่จะถึงวันลงประชามติ เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจลงประชามติว่า หากไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ จะได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้แทน และน่าจะเป็นที่ยอมรับได้กว่าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้หลังผลประชามติออกมาแล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยไม่ผ่านประชามติ เพราะเท่ากับว่าประชาชนไม่มีโอกาสรู้มาก่อนเลยว่าจะต้องเจอกับอะไรหากลงประชามติไม่ผ่าน “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย”
 
                      อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ “วิษณุ” รองนายกฯ ได้พูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) กรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้ ว่า จะทำให้เกิดอคติขึ้นในการลงประชามติ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย” เหมือนมีสินค้า 2 ชิ้นมาเทียบกัน ซึ่งมันไม่ดีไม่ควรจะมาล่อใจกันแบบนั้น หรืออาจจะกลายเป็นความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ในสังคม เพราะนอกจากกระแสไม่เห็นด้วยกับ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย” แล้ว อาจมีกระแสขึ้นมาใหม่ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะหยิบนำเอามาใช้แทนด้วย ซึ่งถ้าแปลความจากคำพุูดของ “วิษณุ” ว่า จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) กรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติว่าจะเอาอย่างไรต่อ น่าจะทำหลังผลประชามติออกมาแล้วว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย” ไม่ผ่าน
 
                      อีกทั้ง “ยุทธศาสตร์” ของ คสช.ที่ผ่านมา จะดำเนินการเรื่องอะไรก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ดังนั้นจึงน่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ในประเด็นนี้หลังผลประชามติออกมาแล้วว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยไม่ผ่าน เว้นแต่ คสช.ทนกระแสเรียกร้องที่ต้องการความชัดเจนในประเด็นนี้้ ซึ่งขณะนี้แรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ไหว ก็อาจแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่าจะเอาอย่างไรกรณี “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย” ไม่ผ่านก่อนผลประชามติจะออกมาก็ได้ เหมือนกับที่เคยแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาแล้วในเรื่องให้มีการ “ลงประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญเพราะทนกระแสเรียกร้องในขณะนั้นไม่ไหว ทั้งที่ตอนแรกรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ไม่มีเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
 
                      ส่วนแนวทาง กรณีที่ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย” ไม่ผ่านประชามติ มีอยู่ 4 ทางเลือก ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะเลือกแนวทางใด ได้แก่ 1.นำเอา “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย” มาเป็นต้นร่างแล้วปรับปรุง จากนั้นประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งแนวทางนี้มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด 2.นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุง เช่น รัฐธรรมนูญในอดีต ปี 2540, ปี 2550 หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือนำเอารัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาปรับปรุงแล้วประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรก็ได้ หรือนำเอารัฐธรรมนูญหลายฉบับมายำรวมกัน แล้วประกาศใช้ 
 
                      3.เริ่มกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ โดยตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ รับฟังความคิดเห็นกันใหม่ นับหนึ่งใหม่ แต่เป็นไปได้น้อย เพราะทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และวิษณุเคยบอกตั้งแต่แก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ครั้งแรกว่า คงไม่ปล่อยให้ทำกันไม่รู้จบ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ได้ย้ำแล้วย้ำอีกว่า ปี 2560 ต้องเลือกตั้งให้ได้ ดังนั้นหากยกร่างกันใหม่ เลือกตั้งไม่ทันกำหนดแน่
 
                      4.ให้อำนาจหัวหน้า คสช.ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นของตัวเองเลย เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พล.อ.ประยุทธ์  ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ก็เคยพูดทำนองนี้ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ผมก็ทำของผมเอง เพื่อไม่ให้เสียของ และต้องหารัฐธรรมนูญมาให้เลือกตั้งจนได้ อาจมีมาตราเดียว หรือ 2-3 มาตรา ก็พอแล้ว คือ 1.ให้มีการเลือกตั้ง 2.เรื่องสิทธิมนุษยชน 3.เรื่องประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ  อีกทั้งก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่า นายกฯ เตรียมร่างรัฐธรรมนูญไว้ 50 มาตรา ซึ่งหากใช้ทางเลือกนี้ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประยุทธ์” น่าจะมีดีกรีแรงกว่า “ฉบับของอาจารย์มีชัยและบวรศักดิ์”  
 
                      ทั้งนี้ทางเลือกทั้ง 4 ทาง จะไม่มีการทำประชามติอีก ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญให้หมดปัญหากันไปเลย
 
 
 
 
-------------------
 
(คม วิเคราะห์ การเมืองรอบสัปดาห์ : 4 ทางเลือก หาก 'ประชามติไม่ผ่าน' : โดย...โอภาส บุญล้อม)