
ไทยตีกรรเชียงหนี-สหรัฐเล็งฮุบอู่ตะเภา
ไทยตีกรรเชียงหนี-สหรัฐเล็งฮุบอู่ตะเภา : รายงานพิเศษ โดยทีมข่าวสืบสวนสอบสวน
ท่าอากาศยานอู่ตะเภาของไทย พื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดทางด้านการรบและเศรษฐกิจของเอเชีย ยังเป็นที่หมายปองของสหรัฐอเมริกา ที่จะขอเข้ามาตั้งฐานทัพเพื่อขยายอำนาจและสกัดกั้นอิทธิพลของจีน ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ที่จะต่อกรกับ 2 มหาอำนาจใหญ่นี้ จะออกมาในรูปแบบไหน เป็นประเด็นที่น่าติดตาม
สนามบินอู่ตะเภา มีรันเวย์ยาว 11,500 ฟุต มีลานจอดเครื่องบินขนาดใหญ่ 4 แห่ง มีความพร้อมในการรองรับอุปกรณ์สำคัญสำหรับปฏิบัติภารกิจทางด้านการทหาร เช่น ลานจอดเครื่องบินเติมน้ำมันทางอากาศ เครื่องบินสอดแนมในการลาดตระแวนระยะไกล
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่จอดและโรงเก็บเครื่องบิน ตลอดจนพื้นที่ที่ติดกับทะเลและยังมีถนนยุทธศาสตร์ ถนนสาย 311 ที่เชื่อมสนามบินอู่ตะเภาและฐานบินต่างๆ กับถนนสายหลักอื่น ที่เอื้อต่อปฏิบัติการส่งกำลังบำรุงได้เป็นอย่างดี จึงสามารถประหยัดงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก
และจากข้อได้เปรียบเรื่องการปฏิบัติการด้านการรบ ภารกิจลับทางทหารที่เคยใช้เป็นฐานทัพ เมื่อเปรียบเทียบกับที่อ่าวกามแร็งห์ ประเทศเวียดนาม และเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ สามารถนำเครื่องบินรบบินจากอู่ตะเภาไปยังมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตกและมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออกได้โดยไม่ต้องผ่านน่านฟ้าของประเทศอื่น
และเมื่อสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนไป อาเซียนได้รวมตัวกันทางเศรษฐกิจตั้งเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี จนทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นคู่ค้าที่สำคัญมากของประเทศจีน เช่นเดียวกับสหรัฐ ที่มองเห็นความสำคัญของภูมิภาคอาเซียน หาหนทางเข้ามาเอี่ยวผลประโยชน์นี้ด้วย
แต่ปัญหาของสหรัฐคือ มีฐานทัพอยู่ในภูมิภาคสำคัญนี้เพียงแห่งเดียว ที่ฐานทัพเรือที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการกดดันจีน จึงเป็นที่มาให้สหรัฐกลับมาฟื้นฟูฐานทัพเก่าในประเทศไทยอีกครั้ง
ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เดือนพฤษภาคมของปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกาจะประสานมายังรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอใช้สนามบินอู่ตะเภาและภูเก็ต เป็นฐานสำรวจการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติชองชาวโรฮิงญา ในมหาสมุทรอินเดียอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หน่วยงานความมั่นคงสหรัฐ ได้เจรจากับฝ่ายไทยเพื่อขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติทางธรรมชาติและมนุษยธรรม รวมถึงองค์การบริหารการบินและอวกาศ ของสหรัฐอเมริกา (นาซ) ก็ขอร่วมศึกษา วิจัย สำรวจสภาพภูมิอากาศในเชิงอุตุนิยมวิทยานั้น แต่โครงการดังกล่าวก็ถูกพับไปด้วยปัจจัยทางการเมือง
แม้คำขอของสหรัฐจะอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนนำหน้า แต่เป้าหมายยังคงหวังที่จะใช้สนามบินอู่ตะเภาของไทยเป็นฐานทัพ เพราะหากสิงคโปร์คือเส้นทางการขนส่งทางเรือของโลก ไทยจะเป็นเส้นทางการขนส่งทางอากาศ เพราะเครื่องบินทุกลำจะมาลงที่ไทยเพื่อเปลี่ยนสายการบิน และยังเป็นเส้นทางการขนส่งทางรถเพื่อเชื่อมต่อไปยังทางใต้คือสิงคโปร์ ไทยจึงถือเป็นจุดเชื่อมยุทธศาสตร์ทั้งทางเรือ ทางถนน และทางอากาศ พร้อมๆ กัน
แต่ตอนนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้แก้ลำตอบกลับไปว่า รัฐบาลไทย จะตั้งศูนย์อำนวยการลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียเอง เพื่อให้กองทัพไทยเป็นผู้ควบคุมและเป็นผู้นำร่องในการปฏิบัติการต่างๆ และจะดำเนินการตามกฎ กติกาที่กำหนด
เจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบรัฐบาลให้ข้อมูลว่า เรื่องนี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาด้วยความระมัดระวัง เพราะไทยอยู่กึ่งกลางของ 2 มหาอำนาจสหรัฐและจีน คำตอบที่ให้แก่สหรัฐในเบื้องต้นคือ ไทยจะใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์ ไม่ใช่เป็นสนามบินทางทหาร
สนามบินอู่ตะเภา ปัจจุบันมีสายการบินพาณิชย์ประจำอยู่ 4 สายการบิน คือ แอร์เอเชีย บางกอกแอร์ China Southern และ R Airline สำหรับเที่ยวบินเหมาลำมี 3 บริษัท คือ Mongolian Air, SCAT และ IKAR
สายการบินดังกล่าวจะบินจากสนามบินอู่ตะเภาไปยังต่างประเทศ จำนวน 9 เมือง โดยจำนวน 9 เมือง ได้บินเข้าประเทศจีนจำนวน 7 เมือง ซึ่งจาก 4 เดือนที่ผ่านมาคือ ตุลาคม - พฤศจิกายน - ธันวาคม 2558 และ มกราคม 2559 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาแล้ว 1.7-2 แสนคน โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 90 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ส่วนที่เหลือคือ ประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย
แต่สหรัฐก็ยังไม่ละความพยายาม ได้ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นครั้งคราว ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา ได้ทำเรื่องขอใช้สนามบินอู่ตะเภาในการขนย้ายกำลังพลที่จะเดินทางมาฝึกคอบร้าโกลด์ 2016 ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 9-19 กุมภาพันธ์นี้
ขณะที่ “แพทริค เมอร์ฟี” อุปทูตสหรัฐอเมริกา พูดเรื่องความสัมพันธ์กับไทยเพียงว่า สหรัฐยังมองเห็นความสำคัญ และต้องการจะสนับสนุนให้ไทยก้าวมาสู่ความเข้มแข็ง โดยที่เร่งฟื้นฟูความเป็นประชาธิปไตย เพราะเรามีความสัมพันธ์มาถึง 183 ปี ซึ่งถือว่าไม่ใช่สิ่งเล็กๆ
หน่วยข่าวความมั่นคงของไทยมองเรื่องนี้ว่า “เป็นการได้ไม่คุ้มเสีย” หากไทยยอมให้สหรัฐใช้สนามบินอู่ตะเภา แม้ข้อดีที่ไทยได้รับคือ เรื่องงบประมาณและเทคโนโลยี แต่ข้อเสียจะมีมากกว่า ทั้งส่งผลกระทบและสร้างความหวาดระแวงให้แก่กลุ่มต่อต้านอเมริกา กลุ่มก่อการร้าย รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างจีนที่เป็นคู่แข่งกับอเมริกาทั้งทุกๆ ด้าน ที่สำคัญคือ พื้นที่ตรงนี้ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ เป็นจุดกึ่งกลางของอาเซียน ทั้งยังอยู่ใกล้จีนกับอินเดีย
สนามบินอู่ตะเภายังคงพื้นที่ต้องตาต้องใจของกองทัพสหรัฐอยู่ จุดยืนของไทยจะโอนเอียงไปทางสหรัฐ จนทำให้ตาชั่งความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-ไทย-จีน สูญเสียความสมดุลหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
ไทยต้องถ่วงดุลอำนาจ “สหรัฐ-จีน” ให้ดี
วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ประเด็นสำคัญที่สหรัฐอยากได้สนามบินอู่ตะเภามาเป็นฐานทัพทางทหาร เพื่อการรักษาดุลอำนาจการเติบโตทางอิทธิพลของจีนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ โดยนโยบายของสหรัฐอเมริกาจะใช้วิธีการปิดล้อม เพราะว่าในฐานะทัพสหรัฐอเมริกามีพื้นที่ในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แต่ไม่สามารถตั้งฐานทัพในรัสเซียได้ จึงจำเป็นต้องลงมาในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสกัดการเติบโตหรืออิทธิพลของจีน และประการที่สำคัญคือ ถ้ารัฐบาลไทยอนุญาตใช้สนามบินอู่ตะเภา ประโยชน์ที่กองทัพสหรัฐอเมริกาหรือกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาได้ประโยชน์มากที่สุดคือ การบินผ่านน่านฟ้า โดยไม่ได้ผ่านประเทศใดในกรณีที่ปฏิบัติภารกิจลับทางทหาร ข้ามไปสู่มหาสมุทรอินเดีย ผ่านประเทศไทยออกไปได้เลย แต่หากไปตั้งฐานทัพที่เวียดนามหรือฟิลิปปินส์จะต้องผ่านน่านฟ้าหลายประเทศ ดังนั้นเมื่อการบินผ่านน่านฟ้าของเครื่องบินรบจะต้องขออนุญาตน่านฟ้าประเทศนั้นๆ ความลับก็จะไม่ได้เป็นความลับอีก ก็จะรู้ว่าสหรัฐอเมริกาทำอะไรในพื้นที่ข้อพิพาท แต่ถ้าประเทศไทยอนุญาตให้สหรัฐอเมริกาใช้พื้นที่ ไม่ต้องผ่านน่านฟ้าใครเลย หากเกิดศึกสงคราม หรือการส่งกำลังบำรุงในอนาคต หรือการต่อสู้กับภัยก่อการร้ายในตะวันออกกลาง ก็สามารถสนับสนุนได้ในระยะไกลในทุกด้านทุกมิติในยุโรป
รัฐบาลไทยจะต้องระมัดระวัง หากอนุญาตเราจะถูกผลักให้เป็นพันธมิตรข้างใดข้างหนึ่ง ในการเล่นเกม ในการเลือกจุดสมดุล หรือการเลือกรักษาดุลอำนาจ แต่โดยส่วนตัวคิดว่า รัฐบาลไทยฉลาดพอ เพราะสมัย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เป็น รมว.ต่างประเทศ มีนักข่าวถามว่าเรื่องสนามบินอู่ตะเภาเพื่อภารกิจทางทหารของสหรัฐอเมริกา ก็ตอบว่า ไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องในการพาณิชย์เท่านั้น แสดงว่าเรามีระยะการเฝ้าระวัง กับความสัมพันธ์พอสมควร เพราะเคยมีปรากฏการณ์หนึ่งที่ประธานเสนาธิการร่วมของสหรัฐอเมริกา หรือ ผบ.ทหารสูงสุด มาเข้าพบ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา หลังจากนั้นวันเดียวกันเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยก็ขอพบ และผู้ใหญ่ของจีนก็ขอเข้าพบ พล.อ.อ.สุกำพล เพราะเกิดความไม่สบายใจในการเคลื่อนไหวของสหรัฐอเมริกา
ภาพที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ไทยจะต้องเล่นเกมให้เป็น แม้เราจะยังไม่เพลี่ยงพล้ำ แต่ถ้าเราเพลี่ยงพล้ำ หรือเราจะได้ประโยชน์ในการตั้งฐานทัพแล้ว เพราะอย่าลืมว่า มีนักท่องเที่ยวจีนมาลงที่สนามบินอู่ตะเภาค่อนข้างมาก รัฐบาลจีนก็เฝ้ามองคนของเขา ถ้ามองในแง่เดียวกันในการขยายพื้นที่ป้องภัยคุกคามใหม่ อาจจะไม่ใช่คนจีน แต่จะเป็นภัยก่อการร้ายที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เป็นการขยายพื้นที่เฝ้าระวัง แน่นอนว่า ดอนเมือง สุวรรณภูมิ ที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยดีอยู่แล้ว แต่หากได้อีกพื้นที่หนึ่งก็จะสามารถดูแลคนของเขา และประเทศในภูมิภาคได้ และในแง่ประโยชน์ อาจจะเข้ามาช่วยการค้าในการผ่านเส้นทางน้ำ
อสังหาฯไทยเนื้อหอมจีนแห่ลงทุน-ต้นปี“กว่าหมื่นล.”
“อสังหาฯไทย” เนื้อหอมทุนจีนแห่ลงทุน หลังเศรษฐกิจจีนชะลอตัว นโยบายจีนไม่ให้ซื้อบ้านหลังที่สอง แค่ต้นปีมีดีลจีนสนใจร่วมลงทุนพัฒนาโครงการและซื้อลงทุน มูลค่ากว่า “หมื่นล้าน” ทำเลยอดนิยม พระราม 9-รัชดาภิเษก หัวเมืองท่องเที่ยว พัทยา หัวหิน เชียงใหม่ จังหวัดแนวชายแดนตาก-เชียงราย
ความเคลื่อนไหวของทุน “จีน” รุกคืบเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งแบบลงทุนด้วยตนเองและแบบที่เข้ามาหาผู้ร่วมทุนชาวไทยเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์
ไม่เพียงเฉพาะลงทุนในบริษัทพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวระดับไฮเอนด์ หรือคอนโดมิเนียมหรูเท่านั้น แต่ยังกระจายครอบคลุมถึงโครงการระดับกลางและเล็ก ด้วยการร่วมทุนกับบริษัทพัฒนาที่ดินรายกลางรายเล็กทั้งที่มีชื่อและโนเนม
ทั้งนี้พบกลุ่มทุนจีนเข้ามาลงทุนอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมามี “มากกว่า 5 โครงการ” รวมมูลค่าโครงการ “กว่า 1 หมื่นล้านบาท” ส่วนใหญ่เป็นการเปิดโครงการคอนโดมิเนียม อาทิ บริษัท โฮมซิตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ของกลุ่มทุนรับเหมาจากจีนร่วมทุนกับคนไทย พัฒนาโครงการมิราเคิลหัวหินคอนโด และบ้านพักตากอากาศมูลค่า 5,600 ล้านบาท
บริษัท เดย์เกน กรุ๊ป ของกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์จีนพัฒนาโครงการบัดเจทคอนโดย่านติวานนท์ มูลค่าโครงการ 700 ล้านบาท บริษัท ยูนิเวอร์เซลพลัส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในเครือยูนิเวอร์เซล กรุ๊ป และบริษัท ฮงไทยเฮ้าส์ซิ่ง จำกัด เข้ามาร่วมทุนกับคนไทยพัฒนาบ้านจัดสรรย่านจอมทอง
ไม่แสดงตัวเป็น“ทุนจีน”
ที่ผ่านมาทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยส่วนใหญ่ จะเป็นกลุ่มทุน “รายเล็ก” และเห็นโครงการที่พัฒนาไม่มากนัก เพราะเกือบทุกโครงการไม่ได้แสดงตัวว่า เป็นของนักลงทุนจีน ทำให้ภาพความเคลื่อนไหวของทุนจีนดูไม่หวือหวานัก
นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยคอลลิเออร์สอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านลงทุนอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ปีนี้เริ่มมีสัญญาณการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวจีนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะนักลงทุนจีน หรือบริษัทไทยบางแห่ง เริ่มประกาศความชัดเจนว่า จะร่วมมือกันในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ เช่น ปริญสิริ ที่ประกาศว่า กำลังเจรจากับนักลงทุนจีน เพื่อพัฒนาโครงการคอนโด ย่านรัตนาธิเบศร์
นอกจากนี้ มีบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย-จีน ที่ยังไม่เปิดเผยชื่ออีกแห่งประกาศว่า จะพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส (ผสมผสาน) ร่วมกันที่ภูเก็ต ด้วยงบลงทุน 2,000 ล้านบาท โครงการที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจ จะเริ่ม 2,000-3,000 ล้านบาทขึ้นไป จนถึงขนาด 5 หมื่นล้านบาทขึ้นอยู่กับประเภทโครงการ
ทุนจีนรุกต่อ“เพชรเกษม-จรัญฯ”
โดยทำเลส่วนใหญ่ที่นักลงทุนจีนเลือกลงทุน เป็นทำเลที่มีชาวจีนอาศัยอยู่จำนวนมาก เช่น พระราม 9 รัชดาภิเษก โดยระยะหลังเริ่มขยายออกไปพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น เช่น ถ.เพชรเกษม ถ.จรัญสนิทวงศ์ พัทยา หัวหิน หรือเชียงใหม่ รวมทั้งจังหวัดตามแนวชายแดนหลายจังหวัด เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก จ.เชียงราย เป็นต้น
ถ้าเป็นกรุงเทพฯ จะเลือกทำเลที่อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้า หรือรถไฟใต้ดิน เป็นหลัก
ส่วนในเมืองท่องเที่ยวต่างจังหวัด จะเป็นเมืองที่ชาวจีนรู้จัก หรือมาท่องเที่ยวเป็นประจำเพื่อความสะดวกในการขายในกลุ่มชาวจีนด้วยกัน
ราคาที่ดินต่ำเทียบต่างประเทศ
"คาดว่าจากนี้ไปการเข้ามาลงทุนอสังหาฯ ของกลุ่มทุนจีนจะยังขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะตลาดอสังหาฯ ไทย ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงกลุ่มลูกค้าก็มีทั้งชาวต่างชาติและคนไทย ที่สำคัญมูลค่าการลงทุนยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากต้นทุนที่ดินยังอยู่ในระดับที่ต่ำ เมื่อเทียบกับราคาที่ดินในต่างประเทศ ทำให้ผลตอบแทนในการลงทุนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี
สำหรับรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนดูจะมีเพียง “ควีนแลนด์กรุ๊ป” หนึ่งในห้าบริษัทพัฒนาอสังหาฯที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยมีโครงการก่อสร้างหลายร้อยโครงการครอบคลุม 29 จังหวัดของจีนและมีโครงการอาคารสูงมากเป็นพิเศษที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและก่อสร้าง แล้วเสร็จจำนวน 23 โครงการ
โดยในจำนวน 23 โครงการนี้ มีโครงการที่ติด 10 อันดับแรกของตึกที่สูงที่สุดในโลกที่เข้ามาร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กลุ่มบริษัทชั้นนำของไทยกับบริษัทลูก คือ บริษัท แมกโนเลียควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อร่วมพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส ที่บริเวณจอมเทียน พัทยา บนเนื้อที่ 40 ไร่ ภายในโครงการประกอบด้วย โรงแรม คอนโด และคอมมูนิตี้มอลล์มูลค่าโครงการประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการวางคอนเซ็ปต์ คาดว่าจะเปิดโครงการภายในปีนี้
ต้นปีจีนสนลงทุน“หมื่นล้าน”
นายหลิน กว่าง จุง อลัน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฮาริสัน จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านลงทุนอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า แนวโน้มกลุ่มทุนจากประเทศจีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยเพิ่มมากขึ้น หลังจากภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัวทำให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่จำเป็นต้องมองหาโอกาสจากตลาดใหม่และออกไปลงทุนในประเทศ ที่มีการเติบโตและผลตอบแทนที่ดี
โดยรูปแบบทั้งเข้ามาเป็นพันธมิตรกลุ่มธุรกิจไทย เพื่อเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการและเข้ามาลงทุนในโครงการอสังหาฯ ที่ให้ผลตอบแทนระยะยาว
ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่สนใจให้บริษัทเป็นที่ปรึกษาหลายรายเพียงแค่ต้นปีที่ผ่านมามีนักลงทุนจากจีนเตรียมที่จะลงทุนแล้ว 6-7 ราย มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท ลงทุนเฉลี่ยรายละ 1,500 ล้านบาท
“รับเหมา-อสังหาฯรายเล็ก”จีนบุกไทย
โดยกลุ่มนักลงทุนจีนที่สนใจเข้ามาลงทุน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่สนใจเข้ามาลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังผลักดันออกมา
กลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็ก ที่มีเงินลงทุน 1,000-5,000 ล้านบาท เข้ามาร่วมพัฒนาโครงการกับผู้ประกอบการไทย
กองทุนการเงินและกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่จะเข้ามาลงทุนหาผลตอบแทน และกลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี และเงินทุน ซึ่งกลุ่มนี้มีความสนใจทั้งการเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาโครงการ และร่วมพัฒนาวัสดุเพื่อขายเช่นชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป (พรีแฟบ)
ระบุผลตอบแทนในไทยจูงใจ
ส่วนพื้นที่การลงทุนหลักๆ คือกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก อาทิ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น โดยผลตอบแทนที่กลุ่มนักลงทุนจีนต้องการ ในการลงทุนโครงการค้าปลีก 8-10% โรงแรม 7% อสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย เช่น คอนโด 10-15%
สอดคล้องกับ นายชนะ จันทรกูล กรรมการผู้จัดการบริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กลุ่มทุนจีนให้ความสนใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไทยจำนวนมาก มีทั้งสนใจลงทุนพัฒนาโครงการและลงทุนซื้อห้องชุดใจกลางเมือง เพื่อรอทำกำไรในอนาคต เพราะไทยเป็นหนึ่งในทำเลที่น่าสนใจ ถือว่าเป็นทำเลยอดนิยมของนักลงทุนต่างชาติ แม้ราคาอสังหาฯ จะปรับขึ้นทุกปี แต่ยังถือว่าถูก ประกอบกับมองว่าไทย จะกลายเป็นทำเลศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี
สัญญาณฟองสบู่จีนดันแห่ลงทุนนอก
รวมถึงนโยบายของจีนออกมาช่วง 2-3 ปีที่แล้ว ไม่ให้ซื้อบ้านหลังที่ 2 พร้อมทั้งสนับสนุนให้ลงทุนในต่างประเทศ และสัญญาณการเกิดปัญหาฟองสบู่อสังหาฯ ในจีน ยิ่งผลักดันให้ทุนจีนออกไปลงทุนในตลาดอื่นที่ยังให้ผลตอบแทนที่ดี
สะท้อนภาพทุนจีนหลายราย เข้ามาจ้างบริษัทบริหารการขายและทำตลาดให้ เช่น บริษัทไชนาเทียนฉินเอ็นจิเนียริ่่งคอปอเรชั่น เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ของจีนเข้ามาพัฒนาโครงการ “เดอะอาร์ทีมิส” มูลค่า 1,800 ล้านบาท ตั้งอยู่สุขุมวิท77 เป็นคอนโดสูง 30 ชั้น จำนวน 674 ยูนิต
นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนการร่วมทุนกับต่างชาติ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับทุนต่างชาติ 2 ราย คือ จีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ แต่ยังคงไม่สามารถสรุปผลได้ภายในระยะอันใกล้นี้
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์การร่วมทุน เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจเพิ่มขึ้นม ทั้งเรื่องโนฮาวเทคโนโลยี และการขยายตลาดต่างประเทศ เพราะเงินลงทุนพร้อมในการพัฒนาโครงการ
ไม่เพียงแต่นักลงทุนรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในไทย ส่วนรายย่อย ก็เข้ามาซื้อคอนโดใน กรุงเทพฯ มากขึ้น ทั้งแบบที่ซื้อในงานที่ผู้ประกอบการไทยไปเปิดขายที่จีนฮ่องกง สิงคโปร์ และเข้ามาซื้อด้วยตนเอง
“สถานีเพชรบุรี-ห้วยขวาง”ทำเลฮิต
โดยกลุ่มนี้ก็มีมา 2-3 ปีแล้ว แต่เริ่มชัดเจนมากขึ้นในปีที่แล้ว จากการที่ผู้ประกอบการไทยออกไปขายโครงการที่ประเทศเหล่านั้นมากขึ้น ทำเลที่ลูกค้าชาวจีนสนใจ ยังคงเป็นกรุงเทพฯ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท และรถไฟใต้ดินระหว่างสถานีเพชรบุรี ถึงสถานีห้วยขวาง หรือบางสถานีที่มีโครงการของผู้ประกอบการที่ไปเปิดขายต่างประเทศ
สำหรับโครงการที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจอันดับหนึ่ง ยังคงเป็นโครงการคอนโด เพราะเป็นโครงการที่ชาวต่างชาติซื้อได้ และเป็นรูปแบบการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูง และเร็วกว่าการลงทุนโครงการรูปแบบอื่นๆ นอกจากนี้ ลูกค้าจีนยังสนใจโครงการโรงแรมในทำเลที่ชาวจีนชอบเดินทางไป เช่น พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น