ข่าว

เปิดปฏิบัติการ 'ป.ป.ส.' ไล่ล้างไร่ 'ฝิ่น'

เปิดปฏิบัติการ 'ป.ป.ส.' ไล่ล้างไร่ 'ฝิ่น'

20 ก.พ. 2559

เปิดปฏิบัติการ 'ป.ป.ส.' ไล่ล้างไร่ 'ฝิ่น' เร่งสกัด 3 โซนอันตราย : โดย...ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย

 
                      จากแนวโน้มสถิติการปลูก “ฝิ่น” ที่เพิ่มสูงขึ้น จนกลายเป็นความหวั่นวิตกว่า ถ้าปล่อย เผลอ แผ่ว ต่อไป ในอนาคตฝิ่นจะมีโอกาสกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จึงเปิดปฏิบัติการตัดทำลายไร่ฝิ่น โดยเฉพาะพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกฝิ่นใหญ่ที่สุดของประเทศ ข้อมูลจากการสำรวจปี 2557 อมก๋อยอำเภอเดียวมีพื้นที่ปลูกฝิ่น 1,539.82 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 651.53 ไร่ หรือคิดเป็น 73.5%
 
                      ปกติไร่ฝิ่นจะลักลอบปลูกในพื้นที่ห่างไกล แต่จากปฏิบัติการตัดทำลายไร่ฝิ่น 4 แปลง ในบ้านห้วยบง ต.นาเกียน อ.อมก๋อย พบว่าเป็นการลักลอบปลูกในหุบเขาหลังหมู่บ้าน สะท้อนว่าผู้ลักลอบปลูกฝิ่นไม่เกรงกลัวกฎหมาย การโหมปฏิบัติการตัดทำลายจากส่วนกลาง เพื่อแสดงให้เห็นว่าทางราชการยังเข้มงวดปราบปราม โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยคำนวณระยะเวลาที่เหมาะสมในการเข้าตัดทำลาย เพื่อป้องกันไม่ให้มีผลผลิตหลุดลอดออกจากแปลงฝิ่น ต่างจากปฏิบัติการเอื้ออารีระดับพื้นที่ ซึ่งจะอะลุ้มอล่วย ให้กรีดยางฝิ่นได้อย่างน้อย 1 ครั้ง พอให้ผู้ปลูกได้คืนทุนบ้าง
 
                      “พิภพ ชำนิวิกัยพงศ์” ผอ.สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด  ระบุว่า ฝิ่นเป็นยาเสพติดที่อยู่คู่ประเทศไทยมาช้านาน ในปี 2505-2506 เริ่มมีการสำรวจพื้นที่ปลูกฝิ่น โดยประมาณการว่าไทยมีพื้นที่ปลูกฝิ่น 1.5 แสนไร่ ขณะที่รูปแบบการสำรวจฝิ่นทำกันอย่างเป็นทางการในปี 2522 และสำรวจอย่างจริงจังในปี 2526 โดยผลจากภาพถ่ายทางอากาศพบพื้นที่ปลูกฝิ่นกระจายใน 12 จังหวัด เนื้อที่ 5.4 หมื่นไร่ หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้นำโครงการพระราชดำริเข้าพัฒนาให้มีการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น ทำให้พื้นที่ปลูกฝิ่นลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือไม่ถึง 2,000 ไร่ โดยข้อมูลจากการสำรวจล่าสุด สิงหาคม 2558-กุมภาพันธ์ 2559 ไทยมีไร่ฝิ่นจำนวน 2,805 แปลง พื้นที่ 1,996.10 ไร่
 
                      ปัจจัยสำคัญที่จูงใจให้มีการลักลอบปลูกฝิ่น มาจากราคาสูงลิ่ว ฝิ่นดิบมีราคากิโลกรัมละ 84,000–105,000 บาท หรือ จ๊อยละ 134,000-168,000 บาท (1 จ๊อยเท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ต่างจากปี 2522 ซึ่งฝิ่นมีราคาเฉลี่ยเพียง กิโลกรัมละ 500-600 บาท ขณะที่พืชเมืองหนาวที่นำมาปลูกทดแทน ถูกตีตลาดจนราคาลดต่ำลงมาก ประกอบกับทางการประเทศเมียนมาร์เริ่มปราบปรามจริงจังและสั่งห้ามปลูกฝิ่น ทำให้ผู้ปลูกฝิ่นหนีกลับมาปลูกในฝั่งไทย จนมีแนวโน้มว่า ในปีนี้ พื้นที่ปลูกฝิ่นในไทยจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 10% โดยเลือกปลูกในพื้นที่ห่างไกล เส้นทางคมนาคมทุรกันดาร
 
 
เปิดปฏิบัติการ \'ป.ป.ส.\' ไล่ล้างไร่ \'ฝิ่น\'
 
 
                      ข้อมูลในชั้นสืบสวน พบเบาะแสนายทุนเข้ามาว่าจ้างปลูกฝิ่น โดยฝิ่นจะปลูกบนพื้นที่สูงในหุบเขาและป่าลึกเพื่อหลบซ่อนจากการบินสำรวจ และกระจายเป็นแปลงขนาดเล็ก เพื่อสร้างความยากลำบากในการเข้าตัดทำลาย ในการเดินเท้าเข้าสำรวจ ยังพบการปลูกฝิ่นหลายรุ่นภายในแปลงเดียวกัน เพื่อกระจายการเก็บเกี่ยวผลผลิต หากถูกเข้าตัดทำลายก็ยังเหลือฝิ่นในรุ่นต่อไปให้เก็บผลผลิตได้อีก
 
                      นอกจากนี้ยังพบการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรแผนใหม่มาประยุกต์ให้เข้ากับธรรมชาติของฝิ่น ตั้งแต่การสำรวจทำเลที่มีตาน้ำใต้ดิน ก่อนจะวางระบบประปาภูเขา ขุดบ่อพักน้ำใต้ดินความลึก 2-3 เมตร พร้อมกับการวางแนวท่อน้ำใต้ดินและติดหัวจ่ายน้ำระบบสปริงเกลอร์ ระดับความแรงของน้ำคลุมพื้นที่ หัวละ 6 เมตร และพบรูปแบบการปลูกฝิ่นแบบยกร่องแปลง ปลูกฝิ่นแบบขั้นบันได ล้อมรั้วป้องกันสัตว์ไม่เข้าไปกัดกินฝิ่น และมีร่องรอยการใส่ปุ๋ยเร่งรากเร่งดอกให้แก่แปลงฝิ่น ซึ่งวิวัฒนาการในเกษตรแผนใหม่ ทำให้ผู้ปลูกคาดเดาปริมาณผลผลิตได้ค่อนข้างแน่นอน และสามารถปลูกซ้ำได้มากกว่า 2 รอบ
 
                      ปัจจุบันผู้ปลูกยังได้รับการแนะนำให้พัฒนาสายพันธุ์ฝิ่น ด้วยการคัดแยกเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ โดยฝิ่นพันธุ์ใหม่ (พันธุ์เบาดอกสีขาว สีม่วง) ใช้เวลาปลูกเพียง 70-75 วัน ก็สามารถให้น้ำยางฝิ่นดิบ ไร่ละ 4 กิโลกรัม โดยฝิ่นพันธุ์เบาแปลงสมบูรณ์อายุ 100 วัน ให้น้ำยางสูงไร่ละ 12 กิโลกรัม ขณะที่ในอดีต(ฝิ่นดอ ดอกสีแดง แดงแซมขาว) ต้องใช้เวลาปลูกยาวนานถึง 120 วัน ให้น้ำยางเพียง 1.6 กิโลกรัมต่อไร่ ถือว่าปัจจุบันมีผลิตผลจากน้ำยางฝิ่นในปริมาณมากกว่าที่ควรจะเป็น แม้ไทยจะหลงเหลือพื้นที่ปลูกฝิ่นประมาณ 2,000 ไร่ แต่จะมองข้ามปัญหาฝิ่นไม่ได้ วันนี้หากเมียนมาร์และไทยสามารถปราบปรามสำเร็จ จนไม่หลงเหลือแปลงฝิ่นในสามเหลี่ยมทองคำอีกต่อไป แต่จากจำนวนผลิตผลของยางฝิ่นดิบที่หลุดรอดจากการตัดทำลาย จะทำให้ยังมีเฮโรอีนส่งออกจากสามเหลี่ยมทองคำได้อย่างน้อย 10 ปี
 
                      นอกจากนี้ข้อมูลจากปฏิทินในการปลูกฝิ่น ยังพบความเปลี่ยนแปลงที่น่าวิตก โดยข้อมูลในปี 2535-2536 ปลูกฝิ่นเพียงปีละ 2 รอบ รอบแรกฝิ่นดอ ปลูกระหว่างเดือนกันยายน-กลางเดือนพฤศจิกายน และฝิ่นปี ปลูกระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ขณะที่ปฏิทินปลูกฝิ่นในปี 2543-2546 พบข้อมูลการปลูกฝิ่นถึง 8 รอบ ส่วนปี 2546-2547 การปลูกลดลงเหลือเพียง 4 รอบ แต่นับจากปี 2547 จนถึงปัจจุบัน พบปฏิทินปลูกฝิ่นซ้ำถึง 7 รอบ แม้ในช่วงแล้งจัด ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ก็มีการปลูกฝิ่นฤดูร้อน
 
 
เปิดปฏิบัติการ \'ป.ป.ส.\' ไล่ล้างไร่ \'ฝิ่น\'
 
 
                      สำหรับแผนการตัดทำลายไร่ฝิ่น ป.ป.ส.ได้แบ่งโซนพื้นที่ปลูกฝิ่นออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มพื้นที่สีแดง มีการปลูกฝิ่นหนาแน่นเกินกว่า 100 ไร่ และอาจมีการต่อต้านจากกองกำลังติดอาวุธ เช่น อ.อมก๋อย อ.ท่าสองยาง อ.แม่ระมาด มอบให้ทหารรับผิดชอบดูแลการตัดทำลาย กลุ่มสีเหลือง มีพื้นที่ปลูกฝิ่นตั้งแต่ 50-100 ไร่ กระจายอยู่ใน อ.เชียงดาว ดอยสามหมื่น แม่แตง และรอยต่อ อ.พบพระ-อุ้มผาง จ.ตาก พื้นที่นี้ ป.ป.ส.รับผิดชอบการตัดทำลาย และกลุ่มสีเขียว มีพื้นที่ปลูกฝิ่นไม่เกิน 50 ไร่ มอบให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้าตัดทำลาย
 
                      ผลสำรวจปี 2556-2557 พบว่า อ.อมก๋อยมีพื้นที่ปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นจากปี 56 จำนวน 888.29 ไร่ เป็น 1,539.82 ไร่ เพิ่มขึ้น 651.53 ไร่ หรือคิดเป็น 73.5% อ.แม่แตง พื้นที่ปลูกฝิ่นเพิ่มจาก 22.87 ไร่ เป็น 44.38 ไร่ จ. แม่ฮ่องสอน ใน อ.ปาย พื้นที่ปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้น 23.04 ไร่ และเริ่มมีการปลูกฝิ่นแซมกับไร่กัญชาประปรายใน อ.ปางมะผ้า และ อ.แม่ลาน้อย เช่นเดียวกับ จ.เชียงราย ใน อ.แม่ฟ้าหลวง อ.เวียงแก่น ที่กลับมาปลูกพืชเสพติดเพื่อขายให้แก่นักท่องเที่ยว
 
                      นอกจากนี้ยังพบความแตกต่างที่เป็นนัยสำคัญระหว่างแปลงฝิ่นในเชียงใหม่กับกำแพงเพชร คือเชียงใหม่มีจำนวนแปลงฝิ่นมากถึง 1,818 แปลง แต่มีเนื้อที่ปลูกฝิ่นเพียง 1,188.07 ไร่ สะท้อนว่าแปลงฝิ่นในเชียงใหม่มีขนาดเล็ก ขณะที่กำแพงเพชรมีพื้นที่ปลูกฝิ่น 20 แปลง แต่มีเนื้อที่ปลูกฝิ่น 19.76 ไร่ สะท้อนว่าเป็นแปลงขนาดใหญ่ เนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไปกระจุกตัดอยู่ในบริเวณอ.คลองลาน รอยต่อ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ใกล้แนวชายแดน และมีปัญหาสภาพป่าเขา
 
                      ขณะที่ปฏิบัติการตัดทำลายไร่ฝิ่นในความรับผิดชอบของทหารและตำรวจตระเวนชายแดนทำได้ 95-100% ขณะที่เป้าหมายแปลงฝิ่น 600 เป้า ในความรับผิดชอบของจังหวัดและอำเภอ ยังตัดทำลายไม่ถึง 200 เป้า จำเป็นต้องเร่งรัดและปรับนโยบาย เพื่อเร่งรัดการตัดทำลายให้ได้ตามเป้า
 
                      สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาว ป.ป.ส.ตั้งเป้าที่จะนำการพัฒนาในแนวทางโครงการพระราชดำริเข้ามาปลูกพืชทดแทน เพื่อแก้ปัญหาฝิ่นใน อ.อมก๋อย ยังมีอาชีพอื่นอีกมากมาย ที่สร้างรายได้หลักแสน โดยไม่ต้องเสี่ยงปลูกฝิ่น
 
 
 
 
----------------------
 
(เปิดปฏิบัติการ 'ป.ป.ส.' ไล่ล้างไร่ 'ฝิ่น' เร่งสกัด 3 โซนอันตราย : โดย...ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย)