ดาวเคราะห์ดวงที่9โคจรรอบดวงอาทิตย์ทุก2หมื่นปี
27 ก.พ. 2559
เวิลด์วาไรตี้ : ดาวเคราะห์ดวงที่ 9 โคจรรอบดวงอาทิตย์ทุก 2 หมื่นปี
เรื่องของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบสุริยจักรวาลของเรานี้ มีการพูดถึงกันมานาน แต่เดิมก็ถือว่าดาวพลูโต เป็นดาวเคราะห์ดวงสุดท้ายที่เป็นบริวารของดวงอาทิตย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปความรู้ทางดาราศาสตร์ที่เพิ่มพูนขึ้นก็มีการปรับลดชั้น ตัดยศดาวพลูโตลงเหลือดาวเคราะห์น้อยไปเสียอย่างนั้นราวกับว่าจะรอให้นักดาราศาสตร์แน่ใจก่อนว่าดาวดวงไหนจะเป็นดาวเคราะห์ดวงสุดท้ายในระบบสุริยจักรวาลที่มีดวงอาทิตย์ของเราเป็นศูนย์กลาง
เรื่องเช่นนี้ไม่มีใครผิดใครถูก ดาวพลูโตก็จะมาฟ้องร้องต่อศาลบนโลกก็ไม่ได้ที่ไปปรับลดชื่อชั้นของดาวลงไป เพราะเมื่อมีองค์ความรู้ที่นักวิทยาศาสตร์ยอมรับ เนื่องจากมีหลักฐานยืนยันที่เชื่อถือได้ พิสูจน์ได้ นักวิทยาศาสตร์จะถือเอาองค์ความรู้นั้นเป็นหลักไปก่อน ก่อนที่จะมีการพิสูจน์ให้เป็นอื่น
เช่นเดียวกับกรณีที่นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ ฌาค ลาสการ์ แห่งหอดูดาวปารีส ที่เปิดเผยถึงความคืบหน้าล่าสุดของการค้นหาดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ที่มีชื่อ (ในเวลานี้) ว่า “Planet nine” ที่จะแปลเป็นภาษาไทยให้เสนาะหูก็ได้ความว่า “นพพิภพ” (อ่านว่า นบ-พะ-พิ-พบ) โดยใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ตรวจสอบแล้วทำให้เชื่อได้ว่านพพิภพกำลังโคจรอยู่ขอบนอกสุดของกรอบสุริยจักรวาลทางช้างเผือกในระหว่างเส้นทางการโคจรที่กินเวลาราว 1-2 หมื่นปี กว่าจะอยู่ในจุดแรกเริ่มของวงโคจรอีกครั้ง
นพพิภพน่าจะมีมวลมากกว่าโลกราว 10 เท่า มีวงโคจรถัดไปจากดาวเนปจูน ดาวเคราะห์ดวงที่ 8 ในสุริยจักรวาล
นักดาราศาสตร์ที่ทำการศึกษาค้นหาดาวเคราะห์ดวงที่ 9 นี้ ใช้ข้อมูลจากยานสำรวจอวกาศแคสสินีขององค์การนาซา ที่โคจรรอบดาวเสาร์ ที่อยู่ถัดจากดวงอาทิตย์ในตำแหน่งที่ 7 ทำให้ตัดโซนอวกาศที่เป็นไปไม่ได้ออกไปถึงครึ่งหนึ่ง
จากมวลอันมหาศาลของดาวดวงนี้ทำให้เมื่อโคจรเข้าใกล้ดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยจักรวาลจะส่งแรงกระทำต่อดาวเคราะห์เพื่อนบ้านอย่างแน่นอน แต่ด้วยความที่รูปแบบวงโคจรของนพพิภพดวงนี้เป็นรูปวงรีที่มีขนาดกว้างใหญ่มาก จึงยากที่จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างส่งแรงกระทำต่อดาวเคราะห์ดวงอื่น และนับเป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่งเพราะต้องรอนับพันนับหมื่นปี กว่าที่ดาวเคราะห์ดวงนี้จะเฉียดมาใกล้ดวงอาทิตย์หรือดาวเคราะห์สักครั้ง
แต่นักดาราศาสตร์ที่มีความช่างสังเกตเป็นพิเศษ ก็ยังเก็บข้อมูลรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มดาวเคราะห์น้อยในแถบคุยเปอร์ ที่มีการเบ้ของวงโคจรที่อยู่ถัดไปจากดาวเนปจูน จึงนำข้อมูลที่สังเกตเห็นมาเขียนอัลกอริธึมเพื่อสร้างรูปแบบของแรงกระทำที่เกิดขึ้นกับดาวเคราะห์น้อยกลุ่มนั้นในแบบจำลองคอมพิวเตอร์ และพบว่าเป็นแรงกระทำที่เกิดจากดาวเคราะห์ที่มีมวลมหาศาล ที่เชื่อว่าเป็นดาวนพพิภพจริงๆ
ข่าวดีของนักดาราศาสตร์อีกประการคือ เมื่อยานสำรวจอวกาศแคสสินีหมดภารกิจโคจรรอบดาวเสาร์ในปีหน้าแล้วจะมีการขยายอายุการปฏิบัติการของยานอวกาศลำนี้ต่อไปให้ทำงานจนถึงปี 2563 เพื่อการสำรวจดาวดวงอื่นที่อยู่เบื้องหลังดาวเสาร์และเนปจูน ที่เชื่อได้ว่าจะช่วยให้นักดาราศาสตร์จำกัดโซนการค้นหาดาวนพพิภพได้มากขึ้นไปอีก
ทุกวันนี้นักดาราศาสตร์ต่างพยายามค้นหาดาวปริศนาที่ทางทฤษฎีนั้นชี้ว่า “มีอยู่จริง” ด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์ทุกแห่งส่องลึกเข้าไปยังอวกาศอันไกลโพ้น เพื่อพิสูจน์ให้แน่ชัดว่าดาวเคราะหห์ดวงที่ 9 ของระบบสุริยจักรวาลนั้นมีหน้าตาเช่นใด
แม้ว่าจะเผชิญความผิดหวังจากการสร้างรูปแบบจำลองการโคจรของดาวที่เชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 มาแล้วหลายดวง แต่นักดาราศาสตร์ก็ยังไม่ย่อท้อ มุ่งมั่นเดินหน้าค้นหาต่อไป เพื่อหาหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน แต่จะเกิดกรณีเดียวกับการประกาศให้ดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 แล้วต่อมาก็ปลดดาวไร้ชีวิตที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งดวงนี้ลงจากตำแหน่งหรือไม่ เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์