
28ปีบนเส้นทางสายข่าวสรยุทธ
28ปีบนเส้นทางสายข่าว สรยุทธ สุทัศนะจินดา
ไม่ว่าจะเรียกเขาว่าอย่างไร นักเล่าข่าว กรรมกรข่าว หรือเจ้าสัวข่าว แต่ในวันนี้ “เส้นทางสายข่าว” ของ "สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ดูจะแคบเข้าและเดินสู่จุดตีบตันในทันทีที่ศาลอาญามีคำพิพากษาให้จำคุกเขา และ "มือขวา” คนละ 13 ปี 4 เดือน
สรยุทธ สุทัศนะจินดา เริ่มต้นอาชีพนักข่าวสายการเมืองกับหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นก็เติบโตขึ้นในสายงานตามลำดับ
สถานีโทรทัศน์ไอทีวี คือเวทีแจ้งเกิดของสรยุทธ ในฐานะนักวิเคราะห์ข่าวทางโทรทัศน์ ในนาม เวทีไอทีวี, ฟังความรอบข้าง, ไอทีวี ทอล์ก ในเวลาต่อมา เมื่อครั้งที่เนชั่นเปิดสถานีข่าว 24 ชั่วโมงในนามเนชั่น แชนแนล ทางยูบีซี 8 สรยุทธ์ก็เป็นอีกแรงหนึ่งที่ทำให้รายการเก็บตกจากเนชั่น, รายการคม ชัด ลึก, ก๊วนกวนข่าว มีความโดดเด่นและคึกคัก
ยังมีรายการข่าวที่ทำร่วมกับช่อง 9 ในชื่อ "คุยคุ้ยข่าว” รวมถึงรายการ ถึงลูกถึงคน ซึ่งเป็นช่วงที่ชื่อ สรยุทธ สุทัศนะจินดา โด่งดังเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ
หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงทางโมเดิร์นไนน์ทีวี สรยุทธย้ายมาประจำการที่ช่อง 3 โดยจัดรายการใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในเวลาอันรวดเร็ว “เรื่องเล่าเช้านี้ เรื่องเด่นเย็นนี้ และเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์” สร้างชื่อเสียงให้แก่สรยุทธชนิดที่เรียกว่าหยุดไม่อยู่กันเลยทีเดียว
ด้วยเหตุที่ทั้งสามรายการสามารถตอบโจทย์ชีวิตคนเมือง คนทำงานรุ่นใหม่ ผู้ต้องการเสพสื่อสาระที่ถูกย่อยสังเคราะห์แล้ว ทั้งขณะเตรียมตัวออกไปทำงาน ขับรถอยู่บนท้องถนน และช่วงกลับบ้าน ตลอดไปจนถึงช่วงสายๆ ของวันหยุด ที่สรยุทธเข้ามาช่วยจับประเด็น ย่อยข่าวจากกระแสหลากหลายให้ นั่นจึงเป็นที่มาของยุคทองของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา
บนเส้นทางสายสื่อ ชื่อของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ยังถูกบันทึกเอาไว้ในฐานะของนักเขียนบทความอีกคนหนึ่งของวงการ ผลงานที่โดดเด่นของเขา อาทิ คอลัมน์คุยนอกสนาม ในนิตยสารแพรว(ปัจจุบันเลิกเขียนแล้ว), คอลัมน์ พูดจาประสาข่าว, คอลัมน์ คุยคุ้ยข่าว ในหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก (ปัจจุบันเลิกเขียนแล้ว) และยังมีผลงานที่เป็นหนังสือเล่ม คือ คม ชัด ลึก, กรรมกรข่าว, กรรมกรข่าว 2 งานรับเหมา, คุยนอกสนาม, กรรมกรข่าว 3
ปี 2540 สรยุทธอยู่ในตำแหน่งรองบรรณาธิการบริหาร เดอะเนชั่น ก่อนแยกทางพร้อมทีมงานส่วนหนึ่งออกไปตั้งบริษัทขายข่าวในนาม บริษัท ไร่ส้ม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในเวลาอันรวดเร็ว
สรยุทธ สุทัศนะจินดา จัดเป็นพิธีกรและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ของประเทศไทย ผู้มีชื่อเสียงในการสัมภาษณ์ทั้งคำถามและลีลาอันเป็นเอกลักษณ์ โดยนำข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์มาอ่านในรายการโทรทัศน์ หรือที่เรียกว่า “เล่าข่าว” (News Talk)
เสน่ห์อย่างหนึ่งของสรยุทธที่เป็นแม่เหล็กตรึงผู้ชมเอาไว้หน้าจอทุกครั้งที่เขาวาดลวดลายในรายการก็คือ ความเป็นนักเล่าเรื่องที่หาตัวจับได้ยาก เพราะเขาสามารถถ่ายทอดเรื่องยากๆ มีความซับซ้อนให้เข้าใจง่าย มีวิธีการนำเสนอที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เขาทำเกินหน้าที่ของสื่อหรือไม่ แต่เสียงตอบรับจากชาวบ้านอันอื้ออึงถึงขั้นยกให้เป็นฮีโร่ในสถานการณ์น้ำอุทกภัยปี 2553 ถึงกับมีคนบอกว่า สรยุทธ คือนายกฯ ตัวจริง หาใช่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เขาคุ้นเคย นั่นย่อมกลบคำครหาต่างๆ นานาลงไปหมดสิ้น
ในทางกลับกัน นักวิเคราะห์มองว่า อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของพิธีกรคนดังก็คือภาพของผู้ใจบุญสุนทาน การเปิดบัญชีช่วยเหลือผู้ประสบภัย ออกแจกจ่ายข้าวของต่างๆ นานา จึงเรียกความรักและศรัทธามาสู่เขาเหมือนกับรายได้ที่เข้ามาเป็นกอบกำในห้วงเวลาเดียวกัน
เส้นทางสายสื่อของสรยุทธนับว่าน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว เพราะเขาสามารถผันตัวเองจากคนข่าว ในฐานะพนักงานตัวเล็กๆ คนหนึ่งของเครือเนชั่น ที่เริ่มงานตั้งแต่ปี 2531 สู่ความเป็นเจ้าของกิจการ "ขายข่าว” ซึ่งมีผลประกอบการดีเลิศในเวลาไม่นาน
หนึ่งในความสำเร็จมากล้น มีผู้วิเคราะห์เอาไว้ว่า เขามีลักษณะของนักธุรกิจและนักการตลาดอยู่มากทีเดียว นั่นหมายถึงความน่าเชื่อถือของสินค้าต่างๆ รวมทั้งของแจกที่เขาพูดถึงในรายการของเขาด้วย
แต่สำหรับธุรกิจจริงๆ จังๆ ของเขาเองนั้น ในฐานะผู้บริหารบริษัท สรยุทธดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด(ผลิตรายการโทรทัศน์) และบริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด(รับจัดงานและกิจกรรม)
สำนักข่าวอิศรา รายงานผ่าน http://www.isranews.org/ ว่า สรยุทธ สุทัศนะจินดา นักเล่าข่าวชื่อดังเจ้าของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด และ บริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด มีรายได้ในรอบ 8 ปีกว่า 2,600 ล้านบาท
นับตั้งแต่ก่อตั้ง บริษัท ชัดถ้อยชัดคำ วันที่ 9 ตุลาคม 2546 ทุน 1 ล้านบาท สรยุทธ ถือหุ้น 79.99% และก่อตั้งบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท สรยุทธ ถือหุ้น 99.98% จากการรวบรวมผลประกอบการตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงสิ้นปี 2554 (8 ปี) ทั้งสองบริษัทมีรายได้รวม 2,624,570,323.10 บาท กำไรสุทธิ 1,047,275,753.81 บาท สินทรัพย์ปี 2554 รวม 273,839,213 บาท
แต่เส้นทางสาย "เจ้าสัวข่าว” ของสรยุทธ เริ่มไม่ราบรื่น โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 บุณฑณิก บูลย์สิน รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักการตลาด 1 อสมท ได้สังเกตพบว่า รายการข่าวเที่ยงคืน ออกอากาศช้ากว่ากำหนด จึงสั่งตรวจสอบและเรียก พิชชาภา เอี่ยมสะอาด มาสอบถามต่อหน้าทุกคน เธอรับสารภาพว่า บริษัท ไร่ส้ม โฆษณาเกินเวลา และไม่ได้รายงานเพื่อเรียกเก็บเงินจริง โดยพิชชาภาได้ใช้น้ำยาลบคำผิดเฉพาะคิวโฆษณาเกินเวลาในส่วนของบริษัท ไร่ส้ม ในใบคิวโฆษณารวมของ อสมท เพื่อปกปิดความผิดที่ได้กระทำขึ้นตามคำแนะนำของสรยุทธ และ มณฑา ธีระเดช พนักงานของบริษัท ไร่ส้ม
การตรวจสอบบริษัทไร่ส้ม พนักงานอสมท และสรยุทธกับพวก เริ่มดำเนินการมานับจากนั้น ผ่านตามขั้นตอนชี้มูลความผิดของป.ป.ช. และส่งอัยการเพื่อฟ้องศาล
หลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีบริษัทไร่ส้มเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 แต่สรยุทธก็ยังคงใช้เวลาของรายการเรื่องเล่าเช้านี้ทางช่อง 3 เช้าวันรุ่งขึ้น ชี้แจงที่เสมือนการแก้ต่างในคดี โดยยังไม่ยุติการทำหน้าที่ตามกระแสกดดัน
"ตามที่ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิด บริษัทไร่ส้ม ผม และพนักงานบริษัท ว่ามีความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดของพนักงาน อสมท เพื่อให้ช่วยเหลือบริษัทไร่ส้ม ได้โฆษณาเกินเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาโดยไม่เรียกเก็บเงินค่าโฆษณา เป็นจำนวนเงิน 138,790,000 บาท ผมเองเนี่ยนะครับ เคยยืนยันออกอากาศไปกับท่านผู้ชม เมื่อครั้งที่พบปัญหาครั้งแรกแล้วว่า พร้อมจะพิสูจน์และรับผิดชอบในเรื่องนี้ ถ้าได้มีกระบวนการตรวจสอบ และจะได้นำมาแจ้งกับท่านผู้ชมต่อไป” สรยุทธพูดออกอากาศ และสรุปทิ้งท้ายว่า
“อนาคตจะเป็นอย่างไร ผมจะได้ใช้สิทธิของผมแล้วก็จะได้นำมาแจ้งกับท่านผู้ชมต่อไปนะครับ ขอบคุณท่านผู้ชมนะฮะ ที่ติดตามข่าว แล้วก็ให้โอกาสฟังคำชี้แจงของผมด้วย”
ต่อมาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีมติให้ สรยุทธยุติการทำหน้าที่ของตนเอง แต่สรยุทธเลือกยื่นหนังสือลาออกแทน แต่ต่อมาสภาฯ ได้ชี้แจงว่า สรยุทธได้พ้นสมาชิกภาพไปแล้วกว่า 3 ปี เพราะไม่ได้จ่ายค่าสมาชิก
เช้าวันศุกร์ที่ 30 มกราคม 2558 (ซึ่งก็ไม่ต่างจากเช้าวันพิพากษา 29 กุมภาพันธ์ 2559 หรืออีก 13 เดือนถัดมา) สรยุทธยังคงจัดรายการเรื่องเล่าเช้านี้ตามปกติ ก่อนที่เขาจะเดินทางออกไปขึ้นศาล ท่ามกลางสื่อมวลชนจำนวนมาก ก่อนเดินทางกลับออกมาจากศาล เขาให้สัมภาษณ์ว่า
“…กรณีที่เกิดขึ้น อสมท ไม่ได้เกิดความเสียหาย และสิ่งนี้คือสิ่งที่ผมจะพิสูจน์กับศาล เช่นเดียวกับที่ผมพิสูจน์ในศาลปกครอง ผมก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ ผมจะพิสูจน์ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นมี และ อสมท นอกจากจะไม่เสียหายแล้ว เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ด้วยซ้ำไป”
แม้จะมีกระแสกดดันต่อสรยุทธอยู่เป็นระยะ หากแต่พิธีกรข่าวอันดับหนึ่งของประเทศรายนี้ ก็ยังคงยืนหยัดปักหลักอยู่หน้าจอโทรทัศน์ช่อง 3 ได้อย่างเหนียวแน่นทั้งช่วงเช้า เย็น และวันหยุดสุดสัปดาห์
องค์กรเอกชนอย่างภาคีเครือข่ายต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นองค์กรภาคธุรกิจที่ต่อต้านการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบในสังคม ได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการไปยังช่อง 3 ซึ่งเป็นต้นสังกัดให้พิจารณาการทำหน้าที่ของสรยุทธ ไม่เช่นนั้นแล้วจะถอนโฆษณาที่สนับสนุนในช่วงรายการของสรยุทธ แต่สรยุทธก็ยังอยู่ยงคงกระพัน เป็นพิธีกรข่าวของช่อง 3 ตลอดมา
คำพิพากษาศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกสรยุทธ และพวก ในคดีเบี้ยวค่าโฆษณา อสมท เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ จะเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็น "ความรับผิดชอบ” ของสื่อ ทั้งในแง่องค์กรและตัวบุคคล
เปิดแนวทางบ.ไร่ส้มต่อสู้คดี
สำหรับแนวทางการต่อสู้คดีของจำเลย ได้ต่อสู้กรณีการซื้อโฆษณา โดย สรยุทธ และบริษัท ไร่ส้ม ระบุว่า ไม่ทราบเรื่องโฆษณาเกินเวลา ขณะเดียวกันในการสัมปทานโฆษณาระหว่างบริษัท อสมท และบริษัท ไร่ส้ม ได้รับผลประโยชน์ในอัตรา 50 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน และพบว่ามีการโฆษณาเกินเวลากันทั้งคู่ ขณะที่พิชชาภายอมรับว่าได้รับเงินค่าเช็คจากบริษัท ไร่ส้ม จริง ซึ่งเป็นเช็คจากค่าประสานงาน ไม่ได้เป็นเช็คที่เกี่ยวกับค่าโฆษณาเกินเวลา ส่วน มณฑา ยอมรับว่า นำเช็คให้พิชชาภา แต่เป็นค่าประสานงาน ไม่เกี่ยวกับค่าโฆษณาเกินเวลา
สำหรับคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การฯ มาตรา 6 ฐานพนักงานเรียกรับสินบน ระวางโทษจำคุก 5-20 ปี หรือตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท มาตรา 8 ฐานเป็นพนักงานใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต โทษจำคุก 5-20 ปี หรือตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท และมาตรา 11 ฐานพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากพิชชาภา หรือชนาภา กระทำผิด ศาลก็จะใช้ดุลพินิจลงโทษตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนสรยุทธ มณฑา และบริษัทไร่ส้ม เมื่อไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หากพบว่ากระทำผิดจริงก็ต้องรับโทษ 2 ใน 3 ของอัตราโทษข้างต้น ฐานร่วมกันสนับสนุนเจ้าหน้าที่กระทำความผิด
นอกจากคดีอาญาแล้ว ยังมีคดีที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับ หลังจากศาลปกครองกลางให้ อสมท จ่ายเงินให้บริษัท ไร่ส้ม ของพิธีกรดัง 55 ล้านบาท เป็นไม่ต้องจ่ายค่าส่วนลดโฆษณาดังกล่าว
โดยคดีนี้ี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ของสรยุทธ ยื่นฟ้อง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นคู่สัญญาผลิตรายการโทรทัศน์ “คุยคุ้ยข่าว” ออกอากาศทางช่อง 9 กรณีเรียกเก็บค่าโฆษณาส่วนเกิน โดยไม่ให้ส่วนลดทางการค้า 30% ตามข้อสัญญา และค่าโฆษณาที่ อสมท ได้โฆษณาเกินส่วนแบ่งตามเวลาที่ตกลงไว้
คดีนี้ บริษัท ไร่ส้ม ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551 และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 ว่า อสมท ผิดจริง และให้จ่ายเงินให้แก่บริษัท ไร่ส้ม เป็นเงิน 55.777 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
ต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษากลับเป็น อสมท ไม่ต้องจ่ายส่วนลดค่าโฆษณากว่า 55 ล้านบาท ให้แก่บริษัท ไร่ส้ม เนื่องจากเห็นว่า ที่ผ่านมามีการโฆษณาเกินเวลามาโดยตลอด และบริษัท ไร่ส้ม ไม่ได้ทำหนังสือขอส่วนลดให้ถูกต้อง ดังนั้นที่บริษัท ไร่ส้ม ได้ชำระค่าโฆษณาเมื่อปี 2549 ที่ อสมท เรียกเก็บ โดยไม่ได้รับส่วนลดทางการค้า 30% นั้น ถือว่าถูกต้องแล้ว