ข่าว

ตลาดงานวัยหลังเกษียณในญี่ปุ่น

ตลาดงานวัยหลังเกษียณในญี่ปุ่น

05 มี.ค. 2559

เวิลด์วาไรตี้ : ตลาดงานวัยหลังเกษียณในญี่ปุ่น

 
       ในวัย 86 ปีสำหรับหลายคนคงเป็นวัยหยุดพักและมีความสุขกับการพักผ่อนหย่อนใจอยู่ที่บ้าน แต่ไม่ใช่คุณตาเทรุโอะ ซูกิระ ที่ยังทำงานอยู่ในศูนย์ผู้สูงอายุกรุงโตเกียวสัปดาห์ละหลายวัน งานหลักคือซ่อมแซมประตูบานเลื่อนบ้านแบบญี่ปุ่น แม้ค่าจ้างไม่มากนัก แต่คุณตาซูกิระก็มาทำงานไม่ได้ขาดตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งในคนชราหลายล้านในแดนอาทิตย์อุทัยที่ยังหารายได้ในวัยเกษียณ
 
ตลาดงานวัยหลังเกษียณในญี่ปุ่น
 
       กำลังแรงงานวัยหลังเกษียณมีอยู่ทุกหนแห่งในญี่ปุ่น ตั้งแต่เป็นคนโบกแท่งเรืองแสงตามลานก่อสร้าง หรือเสมียนตามเคาน์เตอร์
 
       เหตุผลที่ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นยังอยู่ในตลาดงานแตกต่างกันไป แต่เพื่อรักษาสภาพร่างกายและจิตใจ เป็นเหตุผลสำคัญสำหรับหลายคน นอกจากเพิ่มเงินในกระเป๋าแม้ไม่มากนัก อย่างศูนย์ผู้สูงอายุในโตเกียว ให้ค่าจ้างเพียงเดือนละ 3.7 หมื่นเยน (ราว 1.55 หมื่นบาท)
 
ตลาดงานวัยหลังเกษียณในญี่ปุ่น
 
       ผู้สูงวัยกว่าครึ่งล้านคนในญี่ปุ่น หางานทำผ่านสมาคมศูนย์ทรัพยากรผู้สูงอายุแห่งชาติ รวมถึงคุณตาซูกิระ และจุนโกะ คอนโดะ วัย 63 ปี โดยรายหลัง ทำงานเป็นคนบรรจุหีบห่อเกลือคุณภาพสูงที่ร้านหรูหรา เธอกล่าวว่าเบี้ยสวัสดิการจากรัฐบาลไม่มากพอสำหรับการทำในสิ่งที่อยากทำ เช่น ซื้อของขวัญให้หลาน หรือซื้อเสื้อกันหนาว หรืออาจจะแค่ซื้อมื้อกลางวันให้ตัวเอง
 
       ชาวญี่ปุ่นอายุมากกว่า 65 ปีจำนวนกว่า 20% ยังคงทำงานอยู่ ถือเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะแรงงานหนุ่มสาวลดลงเพราะอัตราเกิดต่ำ
 
ตลาดงานวัยหลังเกษียณในญี่ปุ่น
 
       เป็นที่คาดว่าภายในปี 2060 กว่า 40% ของประชากรสูงอายุในญี่ปุ่นคือกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนกำลังแรงงานซึ่งเป็นคนกลุ่มอายุ 15-24 ปี จะหดหายกว่า 27 ล้านคนในกรอบเวลาเดียวกัน หรือลดฮวบ 42% จากระดับปัจจุบัน ขณะที่ญี่ปุ่นยังมีความต้องการแรงงานสูง อัตราการว่างงานเดือนมกราคมอยู่ที่เพียง 3.2% ต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาหรือประเทศยุโรปหลายๆ ที่
 
ตลาดงานวัยหลังเกษียณในญี่ปุ่น
 
       เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร รัฐบาลจึงกำลังค่อยๆ ยกระดับอายุเกษียณอย่างเป็นทางการ จนที่สุด จะเริ่มจ่ายบำนาญอายุ 65 ปีภายในปี 2025 ขณะเดียวกัน ก็พยายามกดดันบริษัทหลายแห่งยืดอายุงานของพนักงาน หรือจ้างพนักงานอายุมาก บริษัทบางแห่งขานรับ เช่น ฮอนด้า ประกาศเพิ่มอายุงานอีก 5 ปีเป็น 65 ปี เริ่มตั้งแต่เมษายน ซึ่งจะมีผลถึงลูกจ้างหลายพันคน ส่วนเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ เซอร์เคิล เค ซุนคุส เริ่มฝึกอบรมพนักงานสูงวัยแล้ว และริโก้ ยักษ์ใหญ่อิเล็กทรอนิกส์ ก็เรียกใช้บริการช่างเทคนิคที่เกษียณอายุไปแล้ว
 
       อาสึชิ ไซเกะ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แรงงานและประธานมหาวิทยาลัยเคโอ กล่าวว่า กำลังแรงงานที่ลดลงมาก เป็นแรงกดดันมหาศาลให้นายจ้างต้องปรับพฤติกรรม หลายแห่งพร้อมจะเพิ่มจำนวนพนักงานอายุมากไม่เว้นบริษัทใหญ่ๆ และคิดว่าแนวโน้มนี้จะมีต่อไปเรื่อยๆ หรือยิ่งเร็วขึ้นในอนาคต