
'ประทุม สุริยา'ครูหัวใจเกษตรกร สานฝันเครือข่าย'ครอบครัวมก.'
'ประทุม สุริยา'ครูหัวใจเกษตรกร สานฝันเครือข่าย'ครอบครัวมก.' : คมคิดจิตอาสา โดยสุรัตน์ อัตตะ
ภารกิจแม่พิมพ์ของชาติควบคู่กับการสวมหมวกเกษตรกรเต็มขั้น เป็นวิถีทางที่ “ครูประทุม สุริยา” เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี 2552 วัย 65 ปี เจ้าของศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่สวนครูประทุม แม้วันนี้เธอจะอำลาชีวิตราชการไปแล้วก็ตาม เพราะความสุขของครูอยู่ที่การมีโอกาสให้ความรู้แก่ทุกคน จึงไม่แปลกในทุกวันเสาร์แรกของเดือนจะเห็นหญิงสูงวัยใส่เสื้อม่อฮ่อม สวมหมวกแก๊ป สาละวนอยู่กับการจำหน่ายพืชผักปลอดสาร บริเวณสถานีวิทยุ มก.เชียงใหม่ ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ พร้อมกับสมาชิกเครือข่ายครอบครัว มก.ไม่ต่ำกว่า 50 แผง ที่นำพืช ผัก ผลไม้ปลอดภัยมาจำหน่ายในตลาดนัดเกษตรสีเขียว ขณะเดียวกันเธอยังเจียดเวลาจากการเป็นแม่ค้ามาเป็นวิทยากรสอนการทำบัญชีครัวเรือนให้แก่ผู้สนใจที่มาจับจ่ายใช้สอยสินค้าเกษตรในตลาดอีกด้วย
“เมื่อก่อนเป็นครูสอนเคมีที่วิทยาลัยเทคนิคพายัพ จากอาชีพครูก็มาเป็นเกษตรกร เพราะมองว่าการเป็นเกษตรกรเป็นสิ่งที่ท้าทายมากกว่า ทำให้เห็นว่าชีวิตเกษตรกรไม่ใช่ชีวิตที่ต้อยต่ำ จะต้องเป็นชีวิตที่มีเกียรติอย่างในยุโรปหรืออเมริกา เพราะเมื่อปี 2538 ครูมีโอกาสนำเสนองานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ก็ได้คุยกับโปรเฟสเซอร์ชาวฟินแลนด์เขาบอกว่า เกษตรกรเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งโลก ถ้าไม่มีเกษตรกร เราก็ไม่มีอาหารกิน เกษตรกรไม่ใช่คนยากจน ทุกท่านต้องเป็นเศรษฐีการทำบัญชีจะช่วยให้เราก้าวไปถึงจุดนั้นได้ไม่ยาก”
ไม่ใช่แค่แม่ค้า ที่ประทุม สุริยา เข้ามายึดเป็นอาชีพในตลาดนัดแห่งนี้ แต่เธอคือต้นแบบให้แก่เกษตรกรในเครือข่ายครอบครัววิทยุ มก.เชียงใหม่กว่า 500 ครัวเรือน ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมจำต้องเรียนรู้ในทุกห่วงโซ่สินค้า ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป จนกระทั่งการหาตลาดกระจายสินค้าเอง ศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่บ้านสันป่ายาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ คือจุดเริ่มต้นวิถีเกษตรกรจนประสบความสำเร็จ ก่อนก้าวมาร่วมกับเครือข่ายครอบครัวสถานีวิทยุ มก.เชียงใหม่ ในฐานะคณะกรรมการประชาชนในการสร้างมาตรฐานและเครือข่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยใช้สถานีวิทยุ มก.เชียงใหม่ เป็นแม่ข่ายในการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้รับรู้ถึงพิษภัยในการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม
ครูประทุมยอมรับว่า ที่เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงได้ทุกวันนี้ มาจากการออกรายการ “มก.พบประชาชน” ที่สถานีวิทยุ มก.เชียงใหม่ เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ในวันนั้นได้มีโอกาสเล่าประสบการณ์การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ จนประสบความสำเร็จ จากนั้นก็มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลและพิจารณาให้ได้รับรางวัลเกษตรดีเด่นสาขาบัญชีฟาร์มและก็มีรางวัลอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย จากนั้นชีวิตก็เปลี่ยนจากการเป็นผู้ลงมือปฏิบัติกลับมาเป็นครูอีกครั้งด้วยการเป็นครูบัญชีอาสาของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ฝึกอบรมให้เกษตรกรรู้จักทำบัญชีครัวเรือน ก่อนจะมาร่วมกันเป็นเครือข่ายภาคประชาชนสถานีวิทยุ มก.เชียงใหม่ในปัจจุบัน โดยเข้ามาปรับปรุงตลาดนัดเกษตรสีเขียวให้ได้มาตรฐานและมีสินค้าปลอดภัยจำหน่าย
“ครูได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการภาคประชาชนที่สถานีวิทยุ มก.เชียงใหม่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว หน้าที่ของคณะกรรมการก็คือ การสร้างเครือข่ายภาคประชาชนให้เข้มแข็ง โดยใช้จุดแข็งของกรรมการแต่ละท่านเข้ามาเสริม อย่างครูก็จะให้ความรู้การทำบัญชีครัวเรือน การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาใช้ในชีวิตประจำวันโดยผ่านทางรายการ “มก.พบประชาชน” ที่ครูจัดเป็นประจำ ทางสถานีวิทยุมก.เชียงใหม่” ครูประทุม เผยจุดเริ่มต้นเข้าสู่เครือข่ายครอบครัว มก. และย้ำว่า สื่อที่เข้าถึงผู้ฟังมากที่สุดคือ สื่อวิทยุ วิทยุ มก.เป็นสื่อที่นำเสนอข่าวสารทางด้านเกษตรที่ได้รับการยอมรับจากผู้ฟัง การมีครอบครัว มก.ก็จะทำให้นักวิชาการหรือผู้รู้ทางทฤษฎีกับผู้ฟังคือผู้ปฏิบัติหรือเกษตรกรมารวมกัน จะทำให้การขับเคลื่อนเครือข่ายไปสู่ความเข้มแข็งต่อไป
ครูประทุม เล่าว่า เริ่มเข้าสู่วิถีเกษตรกรอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2540 หลังได้รับฟังการบรรยายเรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในการจัดรูปที่ดินไร่นาสวนผสมจาก ศ.ดร.เกษม จันทร์แก้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จึงมีความสนใจและคิดว่าน่าจะทำได้ ประกอบกับมีพื้นที่ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์บนเนื้อที่ 22 ไร่เศษ ได้จัดแบ่งพื้นที่ตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยใช้สูตร 30% แรกขุดบ่อน้ำ 30% ที่สองเป็นพื้นที่นาข้าว 30% ที่สามเป็นไม้ผล และ 10% ที่เหลือใช้เลี้ยงสัตว์และที่อยู่อาศัย โดยสูตรสำเร็จของเกษตรกรนั้น จะต้องทำเป็นไร่นาสวนผสม เพราะจะทำให้มีรายได้รายวัน รายเดือน และรายปี ต่างจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่มีรายได้ครั้งเดียวและเสี่ยงต่อการขาดทุนอีกด้วย
“แรงงานที่ใช้ก็เป็นสมาชิกในครอบครัว ทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ทำน้ำหมักชีวภาพในการปรับปรุงดิน ส่วนรายได้ก็มาจากขายผลผลิตในแปลง ปัจจุบันไม่มีหนี้สิน มีแต่เงินออม เพราะเราได้ทำบัญชีฟาร์มอย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้รายละเอียดถึงรายรับรายจ่ายในแต่ละวัน” ครูประทุม เผย และว่า จากนั้นได้จัดทำบัญชีแบ่งการใช้เงินออกเป็น 4 ส่วน โดยส่วนที่หนึ่งสำหรับใช้หนี้ ส่วนที่สองฝากธนาคาร ส่วนที่สามใช้สำหรับการลงทุนทำเกษตร และส่วนที่สี่ใช้สำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยไม่ได้นำเงินข้าราชการบำนาญออกมาแต่อย่างใด
เจ้าของศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่สวนครูประทุม ย้ำด้วยว่า หลักการสำคัญต้องรู้จักจัดทำแผน ทั้งโครงการระยะสั้นและระยะยาว ไม่ใช่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย และต้องมีการจดบันทึกรายละเอียดในทุกขั้นตอน โดยเกษตรกรจะต้องเป็นนักวิจัยโดยตรง และที่สำคัญต้องทำบัญชีครัวเรือน เพราะการทำบัญชีจะได้รับรู้ในเรื่องการลงทุนและยังช่วยคิดวิเคราะห์หาหนทางปรับเปลี่ยนแนวทางการประกอบอาชีพให้เหมาะสมและยั่งยืนในระยะยาว
“ความสุขของครูคือการได้มีโอกาสให้ความรู้แก่ทุกคน ครูจะบอกทุกครั้งว่า ตัวเองเป็นครูเคมีที่มาเอาดีทางเกษตรกรรมและพบสูตรสำเร็จด้วยการทำบัญชี ช่วงสุดท้ายของชีวิตของครูอยากสอนให้เกษตรกรยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง จงภูมิใจในอาชีพเกษตรกร” ครูประทุม กล่าวทิ้งท้ายอย่างภูมิใจ
กว่าจะถึงวันนี้ผญาดีศรีล้านนา
ประทุม สุริยา เจ้าของศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่สวนครูประทุม ปัจจุบันอายุ 65 ปี เป็นคนบ้านสันป่ายาง ต.สันป่ายาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จบการศึกษาปริญญาโทสาขาเคมี กลับมาเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเทคนิคพายัพ ก่อนจะอำลาชีวิตราชการมาเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาบัญชีฟาร์มประจำปี 2552 และรางวัลรองชนะเลิศประเภทเกษตรทฤษฎีใหม่ในการประกวดผลงานในโครงการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริประจำปี 2550 เป็นผู้ริเริ่มหาวิธีการลดการพึ่งพาปัจจัยทางการเกษตรภายนอก คือ แรงงาน ปุ๋ย และสารเคมีทางการเกษตร โดยทดสอบ ทดลอง พิสูจน์ ปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติมาเป็นเกษตรแบบประณีต และครูประณีต ได้สร้างและพัฒนาเครื่องมือทางการเกษตร ด้วยเศษขยะที่หาซื้อได้จากร้านขายของเก่า มาใช้ในกระบวนการเกษตร และการดำรงชีวิตประจำวัน ล่าสุดสามารถคว้ารางวัลผญาดีศรีล้านนา สาขาเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2559 จาก สวทช. เพื่อเป็นการยกย่องคุณงามความดี เชิดชูนวัตกรรมชาวบ้าน ที่มีการต่อยอดภูมิปัญญาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้นแบบที่ดีในการขยายผลไปสู่ชุมชนและเกษตรกรในเครือข่ายต่อไป