ข่าว

กดดัน 'รปภ.' จบ ม.3

กดดัน 'รปภ.' จบ ม.3

28 มี.ค. 2559

กดดัน 'รปภ.' จบ ม.3 : โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 
                    กลายเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรง หลังกฎหมายใหม่บังคับให้ รปภ.ต้องเรียนจบ ม.3 และต้องพ้นโทษจำคุกจากคดีอาญาร้ายแรงอย่างน้อย 3 ปี ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเพราะอะไร ?
 
                    เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 มีการประกาศใช้ “พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย” 76 มาตรา เพื่อควบคุมดูแลบริษัทที่ประกอบธุรกิจจัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “รปภ.” หรือ “ยาม” ที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยประจำตึกอาคารห้างร้านต่างๆ โดยเนื้อหาสาระสำคัญคือ
 
                    1.ให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการกํากับธุรกิจรักษาความปลอดภัย” หรือที่เรียกว่า “บอร์ด รปภ.” โดยมีผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติเป็นประธานกรรมการ และกรรมการโดยตําแหน่ง เช่น อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผอ.สํานักงานกิจการยุติธรรม ผอ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก รวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน ระบุให้ 2 ใน 3 เป็นตัวแทนจากผู้ประกอบการธุรกิจ รปภ.
 
                    2.ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2559 “รปภ.” และบริษัทที่ทำธุรกิจรักษาความปลอดภัยต้องรีบไปขึ้นทะเบียนขอรับ “ใบอนุญาต” กับสถานีตำรวจทั่วประเทศให้เรียบร้อยภายใน 60 วัน พร้อมจัดทําบัญชีรายชื่อพนักงานรักษาความปลอดภัยในสังกัดตัวเอง ไปยื่นต่อนายทะเบียนด้วย ภายใน 30 วันหลังได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย
 
                    3.จากนี้ไปบริษัทที่ทำธุรกิจการจัดหาพนักงาน รปภ.ทั่วประเทศไทย ต้องใช้คํานําหน้าชื่อบริษัทว่า “บริษัทรักษาความปลอดภัย...”
 
                    4.ใครอยากทำงานเป็น รปภ.ต้องไปขึ้นทะเบียนขอรับใบอนุญาตด้วยเช่นกัน เพื่อยกระดับเป็น “พนักงานรักษาความปลอดภัย” ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
 
                    โดยเงื่อนไขสำคัญ 5 ประการของผู้มีคุณสมบัติที่จะเป็น รปภ.ได้ต้องมีดังนี้
 
 
กดดัน \'รปภ.\' จบ ม.3
 
 
                    1.อายุ 18 ขึ้นไป 2.สัญชาติไทย 3.จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ “ม.3” หรือมัธยมศึกษาปีที่ 3 และเงื่อนไขข้อที่ 4.คือ ต้องผ่านหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย ที่นายทะเบียนรับรองว่าเป็นสถานฝึกอบรมที่ถูกต้องได้มาตรฐาน
 
                    ส่วนเงื่อนไขสำคัญข้อที่ 5.คือ ไม่เป็นผู้มีอาการติดสุรายาเสพติดหรือสิ่งเสพติดหรือและต้องไม่เคยถูกจำคุกในคดีอาญาที่มีข้อหาความผิดเกี่ยวกับ “เพศ ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์ การพนัน ยาเสพติด” ยกเว้นได้รับถูกจำคุกไปเรียบร้อยแล้ว พ้นโทษออกมาใช้ชีวิตปกติไม่น้อยกว่า 3 ปี แต่สำหรับผู้ทำผิดคดีเกี่ยวกับ “เพศ” จะไม่ได้รับการยกเว้น
 
                    พล.ต.ต.ดร.พรชัย ขันตี หนึ่งในผู้ร่วมจัดทำกฎหมายฉบับนี้ ให้ข้อมูลว่า การกำหนดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำนั้น ถือเป็นมาตรฐานสากล บางประเทศอาจกำหนดวุฒิถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยคำนึงถึงระดับการศึกษาภาคบังคับของแต่ละประเทศ ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการประกาศให้วุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยคือมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผู้ที่จะมาลงทะเบียนเป็นก็ควรจบการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงผู้ที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในบริษัทหรือหน่วยงานทั่วไป
 
                    ขณะที่ ดร.วัชรพล บุษมงคล สมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้จำนวนตัวเลข “รปภ.” ทั่วประเทศไทยมีประมาณ 4-5 แสน เฉพาะที่ทำงานในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ไม่ต่ำกว่า 2 แสนกว่าคน ส่วนใหญ่จบการศึกษาเพียงประถม 6 เท่านั้น
 
                    “คำนวณจากข้อมูลที่มีอยู่ รปภ.ที่จบ ม.3 ไม่น่าจะมีเกินร้อยละ 15 ส่วนจบกว่า ม.3 มีประมาณร้อยละ 13 เท่านั้น เชื่อว่าร้อยละ 70 เรียนไม่จบ ม.3 แค่ ป.6 ถ้าเป็นผู้สูงอายุ 45 ปีขึ้นไปก็จบแค่ ป.4 เท่านั้น น่าจะมากกว่า 3 แสนคน เพราะกระทรวงศึกษาฯ เพิ่งกำหนดให้การศึกษาขั้นต่ำ ม.3 เมื่อปี 2545 ปัญหาตอนนี้คือจะทำอย่างไร ถ้าคนเหล่านั้นจะเป็น รปภ.ไม่ได้ ถึงแม้รัฐบาลจะบอกว่า คนที่อยู่ในบริษัทรักษาความปลอดภัยอยู่แล้วยกเว้น จะบังคับเฉพาะคนมาสมัครใหม่เท่านั้น”
 
                    ตัวแทนผู้ประกอบการข้างต้นอธิบายต่อว่า ผู้ทำงานเป็น รปภ.ที่เห็นยืนประจำหน้าตึกอาคารต่างๆ นั้น มี 2 แบบ คือ แบบที่ 1 เจ้าของตึกหรือเจ้าของบริษัทจ้างเองเป็นลูกจ้างประจำหรือชั่วคราว ส่วนแบบที่ 2 เป็นการว่าจ้างจากภายนอกมา ก็คือจ้างจากบริษัทธุรกิจรักษาความปลอดภัย กฎหมายจะบังคับเฉพาะแบบที่ 2 แต่ถ้าคนที่เคยเป็น รปภ.แบบที่ 1 ออกจากงาน มาสมัครเข้าบริษัทรักษาความปลอดภัยก็ต้องจบ ม.3 แม้ว่าจะเคยทำงานเป็น รปภ.อยู่แล้วก็ตาม
 
                    “ที่สำคัญ รปภ.ที่มาจากบริษัทรักษาความปลอดภัยก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นพนักงานประจำ เพราะคนทำอาชีพนี้บางส่วนจะมาเป็นฤดูกาล หมายถึงหลังจากทำไร่ทำนาแล้วมีช่วงว่างหลายเดือนเขาก็มาทำงานชั่วคราว และส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ 45-50 ปีขึ้นไป คาดว่ากลุ่มนี้อาจมีจำนวนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของ รปภ.ทั้งหมดทั่วประเทศ ถ้าเราไปกำหนดวุฒิการศึกษาแบบนี้ กลุ่มนี้จะตกงานทันที ทั้งที่อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องทำงานใช้แรงงานยกของหนักๆ ไม่ต้องจบเรียนจบสูงๆ ขอเพียงขยันรับผิดชอบ ใครๆ ก็ทำได้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนหารายได้เสริมเลี้ยงดูครอบครัว”
 
                    ดร.วัชรพล กล่าวต่อว่า บริษัทรักษาความปลอดภัยทั่วประเทศไทยมีประมาณ 4,000 แห่ง ตอนนี้อยู่ระหว่างพยายามรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นใจและหาทางออกร่วมกัน น่าจะมีมาตรการลดหย่อนให้เพียงอ่านและเขียนหนังสือได้ก็เพียงพอแล้ว
 
 
กดดัน \'รปภ.\' จบ ม.3
 
 
                    นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการด้านธุรกิจรักษาความปลอดภัยตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดให้ “รปภ.” พ้นโทษคดีอาญาถึง 3 ปี ก่อนจะมาขึ้นทะเบียนไปทำงานได้ กฎหมายข้อนี้อาจผิดข้อกำหนดของไอแอลโอ หรือองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) เพราะกีดกันคนบางกลุ่มไม่ให้มีงานทำ ทั้งที่พวกเขารับโทษจำคุกมาแล้ว อาจเป็นการผลักให้คนกลุ่มนี้ไม่มีงานทำแล้วกลับไปสู่วงจรก่อคดีทำผิดกฎหมายอีกก็ได้
 
                    กฎหมายฉบับนี้ยังได้กำหนดให้ “รปภ.” ต้องผ่านหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยด้วย และเป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน
 
                    รศ.ดร.เนตร์พัณณา ยาวิราช ผู้จัดการโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ธุรกิจรักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังร่วมกันจัดทำมาตรฐานอาชีพ โดยมีการประชุมคณะทำงานจัดทำ "มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาอาชีพธุรกิจรักษาความปลอดภัย” ไปแล้ว 5 ครั้ง ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2558 โดยแบ่งเป็น 3 สายงานสำคัญ ได้แก่ 1.งานรักษาความปลอดภัยอาคารสถานที่และทรัพย์สิน 2.งานรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ และ 3.งานรักษาความปลอดภัยขนส่งทรัพย์สินมีค่า
 
                    “สายงานรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ มีความสำคัญ เพราะต้องดูแลระดับผู้นำประเทศ ผู้นำหรือบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ รวมทั้งดาราศิลปินเกาหลี นักฟุตบอล นักร้อง นางงาม นักธุรกิจ ผู้มีชื่อเสียงต่างๆ ที่เดินทางมายังประเทศไทย ล้วนแต่ต้องการการรักษาความปลอดภัยที่ดี ถือเป็นงานละเอียดอ่อน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ทำงานรักษาความปลอดภัยขนส่งทรัพย์สินมีค่า เช่น รถขนเงินใส่ตู้เอทีเอ็มต่างๆ หรือวัตถุมีค่า อัญมณี วัตถุโบราณ ที่ล้วนแต่ประมาณค่ามิได้ต้องดูแลอย่างดี จึงมีการจัดทำมาตรฐานอาชีพ
 
                    “ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนช่วยกันจัดทำ คงต้องรอว่าจะมีเนื้อหาสำคัญและขั้นตอนอบรมอย่างไรบ้าง หากทำหลักสูตรมาตรฐานเบื้องต้นเสร็จแล้ว สถานศึกษานำไปใช้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการได้ และจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศไทยได้ด้วย” รศ.ดร.เนตร์พัณณา กล่าวอธิบายทิ้งท้าย
 
                    ระหว่างนี้ “รปภ.” 5 แสนคนทั่วประเทศ คงต้องรอรายละเอียดจาก “บอร์ด รปภ.” ว่าจะมีการผ่อนปรนอย่างไรบ้าง เพื่อให้ทุกคนได้ปรับตัวก่อนกฎหมายจะบังคับใช้อย่างจริงจัง
 
                    เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดบทลงโทษไว้ด้วยว่า หาก รปภ.ไม่ได้ขึ้นทะเบียนมีใบอนุญาตในการทำงานอย่างถูกต้อง จะถูกปรับ 5,000 บาท และมีโทษจําคุก 3 เดือน !
 
 
 
 
--------------------
 
(กดดัน 'รปภ.' จบ ม.3 : โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ)